ท้าเปิด'บิ๊กกองทัพ'ช่วยดูด กกต.ชงแก้53/60คลายล็อก


เพิ่มเพื่อน    

    "ป้อม" ท้าเปิดชื่อ "บิ๊กกองทัพ" เสนอประโยชน์แลกดูดอดีต ส.ส.เข้าพลังประชารัฐ ปัดไม่มีอดีต ส.ส.เข้าพบที่บ้าน ร.1 รอ. "บิ๊กตู่" ลั่นใครจะดูดก็เชิญตนไม่ได้ไปดูดด้วย "เพื่อไทย" หวั่น "นนทบุรี" คิวต่อไปของพลังดูด รับ "ฉลอง-วันชัย" ตกเป็นเป้า แกนนำปรามสมาชิกไม่ให้ด่าส่งพวกทิ้งพรรค กกต.เห็นชอบร่างแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560 คลายล็อกพรรคการเมืองประชุมใหญ่-ให้อำนาจ กกต.แบ่งเขต ไม่พิจารณาปมไพรมารีโหวต  
    เมื่อวันจันทร์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีมีกระแสข่าวบิ๊กทหารในพื้นที่อีสานช่วยดูดอดีต ส.ส.เข้าพรรคพลังประชารัฐว่า เขาไปดูดอย่างไร เขาดูดอย่างไร เขารู้จักกัน คุยกันไม่ได้หรือ
    ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการเสนอผลประโยชน์แลกเปลี่ยนจะมีความผิดหรือไม่ พล.อ.ประวิตรย้อนถามว่า "เขาเสนออะไร ใครเสนอ บอกชื่อมา" ผู้สื่อข่าวตอบกลับว่า "เป็นระดับบิ๊กในกองทัพภาคสอง"  พล.อ.ประวิตรสวนกลับมาอีกว่า "โอ๊ย ไม่มีไปเสนออะไร ถ้าเสนอก็เป็นเรื่องของเขา เขารู้จักกัน เขาคุยกัน ไม่เกี่ยวกับผม"
    เมื่อถามว่ามีการอ้างว่าอดีต ส.ส.มาพบท่านที่บ้าน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เมื่อพูดว่าอ้างจะมาถามอะไร ถามย้ำอีกว่าปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีนักการเมืองมาพบที่บ้านในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็ก รักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) หรือไม่ พล.อ.ประวิตรอมยิ้มพร้อมกล่าวว่า "บ้านผมไม่มี"
     เช้าวันเดียวกัน ที่อาคารพักอาศัยแปลง G ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารและส่งมอบกุญแจห้องพักอาศัยโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ได้ถามผู้ร่วมงานว่า "รู้ไหม กทม.มีทั้งหมดกี่เขต" โดยผู้ร่วมงานคนหนึ่งตะโกนตอบว่า "50 เขต" 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ใช่มี 50 เขต แต่ไม่ใช่ไปดูดเขตโน้นเขตนี้ จะไปดูดให้เมื่อยปากทำไม ใครจะไปดูด เชิญไปดูดกันมาแล้วกัน ผมไม่ได้ไปดูดกับใคร"
    ด้าน พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย  รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ขอให้สมาชิกพรรคหลีกเลี่ยงการตอบโต้และกล่าวหาเรื่องการดูด ส.ส.เพื่อรักษามิตรภาพที่เคยมีร่วมกันว่า ยอมรับว่าเป็นการรักษาน้ำใจของอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางกลุ่มที่ยังลังเลว่าจะย้ายพรรคหรือไม่ เพราะบางคนยังอาลัยอาวรณ์กันอยู่ ก็เห็นใจเพราะบางคนที่ต้องไปด้วยความจำเป็น แต่ตนเคารพการตัดสินใจของแต่ละคน อดีต ส.ส.ทุกคนเป็นเพื่อนกันไม่อยากให้ใช้คำพูดรุนแรงต่อกัน 
    ส่วนที่พรรคพลังประชารัฐระบุว่าจะเปิดตัวยิ่งใหญ่หลังพบทีมหมูป่านั้น พล.ต.ท.วิโรจน์กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะว่า "จะเปิดอะไรอีกก็ไม่รู้ มีอะไรให้เปิดอีกหรือ"
    นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้หารือกับกลุ่มอดีต ส.ส.อีสาน พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีความรู้สึกเดียวกับเลขาธิการพรรค ตนได้สะท้อนความรู้สึกไปยังเลขาธิการพรรคในกรณีการตอบโต้เรื่องดูดอดีต ส.ส.ว่า เราไม่อยากผลักไสไล่ส่งใคร ไม่อยากซ้ำเติมหรือประจานใคร การสาปแช่งหรือไล่กันเป็นเรื่องไม่ดี จึงสะท้อนไปยังเลขาธิการเพื่อถ่ายทอดเป็นแนวคิดแนวทางให้แก่อดีต ส.ส.ภายในพรรค 
    นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ใครย้ายออกจากพรรคเขาจะไม่เลือก เพราะเขาให้ความเชื่อมั่นในพรรคจึงเลือกที่พรรคไม่ได้เลือกที่คน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน และใครที่มีกระแสข่าวถูกดูดออกไป เวลาลงพื้นที่จะไม่มีประชาชนคุยด้วย เราจึงไม่กังวลอะไร ในส่วนของพรรคเราหากพื้นที่ใดอดีต ส.ส.ออกไป เราก็หาคนใหม่มาลงสมัครแทน ซึ่งมีคนที่พร้อมลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว เราจึงไม่ได้หนักใจอะไรกับกระแสดูดที่เกิดขึ้น 
หวั่น 'นนทบุรี' โดนดูด
