บูรณาการความรู้ สอนเด็กลดเสี่ยง 


เพิ่มเพื่อน    

    การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสามารถเอาตัวรอด หรือช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อต้องประสบกับสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ ภัยพิบัติ หรือเจ็บป่วยกะทันหัน ถือเป็นหลักสูตรสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างทักษะชีวิตให้ติดตัวพวกเขา สามารถปกป้องและลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งยังช่วยเหลือผู้คนในสังคมให้พ้นจากภยันตรายต่างๆ ที่เข้ามาได้ 


    กิจกรรมการเรียนรู้และฝึกทักษะ "ค่ายรู้รอดปลอดภัย" ครั้งที่ 6 ที่จัดขึ้นที่โรงเรียนจำนงค์วิทยา กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย และโรงพยาบาลราชวิถี ภายใต้การสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 และผู้ปกครองจากโรงเรียนจำนงค์วิทยา โรงเรียนสามัคคีบำรุงวิทยา และโรงเรียนอำนวยวิทยา เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 68 คน 


    นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการประชุมเชิงนโยบายเพื่อให้เด็กไทยรู้รอดปลอดภัยที่จัดร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค ที่ผ่านมา อีกทั้งทางผู้อำนวยการโรงเรียนจำนงค์วิทยาได้เข้าร่วมรับฟังข้อมูล เห็นว่าบริเวณโรงเรียนเป็นย่านชุมชนที่มีเด็กประชาชนทุกวัยอาศัยอยู่หนาแน่น หากมีเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือพบผู้ป่วยเป็นลม หมดสติ ลมชัก อาหารติดคอ อาการบาดเจ็บแขนหัก ขาหัก น่าจะได้รับประโยชน์ หากมีการจัดสอนให้ความรู้ช่วยเหลือหรือเอาชีวิตรอดได้ หรือประสานแจ้งเหตุได้ทันท่วงที


    "การสอนเด็ก ป.1-3 ให้เข้าใจและจำได้นั้นเป็นโจทย์หนัก เราจึงใช้วิธีนำผู้ปกครองมาร่วมบูรณาการ เชื่อมโยงเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก อย่างน้อยจะได้นำความรู้ที่ได้กลับไปสอนเด็กได้ กิจกรรมสุดท้ายเป็นการบูรณาการร่วมกันทั้งหมดโดยจำลองสถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ เพื่อดูว่าหลังจากที่ฝึกปฏิบัติไปทั้งเด็กและผู้ปกครองจะเอาตัวรอดหรือช่วยเหลือผู้อื่นได้ถูกต้องหรือไม่ เช่น เมื่อเกิดไฟไหม้ หรือเหตุการณ์แผ่นดินไหวในโรงหนัง การข้ามถนนที่ปลอดภัย ซึ่งต้องเอาความรู้ที่ได้เรียนมาทั้งหมดมาใช้ให้เกิดประโยชน์" 
    นายแพทย์ไพโรจน์กล่าวต่อว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้ไม่ได้หวังให้เด็กทำหรือจดจำได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มาด้วยจะได้เห็นได้ทำเกิดกระบวนการคิดและสอนลูก ซึ่งเด็กจะค่อยๆ ซึมซับไปเรื่อยๆ จนสามารถเอาไปใช้ในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังมีทีมครูพี่เลี้ยง เด็กรุ่นพี่พี่เลี้ยง ที่ได้มาร่วมสังเกตการณ์เพื่อที่ช่วยขยายความรู้ต่อไป อย่างไรก็ตาม หวังว่ากิจกรรมค่ายรู้รอดปลอดภัยจะมีส่วนช่วยต่อยอดเกิดเป็นโมเดลที่ใช้พัฒนาเด็กให้เกิดความรู้ความเข้าใจให้แก่โรงเรียนต่างๆ ได้ต่อไป เพื่อเด็กเหล่านี้เมื่อโตขึ้นจะพัฒนาตัวเองไปในทางดีได้


