จัดเวทีชำแหละ 'กม.ปราบโกง' ยักษ์ไร้กระบอง


เพิ่มเพื่อน    

    องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ อยากเห็นกฎหมายปราบโกงฉบับใหม่เป็นยักษ์ถือกระบอง ลากคนระดับสูงลงโทษให้ได้ “เจษฎ์” รับหากกรรมการ ป.ป.ช.เป็นพวกกับผู้มีอำนาจรัฐ เกิดปัญหาแน่ ขณะที่รองโฆษก อสส.เตือน หมดอำนาจ อย่าคิดว่ารอดถ้าใช้มิชอบ
    เมื่อเวลา 13.30 น. ที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)  มูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จัดเสวนาหัวข้อ “ปราบโกงต้องแรงและเร็ว ถอดบทเรียนจากมาเลเซีย”
     โดยนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า 4 ปีที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาทุจริตมีความคืบหน้าระดับหนึ่ง มีการนำผู้กระทำผิดระดับที่สูงพอสมควร รวมถึงระดับรัฐมนตรีมาลงโทษบ้าง กระบวนการยุติธรรม ศาล และองค์กรอื่น มีการพิจารณารวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ 2 ปีที่แล้วมีการตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้วจะมีความรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา มีการออก พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่เป็นการลดโอกาสทุจริต และเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม และล่าสุด 2 วันที่ผ่านมา พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้แล้ว
    “เราอยากจะเห็นเป็นยักษ์ที่มีกระบอง ไม่ใช่ถือไม้จิ้มฟัน หวังว่า พ.ร.ป.ฉบับนี้จะทำให้การปราบปรามและการป้องกันการทุจริตได้ผลดีขึ้น ในทางทฤษฎีเราต้องสามารถนำผู้ทุจริตระดับสูงมาลงโทษให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ประเทศฮ่องกง เกาหลี และจีน แสดงให้เห็นแล้วว่าจริงจังกับเรื่องนี้ แต่ไทยยังห่างไกลความหวังที่ตั้งเอาไว้” นายประมนต์กล่าว
    นายกษิต ภิรมย์ อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า แม้จะเป็นประเทศที่ใช้ระบบเผด็จการอย่างจีนหรือสิงคโปร์ แต่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยผู้นำจีนกำลังเพียรพยายามอยู่ แม้จะมีนัยเป็นเรื่องของการกำจัดคู่ต่อสู้ โดยมีการนำเข้าคุกจำนวนมาก ซึ่งจริงๆ เผด็จการก็ป้องกันการทุจริตได้ถ้ามีความตั้งใจ ตนยังคิดว่ารัฐบาลชุดนี้ยังทำได้อีกเยอะ โดยเริ่มจากการปฏิรูปกองทัพเสียก่อน เพราะท่านมาแปลงจากกองทัพมาเป็นรัฐบาล จึงควรปรับปรุงภายในองค์กรตัวเองก่อน แม้แต่เรื่องเอาพลทหารมาเลี้ยงไก่ ตนยังมองว่าเป็นการคอร์รัปชัน
    นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับใหม่แรงและเร็วขึ้น เร็วคือใน 2 ปีต้องทำคดีให้แล้วเสร็จ ยกเว้นบางกรณีจะขยายเป็น 3 ปีได้ เมื่อก่อนถ้าจำเลยหนีจะดำเนินคดีไม่ได้ แต่กฎหมายใหม่หากมีการดำเนินการแจ้งผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดทุกวิถีทางแล้วไม่มา สามารถพิจารณาลับหลังได้ ถ้าหนีอายุความจะหยุดตั้งแต่ตอนหนี กลับมาค่อยนับต่อ แต่กระบวนการพิจารณายังเดินไป สามารถริบทรัพย์ ยึดทรัพย์ แสวงหาทรัพย์ได้ นอกจากนี้โทษยังแรงขึ้น
    “กรณีนายนาจิบ แสดงให้เห็นว่ากรรมการ ป.ป.ช.มาเลเซียทำงานตรวจสอบจริงจัง แม้ในช่วงที่นายนาจิบยังมีอำนาจรัฐ จะเห็นว่าทันทีที่นายนาจิบหมดอำนาจวันเดียว กระบวนการสามารถดำเนินการได้เลย ซึ่งถ้ามีกรรมการ ป.ป.ช.เป็นพวกกับนายนาจิบ ต่อให้นายนาจิบแพ้เลือกตั้ง คดีก็อาจไม่เดิน หันมาดูประเทศไทย ถ้าหากกรรมการ ป.ป.ช.เป็นพวกกันกับผู้มีอำนาจทางการเมือง แม้อำนาจการเมืองจะเปลี่ยนก็อาจทำอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากมีกลไกที่เอื้อประโยชน์ทำให้สามารถรักษาฐานของการเป็นพวกกันไว้ได้ในระยะยาว นี่จะเป็นปัญหามาก” นายเจษฎ์กล่าว
