ย้อน'เหตุการณ์6ตุลา'เตือนสติคนไทย อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย!


เพิ่มเพื่อน    

18 ต.ค. 64 - รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า  ปีนี้เป็นปีครบรอบ 45 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แม้วันนี้จะเลยวันที่ 6 ตุลาคมมาแล้ว แต่คงยังไม่ช้าเกินไปที่จะกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ช่วงนี้ใครต่อใครทั้งที่เกิดทันและเกิดไม่ทันมักเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็น การ "สังหารหมู่" กันเกือบทุกคน 

การเกิดทัน หรือเกิดไม่ทันเหตุการณ์ 6 ตุลาไม่ใช่เป็นประเด็นว่าจะวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนตุลาได้หรือไม่ แต่การกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ว่าเป็นการ "สังหารหมู่" นักศึกษาประชาชนผู้บริสุทธิ์และปราศจากอาวุธ แม้เกิดการสังหารกันจริง แต่ดูจะเป็นการพูดแบบง่ายและรวบรัดเกินไป เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 มีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะนิยามเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการ "สังหารหมู่" เพียงเท่านั้น การ "สังหารหมู่" ไม่ได้เกิดขึ้นแบบฉับพลันทันที แต่มีที่มาที่ไป บางอย่างอาจเป็นความลับที่ไม่มีใครทราบ ในที่นี้จึงอยากจะให้ทำความเข้าใจกันว่า การ"สังหารหมู่" ที่ว่านั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร 

จะเข้าใจสาเหตุของเหตุการณ์ 6 ตุลา เราจะต้องมองย้อนกลับไปที่สถานการณ์ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 จนเกิดเหตุการณ์ที่เราเรียกกันว่า "วันมหาวิปโยค" และมองว่ามีการพัฒนาการอย่างไรหลังจากนั้น จนกระทั่งในที่สุดเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19  

ในช่วงก่อนวันที่ 14 ตุลาคม 2516 รัฐบาลที่ดำรงอยู่ในขณะนั้นเป็นรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นรัฐบาลที่สืบทอดมาจากรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มาจาการทำรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล ถนอมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ถึงแก่อสัญญกรรมในปี 2506 ใช้เวลาถึง 5 ปีจึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2512 พรรคสหประชาไทยที่จอมพลถนอม และจอมพลประภาส จารุเสถียร ก่อตั้งขึ้น ชนะการเลือกตั้ง จอมพลถนอม จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่แล้วในปี 2514 จอมพล ถนอมก็ทำรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง เช่นเดียวกับที่รัฐบาลจอมพล ป. เคยทำ ครั้งนี้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ค่อยเป็นค่อยไปตามเคย จนมีอาจารย์ นักศึกษา และประชาชน 13 คน ออกแจกใบปลิวเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ ทั้ง 13 คนถูกจับกุมในข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน และอีกหลายข้อหา รวมทั้งข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์นี้นำไปสู่การชุมนุมประท้วงจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งของประเทศไทย

นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ในช่วงสงครามเย็น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้พยายามผลักดัน และสนับสนุนรัฐบาลไทยให้ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่รัฐบาลจอมพล ป. เป็นต้นมา และยิ่งเข้มข้นในยุครัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ และจอมพลถนอม ดังนั้นจึงได้มี พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 และได้มีการพยายามสร้างภาพลัทธิคอมมิวนิสต์ให้ดูน่ากลัวเกินกว่าความเป็นจริง โดยไม่แยกแยะระหว่าง ระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย กับระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์สุดโต่ง เช่นประเทศจีนยุคเหมา เจ๋อ ตุง ให้ชัดเจน

รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมีอำนาจเผด็จการได้ทำการปราบปรามผู้ที่มีแนวคิด และชักจูงให้คนนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง หนังสือและตำราที่เกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ถูกห้ามจำหน่าย การปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ สร้างความอึดอัดแก่นักวิชาการ และนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างมาก แต่เข้าทำนองยิ่งห้ามยิ่งยุ นิสิต นักศึกษาจึงเริ่มหันไปนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังมีความรู้สึกว่า ลัทธินี้มิได้เลวร้ายจนน่ากลัวอย่างที่มีการพยายามวาดภาพไว้แต่อย่างใด ตรงข้ามระบอบการปกครองแบบคอมิวนิสต์อาจเป็นคำตอบ ที่จะทำให้ประเทศไทย และประชาชนไทยหลุดพ้นจากความยากจน และสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นได้ 

