ผู้ว่าฯ สตง. ในภารกิจสกัด-จับโกง


เพิ่มเพื่อน    

ประจักษ์ บุญยัง

มือสอบโกงข้าว สู่ผู้ว่าฯ สตง.

        สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หนึ่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าเป็นองค์กรอิสระที่มีบทบาทสำคัญไม่ใช่น้อย ยกตัวอย่างก็เช่น ทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ก็เป็น สตง.ที่เป็นหน่วยงานแรกที่เข้าไปตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวจนพบสิ่งผิดปกติหลายขั้นตอน จนมีหนังสือทักท้วงให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทบทวนการดำเนินโครงการ แต่รัฐบาลไม่ฟังจนสุดท้ายเกิดเป็นคดีความ ที่ศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุกอดีตนายกรัฐมนตรี-อดีต รมว.พาณิชย์-อดีต รมช.พาณิชย์ และกับกรณี ทุจริตเงินทอนวัด ที่มีการขยายผลการตรวจสอบจนมีการดำเนินคดีกับอดีตพระเถระชั้นผู้ใหญ่-อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม-อดีตข้าราชการระดับสูงของสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ รวมถึง ทุจริตเงินช่วยเหลือคนจน ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ทั้ง 2 เรื่องหลัง สตง.ก็เป็นหน่วยงานแรกอีกเช่นกัน ที่มีหนังสือแจ้งไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า อาจมีสิ่งผิดปกติในการเบิกจ่ายงบประมาณ  

        สตง.ในปัจจุบันมี ประจักษ์ บุญยัง เป็น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ สตง.เมื่อ 6 มีนาคม 2561 ที่มาที่ไปของ ประจักษ์-ผู้ว่าฯ สตง.คนปัจจุบัน ที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ให้อำนาจผู้ว่าฯ สตง.มากขึ้นกว่าเดิมมาก เป็นอย่างไร และในการทำงานผู้ว่าฯ สตง.ที่จะอยู่ในตำแหน่ง 6 ปี มีแนวนโยบายการทำงานเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินไม่ให้รั่วไหล-ทุจริต-ใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพ จะเป็นอย่างไร ทั้งหมดมีคำตอบ...

        เริ่มต้นที่ ประจักษ์-ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวตอบหลังเราถามถึงกรณีที่เคยมีข่าวว่า ก่อนเป็นผู้ว่าฯ สตง.เคยมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว และเคยไปเป็นพยายฝ่ายโจทก์ในคดีรับจำนำข้าว ที่มีอดีตนายกฯ เป็นจำเลย ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ โดยได้เล่าถึงเรื่องนี้ว่า ด้วยพื้นฐานการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เมื่อเข้ามาทำงานที่ สตง.เมื่อปี 2530 ทำงานการตรวจสอบด้านการวัดผล หรือ performance audit ซึ่งการตรวจลักษณะนี้ สตง.จะตรวจได้ไม่มาก เพราะมีบุคลากรแค่ร้อยกว่าคน จริงๆ เรื่องจำนำข้าว สตง.ตรวจมาตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ก็มีการทำจำนำข้าว พอรัฐบาลทำเสร็จเราก็เข้าไปตรวจ เราก็พบจุดเสี่ยง จุดบกพร่องต่างๆ เราก็มีข้อเสนอแนะออกไป อะไรที่แก้ไขได้ก็ให้แก้ไข อะไรที่ดำเนินไปแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ให้การดำเนินการครั้งต่อไป ไม่ควรทำแบบนี้ อันนั้นเป็นเรื่องเชิงการบริหารงาน

พอจบจากรัฐบาลไทยรักไทย ต่อมาในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ มีการทำโครงการประกันรายได้ สตง.ก็ไปตรวจสอบเช่นกัน ก็มีข้อบกพร่องเหมือนกัน ต่อมาพอรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาโดยมีการประกาศนโยบายจำนำข้าว ตั้งแต่ตอนหาเสียงแล้ว เราก็ดูว่า ตอนทำจำนำข้าวก่อนหน้านั้น สตง.เคยเสนอแนะว่ามีจุดบกพร่องมีความเสี่ยงอะไรไป เราก็เตรียมข้อมูลเหล่านี้ว่าเมื่อเสร็จจากการเลือกตั้ง แล้วเข้ามาเป็นรัฐบาล เราก็จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปเสนอว่าตอนเริ่มต้นทำ สิ่งที่เป็นจุดเสี่ยงต่างๆ ควรมีการเพิ่มมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย มีข้าวนุ่งโสร่ง มีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง นำข้าวเก่ามาเข้าโครงการรับจำนำ เรามีการวิเคราะห์ทุกขั้นตอนไปจนถึงการดำเนินการจนถึงการขาย เราก็แจ้งไปตั้งแต่ต้น

...ช่วงดังกล่าว ผมทำหน้าที่ป็น ผอ.สำนักตรวจสอบการดำเนินงานที่ 1 รับผิดชอบการตรวจสอบการดำเนินงาน โดยโครงการรับจำนำข้าวอยู่ในความรับผิดชอบ เรื่องก็เริ่มต้นจากทางสำนักรายงานเป็นข้อเสนอแนะไปเพื่อให้หามาตรการ ต่อมาสักระยะก็เห็นว่า เมื่อเริ่มดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวไปแล้ว ไม่ได้มีมาตรการอะไรในการป้องกัน สตง. เราก็เตือนไปอีก ในเคสต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น กรณีสวมสิทธิ์ ตำรวจ-อธิบดีก็ไปจับ เราก็บอกแล้วว่าจะมีการสวมสิทธิ์ได้ แต่ก็ไม่ได้มีมาตรการอะไรเพิ่มขึ้น รวมถึงการขายข้าว เช่น ข้าวที่อยู่ในโกดัง ที่นำมาเป็นข้าวถุงหรือขายข้าวในกรณีต่างๆ เช่น ขายเป็นจีทูจี เราก็ไปตรวจว่าการขายแบบนั้น การขายเป็นข้าวถุง มันถูกต้องหรือไม่ ก็พบว่ามีเหตุน่าเชื่อว่ามีการทุจริต

