จวกปปช.ถ่วงสอบนาฬิกา เร่ง'อคส.-อตก.'ฟ้องแพ่ง


เพิ่มเพื่อน    

    "ต่อตระกูล" เรียกร้องร่วมกันประณามและกดดันกรรมการ ป.ป.ช. 2-3 คนที่มีอำนาจถ่วงเวลาสอบ "นาฬิกาป้อม" ทำให้เสื่อมเสียทั้งองค์กร ลั่นเราไม่พอใจ ด้าน "วิษณุ" เผยเร่ง อคส.-อ.ต.ก.  ฟ้องแพ่งทุจริตจำนำข้าว หวั่นอัยการทำคดีไม่ทันเสี่ยงหมดอายุความ กระทรวงพาณิชย์วอนตั้งกรรมการสอบเหมือนเงินทอนวัด โกงเงินคนจน
    นายต่อตระกูล ยมนาค ประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต  ในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กกรณีการดำเนินการสอบสวนปมนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีว่า ร่วมกันสนับสนุนบอกกล่าวคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าเราไม่พอใจที่ท่านถ่วงเวลาการสอบสวนเรื่องนาฬิกาบิ๊กป้อม คนเพียงไม่กี่คนที่มีตำแหน่งและมีอำนาจทำความเสื่อมเสีย ต่อ ป.ป.ช.ทั้งองค์กร 
    "เราต้องประณามเฉพาะคน 2-3 คนนี้ ป.ป.ช.ยังมีกรรมการ ป.ป.ช.และพนักงาน ป.ป.ช.ที่มีความรู้ ความสามารถ และความซื่อสัตย์อยู่อีกเป็นจำนวนมาก 10 กว่าปีที่ผมไปร่วมทำงานด้วยกับ ป.ป.ช.ในฐานะภาคเอกชน ผมได้รู้และได้สัมผัสด้วยตนเอง ยืนยันครับว่าคนดีมีมากกว่า เราต้องร่วมกันกดดันให้  ป.ป.ช.ส่วนน้อยนี้ต้องแยกออกมาแสดงตัวการรับผิดชอบให้ชัดเจน" นายต่อตระกูลระบุ
    ด้านนายเอกชัย หงส์กังวาน และนายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการ ป.ป.ช.เรื่องการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร โดยระบุว่า นักกฎหมายหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กำหนดให้ ป.ป.ช.มีอำนาจในการขอข้อมูล ไต่สวนหน่วยงานเอกชนเหล่านี้ รวมทั้ง ป.ป.ช.ยังมีอำนาจตรวจสอบการเสียภาษีของนาฬิกาเหล่านี้ด้วย ในกฎหมายมาตรา 103 ยังกำหนดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่รัฐรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย 
    ดังนั้นข้อมูลที่ว่า พล.อ.ประวิตรอ้างว่ายืมนาฬิกาหรูจำนวน 22 เรือนจากเพื่อนของเขาที่เสียชีวิตในปีที่ผ่านมา จึงถือเป็นข้อมูลที่เพียงพอต่อการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีนี้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวป.ป.ช.จึงไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะประวิงเวลาในการพิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้น และควรที่จะดำเนินคดีอาญาต่อ พล.อ.ประวิตรโดยเร็วเพื่อรักษาศรัทธาของประชาชน
    วันเดียวกันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีเร่งรัดให้องค์การคลังสินค้า  (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งต่อผู้กระทำผิดในโครงการรับจำนำข้าวว่า ตนเป็นคนเร่งรัดจริงเพราะเกรงปัญหาเรื่องอายุความ แม้อายุความจะไปขาดในเดือน  ก.ค.62 และ ต.ค.62 แต่ที่เราเร่งรัดเพราะอัยการระบุว่าคดีความมีจำนวนมาก ต่อให้ทำทันอายุความแต่จะมาหมักหมมที่อัยการ ซึ่งอาจทำให้ทำไม่ทันและขาดอายุความ จึงขีดเส้นให้ส่งมาภายในเดือน ธ.ค.61  เพราะอัยการต้องใช้เวลาในการแยกสำนวน ดูว่าจะฟ้องใครหรือไม่ฟ้องใคร ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6 เดือน  ส่วนที่มีข่าวว่าถ้าฟ้องไม่ทันอายุความจะเสียหายถึงแสนล้านบาทนั้น ตนไม่ทราบมูลค่าความเสียหาย
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมามีการฟ้องผิดสำนวนจริงหรือไม่ รองนายกฯ ยอมรับว่าที่ผ่านมามีการฟ้องหลายแบบ ฟ้องผิดจังหวัด ผิดที่ ผิดจำเลย ซึ่งเรื่องนี้มีการประชุมร่วมกันหลายครั้งแล้ว ยืนยันว่ายังไม่มีคดีใดขาดอายุความ
