ทั่วโลกร่วมยินดีไทยกู้ชีพทีมหมูป่า


เพิ่มเพื่อน    

    สื่อทั่วโลกร่วมรายงานเกาะติดปฏิบัติการกู้ชีพทีมหมูป่าภายหลังได้รับข่าวดีเมื่อคืนวันจันทร์ พร้อมระบุยังมีงานยากลำบากในการพาเด็กออกจากถ้ำ บีบีซีเผยประวัติ 2 นักดำถ้ำชาวอังกฤษที่พบทีมหมูป่าเป็นชุดแรกเคยช่วยเหลือคนติดถ้ำมาอย่างโชกโชน ขณะรัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลีและสถานทูตของหลายประเทศร่วมยินดี กต.ไทยเตรียมทำหนังสือขอบคุณ 
    ข่าวการพบเจอเด็กนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมี และผู้ช่วยโค้ชรวม 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวงฯ จังหวัดเชียงรายมาตั้งแต่วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2561 ได้รับความสนใจจากสำนักข่าวชั้นนำทั่วโลก ที่พากันรายงานข่าวด่วนตั้งแต่วินาทีที่นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประกาศข่าวเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น.ของวันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม หรือในวันที่ 9 ของการค้นหา 
    สำนักข่าวบีบีซี, รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี, ซีเอ็นเอ็น, ซินหัว, อัลจาซีราห์ และสำนักข่าวชั้นนำอื่นๆ ต่างรายงานบรรยากาศของความยินดีและความโล่งใจของครอบครัวเด็กๆ รวมถึงคนไทยทั้งประเทศและทีมกู้ภัยทุกภาคส่วนทั้งชาวไทยและต่างชาติจากหลายประเทศ นอกจากนี้ สื่อสำนักต่างๆ ยังเผยแพร่วิดีโอคลิปจากเฟซบุ๊กของ Thai Navy Seal ที่เผยให้เห็นวินาทีที่นักดำน้ำในถ้ำผู้เชี่ยวชาญ 2 คนไปพบเจอทีมหมูป่าบนเชิงถ้ำเหนือน้ำลึก ห่างจากพัทยาบีชขึ้นไปราว 400 เมตร
    รายงานของสำนักข่าวต่างประเทศในวันอังคารที่ 3 กรกฎาคม ยังคงเกาะติดความคืบหน้าการช่วยเหลือ โดยเฉพาะการพาตัวทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำที่โดนน้ำท่วมปิดทางออกไว้ รายงานเอเอฟพีอ้างคำกล่าวของนายภาสกร บุญญรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ว่าทีมกู้ภัยของกองทัพได้เร่งติดตั้งสายโทรศัพท์เพื่อให้เด็กๆ ได้พูดคุยกับครอบครัวเป็นครั้งแรก และทีมซีลของกองทัพเรือไทย ซึ่งรวมถึงแพทย์ ได้เข้าไปอยู่กับเด็กๆ ในระหว่างที่ทีมกู้ภัยเตรียมแผนการอพยพพวกเขาออกจากถ้ำ โดยได้นำอาหารและยา รวมถึงเอเนอร์จีเจลที่ให้พลังงานสูงและยาพาราเซตามอลไปให้เด็กๆ แต่เขาปฏิเสธการคาดเดาว่าเด็กจะต้องติดอยู่ในถ้ำอีกนานเท่าใด โดยอธิบายว่าถึงแม้จะมีอาหารเพียงพอสำหรับอยู่ได้ 4 เดือน แต่ใครที่แข็งแรงและสามารถออกจากถ้ำได้ก็จะถูกอพยพออกมาโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ผ่านทางโถง 3 