    นางสาวธิติมา สำเนียงดี ผู้ปกครองของ “น้องคุณ” ด.ช.สิทธิคุณ เสาวภานนท์ อายุ 6 ขวบ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสามัคคีบำรุงวิทยา เปิดเผยถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ และจากประสบการณ์ตรงของเธอที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไฟไหม้บนอาคารสูงในครั้งนั้น ทำให้ตระหนักถึงการเรียนรู้ที่จะต้องเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ต่างๆ เมื่อทางโรงเรียนแจ้งให้ผู้ปกครองมาร่วมกิจกรรมด้วยจึงตัดสินใจที่จะมาร่วมกิจกรรมกับลูกทันที 
    “ได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ นำไปใช้กับชีวิตประจำวันได้จริง เพราะก่อนหน้านี้เคยประสบเหตุไฟไหม้ที่คอนโดฯ ย่านประตูน้ำ เวลาตี 1 ซึ่งห้องพักอยู่ติดกับห้องที่เกิดเหตุ ตอนนั้นตกใจทำอะไรไม่ถูก และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะหนีไปทางไหน เพราะเกิดควันไฟปกคลุมทุกทาง และหลายคนสำลักควันไฟ ที่น่าหดหู่ใจที่สุดคือมีคนเสียชีวิต 1 ราย และนับว่ายังโชคดีที่ตนไม่ได้รับบาดเจ็บมาก ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนั้นจึงไม่เคยประมาทอีกเลย โดยการเข้าค่ายทำกิจกรรมในลักษณะนี้จึงเกิดทักษะและมีความรู้เพิ่มขึ้น และอยากให้มีกิจกรรมดีๆ แบบนี้ทุกโรงเรียน”
    ขณะที่ “น้องคุณ” กล่าวว่า ที่โรงเรียนไม่มีการเข้าค่ายหรืออบรมลักษณะนี้ และ 2 วันที่อยู่ในค่าย ชอบและสนุกที่ได้เรียนรู้ ได้ฝึกปฏิบัติทุกฐาน เช่น เหตุการณ์จำลองแผ่นดินไหว ไฟไหม น้ำท่วม CPR เรียกรถฉุกเฉินต้องทำอย่างไร ช่วยอย่างไรตัวเองและคนอื่นถึงจะรอดปลอดภัย หลังจากนี้จะนำความรู้ที่ได้รับกลับไปใช้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และเล่าให้เพื่อนๆ คุณครูที่โรงเรียนฟังด้วย
    ด้าน ด.ช.พีระพล ผลกิจ หรือน้องดีโด้ อายุ 8 ขวบ นักเรียนชั้น ป.3 โรงเรียนจำนงค์วิทยา บอกว่า คุณครูเป็นคนเลือกให้ผมมาร่วมกิจกรรมนี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้และดูแลสุขภาพของตนเอง เช่น การล้างมือที่ถูกวิธี ผมเคยเรียนลูกเสือ แต่เขาไม่ได้สอนผมเหมือนกับที่ค่ายเลย ผมได้ช่วยกับคุณแม่ปั๊มหัวใจด้วย ความรู้ที่ผมได้ในวันนี้ ผมจะนำไปบอกต่อเพื่อนๆ และผมจะไปสอนพี่กับน้องผมด้วย
    ส่วนผู้ใหญ่ใจดีอย่าง อาจารย์พัชรโรจน์ สุขสว่าง ผู้อำนวยการโรงเรียนจำนงค์วิทยา ที่เอื้อเฟื้อสถานที่และเปิดโอกาสให้โรงเรียนสามัคคีบำรุงวิทยา และโรงเรียนอำนวยวิทยาได้ร่วมกิจกรรมด้วย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินจากเหตุต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ จึงอยากให้เด็กได้เรียนรู้วิธีที่จะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่างๆ ได้ อย่างน้อยที่สุดให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้อย่างปลอดภัย หรือสามารถโทร.ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ได้ ซึ่งหากการเรียนรู้ในวันนี้จะเป็นการซึมซับความรู้ที่ถูกต้อง เช่น ในอดีตเมื่อเจอคนที่เป็นลมชัก เราจะให้เอาช้อนใส่เข้าไปในปากผู้ป่วย แต่สมัยนี้ไม่ใช่แล้ว ทำให้เรารู้ว่าวิวัฒนาการการช่วยเหลือผู้ป่วยเปลี่ยนไป 
    การเตรียมตัวรู้รอดเมื่อภัยมาเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เพราะจะเป็นความรู้ที่ติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิต ทั้งการช่วยตัวเองและผู้อื่นให้พ้นจากความเสี่ยงจากอันตรายต่างๆ ได้. 

ส่งเสริมการอ่านพัทลุง
    เมื่อเร็วๆ นี้ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพัทลุง จัดอบรมวิชาการปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือและกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนอ่านสร้างสุข เพื่อพัฒนาศักยภาพครูและผู้ดูแลเด็กปฐมวัย ให้เกิดความรู้ความเข้าใจและสามารถส่งเสริมการอ่านในกลุ่มเด็กเล็กในจังหวัดพัทลุง (ภาครัฐและภาคเอกชน) ประกอบด้วย ผู้จัดการและครูผู้เลี้ยงเด็กสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนช้างน้อยเนิร์สเซอรี่ และครูผู้ดูแลเด็กจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 189 แห่ง จำนวนกว่า 200 คน
    นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า เห็นความมุ่งมั่นและความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยกันขับเคลื่อนการทำงานด้านเด็กปฐมวัยของจังหวัดพัทลุง โดยเฉพาะครูผู้ดูแลเด็กที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อที่จะได้นำความรู้และแนวทางในการอบรมไปส่งเสริมพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีนิสัยรักการอ่าน ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ ที่จะหนุนเสริมให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
    กิจกรรมอบรมในวันนี้ประกอบด้วยการบรรยายวิชาการเรื่อง “หน้าต่างแห่งโอกาส : การพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือและการอ่าน” โดย นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และการอบรมปฏิบัติการ “เทคนิคการใช้หนังสือภาพ หนังสือนิทาน เทคนิคการเล่านิทาน และกิจกรรมหลังการอ่านหนังสือและเล่านิทาน” ฯลฯ โดย อ.ชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Hello Kids.

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"