สธ.โบ้ยคุมสื่อนอกไม่ได้! เผยฝรั่งชงทำซีรีส์หมูป่า


เพิ่มเพื่อน    

    "วิษณุ" เตรียมชง ครม. 24 ก.ค.นี้ ตั้งคกก.เฉพาะกิจดูแลสิทธิประโยชน์ "13 หมูป่า-หน่วยซีล-จนท.เกี่ยวข้อง" เวลาถูกสัมภาษณ์หรือโดนจับเซ็นสัญญา สั่ง "ผู้ว่าฯ เชียงราย" คุมเข้มสื่อนอกละเมิดข้อตกลง หวั่นผิด กม.คุ้มครองเด็ก แย้มมีต่างประเทศขอทำซีรีส์ฟอร์มยักษ์ 5 ตอนจบฉายทั่วโลก "พ่อน้องไตตั้น" แจงคุยเอบีซีนิวส์แค่สั้นๆ เหตุ "เจมส์ ลองแมน" ขอเข้าอำลาก่อนกลับอังกฤษ "พี่ๆ ซีล" มอบหมวก 3 ใบให้น้องๆ
    เมื่อวันศุกร์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีต่างประเทศสนใจถ่ายภาพยนตร์เกี่ยวกับการช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมีว่า การประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้พิจารณากรณีที่ต่างประเทศจะเข้ามาถ่ายหนังเกี่ยวกับการช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมีในไทย โดยคณะกรรมการฯ จะพิจารณาอนุญาตจากบทภาพยนตร์ ผลกระทบต่อชื่อเสียง หรือทรัพยากรของประเทศ และในหลายด้าน 
    นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานมีบริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศอย่างน้อย 5 บริษัท สนใจมาถ่ายทำหนังในประเทศไทย แต่ยังไม่เห็นคำขออย่างเป็นทางการ ซึ่งการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับ 13 ชีวิตทีมหมูป่าฯ ต้องเข้าใจก่อนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่มีลิขสิทธิ์ ใครจะทำอะไรก็ทำได้ แต่จะยุ่งตรงที่เมื่อจะถ่ายเป็นหนัง ถ้าคุณจะเข้ามาถ่ายทำ ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ 
    "วันนี้รู้แค่ว่าจะมีการขอมา แต่ยังไม่เห็นมีมาตรงๆ  เราจึงหารือกันว่าเรื่องนี้อาจใหญ่เกินกว่าคณะกรรมการระดับชาติดูแล เพราะเวลาเขามาอาจไม่ได้อ้างว่ามาถ่ายหนัง แต่อาจอ้างว่ามาสัมภาษณ์เพื่อเขียนหนังสือ อย่างนี้ก็ไม่ใช่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ จึงคิดว่าจะนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 ก.ค.นี้ เพื่อตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเล็กขึ้นมา 1 ชุด ดูแลและคุ้มครองเด็ก หน่วยซีล และเจ้าหน้าที่ ที่อาจถูกรบกวนในเวลาถูกสัมภาษณ์หรือถูกจับเซ็นสัญญา ซึ่งเรากลัวตรงนี้มาก เพราะเมื่อเซ็นสัญญาแล้ว คนคนนั้นอาจไม่สามารถไปทำอะไรอย่างอื่นได้ จึงต้องอาศัยผู้ที่รู้กฎหมายเข้าไปช่วย" นายวิษณุกล่าว
    รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีมีสื่อต่างประเทศไปสัมภาษณ์ทีมหมูป่าฯ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า  เรื่องนี้มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็กและกฎหมายคุ้มครองข่าวสารอยู่แล้ว แต่อาจเป็นความสมัครใจของสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไปดูแล ตักเตือนไม่ให้มีการล่วงล้ำเด็ก หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมากนักในเวลานี้ เพราะอยู่ในช่วงของการรักษาสภาพจิตใจ เมื่อถึงเวลาหนึ่งอาจทำได้ การจับเซ็นสัญญารับเงินถือเป็นสิทธิ์ของเด็ก แต่รัฐบาลจะเข้าไปให้คำแนะนำ คล้ายเป็นผู้จัดการ แต่ไม่หวังเอาเปอร์เซ็นต์หรือผลประโยชน์ใดๆ 
