ปปช.เมินรื้อคดีสลายแดง เต้นรํ่าไห้/เหวงฟ้องตปท.


เพิ่มเพื่อน    

  มติ ป.ป.ช.ไม่รื้อคดีสลายชุมนุม นปช.ปี 53 เหตุไร้หลักฐานใหม่ ยก 5 ประเด็นต่างจากคดีพันธมิตรฯ ชี้ "มาร์ค" ขอพื้นที่คืนเพื่อความสงบสุขบ้านเมือง ขณะที่ "สมชาย" มุ่งแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไม่ทำตามหลักสากล "เต้น" น้ำตาคลอเจ็บปวดทวงยุติธรรม 99 ศพเหลว "เหวง" ดิ้นพึ่งรัฐบาลหน้าฟ้องศาลโลก

    ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถึงกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายวรัญชัย โชคชนะ มีหนังสือร้องขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทบทวนคดีสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ที่มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป โดยในการแถลงข่าวครั้งนี้ มีนายณัฐวุฒิ และนายยศวริศ ชูกล่อม แกนนำ นปช. เข้าร่วมฟังด้วย
    นายวรวิทย์กล่าวว่า ประเด็นที่มีการร้องขอให้ทบทวนมี 4 ประเด็น คือ 1.การตัดสินใจทางนโยบาย กรณีใช้อาวุธสงครามกระสุนจริงและยุทธวิธีการซุ่มยิงถูกต้องหรือไม่นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยพิจารณาและวินิจฉัยไว้แล้วว่า การสั่งใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธปืนติดตัวเข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำสั่งของศาลว่าเป็นช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงมีเหตุจำเป็นที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง
    2.ไม่ยกเลิกการปฏิบัติในทันทีเมื่อรับทราบการเสียชีวิตของประชาชน และกรณีกล่าวอ้างว่ามีการปรับยุทธวิธีเป็นการตั้งด่านตรวจและมีจุดสกัดปิดล้อมเพื่อให้ชุมนุมเลิกไปเองนั้น แต่ตามวารสารกองทัพบก (เสนาธิปัตย์) อธิบายว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติทางทหารเต็มรูปแบบ มิใช่การปรับยุทธวิธีเป็นการตั้งด่านตรวจตามที่อ้างนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยพิจารณาและวินิจฉัยไว้แล้วว่า ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 ศอฉ.ได้ทบทวนปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าผลักดันผู้ชุมนุมอีกต่อไป
    3.การอ้างว่ามีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุม มิได้มีหลักฐานใดๆ รองรับ และไม่ตรงกับคำพิพากษาศาลแพ่ง เนื่องจากคำพิพากษาระบุว่า การเสียชีวิตเบื้องต้นในวันที่ 10 เม.ย.2553 ยังไม่ทราบว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด รวมถึงคำสั่งศาลอาญาในเรื่องการตายจำนวน 19 ศพ ยืนยันว่าผู้ตายตายจากกระสุนความเร็วสูง จากอาวุธสงครามของเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ศอฉ.นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยพิจารณาและวินิจฉัยไว้แล้วว่า ตามคำสั่งศาลในช่วงระยะเวลาต่างๆ สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการสลายการชุมนุมเพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง อันเป็นไปตามหลักสากล
    4.กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่รอบคอบ ไม่ถูกต้อง ไม่น่าเชื่อถือ และสองมาตรฐาน เมื่อเทียบกับกรณีของการสลายการชุมนุมวันที่ 7 ต.ค.2551 ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่ม นปช.มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ เหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ปรากฏแนวทางการปฏิบัติที่เป็นไปตามขั้นตอนและหลักการสากล มีการใช้แก๊สน้ำตาชนิดยิงและขว้างเพื่อผลักดันประชาชนกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ปิดทางเข้ารัฐสภา 3 ครั้ง ส่วนเหตุการณ์สลายการชุมนุมของ นปช. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรี กับพวก ได้มีการสั่งการโดยมีแนวทางการปฏิบัติ และเน้นย้ำการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทุกระดับตามขั้นตอน กฎและหลักการสากลในการสลายการชุมนุม
        ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงและพฤติการณ์มีความแตกต่างกัน คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงพิจารณาวินิจฉัยคดีไปตามข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันดังกล่าว แม้ต่อมาอัยการสูงสุดจะไม่รับดำเนินคดี และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพิพากษายกฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กับพวก เป็นเรื่องการใช้ดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของแต่ละองค์กรซึ่งสามารถแตกต่างกันได้