    แหล่งข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า สำหรับกระแสข่าวการดูดอดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยเพื่อให้ย้ายไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ในช่วงแรกเป็นการดูดอดีต ส.ส.ในภาคอีสานเป็นหลัก  ขณะนี้กำลังเปลี่ยนไปดูดอดีต ส.ส.ในภาคกลางแทนแล้ว เนื่องจากภาคกลางไม่ใช่พื้นที่จุดแข็งของพรรคเพื่อไทยเหมือนกับภาคอีสาน จึงอาจจะมองว่าหากมาทาบทามอดีต ส.ส.ภาคกลางนั้นน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า ซึ่งล่าสุดทราบว่ามีความพยายามทาบทามอดีต ส.ส.นนทบุรีของพรรคเพื่อไทยให้ย้ายไปร่วมงานด้วย ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งยกจังหวัด ทำให้พรรคได้ส.ส.เขตเลือกตั้งทั้งหมด 6 คน คือ 1.นายนิทัศน์ ศรีนนท์ 2.นายอุดมเดช รัตนเสถียร 3.นางวไลพร  อัจฉริยะประสิทธิ์ 4.นายมนตรี ตั้งเจริญถาวร 5.นายวันชัย เจริญนนทสิทธิ์ และ 6.นายฉลอง เรี่ยวแรง
    "ทราบว่านายฉลองมีแนวโน้มมากที่สุดที่จะตัดสินใจย้ายไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ นายวันชัยก็ถูกทาบทามด้วย แต่ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะย้ายไปหรือไม่ มีแนวโน้มสูงว่าอาจจะย้าย  เพราะนายวันชัยมีความสนิทสนมกับนายฉลอง ขณะที่นางวไลพรตัดสินใจว่าอาจจะวางมือทางการเมืองแล้วให้บุตรชายลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แทน แต่ปรากฏว่าบุตรชายนางวไลพรมีแนวโน้มที่จะย้ายไปลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์" แหล่งข่าวระบุ
     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดทำร่างแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560 ให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมใหญ่เพื่อทำไพรมารีโหวต และให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถแบ่งเขตการเลือกตั้ง รวมถึงอาจจะใช้การทำไพรมารีโหวตแบบภาคว่า ข่าวที่ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาไปยกร่างแก้ไขคำสั่งดังกล่าวเป็นความจริง  แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการทำไพรมารีโหวต ซึ่งได้พูดถึง 4 แนวทาง คือ 1.ยังไม่เริ่มใช้ไพรมารีโหวต 2.มีการทำไพรมารีโหวตแบบจังหวัดซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาล 3.การทำไพรมารีโหวตแบบภาค 4.หากไม่ใช้การทำไพรมารีโหวตจะใช้รูปแบบใดมารองรับแทน เพื่อให้สมาชิกพรรคการเมืองได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร เพราะหากไม่ทำไพรมารีโหวตก็จะไม่มีอะไรมารองรับตรงนี้ และจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่กำหนดให้สมาชิกพรรคต้องมีส่วนร่วม จึงมีการมอบหมายให้กฤษฎีกานำแนวทางเหล่านี้ไปจัดทำร่างในทุกรูปแบบแล้วนำเสนอ กกต.พิจารณา
      ทั้งนี้ คสช.จะเป็นผู้พิจารณา และจะส่งข้อพิจารณาของ คสช.ไปให้ กกต.ด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเลือกแนวทางตามที่ คสช.เลือก และขณะนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจ อย่างไรก็ตามขอย้ำว่าผู้ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กกต., คสช., คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังรวบรวมประมวลผล ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลาในการพิจารณา ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่คิดว่าคงใช้เวลาไม่นาน
       ส่วนที่มีการคาดการณ์ว่าจะคลายล็อกให้พรรคการเมืองได้ภายในเดือนสิงหาคมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าเรื่องนี้ตนไม่ทราบ และยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่
ยังไม่คลายล็อก 90 วัน
       เมื่อถามถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมจึงยังไม่มีการคลายล็อกให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุม หรือทำกิจกรรมได้ในช่วง 90 วันระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง  นายวิษณุกล่าวยืนยันว่าไม่สามารถคลายล็อกให้พรรคการเมืองในช่วง 90 วันแรกได้ เพราะยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ลงมา แต่ถ้าพรรคการเมืองใดมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมอะไรก็ให้ไปขออนุญาตจาก คสช.เป็นรายกรณี ไม่เช่นนั้นอาจมีสิ่งสอดแทรกจากบางพรรคการเมือง แล้วอาจจะส่งผลกระทบกับ 90 วันช่วงที่สอง เป็นช่วงที่รอการบังคับใช้จริงหลังจากมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ลงมาแล้ว จึงขออย่าไปทำอะไรให้เกิดปัญหาขึ้นมา เราเพียงแค่ป้องกันปัญหาเอาไว้เท่านั้นเอง 