โดยปกติเมื่อสำนักตรวจสอบการดำเนินงาน ตรวจแล้วพบว่ามีเหตุที่น่าเชื่อว่ามีทุจริต ต้องส่งเรื่องไปอีกสำนัก ที่ทำหน้าที่การตรวจสอบสอบสวน เวลานั้นผู้บริหาร สตง.ก็เห็นว่าควรจะบูรณาการร่วมกัน ก็เลยตั้งผมเป็นประธาน แล้วนำเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ-สอบสวน รวมถึงตรวจสอบด้านการเงิน มาร่วมกันตรวจสอบเรื่องโครงการรับจำนำข้าว ทำให้ผมที่เป็นประธานคณะทำงานตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว เลยได้เห็นข้อมูลทุกอย่าง เช่น เรื่องข้าวถุง ที่พบว่าน่าเชื่อว่าทุจริต เราก็ส่ง ป.ป.ช. หรือเรื่องการขายข้าวแบบจีทูจี ที่ไม่ใช่จีทูจีจริง เราก็แจ้ง ป.ป.ช.ไปเช่นกัน หลังพบว่าข้าวไม่ได้ถูกส่งออกไปต่างประเทศ

 สิ่งเหล่านี้ สตง.พบเราก็แจ้งไป จนต่อมาเมื่อมีการร้องไปที่ ป.ป.ช. ว่าเป็นการละเว้น ละเลยทำให้รัฐเสียหาย ทาง ป.ป.ช.ก็เชิญทางเจ้าหน้าที่ สตง.ไปเป็นพยานให้ข้อมูล ผมก็เป็นตัวแทน สตง.ในการไปเป็นพยานให้ข้อมูลตั้งแต่ชั้น ป.ป.ช. ไปจนถึงอัยการ และเป็นพยานฝ่ายโจทก์ในศาลฎีกาฯ

การตรวจสอบรับจำนำข้าว ก็ไม่ใช่ผมคนเดียวที่ทำ เป็นทีมงานของ สตง.ทั้งหมดในการทำงาน เพียงแต่ผมเป็นตัวแทน สตง.ในการไปเป็นพยาน ไปให้ทนายฝ่ายจำเลยซักค้านพยานในห้องพิจารณาคดี

        ประจักษ์-ผู้ว่าฯ สตง. ย้ำว่า เหตุที่ สตง.เป็นหน่วยงานแรกในการตรวจสอบเรื่องจำนำข้าว เพราะว่าเราตรวจสอบตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จนต่อมาสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เราเห็นแต่แรกแล้วว่ามีนโยบายจำนำข้าว และวิธีการไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่ส่วนที่แตกต่างกันก็คือของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จำนำข้าวทุกเมล็ด ที่ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการดำเนินการ เช่น นาย ก. มีที่ดินปลูกข้าว 10 ไร่ ก็จะจำนำได้แค่ไม่เกิน 5 ตัน ปริมาณก็จะอยู่แค่นั้น แต่เมื่อมาใช้นโยบายจำนำทุกเมล็ด ก็ทำให้มีเท่าไหร่ก็จำนำได้หมด ไม่ต้องคุมแล้ว ความเสียหายก็มากขึ้น ซึ่ง สตง.ก็ได้แจ้งเตือนไปตั้งแต่แรกๆ เพราะเราอยากให้เขาทำให้ถูกต้อง เพราะสามารถกำหนดมาตรการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายได้

        เรื่องนี้เราเห็นจุดบกพร่องตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แล้วเราก็มาแจ้งกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่ามีจุดบกพร่องตรงไหน จากนั้น สตง.ก็ติดตามมาต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่ สตง.บอกไปมันเกิดหมด ไม่ว่าจะเป็นการสวมสิทธิ์ การขายข้าว ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่ได้มีแค่ สตง.หน่วยเดียว ยังมีทีดีอาร์ไอ ป.ป.ช.

-ตอนที่ สตง.ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวยุครัฐบาลที่ผ่านมา แรกๆ ตอนนั้นคิดไหมว่า โครงการจะมีความเสียหายระดับแสนล้าน อย่างที่มีการบอกกัน?

ตอนเริ่มต้น เราไม่ได้มองว่าจะถึงแสนล้านขนาดนั้น แต่พอเขาทำไปเรื่อยๆ โดยให้จำนำข้าวได้ทุกเมล็ด มันก็เปิดให้เกิด ก่อนหน้านั้นจะมีโควตาอยู่ ว่าจะให้จำนำได้ไม่เกินเท่าใด ซึ่งเมื่อไม่มีการจำกัดจำนวนการรับจำนำ ความเสียหายมันก็มากขึ้นโดยอัตโนมัติ

บทเรียนโกงจำนำข้าว

เพิ่มดาบ-อำนาจผู้ว่าฯ สตง.

-ความเสียหายโครงการจำนำข้าว ในฐานะทำงานด้านการตรวจสอบ ถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญของการออกนโยบายลักษณะเช่นนี้หรือไม่?

ถือว่าเป็นบทเรียนของประเทศไทยได้เลย เห็นได้ชัดจากกรณีที่เรื่องจำนำข้าว ได้สะท้อนออกมาจนมีการเขียนเป็นกฎหมายใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 ที่บัญญัติว่า

“เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ ให้ผู้ว่าการเสนอผลการตรวจสอบการกระทําที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง ต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณา

ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นพ้องด้วยกับผลการตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อปรึกษาหารือร่วมกัน ในกรณีที่ประชุมร่วมมีมติเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจํานวนกรรมการที่ลงคะแนน ให้ประธานกรรมการ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง และประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติร่วมกันลงนามในหนังสือแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชน

...เพราะไม่มีเคสตัวอย่างอันไหนที่เกิดขึ้นชัดๆ แล้วเขียนเป็นกฎหมายได้ แสดงว่าฝ่ายร่างกฎหมาย และ สนช.เห็นพ้องต้องกันว่า ในวันข้างหน้าเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง อาจจะมีโครงการแบบรับจำนำข้าวอีก ก็เลยให้อำนาจผู้ว่าฯ สตง.ไว้ เพราะตอนจำนำข้าว มีการบอกให้รัฐบาลยกเลิก แต่รัฐบาลก็บอกว่าได้สัญญากับประชาชนไว้แล้ว จะไปเลิกได้อย่างไร ตอนนั้นคือทุกหน่วยงานไม่มีอำนาจไประงับยับยั้งได้ ก็เลยมาเขียนให้อำนาจไว้ดังกล่าว เพื่อว่าหากจะเกิดอย่างนั้นอีก ก็ให้มีหน่วยงานที่สามารถดำเนินการได้แล้ว โดยก็ไม่ได้ให้อำนาจกับ สตง.หน่วยงานเดียว แต่ยังให้ กกต.ที่ดูแลการเลือกตั้ง-ป.ป.ช.ที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องการตรวจสอบการทุจริต และ สตง.ที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน เมื่อทั้ง 3 หน่วยงานมีความเห็นในแนวทางเดียวกัน ก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้มีการระงับ

-การให้อำนาจผู้ว่าฯ สตง.และ 3 องค์กรอิสระ คือ คตง.-ป.ป.ช.และ กกต.ดังกลาว จะทำให้ต่อจากนี้ การออกนโยบายประชานิยมผ่านการทำโครงการต่างๆ จะลดความเสี่ยงเรื่องการทุจริต การรั่วไหลการใช้เงินงบประมาณได้หรือไม่?