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 นิสิต นักศึกษาที่เคยถูกปิดกั้นไว้ จึงเริ่มมีเสรีภาพในการแสดงออก และมีการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ต่อผู้สนใจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำนิสิต นักศึกษา ที่รวมกันจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ดูเหมือนจะมีความคิด "เอียงซ้าย" ถึง "ซ้ายจัด" กันเป็นส่วนใหญ่ ช่วงเวลานี้ป็นยุคเฟื่องฟูของขบวนการนักศึกษา เนื่องจากผู้นำนักศึกษา ในนามศูนย์กลางนิสิตนักศึกษามีบทบาทสูงมากทางการเมือง มีการนำการประท้วงของผู้ใช้แรงงาน ชาวนา เกษตรกร และกลุ่มอื่นๆบ่อยครั้ง จนกระทั่งเราเรียกยุคนี้ว่า ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน

เมื่อนิสิต นักศึกษา มีบทบาทสูง ทั้งยังมีความโน้มเอียงไปทางฝ่ายซ้ายมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. จะเริ่มมีการจัดตั้งนิสิต นักศึกษา และประชาชนที่มีความคิดเป็นซ้ายจัด ให้เข้าสังกัดและให้ทำการเผยแพร่ความคิดของฝ่ายซ้ายให้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย นี่เป็นเรื่องจริงที่ยอมรับกันเป็นการภายใน ในกลุ่มคนที่อยู่ในวงในจริงๆ

เมื่อฝ่ายซ้ายเริ่มมีกิจกรรมมากขึ้น คนอีกกลุ่มที่จัดได้ว่าเป็นฝ่ายขวา ถึงขวาจัดก็เริ่มรู้สึกว่า กำลังถูกภัยคุกคามจากฝ่ายซ้าย จนไม่สามารถอยู่นิ่งเฉย จึงมีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้นต่อต้าน เช่นกลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง และยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่เปิดเผยตัว และไม่เปิดเผยตัวอีกมากมายหลายกลุ่ม สถานีวิทยุที่เป็นกระบอกเสียงที่ต่อต้านฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรงและเปิดเผย คือสถานีวิทยุยานเกราะ ซึ่งทำหน้่าที่ปั่นกระแสให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังของฝ่ายขวาต่อฝ่ายซ้ายอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดเพลงปลุกใจกันอย่างกว้างขวาง เช่น เพลงหนักแผ่นดิน เพลงเราสู้ เป็นต้น 

แน่นอนว่า ผู้ที่แวดล้อมใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ย่อมต้องรู้สึกว่า สถาบันพระมหากษัตริย์กำลังถูกภัยคุกคามเช่นกัน จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มที่เรียกว่า ลูกเสือชาวบ้าน เพื่อสร้างกิจกรรมให้รักชาติ และต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ คำว่า "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" จึงเริ่มใช้กันมากในช่วงเวลานี้

ในขณะเดียวกัน ผู้นำนิสิต นักศึกษาที่มีบทบาทสูง และมีแนวโน้มว่าอาจได้รับการจัดตั้งจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็เริ่มรู้สึกว่ากำลังถูกติดตามความเคลื่อนไหวจากฝ่ายความมั่นคงอย่างใกล้ชิด ผู้นำนักศึกษาชื่อดังคนหนึ่งเล่าว่า เขาต้องตัดสินใจเข้าป่าไปร่วมกับพคท.ต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาเสียด้วยซ้ำ เพราะเริ่มมีความรู้สึกว่าอยู่ในเมืองไม่ปลอดภัย 

ความแตกแยกในสังคมระหว่างซ้ายกับขวา เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับความเกลียดชังระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน 