    "รู้สึกเป็นห่วงหลังสื่อต่างชาติไปสัมภาษณ์สมาชิกทีมหมูป่าฯ กลัวว่าจะทำให้สื่ออื่นๆ ทำตาม ซึ่งทาง พม.และนายอำเภอต้องเข้าไปดูแล โดยผมได้โทรศัพท์ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อกำชับให้ช่วยดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะแม้สื่อไทยจะอยู่ในระเบียบ แต่สื่อต่างชาติกลับไม่ทราบว่ามีข้อห้ามหรือเตือนอะไรบ้าง เขาอาจไม่รู้พิษสงของกฎหมายคุ้มครองเด็ก เดี๋ยวจะเกิดปัญหา แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม แต่ถ้าผิดสามารถดำเนินคดีกับต่างชาติได้" รองนายกฯ กล่าว
    ถามว่าเหตุใดประเทศไทยไม่ถ่ายทำภาพยนตร์เองเลย นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องการถ่ายหนังเราคุยกันทำไมประเทศไทยไม่สร้างเอง แต่คิดว่าจะมีปัญหาเรื่องทุน ส่วนเทคนิคเราเก่งอยู่แล้ว ก็อยากจะให้คณะกรรมการชุดใหม่นี้ไปดู รวมทั้งให้มีหน้าที่อนุญาตการถ่ายทำ 
    "มีต่างชาติติดต่อขอทำภาพยนตร์ซีรีส์ 5 ตอนใหญ่ๆ แล้ว เพื่อฉายไปทั่วโลก ซึ่งต้องพิจารณาอย่างละเอียด เช่น จะนำเด็ก ซีล หมอภาคย์ มาปรากฏตัวด้วยหรือไม่ อย่างนี้ใครดูแลตัวเองได้ก็ไม่เป็นไร แต่ใครที่ดูแลตัวเองไม่ได้ เช่น เด็กและผู้ปกครอง คงต้องมีที่ปรึกษาเข้าไปแนะนำ ซึ่งเราห่วงหลายเรื่อง ทั้งความเป็นส่วนตัว ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ความมั่นคง ลิขสิทธิ์การจับเด็กเซ็นสัญญา” นายวิษณุกล่าว
    ด้านนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง สื่อต่างประเทศปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนผู้ประสบภัยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็น เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและไม่ควรให้อภัย
    นายธวัชชัยระบุตอนหนึ่งว่า กระบวนการสอบถามหรือสัมภาษณ์ของสื่อมวลชนหรือบุคคลอื่นใดกับเด็กที่ประสบภัยพิบัติที่ผ่านประสบการณ์ที่ตกอยู่ในภาวะทุกข์ยาก ตื่นกลัวสุดขีดนั้น แม้ไม่มีกระบวนการหรือกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนเฉกเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมก็ตาม แต่ก็ควรจะเทียบเคียงเอาวิธีกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนไปใช้ได้เท่าที่จำเป็น ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดีและน่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง
    "น่าเสียดายที่สื่อต่างประเทศที่เราคิดและเข้าใจว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และกระบวนการปกป้องเด็กและเยาวชนเป็นอย่างดีแล้ว กลับมีมาตรฐานต่ำกว่าที่คิด เสมือนขาดสามัญสำนึกซึ่งมนุษย์ธรรมดาพึงระลึกได้ รวมขาดความรับผิดชอบได้เช่นนี้ ทั้งที่รู้ว่าประเทศไทยได้วางระบบการปกป้องดูแลและคุ้มครองเด็กผู้ประสบภัยกลุ่มนี้ไว้อย่างไร" รองปลัดกระทรวงยุติธรรมระบุ