ตรงนี้ก็ไม่ได้มองถึงขั้นทุจริต แต่หากทำแล้วไม่ถูกวิธีการ หรือเห็นชัดเจนว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหาย ก็ให้ระงับยับยั้ง ซึ่งผลการตรวจสอบตรงนี้ของ สตง.จะต้องมีความชัดเจนว่าจะเกิดความเสียหายอย่างไร

โครงการประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นของประเทศไหน ก็มีความเสี่ยงทั้งสิ้น อย่างโครงการเอสเอ็มอีสมัยเดิม หรือโครงการกองทุนหมู่บ้าน-โครงการที่ลงไปถึงประชาชน โอกาสที่มันจะเสียบ้างก็มี ดังนั้นจึงต้องดูในภาพรวมว่าเป็นอย่างไร เท่าที่ดู โครงการย่อยๆ ที่ลงไปถึงระดับหมู่บ้าน อาจมีการเห็นว่ามีการใช้เงินไม่ถูกต้อง แต่เงินได้นำลงไปตรงนั้น มีประชาชนใช้เงินเยอะมาก ซึ่งเมื่อดูโดยภาพรวมแล้ว เปอร์เซ็นต์ความสูญเสียหากคิดภาพรวม ก็ไม่สูงมากนัก แต่มันอาจจะเกิดตรงพื้นที่ต่างๆ จำนวนที่เกิดมันอาจจะเยอะ แต่จุดเหล่านั้น ก็เช่น ห้าแสนบาท หนึ่งล้านบาท ถ้าเป็นโครงการประชานิยมในลักษณะแบบนี้ ต้องประมวลในภาพรวม เพราะหากเราจะนำจุดเล็กๆ เหล่านั้น เพื่อไประงับยับยั้งโครงการโดยรวม มันก็อาจไม่เป็นธรรม เพราะสิ่งที่เกิดกับประชาชนมันมีเยอะกว่า อันนี้คือสิ่งที่ต้องมาดู เราก็คิดอยู่เหมือนกันว่า มาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าว เราจะมีตัวชี้วัดที่จะทำให้ถึงขั้นจะบอกว่า จะเกิดความเสียหายแล้ว มันคืออะไร ตอนนี้ก็มีการกำหนดแนวทางไว้ แต่ตัวชี้วัดจะต้องไปดูรายละเอียดของแต่ละโครงการ ต้องดู process ของโครงการว่าจุดไหนเป็นจุดสำคัญ

สำหรับ "ประจักษ์-ผู้ว่าฯ สตง." ถือเป็นลูกหม้อของ สตง. เพราะทำงานที่ สตง.จนถึงวันนี้รวมเวลา 31 ปีแล้ว

เมื่อถามว่า จากประสบการณ์การทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของหน่วยรับตรวจที่เป็นหน่วยงานรัฐ-ใช้เงินภาษีประชาชนมานาน เรื่องปัญหาการทุจริต ปัญหาการรั่วไหลของเงินงบประมาณแผ่นดิน ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุอะไร ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวว่า ต้องแยกเป็นเรื่องๆ ไป แต่จากที่ผมได้มีโอกาสเข้ามาทำงานที่ สตง. หากถามเรื่องความสูญเสียที่หน่วยรับตรวจดำเนินการแล้วไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เช่น ก่อสร้างโครงการแล้วไม่เกิดประโยชน์ หากไปดูในรายงานประจำปีของ สตง. ในเรื่องการตรวจสอบความสูญเสียหรืออาจจะสูญเสีย คือทำโครงการหรือก่อสร้างอะไรขึ้นมาแล้วไม่ก่อให้เกิดการบรรลุวัตถุประสงค์ เช่น สร้างโรงงานกำจัดขยะของเสียอันตราย ที่สมุทรปราการ 1,400 ล้านบาท สร้างมาแล้วไม่ได้กำจัดขยะ ปล่อยไว้เฉยๆ แบบนี้คือสิ่งที่ สตง.ตรวจพบว่ามันจะเกิดความสูญเสีย หากไม่ดำเนินการแก้ไขใดๆ หรือการทำศูนย์แสดงสินค้า OTOP จำนวนมาก โดยบอกว่าเพื่อให้เป็นที่แสดงสินค้าจะได้สร้างรายได้ให้ประชาชน แต่พบว่าเมื่อสร้างเสร็จก็ปล่อยทิ้งร้างไว้ทั้งหมด บางแห่งก็ไปสร้างในที่ราชพัสดุที่ห่างไกลจากจุดที่นักท่องเที่ยวจะมาซื้อของ สิ่งที่บอกไว้ว่าจะสร้างรายได้ให้ประชาชนก็ไม่เกิด

 เมื่อเราไปตรวจ Performance Audit ก็พบว่าที่เป็นแบบนี้เพราะหน่วยงานต่างๆ ไม่ค่อยให้ความสำคัญหลังจากที่ได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว คือขอให้ได้สร้าง เสร็จแล้วก็ไปว่ากันในหน้าที่ปกติ ลักษณะแบบนี้ สตง.เคยเสนอรัฐบาลไปว่า หน่วยงานต่างๆ ต้องให้ความสำคัญหลังจากที่มีการก่อสร้างเสร็จแล้วด้วย เพราะเราเห็นแล้วว่ามีความสูญเสียเกิดขึ้น

