เด็กGenใหม่เข้าใจได้ไม่ยาก แนะผู้ปกครองเลี้ยงลูกเชิงบวก


เพิ่มเพื่อน    

(เด็กยุคใหม่ที่มีความฉลาดและมีความคิดสร้างสรรค์เป็นของตัวเอง ผู้ปกครองควรเลี้ยงดูลูกเชิงบวก โดยการส่งเสริมให้เด็กรู้จักตัดสินใจและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง)

     ด้วยการเติบโตมาในยุคที่แตกต่าง บางครั้งอาจทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย อุทยานการเรียนรู้ TK park ชวนคุณพ่อคุณแม่มาเติมเต็มช่องว่างระหว่างวัย ทำความเข้าใจเด็กยุคใหม่ กับกิจกรรม Family Talks ตอน เด็ก Gen ใหม่ เข้าใจได้ไม่ยาก ข้อคิดดีๆ จากแขกรับเชิญพิเศษ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ คุณหมอโอ๋ ผู้เขียนหนังสือ "เลี้ยงบวก ลูกบวก" และแอดมินเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความเข้าใจว่าเด็กยุคใหม่มีพฤติกรรมการแสดงออก ต้องการอะไร เราจะสื่อสารกันอย่างมีความสุขได้อย่างไร

(พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร)

     คุณหมอโอ๋กล่าวว่า เด็กยุค GenZ คือคนที่เกิดหลังจากปี พ.ศ.2538 เป็นต้นมา เด็กยุคนี้จะเป็นเด็กที่มีคาแรคเตอร์เป็นของตนเอง โตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากยุคคุณพ่อคุณแม่ เด็ก GenZ จะมีความคิดสร้างสรรค์สูง ฉลาด โลกของเขาไม่ใช่การถูกสอนจากผู้ใหญ่ ความรู้ของพวกเขาหาง่ายผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต โซเชียล และเทคโนโลยีต่างๆ สังเกตว่าเด็กยุคนี้จะตั้งคำถาม รู้จักโต้แย้งคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาในทางที่ดี ขณะเดียวกันพวกเขาโตมากับความสะดวกสบาย ไม่เคยต้องอดทนและรอคอยกับอะไร อะไรที่ต้องใช้เวลา เด็กยุค GenZ จะทนไม่ได้

     ดังนั้นเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป พ่อแม่ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลง วิธีการเลี้ยงลูกก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เป็น การเลี้ยงดูเชิงบวก เมื่อก่อนการเลี้ยงดูในบ้านเราส่วนใหญ่จะใช้อำนาจ ใช้ความรุนแรงเข้าไปจัดการปัญหาของเด็ก เด็กจะมีความรู้สึกกลัวคุณพ่อคุณแม่ ความสัมพันธ์ในครอบครัวจึงถูกทำลาย วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวกจึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องมีส่วนช่วยส่งเสริมในจุดบวกของเขา ฝึกชวนคิดให้เยอะ คุณพ่อคุณแม่ควรใช้วิธีการตั้งคำถามมากกว่าการทำโทษ เช่น ถ้าลูกทำน้ำหก ไม่ใช่ตีเขา เราควรถามลูกว่าทำอย่างไรดีล่ะลูก? ให้เขาคิดเองว่าน้ำหกก็ควรเอาผ้ามาเช็ด ข้อคิดดีๆ ที่คุณหมอแนะนำอีกหนึ่งอย่างคือ อย่าเลี้ยงลูกด้วยการปกป้อง ต้องให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเอง ให้เขายอมรับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

     นอกจากนี้ คุณหมอโอ๋ยังได้แบ่งปันเทคนิคการเลี้ยงลูกด้วยแนวคิด 5L เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้เรียนรู้และเข้าใจการเลี้ยงดูลูกหลานให้เหมาะสมกับครอบครัว โดย L ตัวแรกคือ Love ความรัก ความเข้าใจ การใส่ใจ การมีเวลาคุณภาพกับลูกคือ การมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับลูก เล่นกับเขา ให้เขารู้สึกว่าเขามีตัวตน ให้เขามีความหมาย เป็นที่รักของพ่อแม่ มีสายสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

     L ตัวที่สอง Learn การเรียนรู้ เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีในช่วง 6-7 ปีแรกของชีวิต มีต้นทุนการเรียนรู้ที่ดี มีเซลล์ประสาทที่ดี การเรียนรู้ผ่านการเล่นจะทำให้พวกเขาเป็นเด็ก 4C ได้แก่ 1) Critical thinking รู้จักการคิดเชิงวิเคราะห์ คิดเป็น 2) Creative มีความคิดสร้างสรรค์ 3) Co-operations เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การทำงานเป็นทีม 4) Communications การสื่อสารหรือการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี

     ขณะที่ L ตัวที่สาม Limit การฝึกวินัยเชิงบวก การเรียนรู้ด้วยเหตุผล ต้องรู้จักบอกลูกว่าอะไรได้ อะไรไม่ได้ การทำให้ลูกอยู่ในกฎกติกาที่ตกลงร่วมกัน ส่วน L ตัวที่สี่คือ Let them grow การให้อิสรภาพ ฝึกให้ลูกเติบโต ปล่อยให้เขาโตขึ้นในวิถีที่เขาเป็นตัวเอง บางครั้งก็ต้องปล่อยให้ลูกเรียนรู้จากความผิดของตัวเอง และ L ตัวสุดท้ายตัวที่ห้าคือ Let it be การปล่อยวางอย่างเข้าใจ พ่อแม่ต้องบอกตัวเองไว้เสมอ ลูกไม่ใช่ของเรา ชีวิตเป็นของเขา พ่อแม่มีหน้าที่แค่คอยช่วยเหลือให้เขาเติบโต ไม่ใช่ควบคุม

     ที่สำคัญการเลี้ยงลูกยุคนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างความสัมพันธ์กับลูกเหมือนเพื่อน แต่ไม่ใช่เพื่อน ต้องสร้างให้ลูกศรัทธาและการเคารพในตัวพ่อแม่ แล้วลูกของคุณจะ คุยด้วย-เข้าหา-ปรึกษา-หัวเราะ การเลี้ยงลูกเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ และไม่มีวิธีการที่ตายตัว แนวคิดที่นำมาแบ่งปันนี้ ผลดีที่สุดควรเป็นการนำไป "ปรับใช้" ตาม "ธรรมชาตินิสัย" ของลูกและของพ่อแม่แต่ละครอบครัว และคุณเองก็จะเป็นพ่อและแม่ที่เลี้ยงลูกแบบ "มีความสุข" ค่ะ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"