    น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เรื่องสื่อสัมภาษณ์ทีมหมูป่าฯ คงไม่สามารถห้ามได้ คงทำได้แต่ชี้แจงทำความเข้าใจให้ผู้ปกครองและสื่อตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมา ในเรื่องของบาดแผลทางจิตใจที่อาจอยู่ได้นานถึง 4-6 สัปดาห์ 
    "เราไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติระหว่างสื่อไทยและต่างชาติ ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจกับสื่อต่างชาติถึงเหตุการณ์ที่เกิดภาพหลุดให้สัมภาษณ์  ขณะเดียวกันก็ส่งทีมเจ้าหน้าที่ พม.ตามประกบรายครอบครัวเพื่อทำความเข้าใจ เพราะสิ่งที่ต้องการขณะนี้คือให้น้องๆ ได้พักจริงๆ และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งก่อนออกจากโรงพยาบาลก็ได้กำชับครอบครัวเด็ก  แต่เข้าใจว่าบางครั้งความเป็นสื่อต่างประเทศ คนไทยอาจมองว่าดี และคิดว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศ" อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
    ขณะที่นายณัฐวุฒิ วิบูลย์รุ่งเรือง พ่อของน้องไตตั้น หนึ่งในทีมหมูป่าฯ ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ชี้แจงถึงการให้น้องไตตั้นสัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่า ประเด็นที่เกิดขึ้น เพราะนายเจมส์ ลองแมน ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษของเอบีซีนิวส์ นำกระเช้ามาขอเข้าเยี่ยมน้องไตตั้นเพื่ออำลาเท่านั้น ก่อนจะเดินทางกลับประเทศ จึงมีการนั่งพูดคุยกันช่วงระยะเวลาสั้นๆ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันเฟซบุ๊กสื่อมวลชนต่างโพสต์ข้อความถึงเรื่องการปล่อยให้สื่อต่างชาติสัมภาษณ์น้องๆ ทีมหมูป่าฯ ทั้งที่มีการห้ามสื่อไทย โดยเฟซบุ๊ก Thepchai Yong ของนายเทพชัย แซ่หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตอนหนึ่งระบุ "วันนี้ผมถูกหลายสื่อตั้งคำถามต่อบทบาทของสื่อในการรายงานข่าวน้องๆ หมูป่า โดยเฉพาะหลังจากสื่อฝรั่งแอบไปสัมภาษณ์น้องบางคนจนเป็นประเด็นขึ้นมา ส่วนตัวผมมีความเชื่อว่าสื่อต้องมีบทบาทในการช่วยบำบัดจิตใจและความรู้สึกของน้องๆ ที่ผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายนี้มาด้วย ในสถานการณ์เช่นนี้ คนทำสื่อก็คือผู้ใหญ่ ที่ไม่ใช่มุ่งแต่จะเอาชนะกันในการทำข่าวแต่อย่างเดียว แต่ต้องมีบทบาทในการช่วยให้เด็กๆ เหล่านี้คืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด"
    นายเทพชัยระบุว่า "การที่สื่อคุยกับเด็กแต่ละครั้งมีผลอย่างแน่นอนต่อความรู้สึกและสภาพจิตใจของเด็ก ผมเชื่อว่าการตั้งคำถามที่ดี คำถามที่ให้กำลังใจ และการสร้างบรรยากาศการพูดคุยที่ดี จะมีส่วนในการช่วยบำบัดความรู้สึกของน้องๆ ได้ ไม่มีใครต้องการเห็นน้องๆ ถูกซักหรือถูกกดดันให้ต้องรื้อฟื้นความทรงจำอันเลวร้าย แต่ถูกแล้วครับที่แพทย์และนักจิตวิทยาเตือนให้สื่อห่างๆ น้องเหล่านี้สักระยะหนึ่ง เพราะผมเชื่อว่าถึงแม้สื่อจะเข้าถึงตัวน้องๆ ได้ในเวลานี้ ก็คงไม่มีอะไรใหม่ที่จะเล่าอีกแล้วหลังจากการแถลงข่าววันนั้น และจะยิ่งแย่ลงไปอีกถ้าน้องๆ ต้องตอบคำถามในเรื่องเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีก" 
