'โพล'ประทับใจ ทั่วโลก'สามัคคี' กู้ภัยทีมฟุตบอล


เพิ่มเพื่อน    

    โพลเผย ปชช.ประทับใจที่ได้เห็นความสามัคคีทั้งคนไทยและต่างชาติช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่าติดถ้ำ แนะควรมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย  พร้อมประชาสัมพันธ์ตามแหล่งท่องเที่ยวให้ความรู้เอาตัวรอดเมื่อประสบภัยและเพิ่มเจ้าหน้าที่ดูแล นักวิชาการเสนอปฏิรูปมาตรฐานความปลอดภัยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน        
    เมื่อวันอาทิตย์ สวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง "คนไทยได้อะไร? จากกรณี 13 ชีวิต" โดยสำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศ 1,348 คน ระหว่างวันที่ 3-7 กรกฎาคม 2561 กรณีนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าและผู้ฝึกสอน รวม 13 ชีวิต ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศมาช่วยกันร่วมภารกิจปฏิบัติการช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางปัญหาอุปสรรคที่มีมากมาย และเจอทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตแล้ว พบว่า 1.ประชาชนคิดอย่างไรกับเหตุการณ์ดังกล่าว อันดับ 1 ได้เห็นพลังความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจจากทั้งคนไทยและต่างชาติ 46.27%, อันดับ 2 เป็นห่วงเด็กและเจ้าหน้าที่ เอาใจช่วย ลุ้น ขอให้ออกมาได้อย่างปลอดภัยในเร็ววัน 28.57%, อันดับ 3 เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เป็นอุทาหรณ์และให้บทเรียนอันล้ำค่า 18.32%, อันดับ 4เป็นภัยธรรมชาติ เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น 15.53%, อันดับ 5 มีข่าวลือ ข่าวที่ไม่จริง ต้องการสร้างกระแสจำนวนมาก 14.44%
     สำหรับการช่วยเหลือ 13 ชีวิตครั้งนี้ ประทับใจเรื่องใดมากที่สุด อันดับ 1 การช่วยเหลือจากคนไทยและต่างชาติ น้ำใจที่มีให้แก่กัน    57.69%, อันดับ 2การทำงานเป็นทีม การวางแผน การแบ่งงานตามหน้าที่รับผิดชอบ 33.01%, อันดับ 3 หน่วยซีล ทีมดำน้ำ ทีมค้นหา 23.88%, อันดับ 4 การระดมเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ เทคโนโลยีที่ทันสมัย 19.07%, อันดับ 5ภาวะผู้นำของผู้ว่าฯ การแก้ปัญหา การชี้แจงและให้ข่าว 17.15%
    ส่วน “บทเรียน” ที่สังคมไทยได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้คือ อันดับ 1 การแก้ไขปัญหาจะสำเร็จลุล่วงได้ต้องอาศัยการทำงานอย่างเป็นระบบ ความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ 40.91%, อันดับ 2 ต้องดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท รอบคอบ 31.19%, อันดับ 3 สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัยให้มากขึ้น 21.47%, อันดับ 4 พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลาน เอาใจใส่อย่างใกล้ชิด 20.22%, อันดับ 5 ควรศึกษาเรียนรู้วิธีการเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน มีสติ 13.48%
    เมื่อถามว่า ควรมีวิธีการป้องกันอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก อันดับ 1 มีมาตรการดูแลป้องกันมากขึ้น กำหนดกฎระเบียบที่ชัดเจน มีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำ 71.34%, อันดับ 2 ครอบครัว โรงเรียน และผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันปลูกฝังและแนะนำบุตรหลาน 22.74%, อันดับ 3    สถานศึกษาสอนหลักสูตรเกี่ยวกับการดำรงชีวิต การดูแลตนเองในสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ 16.67%, อันดับ 4 ประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ 14.64%, อันดับ 5 คนไทยต้องมีจิตสำนึก เคารพกฎหมาย ปฏิบัติตามข้อห้าม มีระเบียบวินัย12.93%
    ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “มาตรการป้องกันอุบัติภัยของไทย” ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2561 เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของมาตรการป้องกันอุบัติภัยของไทย พบว่า ประชาชนร้อยละ 8.28 ระบุว่ามีความน่าเชื่อถือมากที่สุด, ร้อยละ 66.40 ระบุว่ามีความน่าเชื่อถือมาก โดยให้เหตุผลว่า มาตรการป้องกันอุบัติภัยของไทยมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน รวดเร็ว สามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันเวลา และมีจุดมุ่งหมายชัดเจน, ร้อยละ 20.27 ระบุว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ, ร้อยละ 2.76 ระบุว่าไม่มีความน่าเชื่อถือเลย โดยให้เหตุผลว่า มาตรการป้องกันอุบัติภัยของไทยยังไม่มีความรัดกุมเท่าที่ควร ไม่มีมาตรฐาน ยังขาดอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ 
