นอกถ้ำอาจอันตรายยิ่งกว่า!


เพิ่มเพื่อน    

       นอกถ้ำ ในถ้ำ มีทั้งความเหมือนความต่าง
    ปฏิบัติการกู้ภัยหมูป่าจบแล้ว 
    และทิ้งส่วนเกินของถ้ำเอาไว้มากมาย 
    นั่นจึงตามด้วย บิ๊กคลีนนิงเดย์ 
    วันนี้ (๑๔ กรกฎาคม) จังหวัดเชียงราย จิตอาสา เข้าทำความสะอาด บริเวณปากถ้ำ คืนความเป็นถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ให้ได้มากที่สุด 
    นี่จึงเป็นปฏิบัติการกู้ภัยให้ถ้ำหลวงกลับสู่สภาพเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ 
    ปล่อยให้ถ้ำหลวงได้ฟื้นฟูตัวเอง 
    เช่นกันประเทศไทยควรได้รับการฟื้นฟู โดยถอดบทเรียนจากปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้ 
    สิ่งที่ท่านผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร แถลงเอาไว้ตรงใจผู้คนไม่น้อย 
    แล้วจะถอดบทเรียน ความรัก ความสามัคคี จากถ้ำหลวง มาพัฒนาประเทศระยะยาวได้อย่างไร?
    นี่คือสิ่งที่ท้าทายสำหรับคนไทยทั้งชาติ 
    อย่างที่เกริ่นไว้ นอกถ้ำ ในถ้ำ มีทั้งความเหมือนความต่าง
    ปฏิบัติการช่วยเหลือ ๑๓ ชีวิตทีมหมูป่า ในถ้ำ สร้างความรักความสามัคคี ให้อบอวลไปทั่วโลก 
    ทุกคนทั้งไทยเทศใช้ความรักความสามัคคี ให้ความช่วยเหลือ ๑๓ หมูป่าเพราะอะไร?
    ถ้าจะถอดบทเรียน ต้องเริ่มจากตรงนี้!
    ในถ้ำหลวง ไม่มีผลประโยชน์ 
    ไม่มีใครอยากได้ประโยชน์จากการช่วยเหลือทีมหมูป่า
    สิ่งที่ปรารถนาคือให้ ๑๓ ชีวิตได้มีชีวิตรอดกลับมา
    และเมื่อทีมหมูป่าออกมาแล้ว ชีวิตต้องดำเนินต่อไป
    แต่จะเดินไปอย่างไร? 
    ในถ้ำหลวงที่ว่ามืดมิด หนาวเหน็บแล้ว.... 
    นอกถ้ำอาจยิ่งกว่านั้น 
    ก็อย่างที่เป็นข่าว วันนี้เริ่มจะมีผลประโยชน์วิ่งเข้าชน ๑๓ หมูป่าแบบตั้งตัวไม่ติด
    เด็กๆ ยังได้รับการปกป้อง ยังไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสาร นั่นถือเป็นเรื่องดี 
    แต่วันหนึ่งเด็กๆ ต้องรับรู้เรื่องราวทั้งหมด แล้วพวกเขาจะรับมือไหวหรือไม่ 
    การกู้ภัยในถ้ำหลวงที่ว่ายากพอๆ กับการปีนยอดเขาเอเวอเรสนั้น อาจไม่ยากเท่าการถอดบทเรียนเพื่อที่จะใช้ชีวิตต่อไป
    สำหรับเด็กๆ ทั้ง ๑๒ คน กับโค้ชเอก ความโหดร้ายนอกถ้ำ อาจมากมายกว่าในถ้ำ
    การบริหารจัดการหลังจากนี้ จึงอาจยากกว่าการกู้ภัย
    สำคัญที่สุดคือ การบริหารจัดการกับความรู้สึกของสังคม
    ฮอลลีวูด จะสร้างหนังกู้ภัยในถ้ำลึก  
    มีข่าว เอเยนต์นัดเจรจาดูแลสิทธิประโยชน์ให้ ๑๓ หมูป่า
    บริษัทสร้างหนังตอมเป็นแมลงวัน ราวกับ ๑๓ หมูป่าเป็นฮีโร่
    บริษัทห้างร้าน แม้กระทั่งสื่อ เริ่มจะจับจองคิว
    ไม่เว้นกระทั่งมหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม เรื่องการสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เด็กทั้ง ๑๒ คนและโค้ชเอก 
    ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก 
    ลืมไปว่า ทั้ง ๑๓ คนคือผู้ประสบภัย  
    เรื่องราวพวกนี้กำลังเป็นเรื่องถกเถียงในสังคม 
    และทีมหมูป่าเริ่มถูกมองในมุมที่ต่างออกไป โดยที่เด็กๆ ยังอยู่ในโรงพยาบาล 
    ยังไม่ได้กลับเข้าสู่สังคม!
