'วิรไท'ชี้4ปัญหา เหลื่อมล้ำ-ทุจริต หนุนการเงินผู้นำ


เพิ่มเพื่อน    

     "ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ" ชี้ไทยละเลย 4 ปัญหาสำคัญ "ความเหลื่อมล้ำ-ผลิตภาพแรงงานลดลง-สิ่งแวดล้อม-คอร์รัปชัน" หนุนภาคการเงินเป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม แนะเดินหน้าธุรกิจบนหลักคิดเรื่องความยั่งยืน เชื่อช่วยแก้ปัญหาส่วนรวมพาเดินหน้าสู่สังคมที่ดีขึ้น
     นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน "Bangkok  Sustainable Banking Forum 2018" ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาที่ถือเป็นความท้าทาย 4 ด้านสำคัญ ที่ทำให้ต้องฉุกคิดว่าได้มีการปล่อยให้ปัญหาเกิดมาจนถึงจุดนี้ได้อย่างไร ได้แก่ 
    1.ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แม้ว่าจะเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและกระจายตัวดีขึ้น และภาครัฐเองก็มีมาตรการหลายเรื่องเพื่อช่วยเหลือดูแลผู้มีรายได้น้อย แต่ไทยยังคงติดอันดับต้นๆ ของโลกในเรื่องความเหลื่อมล้ำ คนรวยที่สุด 1% ของประเทศเป็นเจ้าของทรัพย์สินมากกว่าคนอีกครึ่งของทั้งประเทศรวมกัน
      2.ปัญหาผลิตภาพแรงงานที่ลดลง จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะที่ผ่านมานโยบายส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตในระยะสั้น มากกว่าการมุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว รวมทั้งระบบการศึกษาของไทยไม่ช่วยยกระดับทักษะความสามารถของคนไทยให้มีผลิตภาพสูงขึ้น 3.ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยขาดการแก้ปัญหาและดูแลระบบนิเวศอย่างเหมาะสม
      4.ปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งประเทศไม่ให้ก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว การติดสินบนและการเอื้อพวกพ้องเป็นต้นทุนแฝงที่ทำให้ต้นทุนการดำเนินชีวิตของทุกคนแพงขึ้น การสร้างความบิดเบือนให้ระบบเศรษฐกิจ นโยบายที่มุ่งหวังเพียงผลทางการเมือง หรือมุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัวโดยขาดความรับผิดชอบจะสร้างภาระให้คนในช่วงอายุต่อไป ทำให้คนไทยในอนาคตขาดทรัพยากรที่จำเป็นต่อการพัฒนาและดำรงชีพ แม้ว่าจะมีการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น
       "ภาคการเงินเองก็มีพฤติกรรมหลายอย่างที่เข้าข่ายการฉ้อฉลคอร์รัปชัน เช่น การใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตัว การปั่นหุ้น การฟอกเงิน หรือการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้แก่ลูกค้าโดยไม่ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลในภาคการเงิน รวมทั้ง ธปท.ต้องยกระดับการดูแลด้านธรรมาภิบาลและจรรยาบรรณของกรรมการและผู้บริหารสถาบันการเงิน และการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม เหล่านี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง" นายวิรไทกล่าว
        เขากล่าวอีกว่า ภาคการเงินการธนาคารมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมในวงกว้าง โดยการนำหลักคิดเรื่องความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในหลายมิติ เช่น แนวคิดเรื่องความยั่งยืนและการมองไกลอย่างรอบด้าน จะช่วยให้สถาบันการเงินเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว  รวมทั้งการบริหารธุรกิจบนหลักความยั่งยืนจะดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมงานได้ดีกว่า และจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้สถาบันการเงินเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้น โดยการนำหลักคิดเรื่องความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในภาคการเงินการธนาคาร จะช่วยแก้ปัญหาส่วนรวมและนำพาไปสู่สังคมที่ดีขึ้น รวมถึงจะทำให้เกิดประโยชน์แก่สถาบันการเงินที่นำหลักคิดนี้มาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจในหลายมิติด้วย
    "ครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพิจารณาปล่อยสินเชื่อโดยพิจารณาถึงความยั่งยืนเป็นหลัก จากก่อนหน้านี้หลายสถาบันการเงินจะมีเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อที่แตกต่างกันออกไป โดยเรื่องการพิจารณาสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนนี้ต้องเริ่มต้นที่คณะกรรมการสถาบันการเงิน ต้องพิจารณาถึงความสำคัญว่าการปล่อยสินเชื่อที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ดีต่อสังคม กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน อาจส่งผลถึงเครดิตของสถาบันการเงินด้วย ตรงนี้ถือเป็นโจทย์ที่ต้องเริ่ม ซึ่งเชื่อว่าคณะกรรมการสถาบันการเงินทั้งหมดก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน" นายวิรไทกล่าว
    นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เห็นด้วยหาก ธปท.จะมีการประเมินปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ หลังจากที่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัวได้สูงถึง 4.8% ทำให้หลายหน่วยงานมีการปรับเพิ่มอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
      "เป็นเหตุผลที่ดีและถึงเวลาที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะบริบททางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ช่วยเสริมให้การเติบโตทำได้ดีขึ้น ทั้งจากภาคส่งออก การท่องเที่ยว ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกได้ผ่านช่วงขาขึ้น หลังจากที่หลายประเทศได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง 2 ปี และตอนนี้ทิศทางดอกเบี้ยตลาดโลกเข้าสู่ช่วงขาลงแล้ว ทำให้มองว่าเงื่อนไขในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย หรืออัตราดอกเบี้ยต่ำในการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจำเป็นน้อยลง ดังนั้น ธปท.จึงควรเริ่มทบทวนการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรองรับแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต" นายบัณฑิตกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"