        "คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติไม่ยกสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก กรณีร่วมกันสั่งการในเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 ขึ้นพิจารณาใหม่ เหตุหนังสือคำร้องทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่การไต่สวน ต้องห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยกขึ้นพิจารณาใหม่ ตามมาตรา 44 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม" เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุ
    ทั้งนี้ หากปรากฏพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจหยิบยกสำนวนการไต่สวนดังกล่าวขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทุกเมื่อภายในอายุความ สำหรับกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนคดีอาญากรณีการเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับกรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ กับพวก ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยและมีมติไว้แล้วว่า กรณีการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ทหารและนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ใช้กำลังบังคับและใช้อาวุธปืน จนเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนในเหตุการณ์สลายการชุมนุมนั้น ให้ส่งเรื่องให้ดีเอสไอดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปตามมาตรา 89/2 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่ 4 ป.ป.ช.ได้นำตารางเปรียบเทียบเหตุการณ์สลายการชุมนุม ระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 2551 และกลุ่ม นปช.ปี 2553 ชี้ให้เห็นถึงข้อแตกต่าง 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การสั่งการและวิธีปฏิบัติ 2.การปรับแผนปฏิบัติการเมื่อมีผู้เสียชีวิต 3.ลักษณะของผู้ชุมนุม 4.เป้าหมายการสลายการชุมนุม และ 5.ผลการวินิจฉัย 
    ภายหลังแถลงข่าว นายณัฐวุฒิได้สอบถามเลขาธิการ ป.ป.ช.ว่า ในฐานะที่เป็นมนุษย์ เชื่อหรือไม่ว่านี่คือความยุติธรรม โดยนายวรวิทย์กล่าวว่า การพิจารณาคดีเป็นไปตามกฎหมาย ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ อยากให้นายณัฐวุฒิได้ศึกษาคำชี้แจงของ ป.ป.ช.และ ป.ป.ช.ไม่ตัดโอกาสในการยื่นพยานหลักฐานใหม่ เราเปิดโอกาสให้ตลอดเวลา และที่ยื่นมาก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้พิจารณาในทุกประเด็น
    จากนั้น นายณัฐวุฒิกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ และน้ำตาคลอว่า “หัวใจผม ผมไม่เชื่อว่านี่คือความยุติธรรม ไม่อาจยอมรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้ ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจในฐานะมนุษย์ ว่าผมยังมีสิทธิ์ที่จะติดตามทวงถามความยุติธรรม อยากให้รู้ว่าผมเจ็บปวด เพราะรู้ข่าวตั้งแต่เมื่อวานแล้ว ว่า ป.ป.ช.จะไม่รื้อคดีนี้ วันนี้มาแบกรับความยุติธรรมร่วมกับคนตาย"
    ทั้งนี้ ต้องการพาเหตุการณ์นี้ไปให้ถึงศาล เพื่อสร้างหลักประกันว่าจากนี้ไปใครก็ตามที่มีอำนาจ จะไม่สามารถใช้กำลังอาวุธสงครามปราบปรามทำลายชีวิตประชาชนได้อีกต่อไป และจำเป็นต้องรักษาเกียรติยศของคนตาย แต่ผมได้รับคำตอบว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ใช่ความยุติธรรมหรือไม่ แต่แน่ใจว่าเราจะได้เจอกันอีก
    นายณัฐวุฒิให้สัมภาษณ์ตอนท้ายว่า จากนี้จะพยายามรวบรวมพยานหลักฐานใหม่เพื่อยื่นตามกระบวนการอีกครั้ง แต่คงไม่ใช่เร็วๆ นี้ พร้อมรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 20,000 รายชื่อ ยื่นต่อประธานรัฐสภา ให้พิจารณายื่นต่อศาลฎีกา ตั้งคณะกรรมการไต่สวนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยจะดำเนินการเมื่อมีรัฐบาลเลือกตั้ง
    ขณะที่ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เปิดเผยว่า ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งคือ ยื่นเรื่องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อพิจารณาเฉพาะกรณีการสลายชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 โดยให้รัฐบาลชุดใหม่จากการเลือกตั้งของประชาชนลงนามรับรองเขตอำนาจศาลเฉพาะกรณีปี 2553 เมื่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยไม่อาจอำนวยความยุติธรรมให้กับกรณี 99 ศพได้แล้วเช่นนี้ เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของประชาชนไทย ที่ต้องเลือกพรรคการเมืองประชาธิปไตยจำนวนมากพอที่จะทำหน้าที่ในรัฐบาลชุดใหม่เพื่อให้มาทำภารกิจนี้ได้ต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"