อดีตรองอธิการบดีมธ.เล่าถึงโครงการพระราชดำริพ่อหลวง


เพิ่มเพื่อน    

13 ต.ค.2564 - รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โพสต์เฟซบุ๊กมีเนื้อหา ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทย ในปี พ.ศ.2493 เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ในวันที่ 5 พฤษภาคม ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน เป็นพระราชดำรัสว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

ก่อนหน้านั้น หลังจากที่นายปรีดี พนมยงค์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 พลเรือตรี หลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ต่อมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ได้เกิดการรัฐประหารนำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัน ซึ่งในระยะแรกได้ให้นาย ควง อภัยวงศ์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน เป็นนายกรัฐมนตรี และได้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้น ประกาศใช้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 

ในวันที่ 29 มกราคม 2491 ได้มีการเลือกตั้งทั่วไป พรรคประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะ ทำให้นายควงได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ในช่วงนี้ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นใหม่โดยฝ่ายอนุรักษ์นิยม และได้ประกาศใช้วันที่ 23 มีนาคม 2492 รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2475 มาก เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติว่า "ประเทศไทยมีการปกครองมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" 

ในวันที่ 6 เมษายน รัฐบาลนายควงก็ถูกรัฐประหารทางจดหมายจากคณะทหาร บังคับให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในที่สุด สาเหตุที่จอมพล ป. ไม่เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่แรกน่าจะเป็นเพราะว่าไม่แน่ใจว่ารัฐบาลรัฐประหารจะเป็นที่ยอมรับของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาหรือไม่ เนื่องจากจอมพล ป.เป็นผู้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 
ต่อมาก็ได้มีการเลือกตั้งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจอมพล ป.ก็ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกตามคาด 

หลังจากที่ทรงกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์อีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็ได้กำหนดวันกลับมาประทับในประเทศไทยเป็นการถาวรโดยจะเสด็จกลับในวันที่ 2 ธันวาคม 2494 ในขณะที่ประเทศไทยก็เกิดมีการทำรัฐประหารโดยคนกลุ่มเดียวกันกับที่ได้ทำรัฐประหารครั้งที่แล้ว โดยอ้างภัยคอมมิวนิสต์ที่คุกคาม และการทุจริตคอรัปชั่น และต่อมาคณะบริหารประเทศชั่วคราว ได้ประกาศรายงานกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะกำลังเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศ และประทับอยู่ที่สิงคโปร์ และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 แทนรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 จากนั้นก็ได้ประกาศตั้งรัฐบาลชั่วคราวซึ่งก็มี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีเช่นเดิม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 2 ธันวาคม 2494 ได้มีความพยายามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 เพื่อจะใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งเป็นที่กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นด้วยที่จะยังคงรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ไว้ และพยายามคัดค้านแต่ไม่เป็นผล พระองค์จึงทรงเปลี่ยนท่าทีมาเป็นการเข้าไปมีส่วนในการพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยจนกระทั่งถึงวันพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 8 มีนาคม 2495

ด้วยเหตุเหล่านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามจึงไม่สู้จะราบรื่นเท่าใดนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาจเป็นเพราะเพื่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ทรงพยายามประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆอย่างเต็มกำลัง เช่น ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อก่อตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อออกไปรักษาประชาชนในชนบท ทรงก่อตั้งทุน
อานันทมหิดล และทุนภูมิพล เพื่อนิสิตนักศึกษาและบัณฑิตในมหาวิทยาลัย เป็นต้น

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวโครงการแรกคือ โครงการสร้างถนนเข้าสู่หมู่บ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคอีสาน เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2498 การเสด็จครั้งนี้ ทุกจังหวัดที่เสด็จ มีประชาชนหลั่งไหลมาเฝ้าชมพระบารมีกันอย่างเนืองแน่นล้นหลาม 

การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคอีสานครั้งนี้ ทำให้พระองค์ทอดพระเนตรเห็นความเดือดร้อน แร้นแค้นของประชาชนในชนบท พระองค์จึงทรงคิดที่จะพระราชทานความช่วยเหลือแก่ชาวบ้าน ชาวนา และเกษตรกรที่เดือดร้อนเหล่านี้ และนี่คือจุดเริ่มต้นของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีมากกว่า 4,700 โครงการในปัจจุบัน

กระแสความนิยมของประชาชนที่มีต่อองค์พระเจ้าอยู่หัวที่มีมากขึ้นเรื่อยๆดูเหมือนจะทำให้รัฐบาลไม่สู้สบายใจนัก นั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปฏิเสธที่จะให้งบประมาณในการเสด็จประพาสภายในประเทศอีก การเสด็จประพาสในช่วงปี 2499-2500 จึงต้องจำกัดอยู่ในภาคกลางเท่านั้น
หลังการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500 ที่ถูกกล่าวถึงว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นหนึ่งในข้ออ้างของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการทำรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. ในวันที่ 16 กันยายน 2500 

รัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร โดยเฉพาะในช่วงที่จอมพล สฤษดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมาก และถวายการสนับสนุนต่อพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างเต็มที่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จพระราชดำเนินออกเยี่ยมราษฎรเรียกได้ว่า เกือบทุกจังหวัด ทั่วทุกภาคในประเทศ ไม่ว่าสถานที่นั้นจะเดินทางลำบากและทุรกันดารเพียงใดก็ตาม 

เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นปัญหาของชาวบ้านหรือเกษตรกร ก็จะทรงพระราชทานแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งอาจใช้หน่วยงานของพระองค์เอง เช่นมูลนิธิโครงการหลวง ที่พระองค์ทรงใช้แนวทาง สนับสนุนชาวไทยภูเขาในภาคเหนือให้ปลูกพืชเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งแรกๆก็ประสบปัญหามากมาย แต่ในปัจจุบันก็ประสบความสำเร็จด้วยดี หรือพระองค์อาจพระราชทานแนวทางการแก้ปัญหาให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนักวิชาการในมหาวิทยาลัยของรัฐ ให้ไปดำเนินการต่อ เช่น การแก้ปัญหาน้ำเสียด้วยการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติ ของโครงการอ้นเนื่องมาจากพระราชดำริ แหลมผักเบี้ย เป็นต้น 

ด้วยพระบารมีของพระองค์ หน่วยราชการต่างๆที่เคยทำงานแบบแยกส่วน ต่างคนต่างทำ กลับสามารถบูรณาการโดยทำงานร่วมกันได้อย่างดีเมื่อมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นศูนย์กลาง จากนั้นโครงการเหล่านั้นก็จะกลายเป็นโครงการของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ และใช้งบประมาณแผ่นดินผ่านกระทรวงทบวงกรมเหล่านั้น จะเห็นว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน เพื่อแก้หรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน มิได้ใช้งบประมาณเพื่อประโยชน์ของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่กล่าวหากันไม่ แต่ประโยชน์ทั้งหมดตกอยู่กับประชาชนโดยตรง

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก็ไม่ใช่จะประสบความสำเร็จทุกโครงการไป บางโครงการอาจไม่ได้ผลคุ้มกับการงทุน หรืออาจถึงกับล้มเหลวก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาอย่างยิ่ง

เรื่องการโฆษนาชวนเชื่อหรือ propaganda บอกได้เลยว่า เป็นเรื่องของข้าราชบริพาร และหน่วยราชการต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงเกี่ยวข้องด้วย เพียงแต่พระองค์ไม่ได้ทรงห้ามเท่านั้น 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมขอเล่าถึงประสบการณ์ที่พบด้วยตัวเองเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว เมื่อเพื่อนรักผมคนหนึ่งขอให้ผมไปประชุมแทนในคณะอนุกรรมการชุดหนึ่งของคณะกรรมการเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ ยังจำได้ว่าคณะอนุกรรมการชุดนี้มีคุณสมภพ จันทรประภา เป็นประธาน ในการประชุมวันนั้น นักสื่อสารมวลชนใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว ได้เสนอให้จัดตั้งหน่วยรถที่มีเครื่องฉายภาพยนตร์ขนาด 8 มม. ให้ตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆในชนบท เพื่อฉายภาพยนตร์พระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวให้ชาวบ้านชม ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้หลักผู้ใหญ่ในวงราชการ รวมทั้งผู้แทนจากองค์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยไม่มีใครคัดค้าน มีผมนี่แหละที่อดไม่ได้ ต้องยกมือขอค้าน เหตุผลก็คือ การทำเช่นนั้นแทนที่จะทำให้ชาวบ้านในชนบทเกิดความจงรักภักดี อาจเกิดผลในทางตรงข้ามก็ได้ เพราะชาวบ้านจะเห็นว่าเป็นการโฆษนาชวนเชื่อ 

ไม่มีใครแสดงความเห็นต่อการคัดค้านของผม มีเพียงประธานอนุกรรมการ คุณ สมภพ จันทรประภา ที่เห็นด้วย กับการคัดค้านจึงทำให้ข้อเสนอนี้ตกไป จะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆเลย 

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หากเป็นการช่วยเกษตรกรและชาวบ้านในชนบท ก็จะใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่หากเป็นโครงการที่มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ก็จะไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน เช่น โครงการหลวง โกลเด้นเพลส หรือบริษัทสุวรรณชาด และที่เป็นที่พึ่งของคนกรุงเทพฯที่เข้ารับการรักษาพยาบาลกันอย่างเนืองแน่นก็คือ คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา 

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9   อาจเป็นความจริงที่ว่า เป็นการสร้างสมพระบารมีเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สถาบันพระมหากษัตริย์แทบจะไม่มีความมั่นคงเลย แต่การสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันของพระองค์ด้วยการทำความดี ทำให้ราษฎรที่ยากไร้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างไม่ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย คงไม่ใช่เป็นการทำอะไรที่เป็นความผิดมิใช่หรือ 

ขอน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณตราบนิจนิรันดร์


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"