    แต่ทุกอย่างเดินไปไกล จนน่าวิตกว่าเด็กๆ จะรับมืออย่างไร 
    ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่ข่าวผู้ที่ติดเหมืองในชิลี เมื่อ ๘ ปีก่อน มาเตือนสติหลายๆ ฝ่าย ว่าสิ่งที่จะเกิดหลังจากนี้ต้องหาวิธีรับมือ
    ...ทันทีที่ปฏิบัติการช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีทั้ง ๑๓ คนออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ประสบความสำเร็จเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (๑๐ มิ.ย.) ก็เริ่มมีกระแสข่าวว่าเรื่องราวของเด็กๆ กลุ่มนี้กำลังจะถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด
    เมื่อ ๘ ปีที่แล้ว อุบัติเหตุเหมืองทองแดงถล่มในชิลีทำให้คนงาน ๓๓ ชีวิตต้องติดอยู่ใต้ดินนานถึง  ๖๙ วัน และภารกิจช่วยชีวิตพวกเขาก็ถูกนำไปถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ที่ได้ดาราหนุ่มใหญ่มากฝีมืออย่าง แอนโตนิโอ แบนเดอรัส นำแสดง
    ภาพยนตร์เรื่อง “The 33” กวาดรายได้บอกซ์ออฟฟิศไปมากถึง ๒๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เงินเหล่านี้ไม่ได้ตกไปถึงมือผู้ประสบภัยเหมืองชิลีแม้แต่เพนนีเดียว
    "ผมหวังว่าเรื่องราวของพวกเขาจะถูกนำไปสร้างเป็นหนัง ละครซีรีส์ หรือนิยายขายดี แต่ขอให้ทำอย่างชาญฉลาด และอย่าตกเป็นเหยื่อพวกต้มตุ๋น" มาริโอ เซปุลเวดา อดีตคนงานเหมืองผู้ถูกรับบทโดย แบนเดอรัส ใน “The 33” ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
    เด็ก ๑๒ คนที่เข้าไปติดอยู่ในถ้ำหลวงมีอายุระหว่าง ๑๑-๑๖ ปี และโค้ชก็เพิ่งอายุเพียง ๒๕ ปี ในขณะที่คนงานเหมืองชิลีล้วนเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวตอนที่พวกเขาประสบเหตุร้ายในเหมืองซานโฮเซกลางทะเลทรายอาตากามา
    “สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ภาครัฐและครอบครัวต้องช่วยกันปกป้องเด็กๆ เหล่านี้ เพราะเชื่อว่ามีหลายฝ่ายที่จ้องแสวงหาผลประโยชน์จากพวกเขา” หลุยส์ อูร์ซัว คนงานเหมืองอีกรายกล่าวเตือน
    ไมเคิล สกอตต์ หุ้นส่วนของบริษัทเพียวฟลิกซ์ (Pure Flix) และโปรดิวเซอร์หนังฮอลลีวูดชื่อดัง ได้ทวีตข้อความเมื่อค่ำวันอังคาร (๑๐ ก.ค.) ว่าจะนำเรื่องราวสุดระทึกของ ๑๓ ชีวิตทีมหมูป่าไปสร้างเป็นภาพยนตร์
    อย่างไรก็ตาม อูร์ซัว เตือนว่าการเยียวยาสภาพจิตใจเด็กๆ จากประสบการณ์อันเลวร้ายที่อาจฝังใจพวกเขาไปตลอดชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และสำคัญกว่าการ “ขาย” เรื่องราวของพวกเขา
    “ถึงจะผ่านมาแล้ว ๘ ปี แต่ก็มีหลายอย่างที่พวกเรายังก้าวข้ามไปไม่ได้” อูร์ซัว กล่าว
    โฮเซ โอเฮดา หนึ่งในผู้ประสบภัยเหมืองชิลี ต้องถูกส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช 
    อูร์ซัว ยังเล่าถึงความรู้สึกขมขื่นที่ถูกนักกฎหมาย โปรดิวเซอร์ และคนกลุ่มอื่นๆ ดาหน้ากันเข้ามาหลอกลวงเพื่อหากำไรจากความทุกข์ของพวกเขา
    “พอได้ข้อมูลจากเราแล้ว พวกนั้นก็หายหน้าไปกันหมด” เขากล่าว
    อูร์ซัว ยอมรับว่า พวกเขาไม่ได้รับคำปรึกษาที่ดี และถูกหลอกว่าจะได้เงินเป็นล้านๆ ดอลลาร์หากยอมทำหนังสือ “สละสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาตลอดชีวิต” 
    อย่างไรก็ดี เซปุลเวดา เชื่อมั่นในทีมหมูป่าและโค้ชทั้ง ๑๓ คนว่า “มีความเข้มเข็ง แตกต่างไปจากพวกเรา”
    “ถ้าพวกเขาขยันฝึกฝนก็จะสามารถรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ดี ตราบใดที่ยังเกาะกลุ่มกันไว้” ...
