พท.-อนค.ขึ้นนำ พรรคในใจปชช. 'ประชารัฐ'รั้งที่4


เพิ่มเพื่อน    

    "เพื่อไทย" ยังครองอันดับ1 พรรคที่ประชาชนให้ความสนใจที่สุด "อนาคตใหม่" รั้งที่ 2 แซง "ประชาธิปัตย์" 86 ปีประชาธิปไตยยังสอบตก 10 พรรคประสานเสียงไม่เอานายกฯ ใบสั่ง "จาตุรนต์-ธนาธร" จับมือฉีก รธน. ล้างมรดก คสช.
    เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,105 คน ระหว่างวันที่ 19-23 มิ.ย.61 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อ "พรรคการเมืองเก่า" กับ "พรรคการเมืองใหม่" เนื่องจากกระแสการเมืองในช่วงนี้มีความร้อนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เริ่มมีการเคลื่อนไหว ทั้งการดูดตัวผู้สมัครเข้าสู่พรรค การเตรียมตัวของพรรคการเมืองเก่า รวมถึงการเปิดตัวพรรคใหม่ 
    โดย "3 อันดับพรรคการเมืองเก่า" ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ณ วันนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.59 ระบุว่า พรรคเพื่อไทย รองลงมาร้อยละ 39.89 พรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 4.52 พรรคภูมิใจไทย ส่วน "3 อันดับพรรคการเมืองใหม่" ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ณ วันนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.51 ระบุว่า พรรคอนาคตใหม่ รองลงมาร้อยละ 24.35 พรรคพลังประชารัฐ และร้อยละ 18.14 พรรคพลังชาติไทย
    ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความสนใจในภาพรวมทั้งพรรคการเมืองเก่า และพรรคการเมืองใหม่ "5 อันดับพรรคการเมือง" ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ณ วันนี้ พบว่า  อันดับ 1 ร้อยละ 55.0 ระบุ พรรคเพื่อไทย เพราะชื่นชอบที่เป็นพรรคใหญ่ อยากให้เข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ช่วยเหลือประชาชน มีนักการเมืองเก่ง มีชื่อเสียง อันดับ 2 ร้อยละ 34.18 พรรคอนาคตใหม่ เพราะเป็นพรรคใหม่ มีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน มีนโยบายน่าสนใจ อยากเปิดโอกาสให้เข้ามาทำงาน อันดับ 3 ร้อยละ 33.88 พรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นพรรคเก่าแก่ ก่อตั้งมานาน มีประสบการณ์ ชื่นชอบการทำงาน มีผู้สมัครที่น่าสนใจ เลือกพรรคนี้มาโดยอันดับ 4 ร้อยละ 17.39 พรรคพลังประชารัฐ เพราะมีกระแสต่อเนื่องเกี่ยวข้องกับรัฐบาลปัจจุบัน เป็นพรรคใหม่ มีนักการเมืองเข้ามาร่วมหลากหลาย และอันดับ 5 ร้อยละ 12.59 พรรคภูมิใจไทย เพราะชอบการบริหารงานที่ผ่านมา เป็นพรรคเล็กที่มีบทบาทสำคัญ อยากรู้ความเคลื่อนไหว
    สำหรับผู้สมัคร ส.ส.ที่สังกัด "พรรคการเมืองเก่า" กับ "พรรคการเมืองใหม่" มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนหรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 54.33 ระบุว่ามีผล เพราะขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน ชอบคน แต่ไม่ชอบพรรค นโยบายแต่ละพรรคแตกต่างกัน นอกจากจะดูที่ตัวบุคคลแล้วก็ดูว่าสังกัดพรรคที่ชอบด้วยหรือไม่ การเลือกสังกัดพรรคส่งผลต่อความน่าเชื่อ และร้อยละ 45.67 ไม่มีผล เพราะดูที่ตัวบุคคล ประวัติ ประสบการณ์ ผลงานที่ผ่านมา ชอบเป็นการส่วนตัว ไม่พิจารณาว่าสังกัดพรรคใด หากเป็นคนดีอยู่พรรคใดก็ทำงานได้ 
    ในการเลือก ส.ส. ระหว่าง "ตัวผู้สมัคร" กับ "พรรคที่สังกัด" ประชาชนให้ความสำคัญอะไรมากกว่ากัน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 41.63 ระบุว่าพอๆ กัน เพราะต้องพิจารณาทั้งตัวผู้สมัครและพรรคที่สังกัดไปพร้อมๆ กัน อยากได้ทั้งผู้สมัครและพรรคที่ดีมีคุณภาพ หากพรรคมีนโยบายที่ดี ก็จะส่งผลให้ผู้สมัครทำงานได้ดี มีผลงาน รองลงมาร้อยละ 36.92 ตัวผู้สมัครมากกว่า เพราะเน้นที่ตัวผู้สมัคร อยากได้คนดี ทำงานเป็น มีผลงาน มีความคุ้นเคยกับคนในพื้นที่ พรรคการเมืองที่ดีต้องมีผู้สมัครที่ดี และร้อยละ 21.45 พรรคที่สังกัดมากกว่า เพราะพรรควางนโยบายของผู้สมัคร พรรคที่มีการบริหารที่ดีจะทำให้ผู้สมัครทำงานได้ดียิ่งขึ้น ผู้สมัครต้องปฏิบัติตามแนวทางของพรรค พรรคที่เข้มแข็งสามารถให้การสนับสนุนผู้สมัครได้เต็มที่
86 ปี ปชต.ไทยสอบตก
    ที่สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี มีการจัดรายการวอร์มอัพ ไทยแลนด์ สเปเชียล ตอน “86ปี ประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน” โดยมีตัวแทนนักการเมืองทั้งเก่าและใหม่ 10 พรรค ร่วมพูดคุยถึงอนาคตประชาธิปไตยไทย ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ พรรคพลังพลเมือง นายชวน ชูจันทร์ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ว่าที่หัวหน้าพรรคเกรียน
    โดยในวงเสวนาได้ตั้งคำถามกับตัวแทนพรรคการเมืองว่า “86 ปี ให้คะแนนประชาธิปไตยไทยอย่างไร ปัจจัยเกื้อหนุน อะไรคืออุปสรรค?”
    นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า 86 ปีที่ผ่านมาประชาธิปไตยมีความก้าวหน้า สังคมมีความตื่นตัว ประชาชนต้องการสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ขณะที่ในปัจจุบัน ผู้ทำรัฐประหารต้องตอบคำถามสังคมว่าประเทศจะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งได้เมื่อใด เรามีรัฐธรรมนูญกว่า 20 ฉบับ แต่อาจยังมีจุดบอดคือต้องเผชิญภาวะประชานิยม และเผด็จการ ถ้าจะให้คะแนนประชาธิปไตยไทยในวันนี้ เดิมเคยอยู่ที่ประมาณ 7-8 คะแนน แต่วันนี้เรากำลังถดถอยเหลือประมาณ 5 คะแนน แต่จะสอบผ่านหรือไม่อยู่ที่ประชาชนและสังคมไทยว่าการเลือกตั้งในปี 62 จะเป็นอย่างไร ซึ่งหวังว่าหลังการเลือกตั้งจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล หากทำได้คะแนนจะเพิ่มขึ้น ถ้าทำไม่ได้จะถือว่าคะแนนลดและสอบตก
    นายจาตุรนต์กล่าวว่า ประชาธิปไตยไทยวันนี้คะแนนเต็ม 10 ตนให้ 3 คะแนน เพราะยังอยู่ภายใต้แกนนำของกองทัพ และประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมาก ทั้งความคิดและบทบาท ตนเชื่อว่าประชาชนสามารถชี้ความเป็นไปของบ้านเมืองได้ สิ่งที่เราจะทำคือต้องสร้างใหม่และพัฒนาให้ยั่งยืน จะเสนอว่าให้มีการเลือกตั้งที่เสรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ใช้อำนาจเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้ง แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้ คสช.สืบทอดอำนาจ ถ้าคนใน คสช.จะมาในรูปแบบใด เราไม่เอาด้วยทั้งนั้น ไม่ว่าจะคนนอกหรือคนใน 
    “วันนี้สิ่งที่ คสช.และพวกสร้างเอาไว้ถือเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่พรรคเพื่อไทยไม่มีอะไรจะสานต่อ มีแต่รื้อทิ้งแล้วจะทำใหม่ ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับนี้เราไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น จะแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และจะขัดขวางทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้ คสช.สืบทอดอำนาจได้ เช่นเดียวกับการที่จะมีคนของ คสช.เข้ามาในการโหวตนายกรัฐมนตรีทั้งรอบแรกและรอบสอง เราก็จะไม่เอาด้วย ทางพรรคเพื่อไทยยินดีเป็นฝ่ายค้าน และเราไม่ทำพรรคให้เป็นสโมสรที่รวมนักการเมืองแล้วให้ใครเป็นนายกฯ เหมือนกับที่เขาทำอยู่ในขณะนี้” นายจาตุรนต์ระบุ
    นายวราวุธกล่าวว่า 86 ปีประชาธิปไตยไทยล้มลุกคุกคลาน เราล้มบ้างลุกบ้าง จะเห็นได้ว่าคนไทยชอบพรรคนี้ เวลาผ่านไปก็ชอบอีกพรรค ยังมีวาทกรรม เช่น พรรคเทพ พรรคมาร ผิดพลาดก็ทำรัฐประหาร แล้วก็มีการมอบดอกไม้ให้ทหาร แต่ผ่านไปเริ่มเปลี่ยน การเมืองไทยเหมือนละคร สลับกันเป็นพระเอกผู้ร้าย ตนให้คะแนน 6 เต็ม 10 ซึ่งการเลือกตั้งปี 2562 แสดงว่าสุดท้ายคนไทยเลือกประชาธิปไตย คนไทย 50 ล้านคนเชื่อในระบบ และจะเห็นว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะรัฐประหารกี่ครั้งก็ต้องจบด้วยการเลือกตั้ง
    นายอนุทินกล่าวว่า ขอไม่ให้ผ่าน ถ้าเราบอกเป็นประชาธิปไตย แต่กลับมีการรัฐประหาร จากนี้ไปเราต้องทำให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์และผ่านไปได้ ควรคืนอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของเขา ตรงนี้เชื่อว่าจะทำให้การเมืองผ่านฉลุยไปได้ หวังว่าการเลือกตั้งปี 62 ต้องทำให้ทุกคนยอมรับ แล้วปีหน้ามานั่งคุยกันใหม่ ตนจะบอกว่าเราให้คะแนนผ่าน