     นายวิษณุกล่าวถึงกรณีศาลฎีกาตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษชนะคดีสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการว่า ตนยังไม่ทราบว่าเขาจะดำเนินการอย่างไรต่อ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้มาพูดคุยกับตน และไม่จำเป็นต้องมาพูดคุย โดยจะดำเนินการอย่างไรแล้วแต่เขา ส่วนคดีนี้ที่เป็นการชนะคือเรื่องการฉ้อโกงสัญญา กรมควบคุมมลพิษสามารถไปฟ้องทางแพ่งได้ 
    แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง หอมแดง ฯลฯ ซึ่งเป็นโครงการตั้งแต่ปี 2542/43 ที่นอกเหนือจากโครงการรับจำนำข้าวในช่วงปี 2554/55 ปี 2555/56 และปี 2556/57 มากกว่า 1,000 คดี มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยบางส่วนได้หมดอายุความฟ้องร้องทางแพ่งแล้ว เนื่องจาก อคส.ไม่ได้ดำเนินการสั่งฟ้องกับคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าของโกดังกลาง ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) และโรงสีที่เกี่ยวข้อง
    ทั้งนี้ สาเหตุที่ อคส.ส่งฟ้องทางแพ่งไม่ทันกับระยะเวลาที่กำหนด โดยส่วนใหญ่เป็นการแทรกแซงราคาข้าวเปลือก เนื่องจากเจ้าหน้าที่รับผิดชอบบางรายไม่ได้เข้มงวดดำเนินการหรือปล่อยปละละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และบางรายอาจได้รับผลประโยชน์หรือเรียกว่าเงินทอนข้าวเปลือก จนส่งผลให้ภาครัฐได้รับความเสียหายอย่างมาก ดังนั้นต้องการให้นายวิษณุเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหมือนกับการตรวจสอบทุจริตเงินทอนวัดและทุจริตโกงเงินคนจน
    "คดีความที่ทยอยหมดอายุความทางแพ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรตั้งแต่ปี  2542/43 - ปี 2548/49 จนภาครัฐได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เบื้องต้นพบว่าหลายๆ คดีเจ้าหน้าที่ไม่ได้รายงานให้ผู้ใหญ่ได้รับทราบ ขณะที่บางคดีอัยการและตำรวจสั่งไม่ฟ้อง แต่เจ้าหน้าที่ อคส.บางคนไม่ดำเนินการฟ้องดำเนินคดี เพราะตามกฎหมายผู้ได้รับความเสียหายซึ่งหมายถึง อคส.สามารถฟ้องร้องเองได้ด้วย ดังนั้นต้องให้ผู้มีอำนาจดำเนินการตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539" แหล่งข่าวกล่าว   
    อย่างไรก็ตาม จากการที่คดีหมดอายุความไปจำนวนมาก ทำให้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการและมีปัญหาการส่งข้าวไม่ครบตามสัญญา ข้าวได้รับความเสียหาย รวมถึงกลุ่มบริษัทเซอร์เวเยอร์ที่เกี่ยวข้องได้ส่งหนังสือมายัง อคส.เพื่อยืนยันว่าจะไม่ชดเชยความเสียหายตามสัญญา โดยหนึ่งเหตุผลที่บริษัทและโรงสีอ้างคือ เกิน 10 ปีหรือหมดอายุความทางเพ่ง เช่นที่จังหวัดพิจิตร, ชัยนาท, กำแพงเพชร, นครสวรรค์  และจังหวัดอื่นๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีการทำหนังสือมาในช่วงต้นปี 2561
    นอกจากนี้ บางกรณีที่ อคส.ได้ดำเนินคดีไป แต่พบว่าบางบริษัทยอมเข้ามาทำสัญญาเพื่อชดเชยความเสียหายตามที่ภาครัฐเรียกร้อง เช่นมูลค่าความเสียหาย 15 ล้านบาท แต่บริษัทเข้ามาจ่ายเพียงแค่  4-5 ล้านบาท จากนั้นก็ได้มีการถอนแจ้งความดำเนินคดี เป็นต้น
    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่ามี 30 คดีที่อัยการไม่ส่งฟ้องดำเนินคดี ซึ่งได้มอบหมายให้ อคส.ทำสำนวนใหม่เพื่อดำเนินการส่งฟ้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายใหม่ด้วย ส่วนโครงการก่อนปี 2554 นั้น หากพบว่าเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบมีการละเลยปฏิบัติหน้าที่ก็จะดำเนินตรวจสอบการกระทำความผิดต่อไป
    "กระทรวงพาณิชย์จะทำเรื่องนี้ให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด และทุกคดีที่มองว่าไม่โปร่งใสก็จะเร่งรัดส่งดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องทางเสียหายทางแพ่งและอาญาทุกคดี ซึ่งได้ให้ผู้อำนวยการ อคส.รายงานความคืบหน้าการดำเนินการทุกๆ 15 วันด้วย" นายสนธิรัตน์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"