จุดแตกหักระหว่างซ้ายกับขวากันเกิดขึ้นเมื่อ จอมพลถนอม กิตติขจร บวชเป็นสามเณร แอบเข้ามาในประเทศอย่างเงียบๆ ในวันที่ 19 กันยายน 2519 แล้วจึงบวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร ผู้นำนิสิต นักศึกษาเมื่อทราบข่าว จึงเรียกร้องยื่นคำขาดให้รัฐบาลนำตัวพระถนอมออกนอกประเทศ แต่รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเพิ่งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ชี้แจงว่าไม่สามารถทำได้เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ ศูนย์กลางนิสิตจึงจัดชุมนุมขึ้นที่ท้องสนามหลวง ภายหลังย้ายเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อประท้วง ขับไล่จอมพลถนอม ให้ออกไปนอกประเทศโดยทันที
 
ก่อนการชุมนุม มีข่าวว่าพนักงานการไฟฟ้าที่จัดหวัดนครปฐม ออกทำการปิดโปสเตอร์เชิญชวนคนให้มาชุมนุม ถูกฆ่า และนำศพมาแขวนคอประจาน ในวันที่ 24 กันยายน ต่อมามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ฆ่าพนักงานการไฟฟ้าดังกล่าว และถูกดำเนินคดี เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า ประเเทศชาติมีความแตกแยกและประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายมีความเกลียดชังซึ่งกันและกันมากเพียงใด

ในวันที่ 4 ตุลาคม 2519 แกนนำการชุมนุมเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลื่อนสอบ เพื่อให้นักศึกษามาร่วมชุมนุมได้มากขึ้น มีการจัดแสดงละครที่ลานโพธิ์ โดยชุมนุมศิลปะและการแสดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อจำลองเหตุการณ์ฆ่าแขวนคอที่นครปฐม ตัวละครที่ต้องแสดงการแขวนคอ ต้องใช้หลายคนเพื่อสลับสับเปลี่ยนกัน มีผู้แสดงคนหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นนักกรีฑา  มีโครงหน้าคล้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช แต่ตัวเล็กกว่ามาก แต่คนจำนวนมากที่ชมการแสดงสดวันนั้น ไม่มีใครรู้สึกอะไร จนกระทั่งวันที่ 5 ตุลาคม หนังสือพิมพ์ดาวสยาม และ Bangkok Post นำรูปนี้ ไปลงหน้า 1 ซึ่งดูจากรูปในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับแล้วกลับคล้ายสมเด็จพระบรมฯ มาก  หนังสือพิมพ์ดาวสยาม พาดหัวข่าวว่า "ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เหยียบหัวใจคนไทยทั้งชาติ" สถานีวิทยุยานเกราะก็ยิ่งกระโหมกระพือยุยงเพิ่มความเกลียดชังให้มากขึ้นไปอีก 

เช้าวันที่ 6 ตุลาคม มีกลุ่มกระทิงแดง และประชาชนประมาณ 2,000 คน มารวมตัวกันที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชาชนกลุ่มนี้กำลังโกรธแค้นอย่างถึงที่สุด เพราะนอกจากจะเห็นว่าศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว ยังถูกป้อนข้อมูลว่ามวลชนที่ประท้วงอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ล้วนเป็นพวกคอมมิวนิสต์ และส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย 

ผู้กว้างขวางในจังหวัดเพชรบุรีท่านหนึ่งเล่าว่า เช้าวันที่ 6 ตุลาคม มีการระดมบรรดามือปืนที่เพชรบุรี มาขอยืมรถของท่าน บอกว่าจะใช้บรรทุกคนไปยิงพวกคอมมิวนิสต์ ท่านนั้นรีบไปห้ามคนขับรถไม่ให้ไป แต่ในที่สุดก็ไม่ทราบว่าคนกลุ่มนี้ได้ไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือไม่ 