...ส่วนการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างที่เราพบว่าไม่ได้ทำตามระเบียบ การดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง เช่น มีการฮั้ว อันนี้ต้องบอกว่ามีเจตนาทุจริตปนอยู่ด้วย คือมีเจตนาทำให้ราคากลางสูงขึ้น เช่น การจัดซื้อเครื่องเล่นเด็กแพง ที่มีข่าวบางตัวซื้อในราคา 9แสนกว่าบาท ซึ่งราคาจริงๆ ไม่ถึง แค่ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่มีการไปอัพราคาขึ้นมา ความสูญเสียพวกนี้เพราะมีเจตนาทุจริต แต่ที่ไม่ได้มีเจตนาทุจริตก็มี คือทำผิดขั้นตอน เช่น การประกาศประกวดราคา เอกสารต่างๆ ทำไม่ครบถ้วน เราก็บอกให้เขาแก้ไข

โกงเงินทอนวัด เตือนแล้วไม่ฟัง

ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องการเงิน อย่างเช่น กรณีการทุจริตเงินทอนวัด หรือเงินคนจน ในการตรวจสอบของเรา สตง.ได้แจ้งข้อบกพร่องไปก่อนหน้านี้แล้ว อย่างเรื่องงบโรงเรียนปริยัติธรรม เราก็แจ้งไปว่า ตัวเลขของพระสามเณร ที่โรงเรียนปริยัติธรรม ไม่ถูกต้อง มีแค่หนึ่งร้อย แต่แจ้งว่ามีสองร้อย แล้วได้เงินต่อหัวมา พอได้ไป ไปทำจริง ก็มีเงินเหลือ ก็ทำให้คนที่อยู่ในองค์กรที่จัดสรรงบประมาณมาให้ ที่จะรู้ว่ามีเงินเหลือ ก็จะไปบอกว่า หลวงพ่อก็นำไปใช้ในกิจการอื่นๆ ของวัด แล้วที่เหลือส่วนหนึ่งก็นำมาบริหารจัดการอะไรต่างๆ เช่น ให้ไป 1,000 ก็ทอนมา 200 เพื่อไปทำตรงนี้

ระบบตรงนี้ เราก็ไม่คาดคิดว่าจะมีการทุจริต ความไว้วางใจ เพราะองค์กรตรงนั้น กับวัด กับพระชั้นผู้ใหญ่จะมีส่วนดำเนินการอย่างนี้ พอเกิดเรื่องนี้มา เราก็ย้อนไปดูการตรวจสอบของ สตง.ก่อนหน้านี้ ก็พบว่า สตง.เคยเตือนไปแล้ว หรือเรื่องของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เราก็เคยเตือนไปแล้วว่ามีเรื่องร้องเรียนมา โดยให้รัฐมนตรีไปตั้งกรรมการตรวจสอบผู้เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการ พอมาดำเนินการในช่วงท้าย ความเสียหายก็เลยยืดมา การที่เราเตือนจุดเสี่ยงไปตั้งแต่ต้นในลักษณะดังกล่าว แล้วไม่มีการออกมาตรการควบคุม มันก็เลยมีมากขึ้น

 จนประชาชนถามว่ามันเกิดเรื่องแบบนี้กับองค์กรแบบนี้ได้อย่างไร ไปทุจริตเงินคนจน ทุจริตเงินวัดได้อย่างไร ซึ่งก็เพราะความไว้วางใจและขาดระบบควบคุม ก็เป็นส่วนที่ทำให้เมื่อถึงจุดที่เกิดปัญหา ก็เลยเกิดผลกระทบ เกิดความเสียหายที่มาก หลายครั้งที่ สตง.ตรวจสอบการทุจริต การขาดระบบควบคุมภายในที่ดี คือจุดเสี่ยงเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการทุจริตได้

        ถามถึงว่า ยุคปัจจุบัน การทุจริตจะพบว่ามีการทำที่แนบเนียนมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น สตง.จะทำอย่างไรในการตรวจสอบ ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวตอบว่า คนที่ไม่ได้มีเจตนาทุจริตแล้วทำไป เราตรวจพบได้ไม่ยาก เพราะหลักฐานไม่ได้แนบเนียนอะไร แต่กรณีที่ตั้งใจทุจริต จะมีความแนบเนียนมากขึ้น เช่น มีการทำเอกสารอะไรถูกต้องหมด แต่จะมี trick อะไรบางอย่างในการปฏิบัติงาน ที่ทำให้ทุจริตได้ อย่างการฮั้วประมูล เอกสารหลักฐานถูกต้องหมด แต่มีการไปตกลงกันข้างนอกแล้วไม่เสนอราคาเข้ามาประมูล เพื่อทำให้มีการแข่งขัน สุดท้ายก็เลยทำให้ได้ราคาที่สูงตามนั้น ประกอบกับมีการกำหนดราคากลางที่ทำให้เกิดส่วนต่างของราคา มันก็ทำได้ เช่น ราคาจริงๆ 500 บาท แต่ไปกำหนดราคาไว้ 700 ก็มีส่วนต่าง 200 ที่หากมีการแข่งขันกันจริงๆ ราคาก็อาจอยู่ที่ 500 กว่าบาท แต่เมื่อไม่มีการแข่งขันกันจริงๆ มันก็ไปถึง 700 บาท ที่ใกล้เคียงราคากลาง ก็เป็นการทำให้เกิดการทุจริต ก็ต้องมีการควบคุมไว้ให้ได้

นโยบายเชิงรุก ตรวจสกัด-จับโกง

      สำหรับการทำหน้าที่ใน เก้าอี้ผู้ว่าฯ สตง. ร่วม 6 ปี ต่อจากนี้ ประจักษ์-ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวถึงแนวนโยบายในการทำงานว่า เข้ามาทำหน้าที่ในช่วงรอยต่อของกฎหมายตรวจเงินแผ่นดินฉบับเก่ากับฉบับปัจจุบัน โดยในช่วงเปลี่ยนผ่าน อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ สตง.ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ซึ่งหลังเข้ารับตำแหน่งได้มีการให้นโยบายที่ชัดเจน ตอนประชุมผู้บริหารของสำนักงาน สตง.เช่นเรื่องการบริหารงานสำนักงานภายในและการบริหารงานตรวจสอบ

