เตือน57จว.ระวังนํ้าล้น นายกฯกำชับคค.-กองทัพ


เพิ่มเพื่อน    

"บิ๊กตู่" สั่ง ก.คมนาคมเร่งสำรวจซ่อมแซมเส้นทางเสียหายจากอุทกภัย กำชับเหล่าทัพดูแล ปชช.พื้นที่เสี่ยง หลังพายุ 2 ลูกจ่อเข้าซ้ำ "ปภ." เตือน 57 จว.เฝ้าระวังระดับน้ำช่วง 10-16 ต.ค. "เฉลิมชัย" ติดตามสถานการณ์น้ำ จ.อุบลราชธานี เตรียมเร่งรัดงบเยียวยาเกษตรกรเสียหาย "ชัยนาท" ชาวบ้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาระทมหนัก 
    เมื่อวันที่ 10 ต.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยหลายพื้นที่ว่า ผลจากน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เส้นทางการคมนาคมทั้งทางบกและทางรางหลายเส้นทางเสียหาย  ไม่สามารถเดินทางสัญจรได้ กระทบต่อการเดินทางของประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว  จึงกำชับให้กระทรวงคมนาคมเร่งแก้ไขปัญหา โดยเร่งสำรวจเส้นทางการคมนาคมที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยและแก้ไขซ่อมแซมฟื้นฟูโดยเร็ว เมื่อสถานการณ์อุทกภัยมีความคลี่คลายแล้ว เพื่อให้เส้นทางการคมนาคมของประชาชนที่ได้รับความเสียหายกลับมาใช้งานได้ปกติโดยเร็ว
    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า เส้นทางใดที่ได้รับความเสียหายยังไม่สามารถใช้เดินทางสัญจรได้ นายกฯ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีระบบการแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง โดยต้องแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วกันว่าเส้นทางในพื้นที่นั้นได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้เดินทางได้ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชน และยังถือเป็นการลดผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วย
    "รัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน แต่ด้วยขณะนี้มีสถานการณ์อุทกภัยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนเดินทางด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และให้สังเกตป้ายการแจ้งเตือนอย่างสม่ำเสมอ ส่วนการเดินทางในพื้นที่ใกล้เคียงอุทกภัย ขอให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนการเดินทาง และเดินทางด้วยความไม่ประมาท เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง" รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
    ขณะที่ พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้กำชับกระทรวงกลาโหม โดยทุกเหล่าทัพให้คงกำลังสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นจากพายุเตี้ยนหมู่ ในพื้นที่ต่างๆ กว่า 30 จังหวัดต่อเนื่องกันไปจนถึงขั้นฟื้นฟู ขณะเดียวกันให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ผลกระทบจากร่องมรสุมพาดผ่านและผลกระทบจากพายุโซนร้อนไลออนร็อกและคมปาซุ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยจากฝนตกสะสมต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกและภาคใต้ โดยให้เสริมกำลังหมุนเวียนร่วมกับจิตอาสาและเครื่องมือช่างกระจายลงพื้นที่เข้าช่วยประชาชนให้ทั่วถึง รวมทั้งขอให้ใช้สะพานทหารเข้าช่วยดำรงไม่ให้เส้นทางสัญจรถูกตัดขาด
เตือน 57 จว.เฝ้าระวังระดับน้ำ
    "ตั้งแต่ 23 ก.ย.ถึงปัจจุบัน ทุกเหล่าทัพยังคงกระจายกำลังลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง 33 จังหวัด โดยได้จัดกำลังพลหมุนเวียนกว่า 10,000 นาย พร้อมยุทโธปกรณ์และเครื่องมือช่าง เช่น รถยนต์บรรทุกขนาดต่างๆ รถขุดตัก รถยนต์บรรทุกเทท้าย รถครัวสนาม รถประปาสนาม จัดสร้างพื้นที่พักหลบภัยชั่วคราว พร้อมห้องน้ำและห้องสุขา รถพยาบาล เรือท้องแบน เรือผลักดันน้ำ สะพานชนิดต่างๆ และอากาศยานไร้คนขับ เป็นต้น"  โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว 
    กองอำนวยการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้รับแจ้งจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติว่า ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากแผนที่ฝนคาดการณ์ ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) ได้ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากของกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่าในช่วงวันที่ 10-16 ต.ค. พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอุทกภัย 
    โดยพื้นที่เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สกลนคร และอุบลราชธานี, ภาคตะวันออก ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด และเพชรบุรี, ภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% และแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น กระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ, ภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง สุโขทัย น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี และสระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และประจวบคีรีขันธ์, ภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ระนอง ภูเก็ต และกระบี่
