หนี้ประเทศสิ้น พ.ค. ขยับเพิ่มหมื่นล้าน หนี้ภาครัฐกระฉูด


เพิ่มเพื่อน    

สบน. แจงหนี้ประเทศเดือน พ.ค. ขยับเพิ่มหมื่นล้านบาท แตะ 6.49 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40.78% ของจีดีพี หลังหนี้รัฐบาลพุ่งเฉียด 2 หมื่นล้านบาท

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ตัวเลขหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 พ.ค. 2561 อยู่ที่ 6.49 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40.78% ของจีดีพี โดยเพิ่มขึ้นสุทธิจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 1.09 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น หนี้รัฐบาล อยู่ที่ 5.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.91 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเงินกู้ภายใต้แผนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 และการบริหารหนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้นสุทธิ 2.28 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาประเทศ สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ จำนวน 2.68 หมื่นล้านบาท และไถ่ถอนพันธบัตรออมทรัพย์ 4 พันล้านบาท

ขณะที่เงินกู้เพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศเพิ่มขึ้นสุทธิ 3.25 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นการกู้ให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ม.) เบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 1.42 พันล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจำนวน 507.86 ล้านบาท สายสีน้ำเงินจำนวน 470.96 ล้านบาท และสายสีส้มจำนวน 444.99 ล้านบาท

และการกู้ให้กู้ต่อแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 1.8 พันล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น จำนวน 713.17 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ จำนวน 333.90 ล้านบาท โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย จำนวน 324.29 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า - แก่งคอย จำนวน 279.31 ล้านบาท โครงการการก่อสร้างทางคู่ ช่วงนครปฐม – ชุมพร จำนวน 114.28 ล้านบาท และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต จำนวน 41.02 ล้านบาท 

รวมถึงการกู้ให้กู้ต่อแก่การเคหะแห่งชาติเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 25.14 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการอาคารพักอาศัยแปลง G ตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง เป็นต้น ส่วนหนี้ของรัฐวิสาหกิจ อยู่ที่ 9.07 แสนล้านบาท ลดลงสุทธิ 6.67 พันล้านบาท เนื่องจากหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน เพิ่มขึ้นสุทธิ 482.43 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่เพิ่มขึ้นขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ส่วนหนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ลดลงสุทธิ 7.16 พันล้านบาท เนื่องจากหนี้ที่ลดลงของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 3.78 แสนล้านบาท ลดลงสุทธิ 1.03 พันล้านบาท เกิดจากหนี้ที่ลดลงของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  ส่วนหนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 8.75 พันล้านบาท ลดลงสุทธิ 508.95 ล้านบาท เกิดจากหนี้ที่ลดลงของสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

อย่างไรก็ดี หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2561 จำนวน 6.49 ล้านล้านบาทนั้น แบ่งเป็น หนี้ในประเทศ 6.22 ล้านล้านบาท หรือ 95.83% และหนี้ต่างประเทศ จำนวน 2.7 แสนล้านบาท หรือ 4.17% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหนี้สาธารณะคงค้างแบ่งตามอายุคงเหลือ เป็นหนี้ระยะยาว 5.88 ล้านล้านบาท หรือ 90.57% และหนี้ระยะสั้น 6.13 แสนล้านบาท หรือ 9.43% ของหนี้สาธาณระคงค้างทั้งหมด


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"