ชูวิทย์ปกปิดหุ้นกลับซังเตอีก


เพิ่มเพื่อน    

     "ชูวิทย์" กลับไปนอนในคุกอีกรอบ 1 เดือน ศาลชี้จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ กรณีไม่แสดงหุ้นภัตตาคาร 1.5 แสน ในบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. ระบุผู้ถูกกล่าวหาเคยต้องโทษในคดีบุกรุก ได้รับโทษเกิน 6 เดือน และพ้นโทษมาไม่เกิน 5 ปี จึงไม่อาจรอการลงโทษได้
     เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ องค์คณะผู้พิพากษา 9 คน นัดพิจารณาคดีครั้งแรกหรือนัดฟังคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำ อม.26/2561 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ร้อง ยื่นฟ้องนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย ผู้ถูกกล่าวหา จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินร่วมลงทุนภัตตาคารแห่งหนึ่ง มูลค่า 150,000 บาท ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 34, 119 และขอให้สั่งห้ามผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
    โดย ป.ป.ช.ผู้ร้อง และนายชูวิทย์ ผู้ถูกกล่าวหา เดินทางมาศาล
    ต่อมาเวลาประมาณ 13.30 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านและอธิบายคำฟ้องให้นายชูวิทย์ผู้ถูกกล่าวหาฟัง โดยนายชูวิทย์ให้การรับสารภาพ พร้อมแถลงประกอบคำรับสารภาพว่า ตนมีทรัพย์สินมากกว่า 500 ล้านบาท โดยไม่ได้เจตนาปกปิดการรายงานหุ้นร่วมลงทุนจำนวน 150,000 บาท เนื่องจากผู้ทำรายงานคงตกหล่นไป ประกอบกับในปี 2546 ตนได้โอนหุ้นดังกล่าวให้กับบุคคล 2 คนเป็นผู้ถือหุ้นแทน เนื่องจากการขอใบอนุญาตสถานประกอบการ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมให้ใช้ชื่อตนเป็นผู้ประกอบการ และหุ้นของภัตตาคารดังกล่าวไม่มีรายได้ จึงเข้าใจว่าไม่ต้องรายงานทรัพย์สินดังกล่าวแก่ ป.ป.ช. ที่ผ่านมาตั้งแต่ตนเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองปี 2548 ก็ไม่เคยรายงานทรัพย์สินดังกล่าว ขอให้ศาลใช้ดุลพินิจนำคำแถลงประกอบคำรับสารภาพของตนเพื่อใช้ดุลพินิจพิจารณาโทษ
    ศาลพิจารณาแล้วผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ คดีไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานอีก จึงอ่านคำพิพากษาทันที
    ศาลพิเคราะห์คำร้องเอกสารประกอบคำฟ้องและคำให้การผู้ถูกกล่าวแล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อปี 2554 พ้นจากตำแหน่งปี 2556 ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะแก่ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับจากวันเข้ารับตำแหน่ง, วันที่พ้นตำแหน่ง และวันที่พ้นตำแหน่งมาแล้ว 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 32, 33 ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาเคยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในการดำรงตำแหน่ง ส.ส. ครั้งที่ 1 และ 2 มาแล้ว ย่อมทราบดีว่าผู้ถูกกล่าวหามีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด 
    แต่ผู้ถูกกล่าวหายื่นรายการแสดงทรัพย์สินโดยไม่แสดงรายการเงินลงทุนกับภัตตาคารแห่งหนึ่ง มูลค่า 150,000 บาท โดยชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ว่า ได้โอนหุ้นให้พนักงานสถานประกอบการไฮคลาส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ 2 ราย ไปก่อนกำหนดการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งขัดกับคำให้การของพนักงานสถานประกอบการไฮคลาสฯ ทั้ง 2 รายต่ออนุกรรมการไต่สวนว่าพยานเป็นเพียงพนักงานของสถานประกอบการไฮคลาสฯ และมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหาเพื่อยื่นเรื่องขอใบอนุญาตสถานประกอบการเท่านั้น แต่ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริง
    พฤติการณ์จึงเชื่อว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ถือหุ้นของภัตตาคารที่ร่วมลงทุน แต่มีเจตนาไม่แสดงรายการทรัพย์สินดังกล่าว ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีหน้าที่ยื่นบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อใช้ตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ จึงฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ครั้งที่ 2 
    พิพากษาว่า นายชูวิทย์จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 32, 33 ห้ามผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 9 ธ.ค.2556 ที่พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ครั้งที่ 2 ตามมาตรา 34 วรรคสอง และเป็นความผิดตามมาตรา 119 ให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน แต่ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน ผู้ถูกกล่าวหาเคยต้องโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 3220/2549 ฐานทำให้เสียทรัพย์/บุกรุก ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้รับโทษจำคุกเกิน 6 เดือน ซึ่งไม่ใช่คดีประมาทหรือลหุโทษ และพ้นโทษมาไม่เกิน 5 ปี จึงไม่อาจรอการลงโทษได้
    ภายหลังนายชูวิทย์ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์  โดยศาลพิจารณาแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ และเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน คดีไม่อาจรอการลงโทษได้ องค์คณะมีมติไม่ให้ปล่อยชั่วคราว เพราะจำเลยอาจหลบหนี ต่อมาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำตัวนายชูวิทย์ ขึ้นรถเรือนจำไปควบคุมตัวรับโทษที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป
    สำหรับองค์คณะที่พิจารณาคดีนี้ ประกอบด้วย 1.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา 2.นายประมวญ รักศีลธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 3.นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 4.นายบุญไทย อิศราประทีปรัตน์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา 5.นายชลิต กฐินนะสมิต ผู้พิพากษาศาลฎีกา 6.นายเสมอดาว เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผู้พิพากษาศาลฎีกา 7.นายชัยชนะ ตัญจพัฒน์กุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา 8.นางคำนวน เทียมสอาด ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และ 9.นายกีรติ กาญจนรินทร์ พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"