      ..สตง.เราก็ถูกตรวจสอบเหมือนกัน การทำงานต้องมีประสิทธิภาพ การใช้จ่ายเงินต้องมีหลักเกณฑ์เหมือนกับที่สตง.ไปตรวจสอบคนอื่น ก็ให้นโยบายว่าที่ผ่านมาเราไปตรวจสอบคนอื่น แต่เรายังไม่ได้เน้นภายในสำนักงานของเรา ก็เคยมีรายงานว่าการใช้จ่ายเงินของ สตง.ไม่มีประสิทธิภาพ มีเงินเหลือจ่ายจำนวนมาก ไม่ได้ใช้ตามแผน เราก็ต้องกลับมาดูตัวเอง เพราะเราไปตรวจคนอื่นแล้วบอกว่าเขาใช้จ่ายเงินไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้ใช้จ่ายเงินตามแผน ที่ทำให้การใช้จ่ายเงินของภาครัฐเพื่อลงไปสู่ประชาชนลงไปไม่ถึง เช่น การก่อสร้าง ดังนั้น เราก็ต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามแผนของเราด้วย รวมถึง สตง.จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาและนำเทคโนโลยี สารสนเทศ มาใช้ในการตรวจสอบของ สตง.ให้มากขึ้น

       ประจักษ์-ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวอีกว่า สำหรับงานด้านตรวจสอบ เนื่องจากอำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) กับผู้ว่าฯ สตง.ตาม พ.ร.บ.การตรวจเงินแผ่นดิน ฉบับปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยน เช่น กฎหมายฉบับเดิมการตรวจเงินให้ดำเนินการโดย คตง.และผู้ว่าฯ สตง.ที่เป็นอิสระและเป็นกลาง คือ คตง.จะมีบทบาทหน้าที่ในการมาวินิจฉัยผลการตรวจสอบด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ด้วยเหตุงานของ สตง.มีเยอะในเรื่องการตรวจสอบ กรรมการก็จะมอบอำนาจมาว่า งานตรวจสอบขนาดไหน วงเงินเท่าใด ความเสียหายเท่าใด ผู้กระทำความผิดอยู่ระดับไหน ก็จะมอบลงไปจนถึงระดับ ผอ.สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินระดับจังหวัด และเรื่องใหญ่ๆ ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของ คตง. แต่ในกฎหมายปัจจุบัน ไม่ได้มอบอำนาจการวินิจฉัยตรวจสอบให้กับ คตง.แล้ว ทั้งหมดจะมาอยู่ที่ผู้ว่าฯ สตง.คนเดียว

กฎหมายบัญญัติว่า ให้เป็นอำนาจของผู้ว่าฯ สตง.หรือผู้ที่ผู้ว่าฯ สตง.มอบหมายเท่านั้น จากเดิมที่กฎหมายเขียนว่าให้อำนาจการตรวจสอบอยู่กับสำนักงาน ก็ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของตรวจสอบ โดยเมื่อ คตง.ไม่มีอำนาจในการมาวินิจฉัยการตรวจสอบ ทำให้บทบาทของ คตง.ในปัจจุบัน ตามกฎหมายก็ให้ คตง.มีอำนาจในการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์มาตรฐานการตรวจสอบและมีหน้าที่ในการกำกับการตรวจสอบของผู้ว่าฯ และเจ้าหน้าที่ซึ่งผู้ว่าฯ มอบหมาย ที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยหลักเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวในการตรวจสอบอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อประกาศออกมา

..หลักเกณฑ์มาตรฐานการตรวจสอบของ สตง. ที่ คตง.กำลังเร่งทำออกมา จะเป็นแนวทางการตรวจสอบของผู้ว่าฯ สตง.และบุคคลที่ผู้ว่าฯ มอบหมาย ทำให้หลังจากนี้ ที่มีคนไปพูดกันว่า สตง.ตรวจสอบหลายมาตรฐาน ต่อไปนี้ การตรวจสอบก็จะมีผู้มากำกับแล้ว โดยจะมีรายละเอียดการตรวจสอบด้านต่างๆ เช่น การตรวจสอบการปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย มีหลักเกณฑ์มาตรฐานอย่างไร เมื่อออกมาแล้ว โดยเมื่อ คตง.ทำหลักเกณฑ์ออกมาแล้ว จะมีการไปเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยรับตรวจ (หน่วยงานรัฐ-องค์กรที่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน) จนเมื่อทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ก็จะมีการประกาศใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว

      ประจักษ์-ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวถึงแนวทางการทำงานต่อไปว่า จะให้ สตง.และหน่วยรับตรวจที่ใช้งบประมาณ ต้องมองไปในทางเดียวกันว่า การใช้จ่ายงบประมาณต้องสัมฤทธิผลและดำเนินไปโดยถูกต้องตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อเห็นตรงกันจะทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงาน เพื่อให้การใช้จ่ายเงินถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องและเกิดประโยชน์ หากเห็นตรงกันก็จะทำให้การทำงานร่วมกันเดินไปได้ แต่เมื่อใดที่ สตง.ไม่ต้องการเห็นแบบนั้น

เมื่อใดก็ตามที่เข้าไปตรวจ แล้วเจอข้อผิดพลาดบกพร่องเยอะๆ แล้วบอกว่านั่นคือผลงานชิ้นโบแดงของ สตง. เจอมากขึ้น มากขึ้นแล้วดี จริงๆ มันไม่ใช่ ถ้าเมื่อใดเราเจอมากขึ้น ไม่ได้แสดงว่า สตง.เก่งขึ้น หากเราจะดีใจ ภาคภูมิใจกับผลงานการตรวจสอบของเรา มันเป็นความดีใจภาคภูมิใจกับความเสียหายของงบประมาณ สิ่งแบบนี้เราไม่อยากเห็น แต่เราอยากเห็นว่าเมื่อ สตง.เข้าไปตรวจแล้ว หน่วยรับตรวจใช้จ่ายเงินไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แล้วเกิดสัมฤทธิผล หากเราเห็นแบบนี้เหมือนกัน เราจะช่วยแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้เขาคือหน่วยรับตรวจใช้จ่ายเงินได้ถูกต้อง

ผู้ว่าฯ สตง. ย้ำว่า สิ่งที่ผิดพลาดมา หากผิด โดยไม่ได้มีเจตนาทุจริต เราจะช่วยแก้ไขเพื่อทำให้เขาทำได้ถูกต้องอย่างไร ผมก็ตั้งตัวชี้วัดไว้ว่า ในระยะเวลาการทำหน้าที่ผู้ว่าฯ สตง.ต่อจากนี้ไป 6 ปี จากปีนี้ที่มีการไปตรวจสอบแล้วพบว่ามีการทุจริต มีความบกพร่อง ที่ต้องไปดูว่าเกิดจากแง่มุมไหน แล้วตัวเลขในปีถัดๆ ไป การตรวจสอบของ สตง. ผลที่ออกมาต้องมีตัวเลขลดลง ความผิดพลาดบกพร่องต้องลดลง พื้นที่ของความถูกต้องโปร่งใสต้องเพิ่มขึ้น