ในวันนั้น รอบๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีตำรวจท้องที่และหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองปราบมาประจำการ ตั้งแต่เช้าเช่นกัน ประชาชนพยายามจะขับรถชนประตูมหาวิทยาลัย แต่ตำรวจห้ามไว้ จากนั้นมีการยิงโต้ตอบกันระหว่างผู้ที่อยู่ด้านในมหาวิทยาลัย กับผู้ที่อยู่นอกมหาวิทยาลัยรวมทั้งตำรวจ แต่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ผู้หนึ่งยืนยันว่า มีการยิงโต้ตอบมาจากทางผู้ร่วมชุมนุม แต่เบาบางกว่าที่ยิงเข้าไปข้างในค่อนข้างมาก ต่อมากำลังตำรวจตระเวนชายแดนจากค่ายนเรศวร ได้เข้ามาสลายการชุมนุม เมื่อประตูพัง กลุ่มคนที่กำลังกระเหี้ยนกระหือรือ ก็บุกเข้าไปกระทำการอันเหี้ยมโหดตามสัญชาติญานดิบ เถื่อน ดังที่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว 

ถามว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมโดยพลังบริสุทธิ์หรือไม่ ก็ขอตอบว่าคนส่วนใหญ่ที่มาชุมนุมมาร่วมชุมนุมด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่หากถามว่า การชุมนุมครั้งนี้มีจุดหมายเพียงขับไล่จอมพลถนอม และไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ เลยจริงหรือไม่ ก็ขอตอบว่า ไม่แน่นัก เพราะเป็นการแน่ชัดว่า การชุมนุม 6 ตุลา ต่างกับการชุมนุม 14 ตุลา ตรงที่หลัง 14 ตุลา 16 เริ่มมีนิสิต นักศึกษา และประชาชนกลุ่มหนึ่ง ได้รับการจัดตั้งโดย พคท.แล้ว ในขณะที่ก่อนการชุมนุม 14 ตุลา ไม่มีการจัดตั้ง ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดการแสดงละครจำลองเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าการไฟฟ้าถูกฆ่าแขวนคอเล่าว่า

ในคืนวันที่ 5 ตุลาคม หลังจากที่หนังสือพิมพ์ดาวสยาม และ Bangkok Post นำรูปการแสดงไปลงหน้า 1 และแกนนำบางคนถูกตำรวจเรียกตัวไปรับทราบข้อกล่าวหา ได้มีการถกเถียงกันระหว่างแกนนำที่เหลือว่า ควรจะประกาศสลายการชุมนุมหรือไม่ เพราะมีความเสี่ยงว่าจะมีการใช้กำลังสลายการชุมนุม และจะเกิดความรุนแรงขึ้น แกนนำคนหนึ่งกล่าวว่า "หากต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็อาจต้องยอมให้เกิดการสูญเสียบ้าง"  ในที่สุดก็ไม่ได้มีการประกาศสลายการชุมนุม 

ถามต่อว่า ผู้ชุมนุมปราศจากอาวุธจริงหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า ไม่จริง เพราะมีรายงานว่ามีการยิงตอบโต้จากด้านผู้ชุมนุม ข่าวบางกระแสว่ามีเสียงปืนกลยิงออกมาจากด้านใน แต่จะอย่างไรอาวุธของผู้ชุมนุมไม่มีทางเทียบได้กับอาวุธของตำรวจกองปราบ และ ตชด. อย่างแน่นอน 

นี่คือที่มาของเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศเรา สาเหตุมาจากการแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายโจมตีกัน เกลียดชังกัน ทั้งอาจมีผู้อยู่เบื้องหลังที่ต้องการผลทางการเมือง ดูๆ ไปบรรยากาศในปัจจุบันชักคลับคล้ายกับบรรยากาศก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาเข้าไปทุกที  ยิ่งมีกระแสการนำเพลงปลุกใจมาทำใหม่ เผยแพร่ใหม่ ยิ่งรู้สึกว่า บรรยากาศยิ่งน่ากลัวขึ้น 

ก็หวังว่า ทุกคน ทุกฝ่ายจะอยู่กันอย่างมีสติ ทำอะไรกันอย่างมีสติ มองเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นบทเรียน อย่าให้ประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอยอีก ก่อนที่จะสายเกินไป

หมายเหตุ   การเล่าถึงเหตุการณ์ของบุคคลต่างๆ ที่ไม่ได้เอ่ยชื่อในข้อเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียนได้รู้จักบุคคลเหล่านี้เป็นส่วนตัว และได้รับฟังเรื่องราวเหล่านี้ด้วยตัวเองโดยตรง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"