    นายเจษฎ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องการตรวจสอบ กรรมการ ป.ป.ช.ใน พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับใหม่นั้น ยังเปิดให้สามารถทำได้ โดยประชาชนรวบรวม 20,000 รายชื่อ ไปยื่นต่อวุฒิสภาหรือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในปัจจุบัน เมื่อยื่นประธาน สนช.แล้ว ประธาน สนช.จะไม่ทำไม่ได้ แต่จะต้องการสอบสวนขึ้นมา
    นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า เวลาการเมืองเปลี่ยนขั้ว อัยการมักจะเจอการบ้านให้ทำตลอด คือผู้อำนาจใหม่จะส่งเรื่องให้ตรวจสอบผู้มีอำนาจเก่า จะเห็นว่าอำนาจเป็นทั้งมิตรและศัตรู ส่วนกรณีนายนาจิบที่มีการมองว่าระหว่างมีอำนาจได้นั่งกดทับกระบวนการตรวจสอบไว้ด้วยนั้น ส่วนประเทศไทยเรื่องลักษณะนี้ตนยอมรับอย่างหนึ่งว่าจะหวังอะไรที่ขาวสะอาดร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ แม้แต่อัยการก็ไม่ได้ขาวร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกที่มีทั้งคนดีและไม่ดี
    “แต่อยากให้นึกเสมอว่าเมื่อท่านหมดอำนาจเมื่อไร กระบวนการเช็กบิลจะตามมาทันที สมัยก่อนแม้เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย พอขั้วเก่าลงจากอำนาจ ขั้วใหม่ที่เข้ามาก็ตรวจสอบขั้วเก่า ก็เช็กบิลกันอย่างนี้ การตรวจสอบมีอายุความ และระยะเวลายาวนานพอสมควร ทุกท่านประมาทไม่ได้ พออำนาจหมด โอกาสนั่งทับก็หมดไปด้วย ไม่สามารถนั่งทับได้ตลอด” นายโกศลวัฒน์กล่าว และว่า ถ้ามีอำนาจแล้วใช้อำนาจไม่ถูกต้อง ท่านมั่นใจหรือไม่ว่าท่านจะรอด ถ้าใช้อำนาจทางมิชอบ ร่องรอยทิ้งไว้เสมอ อย่าลืมว่ากระบวนการตรวจสอบทำอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งจะถูกเปิดเผยขึ้นมา
    นายโกศลวัฒน์กล่าวว่า วันนี้ระบบสืบพยานลับหลังมีประโยชน์มาก เพราะถ้าสืบลับหลังไม่ได้เวลาจำเลยหลบหนีไปเป็นเวลานาน พอได้ตัวมาในการไต่สวน พยานอาจจำข้อมูลไม่ได้ และทำให้ลังเลเวลาให้การ ทำให้คดีเสียหาย ศาลอาจยกประโยชน์แห่งการสงสัย อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีทุจริต จริงๆ ตนไม่อยากให้มีอายุความ เพราะควรเป็นตลอดชีวิต จะทำให้สามารถขุดมาดำเนินคดีได้ตลอด
    นายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ ผอ.สำนักการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ตนเชื่อมั่นใน พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ และกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เรื่องการดำเนินคดีอาญาที่ล่าช้า เพราะทุกอย่างต้องเคร่งครัด ผิดพลาดไม่ได้เลย โดยเฉพาะคดีต่างประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้คิดคือ กฎหมายที่ต่างประเทศใช้และมีประโยชน์ต่อคดีสินบนข้ามชาติคือ การเจรจา ต่อรอง รับสารภาพ เสียค่าปรับ ซึ่งเรายังไม่มี ถ้าเกิดไทยมีตรงนี้เราจะปลดล็อกเรื่องความรวดเร็วได้ ส่วนคดีสินบนข้ามชาติที่บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ฯ จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ไทยมูลค่า 20 ล้านบาทนั้น เราไม่คิดว่าเงิน 20 ล้านบาทเป็นเงินน้อย เพราะมันกระทบภาพลักษณ์และความน่าเชื่อของประเทศ เป็นจำนวนเงินที่เยอะ แม้แต่บาทเดียวก็ยอมไม่ได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"