พูดคุยสันติสุขใต้ส่อสะดุด ลือมหาเธร์ปลดผู้ประสาน


เพิ่มเพื่อน    

    สะพัด! "มหาเธร์" เล็งปลดผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยสันติสุข "อักษรา" ระบุอย่าเพิ่งตื่นตระหนกรอข้อมูลทางการก่อน พร้อมปัดข้อเสนอ "เลขาฯ สมช."  ใช้ช่องทาง สมช.ไทย-มาเลย์พูดคุย ย้ำยังมีเวลาพอ "ผบ.ฉก.นราธิวาส" ห่วงไฟใต้ไม่มอดจริง 
    เมื่อวันที่ 25 ก.ค. มีรายงานจากหน่วยข่าวความมั่นคงว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีข่าวลือสะพัดเกี่ยวกับเรื่องการพูดคุยสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฯ อาจจะต้องรอดูท่าทีนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซีย ภายหลังมีข่าวนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เตรียมปลดนายดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน อาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเป็นคนของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค และยังไม่ได้กำหนดตัวบุคคลเข้ามาทำหน้าที่แทน
    ขณะที่ พล.อ.อักษรา กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า   ทุกอย่างขึ้นอยู่กับรัฐบาลมาเลเซีย ขณะนี้มีประกาศอะไรจากทางมาเลเซียที่เป็นทางการหรือไม่ หากยังไม่มี ณ ปัจจุบันนี้ยังถือว่านายดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน อาซิม ยังเป็นอยู่
    "หลังนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ชนะการเลือกตั้ง ผมได้พูดคุยกับนายดาโต๊ะ และเขาแจ้งว่าขณะนี้อยู่ระหว่างรอเข้าพบนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ ซึ่งนายกฯ มหาเธร์ให้ความสำคัญเรื่องภายในประเทศก่อน ในขณะที่ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นงานเร่งด่วนรองลงมา  ถ้าพบกันเมื่อไหร่ทางท่านดาโต๊ะจะแจ้งให้เราทราบทันทีว่านโยบายของรัฐบาลมหาเธร์ต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขเป็นอย่างไร ถือเป็นเรื่องภายใน เราไปเร่งรัดไม่ได้" พล.อ.อักษรากล่าว
    หัวหน้าคณะพูดคุยสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวว่า กระบวนการพูดคุยได้บรรลุวัตถุประสงค์ในปี 2561 ไปแล้ว คือได้กำหนดพื้นที่ปลอดภัยนำร่องหนึ่งอำเภอ คืออำเภอเจาะไอร้อง เราทำสำเร็จแล้ว ซึ่งในพื้นที่แทบจะไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างกำลังรอให้กลุ่มผู้เห็นทางส่งรายชื่อคณะกรรมการร่วมจำนวน 7 คน ซึ่งเขายังไม่ได้ส่งมา เราก็รออยู่
    ถามว่า หลังจากที่เราบรรลุเป้าหมายแล้วภารกิจต่อจากนี้ยังต้องประชุมร่วมกับผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียและผู้เห็นต่างอีกหรือไม่ หัวหน้าคณะพูดคุยสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวว่า หน้าที่ของประเทศเพื่อนบ้านคืออำนวยความสะดวก ส่วนจะสะดวกหรือไม่อย่างไร ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของเขา ตอนนี้ไม่เป็นไร เขารอนโยบาย เพราะเพิ่งเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่ 
    "ทาง พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาฯ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาฯ สมช.) ได้มาคุยกับผมเพื่อประเมินสถานการณ์ ซึ่งทาง พล.อ.วัลลภอยากให้สภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยและของมาเลเซียได้พูดคุยกัน แต่ขณะนี้เรายังไม่ไปรบกวน ต้องรอให้มาเลเซียจัดการเรื่องภายในของเขาก่อน ในขณะที่ของเราเองในช่วงตุลาคมนี้จะมีการเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาระดับสูง รวมถึงในระดับพื้นที่ เพราะฉะนั้นก็ต้องรอตรงนี้ด้วย" หัวหน้าคณะพูดคุยสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าว 
