‘ศักดิ์สยาม’ชวนนักลงทุนฝรั่งเศสร่วมทุนศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา-แลนด์บริดจ์


เพิ่มเพื่อน    

6 ต.ค. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังนายตีแยรี มาตู เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทยเข้าพบ เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่ว่า ได้หารือถึงความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยและฝรั่งเศส ได้แก่ 1.การร่วมลงนามในร่างปฏิญญาแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในสาขาคมนาคมขนส่ง ระหว่าง รมว.คมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และ รมช.การเปลี่ยนผ่านทางนิเวศวิทยา กำกับดูแลการคมนาคมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งระหว่างกันในทุกมิติ โดยจะจัดพิธีลงนามปฏิญญาดังกล่าว ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยคลี่คลายลง

2. ความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อต่อยอดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่มีระหว่างกันในด้านการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน รวมถึงด้านเทคโนโลยี (Artificial Intelligence: AI) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน โดยกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอผลงานการคิดค้น และขับเคลื่อนการนำยางพารา มาผลิตเป็นแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ โดยการปรับรูปแบบนำยางพารามาใช้กับอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยทางถนนในไทย เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนให้กับประชาชน

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ทางฝรั่งเศสยังนำเสนอโครงการ Helicopter Emergency Medical Services (HEMS) บริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ เพื่อช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ โดยมีแผนนำร่องในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 3.ความคืบหน้าโครงการความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองและการรักษามรดกชุมชนอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต (SUTRHE) กับสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (AFD) ในโครงการความร่วมมือทางวิชาการการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองและการรักษามรดกชุมชนอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ในปี 2563-2564

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวยังครอบคลุมโครงการรถไฟฟ้ารางเบา กระเช้าไฟฟ้า และรถโดยสารสาธารณะ เพื่อพัฒนาเป็นเครือข่ายขนส่งสาธารณะของภูเก็ตอย่างยั่งยืนควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและมรดก นอกจากนี้ยังยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของไทย รวมถึงการสนับสนุนด้านการเงิน การวิจัย และการศึกษาในโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของไทยด้วย และ 4. โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โดยได้เชิญชวนนักลงทุนจากประเทศฝรั่งเศสให้เข้ามาร่วมลงทุนในโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม อาทิ โครงการก่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยานของไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในภูมิภาคอาเซียน มุ่งสู่การเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก

นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกับระบบราง (MR-MAP) และโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Southern Land Bridge) ที่เชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทยผ่าน จ.ระนอง และ จ.ชุมพร เพื่อเปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก และยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น Transshipment ศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค นอกจากนี้ทางฝรั่งเศสยังมีท่าทีสนใจเข้าร่วมลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนด้วย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"