พึ่งรัฐไม่ได้!ชาวบ้านเผาพริกเกลือสาปแช่ง สู้โรงงานน้ำตาลทำลายชุมชน


เพิ่มเพื่อน    

ชาวบ้านยโสธร-อำนาจเจริญ ลุกขึ้นสู้โรงงานน้ำตาลทำลายชุมชน ลั่นไม่ยอมรับอีไอเอฉบับยัดเยียดทำลายชีวิตสิ่งแวดล้อม  จี้ผู้ว่าฯตั้งกรรมการศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง 

25มิ.ย.61-ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร กว่า 100 คน ได้อ่านแถลงการณ์ หยุดยัดเยียดที่อ้างการพัฒนาและความเจริญมาทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชน ทั้งยังเผาหุ่น เผาพริก เผาเกลือ สาปแช่ง ที่มีข้อความ ไม่ยอมรับ อีไอเอโรงงานน้ำตาล มติ(คชก.) และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)

นายสาธร ปั้นทอง อายุ 57 ปี กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง และอดีตกำนันตำบลเชียงเพ็ง  ระบุว่า โครงการดังกล่าว    คาบเกี่ยวกัน 2 จังหวัด คือ จังหวัดอำนาจเจริญ จ.ยโสธร โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ยโสธร ที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรที่เป็นพื้นที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ทางกลุ่มมองกระบวนการที่ผ่านมายังขาดในประเด็นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านและเนื้อหาหลายประเด็นที่ขัดแย้งกับข้อมูลพื้นที่ แต่ในส่วนการดำเนินการของโรงงานกลับทำไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ชาวบ้านก็ยังยืนยันว่าอีไอเอยังขัดแย้งกับข้อมูลชุมชน แล้วโรงงานจะได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานมาอย่างไร

นายสาธร ระบุว่า ที่ผ่านมาทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ได้ทำหนังสือคัดค้านมาตลอดโดยเฉพาะกระบวนการและประเด็นในการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่พวกเรายืนยันว่ายังมีประเด็นขัดแย้งกับข้อมูลพื้นที่ดังนี้ 1. ชุมชนที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นที่แท้จริง โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ยโสธร ซึ่งเป็นพื้นที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง และชุมชนที่อาศัยลำน้ำเซบายตลอดทั้งลำน้ำ 2.ไม่มีการทำความตกลงและทำประชาคมกับชุมชนที่อยู่ในลำน้ำเซบายถึงการกำหนดระดับน้ำในการผันน้ำให้อยู่ในระดับที่ชุมชนยอมรับร่วมกันทั้งกลางน้ำ ปลายน้ำ และไม่มีการจัดประชุมประชาคมกลุ่มผู้ใช้น้ำและทรัพยากรในลำน้ำเซบายในประเด็นเรื่องการผันน้ำเข้าไปใช้ในโครงการ 2 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งโครงการจะมีแผนในการผันน้ำจากลำน้ำเซบายเข้าพื้นที่โรงงานน้ำตาลในช่วงฤดูน้ำหลาก

ประเด็นที่ 3 ขัดกับนโยบายจังหวัด การดำเนินการโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นโครงการที่ขัดแย้งกับนโยบายแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ พ.ศ.2560 – 2564  โดยเฉพาะ จังหวัด ที่กำลังดำเนินการขยายพื้นที่ปลูกพืชอินทรีย์  และการปฎิบัติของชุมชน โดยเฉพาะการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ซึ่งเป็นนโยบายของจังหวัดยโสธรเป็นเมืองแห่งวิถีอีสาน ประเด็นที่ 4 ความไม่เหมาะสมในการดำเนินโครงการเชิงพื้นที่  เพราะใกล้ชุมชน ใกล้แหล่งน้ำ
    
ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า ทางกลุ่มอยากเรียกร้องให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรตั้งกรรมการศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง ในเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านต่อโครงการที่จะเกิดขึ้น ศึกษาทรัพยากรชุมชนที่ชาวบ้านได้พึ่งพาอาศัย และศึกษาสุขภาพของชุมชนด้วย เพื่อจะได้รู้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชุมชนที่ไม่ควรจะมีโรงงานขนาดใหญ่มาก่อตั้งใกล้แหล่งทรัพยากรและชุมชน

ทั้งนี้การก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาลนั้นกำลังดำเนินการก่อสร้างไปอย่างรวดเร็ว หลังจากอีไอมีมติเห็นเห็นชอบจาก (คชก.) และทางบริษัทได้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(ร.ง.4)และทางกระทรวงอุสาหกรรมได้อนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา และเงื่อนไขการอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงาน ท่ามกลางการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ ไม่ยอมรับกระบวนการตั้งแต่ก่อนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 และ 2  ตลอดจนกระบวนการที่ คชก. พิจารณา จนได้มาซึ่งใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน .
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"