ยื้อตั้งอนุกก.ไต่สวน 'นาฬิกาหรู' หวั่นเพิ่มแรงกดดัน ‘บิ๊กป้อม’?


เพิ่มเพื่อน    

        หมดเรื่อง 13 เยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่ติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย และกลับออกมาสู่อ้อมอกผู้ปกครองอย่างปลอดภัย

        บรรยากาศภายในประเทศกลับสู่สภาวะปกติ สถานการณ์การเมืองที่ต้องหลบฉากให้ “ทีมหมูป่า” ถึงเวลากลับมาระอุเหมือนเดิม

        ประเดิมความ “อัดอั้น” ด้วยประเด็น “นาฬิกาหรู” 22 เรือนของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อุตส่าห์เอาไปแถลงความคืบหน้าตอนที่สถานการณ์ที่ถ้ำหลวงชุลมุน คงไม่มีใครมาสนใจ

        แต่ที่ไหนได้ พวกที่ตามประเด็น “นาฬิกาหรู” เป็นประเภทจำแม่น พอกระแส “หมูป่า” เริ่มซา หยิบประเด็นมาขย่มใส่พี่ใหญ่บูรพยาพยัคฆ์ทันที

ลำพัง “เอกชัย หงส์กังวาน” และกลุ่มฝั่งตรงข้าม “ขาประจำ” ยังพอทำเนา แต่หนนี้คนที่ออกมาจี้เองเป็นประเภท “เสียงดัง” ฟังมีน้ำหนัก

        อย่างหน่วยงานต้านโกงภาคประชาชนในนาม “องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)” ที่เป็นกัลยาณมิตรเรื่องการทำงานด้านนี้มากับสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมไปถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการส่งคนเข้าไปเป็นอนุกรรมการในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ก่อนหน้านี้ ออกมา “ทวงถาม” ด้วยตัวเอง

        มันเลยเป็นเรื่องที่กลับมาอยู่ในความสนใจของประชาชนอีกครั้ง โดยเฉพาะข้อสังเกตที่ว่า “ป.ป.ช.” พยายามยื้อเรื่องนาฬิกาหรูของ “บิ๊กป้อม” เองหรือไม่

เพราะข้อติดขัดที่ วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุคือ บริษัทตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาในประเทศไทยไม่ยอมให้ข้อมูล จึงต้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ประสานขอข้อมูลบริษัทแม่ที่ผลิตในต่างประเทศ เลยทำให้ไม่สามารถพิจารณาตั้งอนุกรรมการไต่สวนได้

        เหตุผลของ ป.ป.ช.นี้เอง ทำให้เรื่องยิ่งบานปลายหนักกว่าเดิม เพราะสิ่งที่ ป.ป.ช.อ้างกลับเป็นอำนาจที่เขียนอยู่ในบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

        เหมือนที่นาย “วิญญัติ ชาติมนตรี” เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ให้ข้อสังเกตเรื่อง “อำนาจ” ตรงนี้เอาไว้

ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 25 (3), 66 ประกอบมาตรา 43 มาตรา 118 ที่ให้ ป.ป.ช.มีหนังสือขอให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานเอกชนดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติหน้าที่ การไต่สวนข้อเท็จจริง หรือการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

        หรือการยกคำอธิบายว่า กฎหมายไทยย่อมให้ใช้บังคับแก่การกระทําหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย รัฐสามารถอ้างอํานาจเหนือบุคคลผู้ถือสัญชาติของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐ อ้างอํานาจคุ้มครองป้องกันผลประโยชน์สําคัญของรัฐ เพราะผู้แทนจำหน่ายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและกฎหมายไทย

        ดังนั้น ที่ว่าเอกชนในประเทศไทยไม่ให้ข้อมูลตรงนี้ เหตุใด ป.ป.ช.จึงไม่อาศัย “อำนาจ” ดังกล่าวเพื่อขอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบ

สอดคล้องกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงใช้เวลาในการพิจารณาคดีนาน ทั้งที่คดีทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

เหนือสิ่งอื่นใด ฝ่ายต่างๆ ที่ออกมา ต่างสงสัยว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้น แท้จริงแล้วเป็นเพราะความตั้งใจที่จะ “ยื้อ” ออกไปหรือไม่มากกว่า

        เพราะที่ผ่านมา ป.ป.ช.แทบไม่เคยใช้เวลานานขนาดนี้ในชั้นของ “การแสวงหาข้อเท็จจริง” แต่นี่ล่วงเลยมาจะเป็นปีแล้ว แทบไม่ได้ขยับเขยื้อนไปจากวันแรกเสียเท่าไร

        หรือเพราะการตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง จะส่งผลกระทบต่อตัว “บิ๊กป้อม” เนื่องจากมันจะส่งผลให้สถานะของพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์กลายเป็น “ผู้ถูกกล่าวหา” ทันทีตามกฎหมาย

        ถึงแม้กฎหมายจะถือว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ และยังไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ผลของการถูกตั้งอนุกรรมการไต่สวนสามารถกดดันรัฐบาลได้เพิ่มขึ้นกว่าชั้นนี้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะเรื่องแรงกดดันให้ “บิ๊กป้อม” หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าผลสอบจะออกมา

        ป.ป.ช.อาจต้องมีคำอธิบายมากกว่าการบอกว่า “รอข้อมูล”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"