    ระดับความเร่งด่วนในการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ พบว่า ร้อยละ 30.76 ระบุว่าเร่งด่วนที่สุด, ร้อยละ 55.60 ระบุว่าเร่งด่วน โดยให้เหตุผลว่าจะได้มีแนวทางการแก้ไขและป้องกันได้ทันเหตุการณ์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้, ร้อยละ 12.06 ระบุว่าไม่เร่งด่วน, ร้อยละ 0.79 ระบุว่าไม่เร่งด่วนเลย โดยให้เหตุผลว่า กฎข้อบังคับมีอยู่แล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตาม ขณะที่บางส่วนระบุว่ายังมีวาระอื่นๆ ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนกว่านี้ 
    สำหรับประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเข้าช่วยเหลือเหตุอุบัติภัย พบว่า ร้อยละ 37.22 ระบุว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด, ร้อยละ 57.18 ระบุว่ามีประสิทธิภาพมาก โดยได้ให้เหตุผลว่าปฏิบัติงานได้ดี รวดเร็ว และเต็มความสามารถ เพราะเจ้าหน้าที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถเฉพาะอยู่แล้ว,  ร้อยละ 4.50 ระบุว่าไม่มีประสิทธิภาพ, ร้อยละ 0.55 ระบุว่าไม่มีประสิทธิภาพเลย โดยให้เหตุผลว่าไม่มีความพร้อม ล่าช้าในการปฏิบัติงาน ขาดเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย 
     เมื่อถามถึงมาตรการป้องกันอุบัติภัยตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.68 ระบุว่ามีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การเอาตัวรอดเมื่อประสบภัย รองลงมา ร้อยละ 51.42 ระบุว่าเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยตามสถานที่ท่องเที่ยว, ร้อยละ 49.84 ระบุว่าติดป้ายเตือนอุบัติเหตุ/อุบัติภัย, ร้อยละ 23.90 ระบุว่าจัดทีมสำรวจศึกษาสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติเพื่อเก็บข้อมูลอย่างละเอียด, ร้อยละ 23.42 ระบุว่าจัดทำแผนที่เส้นทางการท่องเที่ยว, ร้อยละ 12.46 ระบุว่าจำกัดอายุนักท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ, ร้อยละ 2.21 ระบุอื่นๆ ได้แก่ มีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และบทลงโทษที่ชัดเจน ปิดการให้บริการในช่วงที่อันตราย มีการติดตั้งระบบเตือนภัย มีอุปกรณ์ที่พร้อมใช้งานเมื่อเกิดอุบัติเหตุ/อุบัติภัย 
     ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า กรณีเรือล่มมีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจำนวนมาก เด็ก 13 คนติดในถ้ำหลวงและอุบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีมาตรฐานความปลอดภัยไม่ดีนัก การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจการท่องเที่ยว กฎระเบียบและการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัยก็ยังไม่ได้มาตรฐาน คนต่างชาติบางส่วนที่เข้ามาทำธุรกิจท่องเที่ยวในไทยก็หลบเลี่ยงกฎหมายใช้นอมินีคนไทยในการดำเนินการในกิจการที่กฎหมายห้ามไม่ให้ทำ  ทำให้การกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายไม่เต็มประสิทธิภาพ 
    "เหตุการณ์ดังกล่าวได้ซ้ำเติมภาพลักษณ์เกี่ยวกับปัญหาด้านความปลอดภัย ปัญหาด้านอาชญากรรมที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนหนึ่งมีทัศนคติด้านลบต่อความปลอดภัยของไทยอยู่แล้ว เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงติดอันดับ 2 ของโลก หากปล่อยให้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นโดยไม่มีการปฏิรูประบบมาตรฐานความปลอดภัย การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจการท่องเที่ยว การบังคับใช้กฎหมายให้ได้มาตรฐานเพื่อชีวิตและความปลอดภัยของทุกชีวิต ระบบการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและฉับไว ระบบเยียวยาผู้เสียหายอย่างเหมาะสมแล้ว จะส่งผลกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในระยะยาวได้" 
    นอกจากนี้ ไทยยังมีความจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำทางทะเลและระบบราง ระบบรางไทยสามารถเดินทางด้วยความเร็วราว 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น แตกต่างจากประเทศที่มีรถไฟความเร็วสูงทำให้ประหยัดเวลาและมีความปลอดภัย การขยายสนามบินหลายแห่งในไทยมีความล่าช้า ไม่สามารถทันต่อการขยายตัวของนักท่องเที่ยว 
     "ภาคการท่องเที่ยวนั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รายได้จากการท่องเที่ยวขึ้นมาอยู่ที่มากกว่า 12% ของจีดีพีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นส่งผลดีต่อการจ้างงาน มีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าหากรายได้ของการท่องเที่ยวลดลง 10-15% จะส่งผลกระทบต่อจีดีพี ลดลงถึง -0.9-1%" ดร.อนุสรณ์ระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"