กิจกรรมในบ้านกาญจนาภิเษก


เพิ่มเพื่อน    

      ในบ้านกาญจนาภิเษกจะมีกิจกรรม Empower คือการประชุมกลุ่มครอบครัวเพื่อเพิ่มต้นทุนและเพิ่มพลังพ่อแม่ผู้ปกครองในการทำหน้าที่ฟื้นฟู เยียวยาลูกหลานร่วมกับบ้านกาญจนาภิเษก เจ้าหน้าที่จะแบ่งกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อพูดคุยในประเด็น “เมื่อลูกชายอายุครบ 18 ปี เราอยากให้เขาทำอะไรหรือเป็นอะไร” โดยใช้เวลา 15 นาที หลังจากนั้นให้แต่ละกลุ่มนำเสนอโดยมีเจ้าหน้าที่จับ Key word ขึ้นจอ ป้ามลชวนดูบันทึกคำตอบของพ่อแม่ผู้ปกครองบนจอ และถามกลับ 3-4 ประเด็น ให้พ่อแม่ผู้ปกครองฉุกคิด เริ่มจาก สิ่งที่ตอบมาใครทำได้กี่ข้อ? ตอนอายุ 18 ปี พ่อแม่ ผู้ปกครองทำอะไรได้บ้าง? ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองทำได้ดี ทำได้จริง ให้ถามกลับว่า ยุคนั้นโครงสร้างครอบครัว โครงสร้างสังคมเป็นเช่นใด? กรอบการอธิบายของป้ามลในช่วงนี้เน้นการเปลี่ยนแปลงของโลก ของสังคม เช่น กรณีหนังกลางแปลงในอดีตกับหนังบนฝ่ามือ (โทรศัพท์มือถือ) ในปัจจุบัน ฟิล์มม้วน (Fuji/kodak) หายไปจากโลกเลย เป็นการชี้ให้เห็นว่าระดับความเข้มข้นในการรับมือกับปัญหาของเด็กรุ่นนี้กับรุ่นพ่อแม่มีความแตกต่างกัน

      อีกกิจกรรมที่น่าสนใจ ป้ามลให้พ่อแม่ผู้ปกครอง และลูกชายนั่งรวมกัน โดยทุกบ้านมีโต๊ะญี่ปุ่นสำหรับเป็นพื้นที่ทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่แจกฟิวเจอร์บอร์ด “ปัจจัยผลักไสไล่ส่งลูกออกจากบ้าน : ปัจจัยดึงดูดนอกบ้าน” พร้อมชุดบัตรคำ 37 ใบ ให้ครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง และลูกชายศึกษาบัตรคำทั้ง 37 ใบ และวางในช่อง “ปัจจัยผลักไสไล่ส่งลูกออกจากบ้าน : ปัจจัยดึงดูดนอกบ้าน” หลังจากลูกชายของแต่ละครอบครัว “ตัดสินใจ” เลือกบัตรคำที่อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยเอาออกไปได้แล้วและบอกเล่าความคิดของตนต่อพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างมีเหตุผล มีความรู้สึก มีประสบการณ์ที่คิดว่า บัตรคำใบนั้นไม่ควรอยู่ในบ้านเพราะอะไร? และขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยเอามันออกไปจากครอบครัวให้เขาด้วย เพื่อการเป็น “ผู้รอด” ตลอดไป คำตอบที่ได้เป็นการสะท้อนปัญหาในบ้าน และเด็กได้ระบายความรู้สึกให้คนในบ้านได้รับทราบ เช่น ถ้าปาฏิหาริย์มีจริงผมอยากขอให้พ่อแม่เอาการ์ด เปรียบเทียบ ออกไป เพราะเวลาโดนเปรียบเทียบผมรู้สึกไม่มีค่าอะไรเลย อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การ์ดการใช้ ความรุนแรง เด็กตอบว่าผมไม่สามารถเอาคืนจากพ่อแม่ได้ แต่ผมจะสะสมไว้ เจอใครที่ใช้ได้ผมจะใส่ไม่ยั้ง ผมอยากเป็นผู้รอดไม่อยากเป็นระเบิดเวลาอีกต่อไป เด็กคนหนึ่งตอบว่าผมอยากเอาการ์ด พ่อแม่ทะเลาะกัน ออกไป ทุกครั้งที่ได้ยินพ่อแม่ทะเลาะกัน ผมอยากหายตัวได้ ผมต้องออกจากบ้านเพื่อหนีเสียงทะเลาะกัน หลังจากนั้นก็ติดใจจนไม่อยากกลับเข้าบ้านอีก กิจกรรมนี้สะท้อนความรู้สึกและแสดงให้เห็นว่า ถ้าเป้าหมายคือ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของลูกแต่ทำทุกอย่างเหมือนเดิม การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างไร? ว่างๆ ลองทำกิจกรรมนี้เล่นกับลูกๆ ดูนะคะ เราอาจจะเห็นกระจกที่สะท้อนพฤติกรรมและคำพูดที่เราใช้กับลูกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น มีเวลาเปิดใจรับฟัง ปรับความเข้าใจ ก่อนที่ตัวเราจะเป็นปัจจัยผลักไสให้ลูกออกไปพบเจอกับปัจจัยดึงดูดนอกบ้านที่น่ากลัว สุดท้ายของกิจกรรมนี้คือ การเขียนถึงสิ่งที่พ่อแม่ต้องการปรับตัวเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และทำให้บ้านกลับมามีความสุขอีกครั้ง ขอบคุณป้ามลอีกครั้งสำหรับวันดีๆ ในบ้านกาญจนาภิเษก.

 

        จิตติมา กุลประเสริฐรัตน์

        ([email protected])


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"