สนช.แก้พ.ร.บ.สงฆ์ฉลุย ลุยจัดระเบียบปกครอง!


เพิ่มเพื่อน    

    ปฏิรูปคณะสงฆ์คืบ! สนช.มีมติเอกฉันท์ 217 เสียงผ่านร่าง กม.สงฆ์ฉลุย ด้าน “วิษณุ” ระบุ  มส.ช่วงหลังเกิดปัญหากระทบศรัทธา ชี้แก้ตามโบราณราชประเพณีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ชี้เป็นการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ขณะที่กรรมการ มส.ชุดปัจจุบันกำลังจะหมดวาระในอีกประมาณ 2 เดือน 
    เมื่อเวลา 10.30 น. วันพฤหัสบดี ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ (คณะสงฆ์) พ.ศ.2505 สามวาระรวด โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ทั้งนี้ มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชี้แจง
    นายวิษณุกล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้เตรียมการตั้งแต่มีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ เพื่อจัดระเบียบการปกครอง แต่ก็เกิดคำถามว่า ฆราวาสคิดจะไปปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ ฆราวาสมีความชอบธรรมเพียงใด มีความรู้ความเข้าใจเพียงใด ซึ่งสุดท้ายได้ข้อยุติว่า สิ่งที่ควรจะทำคือ ฆราวาสเป็นได้เพียงผู้เสนอแนะ ส่วนผู้ที่จะขับเคลื่อนนำไปปฏิบัติและสั่งการเพื่อให้เกิดการปฏิรูปได้อย่างแท้จริงคงต้องเป็นคณะสงฆ์เอง โดยคณะสงฆ์ไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.คณะสงฆ์ไทย ฝ่ายเถรวาททั้งธรรมยุตหรือมหานิกาย และ 2.คณะสงฆ์อื่น ซึ่งกฎหมายรับรองเฉพาะ เช่น คณะสงฆ์จีนนิกาย คณะสงฆ์อนัมนิกาย
    รองนายกฯ กล่าวอีกว่า รัฐบาลคิดว่ากลไกที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปคณะสงฆ์ต้องอยู่ที่มหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งในอดีตมีจุดอ่อนคือ การที่มีสมเด็จพระราชาคณะเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง มีความเหมาะสมตามหลักอาวุโส แต่ในระยะหลังกว่าที่พระภิกษุจะขึ้นไปถึงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาก็จะมีอายุมากและอาพาธ ทำให้ไม่สามารถประชุม มส.ได้ ดังนั้นถ้ามุ่งหวังจะให้ มส.เป็นผู้นำในการปฏิรูปนั้นต้องเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและที่มาใหม่
    “เดิมทีไม่ได้คิดเรื่องที่มา คิดถึงเรื่องคุณสมบัติ แต่ในระยะหลังมานี้เริ่มเกิดปัญหาขึ้น กรรมการ มส.บางรูปมีปัญหาต้องคดีและถูกกล่าวหา สั่นสะเทือนความรู้สึกความเลื่อมใสศรัทธาที่ประชาชนมีต่อการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ตามรูปแบบปัจจุบันพอสมควรทีเดียว ดังนั้น ในที่สุดก็คิดกันว่ากลับไปดูรูปแบบใน พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ใช้กันมาถึงรัชกาลที่ 8 ดูโบราณราชประเพณี ดูรัฐธรรมนูญที่ใช้ปัจจุบันที่กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และถอดถอนจากฐานันดรศักดิ์ ซึ่งหมายถึงฐานันดรศักดิ์พระและฐานันดรศักดิ์เจ้า ซึ่งหมายถึงกรณีสถาปนาอิสริยยศ จึงควรให้มีองค์ปกครองคณะสงฆ์ที่เป็นที่เคารพศรัทธาเชื่อถือ ซึ่งความเชื่อถือจะได้มาจากพรรษายุกาล หรืออายุ จริยวัตร และควรได้มาจากที่มาอันเป็นที่ไว้วางใจ จึงควรย้อนกลับไปสู่การให้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเหมือนกับที่เคยมีมาในอดีต จนทำมาเป็นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว" นายวิษณุกล่าว
     นายวิษณุกล่าวอีกว่า สาเหตุที่ต้องเร่งเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะต้องการให้ทันกับกรณีที่กรรมการ มส.ชุดปัจจุบันกำลังจะหมดวาระในอีกประมาณ 2 เดือน ขณะเดียวกัน การปฏิรูปการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ก็มีความเป็นจำเป็นเช่นกัน โดยเป็นการกำหนดให้ มส.ไปทำหน้าที่ในเชิงปฏิรูปและขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อไปในอนาคต
    จากนั้นมีสมาชิกลุกขึ้นอภิปราย อาทิ นายสมพร เทพสิทธา สมาชิก สนช. ระบุว่า สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทั้งสามสถาบันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกกันไม่ได้ ตามคำกล่าวที่ว่า พระมหากษัตริย์คู่ชาติ พุทธศาสนาคู่ไทย เมื่อมีภัยอันตรายเกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนาเมื่อใด พระมหากษัตริย์ก็จะทรงเป็นธุระป้องกันภัยและแก้ไขปัญหา ดังเช่น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีพุทธศาสนามั่นคงมาถึงทุกวันนี้
    นายสมพรกล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันได้เกิดปัญหาบางประการเกี่ยวกับ มส. ซึ่งไม่สามารถแก้ไขจัดการปัญหาได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยพระบารมีของพระมหากษัตริย์ในการช่วยแก้ไขปัญหานี้ โดยความร่วมมือของรัฐบาลและ สนช. 
    "ผมเห็นด้วยทุกประการที่รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพื่อให้กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ ประกอบไปด้วยกรรมการที่เหมาะสมและมีจริยวัตรงดงาม ขณะนี้ พุทธศาสนากำลังประสบภัยหลายด้าน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและ สนช.ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างรอบคอบและเหมาะสม" นายสมพรกล่าว
    ต่อมาที่ประชุมตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อพิจารณารายมาตรา กระทั่งเวลา 12.00 น. เข้าสู่วาระสามพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายทั้งฉบับ ซึ่งที่ประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์ 217 คะแนน ผ่านร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ประกาศใช้เป็นกฎหมายตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
    อย่างไรก็ตาม สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวคือ มาตรา 3 ที่บัญญัติว่า เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนการดูแลการปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่หลักของพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป พระมหากษัตริย์คงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้ง มส.
    ขณะที่องค์ประกอบของ มส. ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควรและจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองสงฆ์ ซึ่งการแต่งตั้งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้
     สำหรับกรรมการ มส.ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง จะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจจะได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้ ส่วนการพ้นจากตำแหน่งนั้น นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว ยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อมรณภาพ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ ลาออก พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการให้ออก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"