ไม่เอานายกฯ คนนอก
    นายธนาธรกล่าวว่า ให้ 1.97 คะแนน เพราะต้องมีบรรทัดฐานชี้วัด 86 ปีที่ผ่านมา เรามีรัฐบาลโดยคำนวณจากรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งในรอบ 86 ปี ต่อค่าเปอร์เซ็นต์ ย้ำว่าการรัฐประหารต้องจบในรุ่นเรา ไม่ส่งต่อให้ลูกหลานอีกต่อไป เพราะประชาธิปไตยประเมินเป็นค่าตัวเลขไม่ได้ โดยปี 2475 คือ เราเปลี่ยนจากไพร่เป็นพลเมือง คนมีอำนาจเอาอำนาจไปจากประชาชนเป็นเพียงอภิสิทธิ์ชนไม่กี่คน ซึ่งส่งผลการกระจายอำนาจ การเหลื่อมล้ำต่างๆ เพราะการรวบอำนาจ สิ่งสำคัญคือการรัฐประหาร โดยประชาธิปไตยไม่เคยได้เติบโต ประชาชนไม่เคยได้ใช้อำนาจตนเอง 
    “ขอให้ทุกคนฟังให้ดีว่าใครที่พูดอะไรเกี่ยวข้องกับทหาร เกี่ยวข้องกับรัฐประหารเอาไว้อย่างไรแล้วให้ไปดูว่าสิ่งที่พวกเขาจะทำกันหลังเลือกตั้ง เราอยู่กับความขัดแย้งมา 12 ปี เราต้องชนะให้ขาดด้วยการเลือกตั้ง อย่าให้ใครเอาคำว่าประชาธิปไตยมาตีกิน เราต้องจับมือกันให้ได้เสียงในสภาฯ 376 เสียง และเราจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ได้ทันที เพราะต้องล้มล้างผลพวงของคณะรัฐประหาร ถ้าทำได้เพียงแค่ครั้งเดียว ผมก็มั่นใจว่าการทำรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย ส่วนพวกที่แอบหวังว่าจะไปเป็นรัฐมนตรี หรือไปร่วมรัฐบาลก็ต้องตอบให้ชัดว่าจะไปอยู่กับ คสช.หรือไม่ ถ้าพรรคไหนตอบไม่ชัดเราไม่ต้องเลือก” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ระบุ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายได้มีการเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้ตั้งคำถามกับผู้ร่วมรายการ โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง ได้ลุกขึ้นถามว่า ขอความชัดเจนว่าหากมีการเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา พรรคของท่านจะเลือกขั้นตอนแบบไหนระหว่าง 1.เลือกพรรคการเมืองที่มี 250 เสียงขึ้นไป และ 2.ไม่เป็นอะไร ให้ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยให้ ส.ว.มาร่วมโหวตด้วย ปรากฏว่าทุกพรรคการเมืองพูดในทิศทางเดียวกันว่า ให้การเลือกนายกฯ จบในขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร 
    ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง รวมตัวทำกิจกรรม "Happy Birthday 86 ปีประชาธิปไตย" และกิจกรรมแสดงสัญลักษณ์แสดงเจตนารมณ์ของคณะราษฎร เนื่องในโอกาส 86 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยทางกลุ่มได้แต่งตัวเป็นผีประชาธิปไตย เพื่อแสดงให้เห็นถึงประชาธิปไตยถูกฆ่ามาแล้ว 13 ครั้ง พร้อมเป่าเทียนเค้กวันเกิดรูปสัญลักษณ์หมุดคณะราษฎร พร้อมถือแปรงขัดส้วม และแปรงสีฟันอันใหม่ เพื่อแสดงถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ 
    ทั้งนี้ นายธนวัฒน์ พรหมจักร ตัวแทนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ที่คณะราษฎรหวังไว้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"