เราไม่ได้อยากเข้าไปตรวจสอบในลักษณะที่ว่ายิ่งตรวจยิ่งเจอ ยิ่งตรวจยิ่งเจอ อันนั้นคือแสดงว่ามีความผิดพลาดบกพร่องในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ซึ่งประชาชนก็ไม่ได้อยากเห็นแบบนั้น เราก็ไม่ได้อยากเห็น

 สตง.เป็นหน่วยตรวจสอบปกติที่เข้าไปตรวจสอบ ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก การพบว่าถูกก็เป็นเรื่องดี แสดงว่ามีการใช้จ่ายเงินถูกต้อง ผลงานบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้ เราก็อยากเห็นแบบนั้น เราก็ทำตามหน้าที่ในการควบคุมการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน ไม่ใช่ว่าเราจะรอให้มีการร้องเรียนทุจริตแล้วเราไปตรวจ เพราะลักษณะแบบนั้นจะเป็นการทำงานของ ป.ป.ช.

ประจักษ์-ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวอีกว่า เรื่องนโยบายเชิงรุก ที่ผ่านมาจะเห็นว่า สตง.ก็มีนโยบายเชิงการป้องปราม ในการเข้าไปตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่หากคิดว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหาย เราก็จะทำเรื่องแจ้งให้ทบทวน ระงับยับยั้ง ที่เป็นเชิงป้องปรามไม่ให้เกิดขึ้น แต่นโยบายต่อไปข้างหน้า เราต้องมีคำตอบด้วยว่า ความเสี่ยงที่บอก จะป้องกันได้อย่างไร เราจะไม่ได้บอกแค่ว่า เรื่องนี้มีความเสี่ยง ต้องไปหามาตรการแก้ไข เพราะหากไม่กำหนดมาตรการแก้ไขอาจเกิดความสูญเสีย เราก็จะมีการศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมไปว่า ความผิดพลาดบกพร่องที่เขาทำผิดระเบียบ ระเบียบดังกล่าวมันไม่เหมาะสมกับวิธีการปฏิบัติ หรือเขาปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบ หากปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบ เราก็ให้คำแนะนำได้ว่าเรื่องดังกล่าวควรปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างไร ที่จะช่วยให้หน่วยรับตรวจทำงานได้ถูกต้อง ไม่ผิดแล้วสัมฤทธิผล

เป็นการทำงานเชิงรุกคือ มีทางออกให้เขา ส่วนที่มีการทำไปแล้ว ก็ต้องไปดูเจตนาว่ามีเจตนาทุจริตหรือไม่ หากพบมีเจตนาทุจริต ก็ต้องว่ากันไป โดยหน้าที่ของ สตง. ตาม พ.ร.บ.การตรวจเงินแผ่นดิน ไม่ได้ให้อำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบกรณีพบว่ามีการทุจริตมากเหมือนเดิม เพราะกฎหมายบัญญัติว่า หากผู้ว่าฯ สตง.ไปตรวจสอบแล้วพบหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการใช้จ่ายเงินโดยทุจริต ก็ให้ส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช. โดยให้ ป.ป.ช.นำรายงานการตรวจสอบของ สตง.ไปเป็นส่วนหนึ่งของสำนวน ตรงนี้ก็จะทำให้กระบวนการตรวจสอบเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเร็วขึ้น รวมถึง กกต.ด้วย หาก สตง.พบว่า มีการกระทำอะไรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ให้ สตง.ส่งข้อมูลไปให้ กกต.

..สมมุติในช่วงของการเลือกตั้ง หาก สตง.พบว่ามีการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมือง หรือคนที่เกี่ยวข้องมีลักษณะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย สตง.ไม่มีอำนาจไปตรวจเขา แต่ต้องส่งข้อมูลไปให้ทาง กกต. ก็จะทำให้ความร่วมมือในด้านนี้มีมากขึ้น

- ตามกฎหมายตรวจเงินแผ่นดินฉบับปัจจุบัน หาก สตง.ตรวจสอบพบการใช้จ่ายเงินไม่ถูกต้อง เช่นงบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามขั้นตอน สตง.จะทำอย่างไร?

การตรวจสอบของ สตง. หากพบการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ แต่ยังไม่เกิดความเสียหาย ก็ให้แจ้งหน่วยรับตรวจ ไปดำเนินการแก้ไข เช่นหากผิดระเบียบข้อไหน ก็บอกให้เขาทำให้ถูกต้องเสีย แต่หากเป็นกรณีตรวจสอบแล้วพบว่ามีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบต่างๆ แล้วเกิดความเสียหาย ถ้าเป็นลักษณะดังกล่าว สตง.ต้องแจ้งเรื่องไปหน่วยรับตรวจดังกล่าวเพื่อให้ตั้งกรรมการสอบ หาผู้รับผิดชอบในทางละเมิด เพื่อให้ชดใช้ หากพบว่ามีการทำผิดทางวินัย ก็ให้มีการลงโทษทางวินัย อันนี้คือกรณีไม่พบการทุจริต

...แต่หากตรวจสอบพบว่ามีการดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหาย และมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริต สตง.ต้องส่งไปให้ ป.ป.ช. ส่วนเมื่อ สตง.แจ้งไปยังผู้รับตรวจให้ดำเนินการแก้ไข ให้หาตัวผู้รับผิดชอบกรณีทำให้เกิดความเสียหาย และให้ลงโทษทางวินัย หากส่งเรื่องไปแล้ว ถ้าผู้รับตรวจคือหัวหน้าส่วนราชการ ไม่ดำเนินการตามที่ สตง.ส่งเรื่องไป ก็จะมีความผิดต่อเนื่อง เรียกว่าความผิดทางวินัยการเงินการคลัง โดยให้ผู้ว่าฯ สตง. หรือบุคคลที่ผู้ว่าฯ สตง.มอบหมาย เสนอเรื่องเพื่อให้ลงโทษความผิดด้านวินัยการเงินการคลัง ที่จะมีการลงโทษอยู่ 3 ระดับ คือ 1.ภาคทัณฑ์ 2.ตำหนิต่อสาธารณะ 3.โทษปรับทางปกครองที่จะปรับจากเงินเดือนแต่ไม่เกินสิบสองเดือน ซึ่งก็จะเหมือนกับบังคับกลายๆ ให้ผู้รับตรวจที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการต้องดำเนินการหลังจากที่มีผลการตรวจสอบที่ สตง.แจ้งไป ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม

- สรุปว่า อำนาจหรือดาบในมือของผู้ว่าฯ สตง.ในปัจจุบัน มีมากขึ้นหรือลดลง?