    รายงานยังชี้ถึงอุปสรรคจากธรรมชาติที่จะทำให้การอพยพทำได้ยากขึ้น นั่นคือฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องในหน้าฝนของพื้นที่นี้ จุดที่พบทีมหมูป่านั้นอยู่ลึกเข้าไปหลายกิโลเมตร ซึ่งนักดำน้ำของหน่วยซีลที่มีประสบการณ์ยังต้องใช้เวลาไปกลับ 6 ชั่วโมง และผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการดำน้ำออกมามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความตื่นตระหนก จมน้ำ และอุบัติเหตุ ขณะเดียวกัน หากการดำน้ำกระทำไม่ได้ ทีมกู้ภัยอาจต้องใช้ทางเลือกเจาะโพรงจากภายนอกเข้าสู่ถ้ำเพื่ออพยพ หรือพวกเขาอาจต้องรอให้น้ำลด ซึ่งจะเป็นวิธีที่ใช้เวลานานที่สุด
    ขณะเดียวกัน สื่อของออสเตรเลียรายงานคำกล่าวของโธมัส เฮสเตอร์ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติออสเตรเลีย ที่ส่งทีมตำรวจ 6 นายที่มาร่วมในปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้ว่า สภาพภายในถ้ำทำให้การดำน้ำพาเด็กออกมาเป็นเรื่องที่ยากถึงขีดสุด โดยเฉพาะเมื่อต้องดำน้ำพร้อมกับอุปกรณ์ 
    สื่อต่างประเทศยังพากันรายงานบรรยากาศในวิดีโอคลิปที่ทีมกู้ภัยชุดแรกไปพบเจอแล้วถ่ายภาพเด็กๆ ไว้ได้ ซึ่งเด็กบางคนพยายามพูดคุยเป็นภาษาอังกฤษ โดยได้กล่าวขอบคุณผู้ที่มาพบเจอพวกเขา ซึ่งก็คือริชาร์ด สแตนตัน และจอห์น โวลันเธน สองอาสาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดำถ้ำชาวอังกฤษ ที่รัฐบาลไทยร้องขอให้มาช่วยเหลือปฏิบัติการครั้งนี้พร้อมกับโรเบิร์ต ฮาร์เปอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำถ้ำชาวอังกฤษอีก 1 คน 
    รายงานของบีบีซีและเอเอฟพีเปิดเผยประวัติของฮีโร่ 2 คนนี้ว่า ทั้งคู่ดำถ้ำเป็นงานอดิเรก โดยสแตนตันนั้นมีอาชีพเป็นนักดับเพลิง ส่วนโวลันเธนเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ ข่าวอ้างคำกล่าวของบิล ไวต์เฮาส์ จากสภาช่วยเหลือผู้ติดถ้ำแห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวบรวมนักกู้ชีพจากทั่วเกาะอังกฤษไว้อย่างไม่เป็นทางการว่า ทั้งสองเป็นหัวหอกของคณะค้นหาชุดนำหน้า พวกเขาสามารถดำน้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนสุดท้ายและผ่านเข้าไปยังโถงที่พบเด็กกลุ่มนี้บนเชิงหินเหนือน้ำ 
    ไวต์เฮาส์เผยด้วยว่า เขาได้พูดคุยสั้นๆ กับทีมนี้ ซึ่งรวมถึงฮาร์เปอร์ และผู้เชี่ยวชาญชาวไทยและชาติอื่นๆ ที่บรรยายถึงความยากลำบากของปฏิบัติการค้นหา ซึ่งพวกเขาต้องดำน้ำทวนกระแสน้ำหรือไม่ก็ต้องเกาะไปตามผนังถ้ำ "ผมเก็บความได้ว่าส่วนที่ต้องดำน้ำจริงๆ มีระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร และระยะทางราวครึ่งหนึ่งนั้นมีน้ำท่วมมิด" ไวต์เฮาส์กล่าวกับบีบีซีโดยเผยว่าต้องใช้เวลาในการดำน้ำประมาณ 3 ชั่วโมง
    บีบีซีกล่าวว่า โวลันเธนจากเมืองบริสตอล และสแตนตันจากเมืองโคเวนทรี ของอังกฤษ ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับปฏิบัติการดำน้ำที่ยากลำบากภายในถ้ำ สแตนตันในวัย 50 กลางๆ เคยเผยกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเมื่อปี 2555 ว่าความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาคือการช่วยเหลือทหารอังกฤษ 6 นายที่ติดถ้ำในเม็กซิโก ตัวเขาและโวลันเธนยังมีส่วนช่วยปฏิบัติการค้นหาร่างของนักสำรวจถ้ำชาวฝรั่งเศสเมื่อปี 2553 ที่ติดอยู่ใต้ดินและสูญหายนาน 8 วันจึงพบศพ 