    ซักว่า หลังจากมาเลเซียเปลี่ยนรัฐบาล จะยังอำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขฯ ไทยอยู่หรือไม่ พล.อ.อักษรากล่าวว่า เคยมีคนไปถามท่านนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ต่อเรื่องนี้ และทางนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ยืนยันว่า yes we are (ใช่) ซึ่งขณะนี้ทางดาโต๊ะรอคุยนายกรัฐมนตรีมหาเธร์อยู่ เมื่อเสร็จแล้วเขาก็ต้องมาคุยกับตน คิดว่าไม่น่าจะมีอะไร แต่ถ้าหากมีการเปลี่ยนชุดผู้อำนวยความสะดวกจริง ก็ต้องเป็นเรื่องของ สมช.ที่จะต้องประเมินสถานการณ์และแผนรองรับต่อกรณีดังกล่าว 
    "ผมมองไม่ว่ารัฐบาลไหนจะเข้ามา เขาก็ทำเพื่อประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องของนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากมองในเรื่องของนโยบายและความสัมพันธ์ หากยังเป็นเช่นนี้อยู่ เชื่อว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับตัวบุคคลและการพูดคุย ถือเป็นแนวทางสันติวิธี รัฐบาลไหนเข้ามาเชื่อว่าต้องสนับสนุนแนวทางนี้" พล.อ.อักษรากล่าว
    ด้าน พล.ต.สมพล ปานกุล รองแม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดเชายแดนภาคใต้ว่า การแก้ไขปัญหาของฝ่ายรัฐขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของปลายน้ำ หรือเป็นช่วงของการเข้าสู่การพัฒนา แม้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น เพราะมาตรการของรัฐ ในช่วงของต้นน้ำ คือการป้องกันปราบปราม และสถาปนาพื้นที่การรบได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบสูญเสียกำลังคนไปจำนวนมาก และต้องใช้เวลาในการผลิตคนเพื่อทดแทน ต่างจากทหารที่เมื่อสูญเสียก็สามารถจัดคนเข้ามาแทนได้ทันที แต่ก็ยังมีความพยายามของผู้ก่อความไม่สงบในการปลูกฝังคนรุ่นใหม่โดยใช้หลักคำสอนศาสนาเข้ามาบิดเบือนในสถาบันการศึกษา แต่รัฐก็เฝ้าระวัง และเข้าไปสร้างแนวทางการศึกษาที่ถูกต้องให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่แล้ว
    "เรากำลังเข้าใกล้เป้าหมายในการสร้างความสงบเรียบร้อยอย่างยั่งยืน หลังจากรัฐบาลเสียเงินเป็นแสนล้านในการแก้ไขปัญหามาหลายปีกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ฝ่ายรัฐถูกมองว่าค้าไฟใต้ แต่วันนี้ผมบอกได้เลยว่าการสู้รบของทหารในทุกสมรภูมิไม่เคยสูญเสียเท่านี้ และไม่มีใครอยากสูญเสีย แม้วันนี้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ก็ไม่ใช่จะจบง่ายๆ จากสถิติลดลงก็จริง แต่จะดีจริงหรือไม่ก็ต้องดูต่อไป" พล.ต.สมพลกล่าว
    ผบ.หน่วย ฉก.นราธิวาสกล่าวว่า ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีเหตุเกิดขึ้น ถ้าคนในพื้นที่มองจะเห็นว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ส่วนหนึ่งก็เกิดจากมาตรการของเจ้าหน้าที่และความร่วมมือของประชาชน การก่อเหตุหลายจุด ทั้งระเบิดเอทีเอ็ม เสาไฟฟ้าเมื่อเดือนก่อนเป็นความพยายามของกลุ่มก่อเหตุที่ต้องการแสดงศักยภาพ แต่วิธีการจะทำแบบง่ายๆ 
    "สิ่งที่รัฐต้องระวังไม่ให้เกิดขึ้น คือเงื่อนไขที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งทหารพรานบางคนที่เคยถูกมองว่าพฤติกรรมไม่เหมาะสม ในปัจจุบันได้เน้นย้ำในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีระเบียบ ไม่ให้กระทบกับความรู้สึกต่อคนในพื้นที่ รวมถึงอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) กำลังประจำถิ่นที่จะมีบทบาทแทนกำลังหลัก ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 สน. จะฝึกอบรมให้มีระเบียบวินัย มีความเพียบพร้อมทุกด้าน จึงขอเวลาอีก 3 ปีในการฝึกเพื่อเป็นนักรบเชิงรับต่อไป" ผบ.หน่วย ฉก.นราธิวาสกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"