มากขึ้นกว่าเดิม เพราะอำนาจสูงสุดในการวินิจฉัยผลการตรวจสอบอยู่ที่ผู้ว่าฯ สตง. ไม่ถึง คตง.แล้ว ดาบทุกอย่างก็อยู่ที่ผู้ว่าฯ สตง. แต่ดาบนั้นจะลงโทษแบบใด ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย เช่น เรื่องทุจริต สตง.เราไม่มีอำนาจลงไปถึงในการดำเนินการ ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. แต่หากไม่ได้มีเจตนาทุจริต ก็จะอยู่ในส่วนของส่วนราชการที่ต้องไปดำเนินการตามที่ สตง.แจ้งไป

ประจักษ์-ผู้ว่าฯ สตง. ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุม คตง.ด้วยมติเอกฉันฑ์เลือกให้เป็นผู้ว่าฯ สตง. แล้วส่งชื่อไปให้ สนช.โหวตเห็นชอบ กล่าวถึงบทบาทการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ว่าฯ สตง.กับ คตง.ชุดปัจจุบัน ว่าหากสังเกตองค์ประกอบขององค์กรอิสระ จะพบว่า สตง.จะมีความแตกต่างจากองค์กรอิสระอื่นๆ เพราะองค์กรอื่นจะมีกรรมการและเลขาธิการ โดยอำนาจการดำเนินการจะอยู่ที่กรรมการเป็นหลัก หัวหน้าสำนักงานเป็นเลขาธิการของคณะกรรมการ จะไม่ได้มีอำนาจในหน้าที่หลัก แต่ของ สตง.ไม่ได้เป็นตำแหน่งเลขาธิการ แต่คือผู้ว่าฯ สตง.ที่เดิมมีอำนาจหน้าที่ในการไปตรวจสอบและวินิจฉัยด้วยในระดับคณะกรรมการ คตง.ขึ้นมา แต่ปัจจุบันให้อำนาจกับผู้ว่าฯ สตง.เลย ทำให้ผู้ว่าฯ สตง.ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการจะไม่เหมือนองค์กรอิสระอื่นๆ

      เดิมเมื่อผู้ว่าฯ สตง.มีความเป็นอิสระในการทำงาน ความคิดเห็นก็อาจแตกต่างกันได้ในการวินิจฉัยผลการตรวจสอบ ซึ่งการตรวจสอบเมื่อผู้ตรวจสอบแต่ละระดับส่งเรื่องขึ้นมา ผู้บังคับบัญชาแต่ละระดับชั้นอาจเห็นแตกต่างกันได้ แต่สุดท้ายการวินิจฉัยผล เดิมอาจถึง คตง. แต่ปัจจุบันก็ให้อยู่ที่ผู้ว่าฯ สตง. เช่น เดิมเมื่อผู้ว่าฯ สตง.เห็นว่าเรื่องที่ตรวจสอบมีการทำผิด แล้วเสนอต่อที่ประชุม คตง. แต่ที่ประชุม คตง.เห็นว่าไม่ได้ทำผิด หรือผิดน้อยกว่าที่สรุปมา หรือผู้ว่าฯ สตง.เห็นว่าเรื่องที่ตรวจมีการทำผิดแค่ระเบียบข้อกฎหมาย แต่ที่ประชุม คตง.เห็นว่าจากหลักฐานเชื่อว่าทุจริต

ความเห็นต่างเหล่านี้ ก็ทำให้เคยเห็นความขัดแย้งของ คตง.กับผู้ว่าฯ สตง. ถ้าเราไม่สามารถที่จะพูดคุยในเชิงหลักการให้เห็นชัดเจน ที่ผ่านมาเราก็เคยเห็นอยู่แล้ว อาจลามมาถึงการบริหารงานในส่วนอื่นๆ แต่ตาม พ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดิน ฉบับปัจจุบัน เขียนเรื่องอำนาจหน้าที่ของ คตง.กับผู้ว่าฯ สตง.ที่แตกต่างจากในอดีตอย่างชัดเจน คือ คตง.มีหน้าที่ออกนโยบาย หลักเกณฑ์มาตรฐานแล้วก็มากำกับว่าผู้ว่าฯ สตง.กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ว่าฯ สตง.มอบหมายได้ทำตามนโยบายและหลักเกณฑ์มาตรฐานที่ คตง.ออกมาหรือไม่ หากไม่ทำตามก็มีบทลงโทษ โดยหน่วยรับตรวจก็สามารถร้องมาที่ คตง.ได้ว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งผู้ว่าฯ สตง.มอบหมายที่มาตรวจในพื้นที่ ตรวจไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานที่เคยมารับฟังความเห็นไว้ก่อนหน้านี้

หาก คตง.มีการลงมาตรวจสอบในพื้นที่แล้วเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานที่คตง.ออกมา ก็จะมีบทลงโทษ ดังนั้น ก็จะมีระบบควบคุมอยู่

...สรุปก็คือ ผู้ว่าฯ สตง.จะมีอิสระในการวินิจฉัยผลการตรวจสอบ โดยหากเจ้าหน้าที่ทำตามการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน ทาง คตง.จะมาก้าวก่ายหรือแทรกแซงไม่ได้ เพราะหลักเกณฑ์มาตรฐานการตรวจสอบจะเป็นขั้นตอนการทำงาน เช่น ในการตรวจสอบ ทางเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบครบถ้วนตามขั้นตอนหรือไม่ มีการเปิดให้หน่วยรับตรวจได้ชี้แจงหรือไม่ โดยหากไม่ได้ดำเนินการครบถ้วน หรือข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่ยุติ ไม่ได้นำหลักฐานต่างๆ มาตรวจสอบจนครบถ้วน แล้วมาวินิจฉัยตามที่มีแค่นี้ หรือนำมาแล้ว แต่ตัดออกไปเพื่อให้การวินิจฉัยผลออกไปอีกทาง แบบนี้ จะทำไม่ได้ แต่ถ้าข้อมูลหลักฐานควบถ้วน เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานครบถ้วน แล้วทางเราเห็นแบบนี้  คตง.เห็นแบบนี้ ผู้ว่าฯ จะไปเห็นแบบอื่นไม่ได้ อย่างนี้จะไม่ได้

