ทรงห่วงใยผู้ประสบภัย เร่งรับมือพายุ8-9ต.ค.


เพิ่มเพื่อน    

"ในหลวง" ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีเชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค ไปมอบแก่ผู้ประสบอุทกภัยใน จ.นครราชสีมา พร้อมมีพระราชกระแสทรงห่วงใยประชาชน "บิ๊กตู่" สั่งทุกหน่วยเตรียมรับมือพายุลูกใหม่ช่วง 8-9 ต.ค.นี้ ย้ำต้องให้ท่วมน้อยที่สุด "กอนช." เตือน 6 จังหวัด 28 อำเภอริมแม่น้ำชีเฝ้าระวังระดับน้ำ  พร้อมอพยพทันที
    เมื่อวันที่ 4 ต.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง  องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค  จำนวน 3,990 ชุด ไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่  9 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ อ.โนนไทย, อ.ด่านขุนทด, อ.สูงเนิน, อ.พิมาย, อ.พระทองคำ, อ.โนนสูง, อ.เมืองนครราชสีมา, อ.คง และ อ.จักราช เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นและเป็นขวัญกำลังใจ
    ในโอกาสนี้ องคมนตรีได้เชิญพระราชกระแสทรงห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินี ไปกล่าวแก่ราษฎรที่ประสบเหตุอุทกภัยและผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ทราบ พร้อมกันนี้องคมนตรีได้ลงพื้นที่เชิญสิ่งของพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค ไปมอบแก่ครอบครัวราษฎรที่ประสบเหตุอุทกภัย และผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในพื้นที่ ต.กำปัง อ.โนนไทย จำนวน 10  ครอบครัว พร้อมกับพูดคุยสร้างขวัญกำลังใจให้ราษฎรสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติสุขต่อไป ซึ่งราษฎรต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการเตรียมรับมือพายุระหว่างวันที่ 8-9  ต.ค.นี้ว่า ต้องเตรียมการรับมือ ซึ่งการรับมือเราคงไปเลื่อนฝนหรืออะไรไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งสถานการณ์วันนี้เราก็ได้เตรียมการรับมือไว้ได้มากพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามถ้าปริมาณมันมากกว่าปกติ ปริมาณไม่ใช่สถานการณ์ปกติก็รับมือได้ระดับหนึ่ง ต้องมีความเสียหาย แต่จะทำอย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุด ใช้เวลาท่วมให้น้อยที่สุดและเร่งการดูแลเยียวยา ตนคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ 
    ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ในวันที่ 8 ต.ค.จะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำที่ จ.สระแก้วในหลายๆ ด้าน ซึ่งตอนนี้สถานการณ์ที่ จ.สระแก้วดีขึ้นแล้ว
    กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศฉบับที่ 17 เรื่องเตือนพื้นที่ลุ่มต่ำ 6 จังหวัดริมแม่น้ำชีล้นตลิ่ง โดยระบุว่า จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันเตี้ยนหมู่และแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อวันที่ 24-25 ก.ย.64  ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำชี โดยเฉพาะในลุ่มน้ำชีตอนบน บริเวณ จ.ชัยภูมิ ซึ่งปริมาณน้ำสูงสุดได้เดินทางมาถึงเขื่อนชนบท อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ส่งผลให้ระดับน้ำที่เขื่อนชนบทสูงกว่าตลิ่งในช่วงพื้นที่ลุ่มต่ำประมาณ 3.50 เมตร และล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชี ประกอบกับระดับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น สูงเกินเกณฑ์ระดับน้ำควบคุมสูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำลงลำน้ำพองและไหลไปรวมกับแม่น้ำชี ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มสูงมากขึ้น
    กอนช.ระบุว่า เขื่อนมหาสารคามมีระดับน้ำ +147.58  เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) สูงกว่าระดับเก็บกัก 0.78 เมตร (ระดับเก็บกัก +146.8 ม.รทก.) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนมหาสารคาม 580 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 5 เซนติเมตรต่อชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.50-2 เมตร ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชีในช่วงวันที่ 4-15 ต.ค.64 
    โดย จ.ขอนแก่น อ.เมืองขอนแก่น, โคกโพธิ์ชัย, มัญจาคีรี, แวงใหญ่, แวงน้อย, ชนบท, บ้านไผ่, บ้านแฮด และพระยืน จ.มหาสารคาม อ.โกสุมพิสัย, กันทรวิชัย และเมืองมหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ อ.ฆ้องชัย, กมลาไสย และร่องคำ จ.ร้อยเอ็ด อ.จังหาร, เชียงขวัญ, ธวัชบุรี, โพธิ์ชัย, เสลภูมิ, ทุ่งเขาหลวง, พนมไพร และอาจสามารถ จ.ยโสธร อ.เมืองยโสธร, คำเขื่อนแก้ว, มหาชนะชัย และค้อวัง จ.ศรีสะเกษ อ.กันทรารมย์
    "เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำได้ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมในการอพยพและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ ปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ รวมทั้งเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก" กอนช.ระบุ
    ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ โดยสั่งการไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดช่วงวันที่ 5-9 ต.ค.นี้ ซึ่งจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ พร้อมบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ  และเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานระดับจังหวัดในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"