    สแตนตันได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น MBE จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 2555 เขายังคงยกให้การกู้ภัยที่ฝรั่งเศสเป็นงานที่ท้าทายที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ยังยืนยันว่าการดำถ้ำเป็นเพียง "งานอดิเรก" เท่านั้น เขาเริ่มหัดดำถ้ำเมื่ออายุ 18 หลังจากได้ดูสารคดีเกี่ยวกับกีฬาชนิดนี้ทางโทรทัศน์ 
    ส่วนโวลันเธนนั้น มีอายุราว 40 ปี เขาเคยให้สัมภาษณ์กับซันเดย์ไทมส์เมื่อปี 2556 ว่าการดำน้ำต้องใช้ความใจเย็น และการตื่นตระหนกอะดรีนาลีนพลุ่งพล่านนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับการดำถ้ำ 
    ตั้งแต่มาถึงเมืองไทย คณะของพวกเขาหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยโวลันเธนบอกกับนักข่าวเมื่อมาถึงในวันที่ 3 นับแต่ทีมหมูป่าหายไปในถ้ำหลวงว่า พวกเขามีงานต้องทำ
    วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการพบตัวเยาวชนและโค้ชทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี รวม 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ว่า ถือเป็นผลจากความร่วมมือระหว่างฝ่ายไทยกับนานาประเทศที่ต่างร่วมแรงร่วมใจในการค้นหาทั้ง 13 คน ทั้งนี้ ตนได้รับข้อความจาก รมว.ต่างประเทศอิตาลี เมื่อคืนวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นการร่วมแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกับคนไทยทุกคน อีกทั้งยังมีสถานเอกอัครราชทูตของหลายประเทศที่ได้ร่วมแสดงความยินดีกับฝ่ายไทยด้วยเช่นกัน ขณะที่สำนักนโยบายและแผน กระทรวงการต่างประเทศ ได้รวบรวมรายชื่อประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ ซึ่งเราเตรียมทำหนังสือขอบคุณไปยังองค์กรและหน่วยงานจากประเทศเหล่านั้นด้วย 
    นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณทีมจากประเทศต่างๆ ที่มาปฏิบัติงานในไทยด้วยเช่นกัน หลังจากนี้เป็นการนำทั้ง 13 คนนี้ออกมาให้ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องดำน้ำออกมาหลายช่วง และระยะทางค่อนข้างยาวเกือบ 7 กิโลเมตร แต่ยังเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายยังมีความพยายามในการนำบุคคลทั้งหมดออกมาให้ได้อย่างปลอดภัย และเมื่อนำบุคคลเหล่านี้ออกมาได้แล้ว คงทำให้ทุกคนที่ติดตามเหตุการณ์นี้จะยิ่งมีความสุขมากขึ้น 
    “ผมพูดไม่ออก เป็นเรื่องที่น่าดีใจ หากเราได้เห็นคลิปวิดีโอที่นักดำน้ำเข้าไปช่วยเหลือ ผมเชื่อว่าทุกคนคงกลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหว ใครจะไปคิด เพราะผลสำเร็จเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ และในหลายประเทศก็อาจทำไม่ได้อย่างที่เราทำ เพราะต้องมีบุคลากรที่มีความพร้อม ทั้งร่างกาย จิตใจ มีความตั้งใจ และทีมสนับสนุนด้วย การเข้าไปช่วยก็เจออุปสรรคมากมาย” นายดอนกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"