    "ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่อธิบายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ยาก แต่ถือว่ามีความจำเป็นที่ยังไม่สามารถคลายล็อกให้ได้ และแม้จะเป็นการดำเนินการงานคนละส่วนกัน ระหว่างกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. แต่เราคิดว่าไม่มีปัญหาและอุปสรรคอะไร" นายวิษณุกล่าว    
    นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวน่าจะอยู่ระหว่างที่กฤษฎีกาขอความเห็นจาก กกต. และ กกต.เห็นอย่างไรก็จะเสนอมาที่ คสช. แต่ คสช.จะเอาด้วยหรือไม่นั้นยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีการทำไพรมารีหรือไม่ เพราะการทำไพรมารีตามมาตรา 145 คือแต่ละสาขาหรือตัวแทนจังหวัด หรือทำไพรมารีเป็นภาคๆ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ กกต.มีอำนาจจัดการแบ่งเขตเลือกตั้งให้เรียบร้อย ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2  เดือนเป็นอย่างน้อย เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถหาสมาชิกให้ได้เกิน 500 คนในกรณีจะจัดตั้งเป็นสาขา หรือให้ได้เกิน 100 คนในกรณีจะตั้งเป็นตัวแทนจังหวัด
    "ไม่ว่ากติกาจะออกมาในรูปใด ขอให้พรรคการเมืองมีเวลามากพอที่จะหาสมาชิกเพื่อตั้งสาขา มีเวลามากพอเพื่อทำไพรมารี เชื่อแน่ว่าพรรคการเมืองทุกพรรคพร้อมที่จะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง สมาชิก ปชป.เดิมมี 2,500,000 คนและมีสาขาประมาณ 200 สาขา หาก คสช.ให้เวลามากพอ เราเชื่อว่าสมาชิกทั้งหมดและสมาชิกใหม่ก็พร้อมที่จะเข้ามาเคียงข้างกับพรรค รวมทั้งสามารถจัดตั้งสาขาได้ครบ 200 หรือเกินกว่าตามความต้องการของมวลสมาชิกอย่างแน่นอน การปฏิรูปการเมืองคือ การที่ให้สมาชิกพรรคเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ไม่ใช่นายทุนพรรค จึงต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองหาสมาชิกให้มาก  และให้สมาชิกเข้าใจและยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรค มิฉะนั้นแล้วการทำไพรมารีก็จะเป็นเพียงรูปแบบ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายของพรรคโดยใช่เหตุ" นายวิรัตน์กล่าว
    นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าให้ทำอย่างไร ระบุเพียงให้ประชาชนมีส่วนร่วม เรื่องนี้พรรคที่สนับสนุนผู้มีอำนาจอาจมีปัญหาหรือไม่จึงเกิดเสียงเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยน แต่พรรคเพื่อไทยไม่มีปัญหา พร้อมรับทุกรูปแบบ แต่อย่าทำอะไรที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วนำมาสู่ปัญหาการตีความภายหลังการเลือกตั้ง ขอให้ทำเรื่องดังกล่าวอย่างระมัดระวัง  
เห็นชอบแก้คำสั่ง 53/60
    วันเดียวกัน ที่ประชุม กกต.ได้เห็นชอบร่างแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ที่จะคลายล็อกการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เสนอมาขอความเห็น โดยเห็นว่ามีเนื้อหาหลักเป็นไปตามที่ กกต.เสนอในวงประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับตัวแทนพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา คือหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว คือ 1.ให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรคหาสมาชิกพรรคให้ความเห็นต่อ กกต.ในเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง และจัดทำไพรมารีโหวต 2.ให้อำนาจ กกต.ในการออกหลักเกณฑ์และระเบียบให้สอดคล้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่มีการประกาศใช้และให้ดำเนินการเรื่องของการแบ่งเขตได้
