ผ่านแล้วเก็บภาษีลาภลอยที่ดิน-ห้องชุดที่ได้รับประโยชน์จากเมกะโปรเจ็กต์รัฐ


เพิ่มเพื่อน    

ครม. เคาะกฎหมายรีดภาษีจากผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง บี้ห้องชุด-ที่ดินมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ได้อานิสงส์เมกะโปรเจ็กต์ดันกำไรพุ่ง ในรอบรัศมีโครงการก่อสร้าง 5 กิโลเมตร เสียภาษีไม่เกิน 5% คาดบังคับใช้ได้ปี 2562

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ...  โดยกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของหรือครองครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ หรือเป็นเจ้าของห้องชุดที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท และใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการขายซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ ทั้ง โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โครงการท่าเรือ โครงการทางด่วนพิเศษ หรือโครงการอื่น ๆ ซึ่งได้มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ของการเก็บภาษีดังกล่าวไว้ไม่เกินรัศมี 5 กิโลเมตรรอบพื้นที่โครงการก่อสร้าง โดยมีเพดานภาษีไม่เกิน 5%

“กฎหมายฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อต้องการสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกส่วนที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐ นั่นคือ เอกชนได้รับประโยชน์จากราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนโครงการนั่นเอง โดยการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ ไม่เพียงจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ยังสามารถนำเม็ดเงินดังกล่าวไปลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประเทศเพิ่มได้ โดยผู้เสียภาษีคือเจ้าของที่ดินและอาคารภาษีที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งอยู่ดี ๆ ก็ได้ประโยชน์จากราคาขายที่จะเพิ่มมากขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย” นายณัฐพร กล่าว

ทั้งนี้ กรมที่ดินจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดเก็บภาษีในช่วงที่โครงการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนกรณีโครงการก่อสร้างต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำหน้าที่เป็นผู้จัดเก็บภาษี โดยจะมีการจัดเก็บภาษีเพียงครั้งเดียว ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีจะต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง
โดยสำนักงบประมาณ ได้มีความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวว่า กระทรวงการคลังคลังพิจารณาผลกระทบกรณีผู้เสียภาษีจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือการผลักภาระภาษีของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ควรสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บภาษีให้มีความเป็นธรรมและไม่ซ้ำซ้อน ตลอดจนกำหนดให้มีการติดตามและรายงานผลการดำเนินงานตามร่างกฎหมายดังกล่าวต่อ ครม. เป็นระยะ ๆ ถึงผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาล และ อปท. และความเป็นธรรมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลัง (สศค.) และรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ จะมีการนำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณารายละเอียด ก่อนส่งกลับเข้า ครม.และเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อ โดยคาดมีผลบังคับใช้ปี 2562 โดยสาเหตุที่ต้องทำกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลมีการลงทุนโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐจำนวนมาก ซึ่งเมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จจะส่งผลให้ที่ดินและห้องชุดคอนโดมิเนียม บริเวณรอบโครงการฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีจากผู้ที่ได้รับประโยชน์  จึงเห็นควรให้จัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินหรือห้องชุดที่ได้รับประโยชน์เพิ่มเติม

“ยืนยันว่าการทำกฎหมายฉบับนี้จะไม่กระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ เพราะระหว่างที่มีโครงสร้างพื้นฐานตัดผ่าน หากไม่มีการขายเปลี่ยนมือก็จะไม่เสียภาษีส่วนนี้ ขณะเดียวกันเมื่อโครงการสร้างเสร็จแล้ว ผู้เสียภาษีก็จะเป็นผู้ที่มีที่ดินหรือคอนโดฯเชิงพาณิชย์เกิน 50 ล้านบาทเท่านั้น หากมูลค่าไม่ถึง หรือมีมูลค่าไม่เพิ่มขึ้นก็ไม่เสียภาษี ที่สำคัญโครงการฯ จัดเก็บภาษี คือโครงการฯ ที่ยังก่อสร้างอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ หรือโครงการฯ ที่จะก่อสร้างภายหลังจากวันที่พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ จะไม่มีผลบังคับย้อนหลัง”

นายพรชัยกล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ. สรุปได้ดังนี้  การจัดเก็บภาษีแบ่งเป็น 2 กรณี กรณีแรกระหว่างการดำเนินการจัดทำโครงการฯ จะจัดเก็บภาษีจากการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือห้องชุดซึ่งตั้งอยู่รอบพื้นที่โครงการฯ ในรัศมีที่กำหนดทุกกรณีไม่ว่าจะมีมูลค่าเท่าไร กรณีสองเมื่อก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ จะจัดเก็บภาษีเพียงครั้งเดียวจากที่ดินหรือห้องชุดเฉพาะส่วนที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ยกเว้นภาษีให้แก่ที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้เพื่อพักอาศัยและที่ดินที่ใช้ประกอบเกษตรกรรม ขณะที่ห้องชุดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รอจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯก็จะต้องเสียด้วย อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีการขาย ที่ดินหรือห้องชุดหลังโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มจากส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น

ส่วนพื้นที่จัดเก็บภาษีกำหนดเพดานขอบเขตไว้ไม่เกินรัศมี 5 กม.รอบพื้นที่โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐเข้าไปพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ ที่กระทรวงกำหนด  สำหรับหน่วยงานจัดเก็บภาษี เป็นกรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีโครงการฯตั้งอยู่  โดย กำหนดเพดานภาษีสูงสุดไม่เกิน 5%  แต่อัตราการเก็บจริงจะมีการประกาศในพระราชกฤษฎีกาอีกครั้ง

“ฐานภาษีเพื่อการคำนวณภาษี ให้คำนวณจากส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดที่เพิ่มขึ้นระหว่างวันที่รัฐเริ่มก่อสร้างโครงการฯ และมูลค่าในวันที่การก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ สำหรับโครงการฯ ที่ยังก่อสร้างอยู่ในวันที่พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ ให้ใช้วันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้เป็นวันเริ่มต้นในการคำนวณฐานภาษี  ทั้งนี้การคำนวณมูลค่าที่ดินและห้องชุด ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุดเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์กำหนดเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ ในกรณีห้องชุดไม่สามารถคำนวณส่วนต่างของมูลค่าห้องชุดได้ เนื่องจากไม่มีราคาประเมินห้องชุดให้คำนวณส่วนต่างดังกล่าวเท่ากับ 20% ของมูลค่าห้องชุด” นายพรชัย กล่าว

             
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"