ส่วนการบริหารสำนักงาน เช่น เรื่องบุคลากร งบประมาณ จะให้เป็นไปตามระเบียบที่ คตง.กำหนด ที่ก็จะเหมือนกับเป็นบอร์ดในการบริหารจัดการ ที่เวลาจะพิจารณาเรื่องต่างๆ เช่น งบประมาณ การแต่งตั้งบุคลากร เช่น รองผู้ว่าฯ สตง.ก็จะเป็นอำนาจของคณะกรรมการฯ ก็จะเป็นลักษณะที่ คตง.จะเข้ามาช่วยการบริหารให้กับผู้ว่าฯ สตง.เพื่อทำให้การทำหน้าที่ในการตรวจสอบทำได้อย่างเป็นอิสระและเต็มที่

ประจักษ์-ผู้ว่าฯ สตง. ย้ำถึงบทบาทการทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดินว่า การทำงานของ สตง. เราต้องเป็นกลาง ไม่ใช่ว่าอันนี้ทักท้วง อันนี้ไม่ทักท้วง คือหากตรวจพบแล้วไม่ว่าสุดท้ายจะเข้ากรณีไหน เช่น หากมีการทุจริต ก็ต้องว่าไปตามนั้น หรือมีการดำเนินการไม่ถูกต้อง  สตง.ก็ต้องแจ้งไปตามนั้น ไม่ใช่ว่าหน่วยงานนี้ทำได้ แต่อีกหน่วยงานทำไม่ได้ อันนี้คือความเป็นกลางในการทำงานของผู้ว่าฯ สตง.และเจ้าหน้าที่ซึ่งผู้ว่าฯ สตง.มอบหมาย

       “การถ่วงดุลระหว่างการตรวจสอบกับการดำเนินการให้ทุกฝ่ายดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย อาจทำให้เกิดความล่าช้าบ้างในการทำงาน แต่เป็นการประกันถึงผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ประกันว่ามันจะไม่รั่วไหล จะเกิดความโปร่งใส เกิดความสัมฤทธิผล

เราจะทำบทบาทตรงนี้ให้เขาเชื่อมั่นได้ว่าเมื่อ สตง.เข้าไปตรวจ ไปดำเนินการอะไรแล้วจะช่วยให้การใช้จ่ายเงินถูกต้องมากยิ่งขึ้น เกิดความสัมฤทธิผลมากขึ้น ตัวเลขที่มีความเสียหาย ตัวเลขความเสียหายที่เราตรวจสอบ มันจะต้องน้อยลง คือเพิ่มพื้นที่ความโปร่งใส ความถูกต้อง ความสัมฤทธิผล ไปลดพื้นที่ความไม่ถูกต้อง การทุจริต ให้ลดน้อยลงเรื่อยๆ"

ถามปิดท้าย กรณีรัฐบาลยุคปัจจุบันที่มีการทำโครงการต่างๆ เช่น โครงการประชารัฐ หรือการใช้เงินผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท ทาง สตง.ได้เข้าไปตรวจสอบหรือไม่ ประจักษ์-ผู้ว่าฯ สตง. ยืนยันว่า สตง.ได้เข้าไปตรวจสอบ เพราะระบบแบบนี้มันก็มีความเสี่ยงเพราะการบริหารจัดการที่ทำโดยฝ่ายภาคประชาชน ความแม่นในระเบียบวิธีการ เขาอาจไม่รู้ว่าต้องมีการใช้จ่ายเงินอย่างไร โดยภาพใหญ่แล้ว ประชาชนเขาก็ไม่ได้มีเจตนาจะทุจริต แต่เขาต้องการนำเงินไปทำสิ่งต่างๆ ซึ่งการนำเงินของรัฐไปทำต้องมีกฎเกณฑ์ ต้องมีรายงานการใช้จ่ายเงิน เราก็ต้องไปบอกให้เขาทำให้ถูกต้อง

รูปแบบอย่างนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะรัฐบาลชุดปัจจุบัน รัฐบาลที่ผ่านมาก็มีลักษณะแบบนี้ เช่น โครงการมิยาซาวาหรือโครงการเอ็สเอ็มอีต่างๆ เหมือนกันเลย คือเป็นการนำเงินไปถึงประชาชน ซึ่งการนำเงินลงไปถึงประชาชนโดยตรง ที่แน่นอนว่ามันก็มีโอกาสเกิดความไม่ถูกต้อง แต่หากไม่ได้มีเจตนาทุจริต เราก็ถือว่าสนับสนุนให้ทำไปให้เกิดการดำเนินการ

...ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมผ่านโครงการภาครัฐ ซึ่งด้วยความรวดเร็วในการทำโครงการ ก็เห็นจุดเสี่ยงเยอะ สตง.ช่วงนั้น เราก็มีหนังสือท้วงไปให้ทบทวน พอทักท้วงไป ก็ปรากฏว่าไม่ทำแล้ว จะคืนเงิน เลยกลายเป็นว่างบที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เงินลงไปในระบบโดยผ่านโครงการภาครัฐ มันไม่เกิดผลตามวัตถุประสงค์ รัฐบาลก็บอก สตง. ทักท้วง แต่ผมก็ไปอธิบาย เช่น  กรรมาธิการฯ โดยอธิบายไปทีละโครงการ เช่น ซื้อรถไถนา ซื้อรถนวดข้าว ระเบียบวิธีการไม่ได้ให้นำไปให้ประชาชนได้ หากทำไปจะเกิดปัญหาในการบริหารจัดการเพราะเคยเกิดมาแล้ว เช่น อบจ.อุบลราชธานี เคยซื้อรถไถ ไปให้กลุ่มเกษตรกร ต่อมารถเสีย ใครจะรับผิดชอบประชาชนก็บอกว่าไม่ใช่ทรัพย์สินของเขา พอบอกไปว่ามีความเสี่ยงแบบนี้ รัฐบาลก็บอกไม่เอาแล้ว

ยืนยันว่าในยุครัฐบาลปัจจุบัน สตง.ก็มีการเข้าไปตรวจสอบ ไม่ได้มีการมาแทรกแซงบอกว่าไม่ให้ตรวจ" ผู้ว่าฯ สตง.กล่าวย้ำ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"