    ฉะนั้นไม่ง่ายที่ ๑๓ หมูป่า จะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ หากตกอยู่ภายใต้สงครามการตลาด การหาผลประโยชน์
    น้ำในถ้ำที่ว่าเชี่ยว 
    สงครามผลประโยชน์นอกถ้ำอาจเชี่ยวกรากกว่า
    น้องไตตั้นเด็กสุด อายุแค่ ๑๑ ขวบ จะรับมือไหวหรือไม่ 
    หมูป่าพี่ๆ อายุก็ไม่เกิน ๑๖ เด็กๆ เหล่านี้จะเจอกับพายุแห่งผลประโยชน์ที่มีคนเสนอเข้ามา ทั้งจริง เท็จ หลอกลวง จะรับมือไหวหรือเปล่า
    และนั่นอาจทำให้เกิดสับสนว่าตัวเองมีสถานะเป็นผู้ประสบภัย หรือฮีโร่กันแน่ 
    สำหรับทีมหมูป่าแล้ว นอกถ้ำจึงอาจอันตรายกว่า! 
    แต่...ยังมีอะไรที่ยากกว่านี้หลายเท่ารออยู่ 
    เราจะถอดบทเรียนถ้ำหลวงเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาวได้อย่างไร 
    ในเมื่อการเมืองนั้น เต็มไปด้วยผลประโยชน์ 
    สังคมไทยจะปรองดองสมานฉันท์ ด้วยความรักความสามัคคีได้อย่างไร ในเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองสืบเนื่องมาจากผลประโยชน์ที่ขัดกัน 
    แล้วมีปัจจัยอะไรบ้าง...ที่ทำให้คนไทยทั้งชาติร่วมมือร่วมใจกันสร้างการเมืองด้วยความรักความสามัคคี 
    แค่คำถามนี้ ก็เห็นทางตัน! 
    บาดแผลความขัดแย้งในชาติ มันลึกเสียจนยากจะเยียวยา 
    แต่ใช่ว่าจะรักษาให้หายสนิทไม่ได้ 
    นอกจากเวลาแล้ว
    ความเข้าใจต่อสถานการณ์ของประชาชน จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น 
    แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ประชาชนเข้าใจไม่เหมือนกัน เพราะมีชุดข้อมูลที่แตกต่างกัน 
    ฉะนั้นการเรียนรู้ที่จะเข้าใจเรื่องเดียวกัน ด้วยกันนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง 
    เหมือนหลักปฏิบัติของการปฏิบัติงานของกองกำลังเฉพาะกิจร่วม ที่เขียนไว้หน้าถ้ำหลวง
    ...ให้ความเคารพ!!!
    พูดภาษามนุษย์
    การสื่อสาร ชัดเจน กระชับ ตรงประเด็น
    เคารพความแตกต่าง
    งดการแบ่งแยก
    ไม่มีแนวคิดใดเป็นแนวคิดโง่ๆ
    พวกเราเป็นทีมเดียวกัน...
    จะถอดบทเรียนให้สำเร็จ ข้อปฏิบัติ ๗ ข้อนี้คือใบเบิกทาง
    แล้วจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์.
                        ผักกาดหอม
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"