     นอกจากนี้ พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่ง และท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ ภาคเหนือ ได้แก่ บริเวณแม่น้ำน่าน อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร,  แม่น้ำยม อ.สามง่าม อ.โพนทะเล จ.พิจิตร, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแม่น้ำชี อ.โกสุมพิสัย อ.กันทรวิชัย และ อ.เมืองฯ จ.มหาสารคาม, อ.ฆ้องชัย อ.กมลาไสย อ.ยางตลาด และ อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์, อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด, อ.เมืองฯ และ อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร, แม่น้ำมูล อ.ประโคนชัย อ.สตึก และ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์, อ.ชุมพลบุรี และ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์, อ.เมืองฯ และ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ และ อ.เมืองฯ จ.อุบลราชธานี,   ภาคกลาง บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์, อ.เมืองฯ จ.สิงห์บุรี, อ.เมืองฯ จ.อ่างทอง และ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา, แม่น้ำป่าสัก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.เมืองฯ จ.สระบุรี, แม่น้ำลพบุรี อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี,  แม่น้ำท่าจีน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี และ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม และเฝ้าระวังแม่น้ำโขง โดยระดับน้ำมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงเพิ่มสูงขึ้น
    "กอปภ.ก.จึงได้แจ้งให้ 57 จังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า ให้จัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัย และทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที" กอปภ.ก.ระบุ
    วันเดียวกัน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้บริหารกระทรวง เดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี โดยรับฟังการรายงานสรุปสถานการณ์น้ำบริเวณเขื่อนธาตุน้อย การบริหารจัดการน้ำและความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านแก้งโพธิ์ ต.ค้อทอง อ.เขื่อนใน จ. อุบลราชธานี
เร่งเยียวยาเกษตรเสียหาย
    นายเฉลิมชัยกล่าวว่า จากการรับฟังการรายงานสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทานและแนวโน้มสถานการณ์น้ำ คาดว่ามวลน้ำจากทางตอนบน ซึ่งยอดน้ำอยู่ที่ จ.มหาสารคาม จะเดินทางมาถึงเขื่อนยโสธร-พนมไพร ในวันที่ 15 ต.ค. ซึ่งพนังกั้นแม่น้ำชีของเขื่อนยโสธร-พนมไพร สามารถรองรับน้ำได้ถึง 1,700 ลบ.ม./วินาที และระดับน้ำปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าคันพนัง 2.00 ม. จึงสามารถรองรับน้ำปริมาณดังกล่าวได้ แต่จะมีผลกระทบในพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมซ้ำซาก และมวลน้ำจะเดินทางมาถึงเขื่อนธาตุน้อยในวันที่ 18 ต.ค.
    "ได้สั่งการกรมชลประทานให้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้ พร้อมเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือให้พร้อมสำหรับเข้าช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งรัดงบประมาณในเรื่องจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบของกรมบัญชีกลางให้แล้วเสร็จใน 60 วัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและประชาชนที่ประสบภัยธรรมชาติจากสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งและน้ำท่วม ซึ่งส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย รวมทั้งเร่งรัดงบประมาณตามแผนการขอสร้างสถานีสูบน้ำให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง" รมว.เกษตรฯ กล่าว
     จ.ชัยนาท สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.เมืองชัยนาท อ.วัดสิงห์ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ซึ่งอยู่ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา น้ำสูงขึ้น 5 เซนติเมตร บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยายังคงมีน้ำท่วมสูงกว่า 30 เซนติเมตร ส่วนด้านท้ายเขื่อนที่ อ.สรรพยา น้ำท่วมในพื้นที่ลดลง 8 เซนติเมตร   แต่ยังมีน้ำท่วมขังสูง 30 เซนติเมตร ไปจนถึงกว่า 1 เมตร ซึ่งน้ำที่ท่วมขังนานกว่า 2 สัปดาห์ ได้เกิดการเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นซ้ำเติมทุกข์ชาวบ้านมากขึ้น ชาวบ้านจึงอยากให้หน่วยงานช่วยสูบน้ำเน่าที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ หรือช่วยเปิดประตูระบายน้ำลงคลองชลประทานเพื่อให้น้ำที่ท่วมขังลดลงโดยเร็ว โดยเฉพาะจุดที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น   
    จ.ตราด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำจากเขื่อนคีรีธาร อ.ขลุง จ.จันทบุรี ระบายน้ำลงสู่คลองสะตอตอนบน หลังมีฝนตกหนักและปริมาณน้ำล้นเกินความจุ ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงมายังคลองสะตอตอนล่าง ระดับน้ำในคลองสูงขึ้น โดยสถานีวัดระดับน้ำที่คลองสะตอ บ้านหนองบัว ต.สะตอ อ.เขาสมิง จ.ตราด มีความสูงถึงระดับ 9 เมตร ทำให้น้ำไหลท่วมบ้านเรือนใน 4 หมู่บ้าน ตั้งแต่เวลา 04.00 น. และถึงเวลา 10.00 น. ทำให้ระดับสูงถึง 150 ซม. ในระดับถนนเข้าหมู่บ้าน ซึ่ง 4 หมู่บ้านน้ำท่วม และมีระดับความสูงตั้งแต่ 80-150 ซม. มีบ้านเรือนกว่า 20 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วม และอีก 5 หลังคาเรือนน้ำท่วมรอบบ้านและออกมาไม่ได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"