อัศวินมั่นใจเอาอยู่ไม่ซ้ำ54


เพิ่มเพื่อน    

นายกฯ สั่งกองทัพสนับสนุนจังหวัดริมเจ้าพระยา รับมือกับมวลน้ำที่ทยอยระบายออกจากพื้นที่อุทกภัย "อัศวิน" ลงเรือสำรวจแนวคันกั้นน้ำริมเจ้าพระยา มั่นใจ กทม.ไม่ท่วมซ้ำรอยปี 54 เหตุเสริมคันกั้นน้ำสูง 3.5 เมตร พร้อมอุดรอยรั่วและพายุไม่เข้าหนัก เร่งเสริมกระสอบทราย 9 เขตพื้นที่เสี่ยง "อนุสรณ์" ชี้หากกรุงเทพฯ เอาน้ำอยู่ไม่กระทบภาพรวม ศก.แน่
    เมื่อวันที่ 3 ต.ค. พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (กห.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้สั่งการทุกเหล่าทัพสนับสนุนจังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสักรับมือกับมวลน้ำที่ทยอยระบายจากพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำสายหลักได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ขณะเดียวกันได้ย้ำให้ทุกเหล่าทัพยังคงให้การช่วยเหลือประชาชนกว่า 229,000 ครอบครัวในทุกพื้นที่ 31 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องกันไป โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาดให้สนับสนุนติดตั้งสะพานทางทหารเร่งด่วนให้ประชาชนสามารถสัญจรได้โดยไม่ถูกตัดขาด และให้ประสานทำงานร่วมกับส่วนราชการ อาสาสมัครจิตอาสาและภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน
    "นายกฯ ได้แสดงความเสียใจกับกำลังพลที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 นาย จากอุบัติเหตุไฟฟ้าแรงสูงชอร์ตระหว่างนำเครื่องมือช่างลงช่วยเหลือในพื้นที่ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ โดยขอให้กองทัพบกให้การช่วยเหลือดูแลการรักษาพยาบาลให้ดีที่สุด พร้อมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ประมาท" พล.อ.คงชีพกล่าว 
    โฆษก กห.กล่าวว่า ตั้งแต่ 23 ก.ย.-ปัจจุบัน กระทรวงกลาโหมโดยทุกเหล่าทัพได้หมุนเวียนกำลังพลกว่า 10,000 นาย พร้อมเครื่องจักรและเครื่องมือช่าง เช่น รถขุดตัก เครื่องสูบน้ำ เรือผลักดันน้ำและสะพานเครื่องหนุนมั่น รวมทั้งยานพาหนะกว่า 750 คัน เช่น รถบรรทุกลำเลียง รถบรรทุกน้ำ รถประปาสนาม รถครัวสนาม และเรือท้องแบนกว่า 200 ลำ  พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์สนับสนุนลงให้การช่วยเหลือเร่งด่วน ประชาชนใน 31 จังหวัด ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคกลาง ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นพื้นที่วงกว้าง รวมทั้งร่วมกันบรรจุกระสอบทรายกว่า 63,500 กระสอบ จัดทำพนังกั้นน้ำและสนับสนุนเครื่องมือช่างเปิดทางน้ำ กำจัดวัชพืชบริเวณประตูน้ำและคอคอดของลำน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเรือผลักดันน้ำ 26 ลำ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงแม่น้ำสายหลักต่างๆ เพื่อลดความเสียหายให้เร็วที่สุด 
    ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ว่า ขณะนี้ยังเหลืออีก 17  จังหวัด รวม 81 อำเภอ 488 ตำบล 2,871 หมู่บ้าน ที่ประสบภัยน้ำท่วมคือ จ.สุโขทัย,พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, พิจิตร, ขอนแก่น,ชัยภูมิ, นครราชสีมา, อุบลราชธานี,นครสวรรค์, อุทัยธานี, ชัยนาท, ลพบุรี,สระบุรี, สุพรรณบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา 
    "ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันบางพื้นที่เริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ขณะที่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีระดับน้ำเพิ่มขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมรับมือแล้ว ปภ.ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง" ปภ.ระบุ
    ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงเรือตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำเหนือในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อยู่นอกแนวเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ใต้สะพานพระราม 7 ถึงชุมชนโรงสีเขตยานนาวา และตรวจดูความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงบางนา ความยาว 78.93 กิโลเมตร รวมถึงตรวจดูความพร้อมของสถานีสูบน้ำทั้ง 97 สถานี ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 
    พล.ต.อ.อัศวินยืนยันว่า จากการเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมั่นไม่ซ้ำรอยปี 2554 แน่นอน เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีการขุดลอกคูคลอง ทำธนาคารน้ำและท่อสูบน้ำรองรับไว้แล้วพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำประจำ พร้อมสร้างแนวเขื่อนคันกั้นน้ำ อุดรอยรั่วจุดฟันหลอ และวางกระสอบทรายในบางพื้นที่แล้ว อีกทั้งสถานการณ์ระดับน้ำฝนที่ตกลงมาในปี 2564 แตกต่างกับปี 2554 ที่ขณะนั้นมีพายุเข้าถึง 6 ลูก แต่ปี 64 แค่ 2 ลูกเท่านั้น คาดว่าอีก 5-6 วันสถานการณ์น้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะดีขึ้น และแนวเขื่อนคันกันน้ำยังเหลือรองรับระดับน้ำได้ดี 1.20 เมตร จากที่รองรับได้ 2.80-3.50 เมตร
    นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า คาดการณ์สถานการณ์น้ำ ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงสุดในวันที่ 10 ต.ค.นี้ ระดับน้ำที่กรมอุทกศาสตร์จะหนุนสูงสุดในเวลา  09.00 น. ประมาณ 1.15 เมตร แต่ เชื่อว่าสามารถมือกับสถานการณ์นั้นได้ เนื่องจากเขื่อนคันกั้นน้ำในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครมีระดับสูงและเหลือรองรับได้ถึง 1 เมตร สำหรับการสำรวจและอุดแนวรอยรั่วหรือแนวฟันหลอ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พบมีพื้นที่ 8.3 กิโลเมตร แต่เนื่องจากเอกชนได้เข้ามาสนับสนุนก่อสร้างคันกั้นน้ำ ขุดรอยรั่ว 5.8 กิโลเมตรทำให้เหลือแนวฟันหลอ ที่ต้องมีการเรียงกระสอบทรายเสริมเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึม 2.5 กิโลเมตรกินพื้นที่ใน 9 เขตแบ่งเป็นพื้นที่พระนคร 5 เขต รวม 1.3 กิโลเมตร ได้แก่ ดุสิต พระนคร ยานนาวา บางคอแหลม สาธร และฝั่งธนบุรี 4 เขต ระยะ ทาง 1.2 กิโลเมตร ได้แก่ บางพลัด ธนบุรี คลองสาน และราชบูรณะ
    จ.ชัยนาท สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้น้ำเหนือเขื่อน-ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาสูงขึ้น โดยแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรังไหลมารวมกันที่ จ.ชัยนาท มีปริมาณ 3,160 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที   เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำ 2,784 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้ำเหนือเขื่อนที่ อ.เมืองชัยนาท สูงขึ้น 3 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 17.11 เมตร (รทก.) น้ำท้ายเขื่อนที่ อ.สรรพยา สูงขึ้น  4 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 16.21 เมตร (รทก.) น้ำเข้าระบบชลประทานสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 376 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที        
    จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯ นครราชสีมา กล่าวว่า ภายหลังพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งการเรื่องการบริหารจัดการน้ำและการเร่งอุดประตูระบายน้ำอ่างลำเชียงไกรให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 ต.ค. โดยซ่อมแซมจุดที่น้ำไหลออกจากอ่างลำเชียงไกร ตนจะลงไปดูไปตรวจสอบความคืบหน้าใน 1-2 วันนี้ รวมทั้งดูความมั่นคงแข็งแรง ส่วนมวลน้ำในอ่างลำเชียงไกรไหลออกจนเกือบหมดแล้ว จะทำให้เกิดภัยแล้งที่หลายฝ่ายเป็นห่วง ตอนนี้เราก็กังวลว่าจะเกิดภัยแล้ง โดยเราจะเร่งปิดจุดที่มีการปล่อยน้ำไป แล้วจะให้น้ำออกทางเดียวคือทางระบายน้ำเท่านั้น ซึ่งจะสามารถคอนโทรลน้ำได้ ฉะนั้นถ้าทำสำเร็จภายในวันที่ 5 ต.ค. ก็คาดว่าจะมีน้ำบางส่วนที่ยังไหลเข้าในอ่างลำเชียงไกรตอนล่าง เราก็จะเก็บน้ำส่วนนี้ไว้ใช้สำหรับฤดูแล้ง
    รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึงผลกระทบจากน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ 29-30 จังหวัดว่า คิดเป็น 28-32% ของจีดีพีประเทศ ผลกระทบดังกล่าวฉุดการกระเตื้องขึ้นทางเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศที่คาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงไตรมาส 4 ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์น้ำท่วมสามารถบริหารจัดการได้ไม่ให้ท่วมในส่วนที่เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม หรือย่านศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล คาดว่าผลกระทบจากน้ำท่วมยังอยู่ในวงจำกัดไม่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากนัก. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"