    ทั้งนี้ ในส่วนของกระบวนการทำไพรมารีโหวตที่ กรธ.เสนอเป็นทางเลือกให้ทำเป็นภาค เนื่องจากมีความยืดหยุ่นกว่า หากเห็นว่าการทำเป็นเขตตามมาตรา 145 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองก่อให้เกิดความยากลำบากกับพรรคการเมืองนั้น ที่ประชุม กกต.ไม่ได้มีการให้ความเห็นในประเด็นนี้ โดยเห็นว่ากกต.มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎหมายเป็นอย่างไรก็พร้อมปฏิบัติตาม และหลังจากนี้ กกต.ก็จะได้แจ้งความเห็นกลับไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป
    ขณะที่ พ.ต.ท.ชำนาญ โตวงษ์ ว่าที่รองหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย พร้อมด้วยกรรมการบริหาร 6  คนเดินทางมาที่สำนักงาน กกต.เพื่อยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค โดย พ.ต.ท.ชำนาญกล่าวว่า สาเหตุที่ยื่นหนังสือลาออก เนื่องจากว่าการทำงานไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ที่ได้มีการปรึกษาหารือกันไว้ เช่นเรื่องนโยบายที่ว่าจะทำงานอย่างโปร่งใส แต่ทางนายพิเชษฐ สถิรชวาล ว่าที่หัวหน้าพรรคทำงานโดยไม่แจ้งข้อมูลข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการทราบ โดยมักจะดำเนินการตามอำเภอใจ ตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว และการพูดคุยในที่ประชุมไม่ให้เกียรติคณะกรรมการ เป็นการก้าวล่วงซึ่งจะไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ การทำงานทางการเมืองร่วมกันทุกคนต้องมีศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกัน พรรคการเมืองต้องไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเป็นของประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีสมาชิกพรรคลาออกอีกเป็นจำนวนมาก 
    "กลุ่มของผมได้แจ้งลาออกให้หัวหน้าพรรคทราบด้วยวาจาผ่านทางโทรศัพท์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหัวหน้าพรรคมีความรู้สึกตกใจเล็กน้อย แต่เข้าใจเพราะว่าอุดมการณ์ไปคนละทางกัน หลังจากลาออกแล้ว ผมกับคณะกรรมการมีความคิดที่จะรวมตัวกันเพื่อจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ที่มีอุดมการณ์ที่กลุ่มของผมได้มุ่งหวังว่าจะทำงานเพื่อประชาธิปไตยและประชาชน โดยชื่อพรรคนั้นจะต้องปรึกษากันอีกครั้ง" พ.ต.ท.ชำนาญกล่าว
     ที่อาคารทูแปซิฟิคเพลส นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย  (รปช.) และในฐานะประธานคณะทำงานรณรงค์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมเป็นเจ้าของพรรค ได้ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า "ขอเชิญพี่น้องมวลมหาประชาชนให้มาร่วมกันสร้างพรรคการเมือง ที่เป็นของประชาชนที่แท้จริง เพื่อทำงานการเมืองรับใช้ประเทศชาติและรับใช้ประชาชน หากท่านใดมีอุดมการณ์ และแนวความคิดทางการเมืองเดียวกัน ก็ขอเชิญมาร่วมมือกันสร้างพรรคการเมืองของประชาชน  สำหรับอุดมการณ์ของพรรคมีอย่างน้อยที่สุด 7 ประการ ได้แก่ 1.อุดมการณ์ที่จะถวายความจงรักภักดี  เทิดทูนและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.มีการเมืองการปกครองที่เป็นประโยชน์สำหรับประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง ต้องใช้หลักธรรมาธิปไตยยึดธรรมะเป็นที่ตั้ง ยึดความถูกต้อง เอาธรรมะมาใช้ในการเมือง ยึดหลักธรรมของพระศาสนา 3.ต้องตระหนักว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจของประชาชน เป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของ เป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นผู้กำหนดตัวบุคคลที่จะมาเป็นผู้บริหารบริหารประเทศ
     4.มีเป้าหมายที่สำคัญคือ การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทย 5.พรรคมุ่งหวังที่จะให้คนไทยทั้งประเทศรักชาติ ภูมิใจในชาติ ภูมิใจในความเป็นชาติไทย ธำรงรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงาม ที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย และเป็นสิ่งที่มีคุณค่า 6.นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชามาใช้ในการพัฒนาประเทศ มาใช้ในการพัฒนายกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน   และ 7.เอาใจใส่ดูแลสิ่งแวดล้อมให้มีความสมดุล ให้มีความยั่งยืน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"