บช.น.นับ1คดี'พ่อโดดตึก' ขีดเส้น15วันก่อนอุทธรณ์


เพิ่มเพื่อน    

    รมว.ยุติธรรมเตรียมถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วย “ลุงโดดตึกศาล" สัปดาห์หน้าพร้อมส่ง จนท.เป็นพี่เลี้ยงหากติดขัดขั้นตอนใด กสม.หวังเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ผบช.น.เผยต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ เพื่อหาพยานหลักฐานให้อัยการยื่นอุทธรณ์ ขีดเส้น 15 วันต้องชัดเจน โยนหลักฐานดีเอ็นเอเสื้อไปถาม "ศานิตย์" 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 26 กรกฎาคม พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีนายศุภชัย ทัฬหสุนทร กระโดดจากชั้น 8 อาคารศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ลงมาเสียชีวิต เนื่องจากผิดหวังที่ศาลพิพากษายกฟ้องกรณีของลูกชายที่ถูกแทงเสียชีวิตเมื่อปี 59 ว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ซึ่งคาดว่าน่าจะประชุมได้ในวันที่ 31 ก.ค. หรือวันที่ 1 ส.ค. เพื่อจะติดตามประเด็นทั้งเรื่องของลุงที่โดดตึก และกรณีของครูวิภา บานเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ที่ถูกลูกศิษย์เบี้ยวหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืนเพื่อการศึกษา (กยศ.) ทำให้ต้องชดใช้แทนในฐานะเป็นผู้ค้ำประกัน
    “การประชุมครั้งนี้ไม่ใช่การหาทางออก แต่เป็นการประชุมเพื่อช่วยกันดูว่ากระบวนการยุติธรรมจากทั้ง 2 กรณีที่เกิดขึ้นนี้มีประเด็นอะไรที่เป็นบทเรียนที่เราจะต้องนำมาสู่การพัฒนากระบวนการยุติธรรม และอะไรที่จะไปช่วยเขาได้ หรืออะไรที่จะต้องแก้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา กรณีของลุงที่โดดตึก อยากให้แยกว่ากระบวนการของศาลก็ทำไปตามพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการได้รวบรวมเป็นคำฟ้องมา ซึ่งศาลไม่สามารถเข้าไปล้ำเส้นได้ แต่ก็จะมีผู้แทนจากทุกหน่วยมาคุยกันว่า ทั้ง 2 เคสนี้มีบทเรียนอะไร และเราจะช่วยในปัญหาเฉพาะด้านเขาอย่างไรได้บ้าง เช่น มีปัญหาในเรื่องของทนาย ก็จะจัดหาให้ หรือหากมีปัญหาเกี่ยวกับการติดต่อประสานงาน หรือปัญหาที่ไม่สามารถขอข้อมูลจากหน่วยงานอื่นได้ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปช่วยจัดการให้ จะเป็นลักษณะของการเป็นพี่เลี้ยงให้”พล.อ.อ.ประจินกล่าว         
     นายชาติชาย สุทธิกลม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีนายศุภชัย ทัฬหสุนทร โดดตึกศาลอาญาฆ่าตัวตายว่า กรณีดังกล่าวเป็นประเด็นการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่น่าห่วงใย เนื่องด้วยฝ่ายผู้สูญเสียเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อสาธารณะว่าที่ผ่านมาตนต้องเป็นหลักในการแสวงหาพยานหลักฐานจากการที่ลูกชายถูกแทงเสียชีวิตเอง อีกทั้งพยานหลักฐานที่เป็นกล้องวงจรปิด ณ สถานที่เกิดเหตุในบางจุดก็ชำรุด ทำให้ขาดพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักในการพิจารณาพิพากษาคดี
    "กระบวนการยุติธรรมในชั้นการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ ถือเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรมในชั้นต่อๆ ไป หากการเริ่มต้นคดีในชั้นสอบสวนมีความบกพร่องในการรวบรวมพยานหลักฐาน ขั้นตอนในชั้นต่อไปก็อาจเกิดความบกพร่องหรือไม่มีความสมบูรณ์ตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ขอชื่นชมผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่สั่งการให้ตรวจสอบรายละเอียดของสำนวนการสอบสวนในคดีนี้ และหวังว่ากรณีดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เพื่อให้การปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมีประสิทธิภาพ โดยที่ประชาชนทุกคนได้รับความยุติธรรมภายใต้กฎหมายอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน" นายชาติชายกล่าว 
    ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผบช.น., พล.ต.ต.สมพงษ์ ชิงดวง, พล.ต.ต.ฤชากร จรเจวุฒิ, พล.ต.ต.อนุรักษ์ แตงเกษม รอง ผบช.น., พล.ต.ต.เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผบก.น.1 , พล.ต.ต.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผบก.สส.บช.น., พ.ต.อ.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบก.สส.บช.น. และ พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย รอง ผบก.น.8 พร้อมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงสำนวนคดีอาญาที่ 418/2559 ของ สน.ดินแดง กรณีคนร้าย 2 คนใช้อาวุธมีดและกำลังทำร้ายนายธนิต ทัฬหสุนทร เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของเนื้อหาสำนวนคดีดังกล่าว
    พล.ต.ท.ชาญเทพเปิดเผยก่อนการประชุมว่า กรณีดังกล่าวต้องเริ่มกลับมานับหนึ่งใหม่ หากตรวจสอบแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำสำนวนคดีมีความบกพร่อง ตนในฐานะผู้บังคับบัญชาก็จะดำเนินการที่อยู่ในส่วนของวินัย ตามที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้กล่าวเอาไว้แล้ว ที่สำคัญสุดในตอนนี้ต้องการที่จะหาพยานหลักฐานให้กับพนักงานอัยการเพื่อยื่นอุทธรณ์ก่อน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีพยานเห็นคนเดียวหรือไม่
     ส่วนกรณีที่มีการยิงกันบริเวณวัดกุนนทีรุทธาราม พื้นที่ สน.ห้วยขวาง ได้เรียกพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ รวมถึง สน.ดินแดง มาร่วมประชุมดังกล่าว ขณะนี้ยังไม่ได้มีการเรียกคู่กรณีมา เพราะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ กรณีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องสั่งการกำชับอะไรเลย  เนื่องจากเป็นหน้าที่ที่พนักงานสอบสวนรับผิดชอบสำนวนคดี หรือ ผกก.โรงพัก ต้องรู้ สิ่งสำคัญที่สุดเรายังมีอัยการ เมื่อพนักงานสอบสวนได้ไม่ดีพอ พนักงานอัยการต้องสั่งสอบสวนเพิ่มเติมอยู่แล้ว คดีดังกล่าวพนักงานอัยการสั่งมาหลายข้อจนสามารถที่จะสั่งฟ้องได้ พนักงานอัยการเชื่อว่าพยานหลักฐานทั้งหมดเพียงพอในการสืบหรือไต่สวนพยาน
    เมื่อถามว่า ประเด็นที่ว่านายณัฐพงษ์ คู่กรณีไม่ใช่ผู้กระทำความผิด จะมีการดำเนินการอย่างไร ผบช.น. กล่าวว่า ตรงนี้ขอตรวจสอบรายละเอียดดังกล่าวทั้งหมด รวมถึงการตรวจสอบหาพยานหลักฐานใหม่เพิ่มเติม  อย่างที่บอก การรื้อคดีเมื่อคดีสิ้นสุด และเมื่อถึงชั้นฎีกา หรือไม่อุทธรณ์ กรณีดังกล่าวไม่ใช่เพียงแค่การหาพยานหลักฐานใหม่อย่างเดียว อะไรที่ศาลมีคำสั่งหรือมีการพิพากษา ประโยคไหนที่จะต้องมีการพิจารณาก็จะต้องเริ่มใหม่
     "หน้าที่ต่อไป พล.ต.ต.สมพงษ์จะเป็นผู้รับผิดชอบทำหน้าที่ติดตามกรณีดังกล่าวต่อไป โดยหลักฐานที่แม่ผู้ตายนำมาให้ดูเป็นเพียงไฟล์ข้อมูล ยังเปิดดูไม่ได้ จึงได้ทำการอัดเก็บไฟล์ไว้ ผมย้ำว่ากรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวกับสถาบันศึกษา ใครทำผิดก็ต้องว่าไปตามผิด สถาบันส่วนสถาบัน บุคคลกระทำความผิดก็ต้องเป็นบุคคล อย่าเอาสถาบันเข้ามา ไม่ถูกต้อง"
    พล.ต.ท.ชาญเทพกล่าวด้วยว่า พยานหลักฐานเสื้อผู้ตายที่หายไปหรือการตรวจดีเอ็นเอเสื้อผู้ตาย ขณะนี้ยังให้คำตอบไม่ได้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลาง พยาน ถ้าอยากทราบต้องถาม พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น.ขณะนั้น ทั้งนี้ ตนได้ให้คณะทำงานไว้ 15 วัน เพื่อดำเนินการตรวจสอบที่เกี่ยวข้องต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"