    วันเดียวกัน ที่วัดพระธาตุดอยเวา อ.แม่สาย จ.เชียงราย นายเอกพล จันทะวงษ์ หรือโค้ชเอก ได้นัดหมายเจ้าหน้าที่จากกรมประชาสัมพันธ์ เป็นตัวแทนของทหารหน่วยปฏิบัติการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล จำนวน 3 นาย ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันที่เนินนมสาว ภายในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ให้นำหมวกของเจ้าหน้าที่หน่วยซีล 3 นายไปมอบแก่เด็กๆ ทีมหมูป่าที่เคยบอกบนเวทีแถลงข่าว เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่าเมื่อโตขึ้นอยากเป็นหน่วยชีล
    ทั้งนี้ หมวกที่หน่วยซีลนำมามอบให้เป็นหมวกสีน้ำเงินที่ใส่บนเวทีแถลงข่าว โดยจะมอบให้นายพรชัย คำหลวง หรือน้องตี๋ อายุ 16 ปี และ ด.ช.ชนินทร์ วิบูลย์รุ่งเรือง หรือน้องไตตั้น อายุ 11 ขวบ คนละใบ แต่ใบสุดท้ายให้จับสลากกันเพื่อให้ได้รับหมวกที่เหลือเพราะมีเด็กๆ ที่บอกว่าอยากจะเป็นหน่วยซีลมีมากกว่า 3 คน ซึ่งภายหลังจากที่โค้ชเอกรับมอบหมวกแล้ว ได้นำไปมอบให้เด็กๆ ตามที่ได้รับแจ้ง รวมทั้งนัดกันจับสลากภายหลังต่อไป
    มีรายงานว่า สำหรับกำหนดการบวชของเด็กๆ ทีมหมูป่าทั้ง 13 คน สำนักงานพระพุทธศาสนา จ.เชียงราย แจ้งว่า ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดวันและเวลาอย่างเป็นทางการ โดยทาง จ.เชียงรายได้มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมา 1 ชุด โดยมีนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วยคณะสงฆ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักพระพุทธศาสนา จ.เชียงราย เป็นฝ่ายเลขานุการ
    "ส่วนกรณีของ ด.ช.อดุลย์ สามอ่อน อายุ 14 ปี ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นั้น มีกำหนดแยกไปประกอบพิธีที่โบสถ์ทางศาสนาคริสต์ ที่บ้านดอยงาม ต.เวียงพางคำ ในวันอาทิตย์ที่ 22 ก.ค.นี้" แหล่งข่าวระบุ
    นายประพันธ์ คำจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา จ.เชียงราย กล่าวว่า ในวันที่ 22 ก.ค.เวลา 14.00 น. จะมีการประชุมเรื่องการบวชของน้องๆ ที่ห้องประชุมโรงเรียนมานิตวิทยา ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย เบื้องต้นก็กำหนดร่างๆ ไว้ก่อนว่าจะจัดพิธีบวชให้เด็กๆ ในวันที่ 25 ก.ค.2561 ณ วัดพระธาตุดอยตุง ส่วนการโกนผมในวันที่ 24 ก.ค.นั้น ไม่มีพิธีการใดๆ  โดยจัดพิธีบวชก็จะจัดพิธีรับขวัญนาคบริเวณพระอุโบสถวัดพระธาตุดอยตุง จากนั้นเดินเท้าแห่ขึ้นไปยังพระธาตุดอยตุงเพื่อประกอบพิธีบวชกันตามหลักพระพุทธศาสนาต่อไป
    วันเดียวกัน พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ได้มีสารประกาศเกียรติคุณให้แก่ข้าราชการทหารเรือ ที่ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย โดยมีใจความสรุปว่า จากเหตุการณ์ที่มีเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีจำนวน 13 คน ประสบภัยติดอยู่ในถ้ำหลวงฯ ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.2561 กำลังพลของหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ  กองเรือยุทธการ นักทำลายใต้น้ำจู่โจมทั้ง 127 นาย แพทย์ และเจ้าหน้าที่ 32 นาย ได้แสดงขีดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ระดมกำลังเข้าถึงพื้นที่ภายในถ้ำ ผ่านพื้นที่แคบ น้ำขุ่นด้วยโคลน ซึ่งลึกและไกลเข้าไปในถ้ำกว่า 5 กิโลเมตร ท่ามกลางความหวังของคนไทยทั้งประเทศและชาวต่างชาติที่ร่วมกันส่งกำลังใจ ท่านได้ใช้กำลังใจและความสามารถทั้งหมดที่มี ด้วยความกล้าหาญและเสียสละในการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร จนสามารถพาเยาวชนทั้งหมดออกจากถ้ำได้ในวันที่ 10 ก.ค.2561 รวมเวลาปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลา 18 วัน อีกทั้งยังได้ส่งกำลังพลไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือและค้นหานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ประสบภัยเรือฟีนิกซ์จมในทะเลที่ จ.ภูเก็ต 
    “เป็นการปฏิบัติหน้าที่ทั้งภาคเหนือและภาคใต้ในยามที่ประชาชนประสบความทุกข์และเดือดร้อนอย่างแท้จริง ในปฏิบัติการช่วยเหลือเยาวชนทีมหมูป่าฯ เราได้สูญเสีย น.ต.สมาน กุนัน นักเรียนจ่าทหารเรือรุ่นที่ 42 อดีตนักทำลายใต้น้ำจู่โจมของกองทัพเรือ ซึ่งได้เสียสละความสุขของตนเองมาร่วมภารกิจที่เสี่ยงอันตรายจนถึงแก่ชีวิตอย่างกล้าหาญ การกลับมาร่วมภารกิจกองทัพเรือของ น.ต.สมาน บ่งบอกถึงเลือดความเป็นทหารเรือที่อยู่ในกาย”
    ประกาศเกียรติคุณระบุว่า ขอสดุดีในความเสียสละอันยิ่งใหญ่แม้ชีวิตอันมีค่า อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยจิตใจอันประเสริฐ และขอประกาศเกียรติคุณหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ, น.อ.อนันท์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 นักทำลายใต้น้ำจู่โจมทุกนาย รวมถึงผู้สนับสนุนหน้าที่ในภารกิจทั้งหมด ในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ได้ทำหน้าที่สุดความสามารถอย่างผู้ปิดทองหลังพระ ไม่แสดงตัว ไม่ต้องการคำสรรเสริญใด แต่ความเสียสละของท่านทั้งหลาย ได้เป็นตัวแทนของทหารเรือบอกกล่าวให้ประชาชนทราบถึงความจริงใจและความตั้งใจจริงในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน ความแข็งแกร่งของท่านมิได้อยู่เพียงแต่ในกาย แต่อยู่ที่จิตใจ กองทัพเรือภาคภูมิใจ ให้หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือปลาบปลื้มใจ ที่มีกำลังพลที่มีคุณค่า กล้าหาญ เสียสละ และมีจิตใจที่ดีงาม จึงขอจารึกไว้เพื่อเป็นประวัติศาสตร์แห่งราชนาวีสืบไป
    ที่ขัวศิลปะ บ้านขัวแคร่ ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย ซึ่งศิลปินชาวเชียงราย นำโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย และอาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ ได้ร่วมกันวาดภาพ THE HEROES ที่เล่าเหตุการณ์ช่วยเหลือทีมหมูป่าฯ ทั้ง 13 คน พบว่าล่าสุดการแก้ไขภาพวาดได้ดำเนินการเป็นวันที่ 8 และคืบหน้าเกือบ 99% มีการแก้ไขเพิ่มเติมภาพโดยลบบางส่วนที่ไม่ใช่เหตุการณ์และเพิ่มเติมเหตุการณ์จริงลงไปในภาพ ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"