ไทยแลนด์แดนถังขยะโลก       


เพิ่มเพื่อน    

เวทีเสวนา


“ขยะ” เป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังรุมเร้าทั่วโลกอยู่ในตอนนี้ แม้แต่จีนที่เป็นจุดหมายปลายทางหลักของขยะหมุนเวียนจากประเทศต่างๆ ยังได้ประกาศระงับการนำเข้าเพื่อควบคุมปัญหามลภาวะภายในประเทศ ซึ่งการประกาศของจีนนั้นส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมขยะโลก ทำให้ต่อจากนี้หลายประเทศที่ส่งขยะไปจีนอาจต้องมองหาประเทศใหม่รับขยะ ซึ่งไทยมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นดินแดนรับขยะจากประเทศอื่นมาก จะเห็นได้จากเหตุการณ์การลักลอบขนขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าประเทศช่วงที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นช่องโหว่ทางกฎหมายของไทยที่ยังไม่สามารถควบคุมเรื่องขยะได้มากพอ จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ได้จัดเสวนาหัวข้อ “ไทยแลนด์แดนถังขยะโลก?” ขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันก่อน เพื่อถกถึงประเด็นดังกล่าว 

 

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกาก


นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า จากการที่จีนประกาศไม่รับนำเข้าขยะ เหมือนกำลังเตรียมปิดประเทศ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วประเทศที่เคยส่งขยะไปจีน อย่าง ฮ่องกง ออสเตรเลีย เป็นประเทศที่ไม่สามารถกำจัดขยะเองได้ เดิมส่งออกไปจีนร้อยละ 90 รวมถึงสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น แล้วก็สหภาพยุโรป ก็ต้องหาที่อื่นแทน โดยมุ่งเน้นมาที่ประเทศที่มีจุดอ่อนด้านกฎหมาย ก็มีความกังวลว่าประเทศไทยจะเสี่ยงกลายเป็นประเทศที่ต้องมารับขยะแทน ซึ่งบทบาทหน้าที่ของกรมศุลกากรในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าที่เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านมาเป็นไปตามขั้นตอนตามอนุสัญญาบาเซลที่ควบคุมการนำเข้าสินค้าอันตรายโดยที่ไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนและเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา แต่เนื่องจากขยะที่นำเข้ามาไม่ได้เป็นขยะเสมอไป และมีการนำไปจัดการต่อ ซึ่งกรมศุลกากรมีอำนาจอนุญาตนำเข้าของเสียและขยะอันตรายให้เคลื่อนย้ายอย่างถูกต้องตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535 โดยผู้ที่นำเข้าจะต้องขอใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ถูกต้องโดยแสดงเอกสารแหล่งกำเนิดของเสียอันตราย และรายละเอียดโรงงานที่จะเป็นผู้รีไซเคิลว่ามีขีดความสามารถทำลายขยะและของเสียได้มากพอและถูกต้อง รวมถึงใบขนส่งสินค้า โดยหลังจากนี้จะสั่งเฝ้าระวังทุกท่าเรือของกรมศุลกากรและกักสินค้าที่เข้าข่ายอันตราย  

 


สำหรับสถานการณ์ขยะของไทย โดยเฉพาะขยะของเสียอิเล็กทรอนิกส์ นายกุลิศ เผยว่า ในปี 2560 มีปริมาณนำเข้าถึง 52,131ตัน และในปี 2561 นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 31 พ.ค. เพียง 5 เดือน มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้วกว่า 8,634  ตัน โดยพบมากสุดคือจอภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว อีกอย่างหนึ่งคือกลุ่มเศษพลาสติกที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นมาก ในปี 2558-2559 อยู่ที่ 5-6 หมื่นตัน และในปี 2560 ขึ้นมาเป็น 166,800 ตัน ก็เริ่มกังวลว่าทำไมถึงขึ้นมามากขนาดนี้ จึงได้สั่งให้ท่าต่างๆ ที่มีการนำเข้าเร่งสำรวจจนพบว่า ช่วงต้นปีนี้ตั้งแต่ม.ค.-พ.ค. มีขยะพลาสติกเข้ามาแล้วกว่า 313,000 ตัน มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา หรือปี 2558-2560 รวมกันยังไม่เท่า 5 เดือนแรกของปีนี้ จึงได้ให้ติดตามเฝ้าระวังพร้อมทั้งกักสินค้าเหล่านี้ไว้


      “จากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาก ได้สำรวจพบว่าบางตู้ขนส่งมีการสำแดงเป็นเม็ดพลาสติก แต่บางตู้เปิดมาเป็นแผงวงจรก็จับว่ามีการสำแดงเท็จ ประเด็นนี้จึงได้ประชุมร่วมกับกรมโรงงานฯ ว่าต่อไปนี้เราจะขอตรวจการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติก 100% จะเอ็กซเรย์หมดทุกตู้ ถ้าบริษัทไหนมีแบล็กลิตส์ที่ตำรวจจับกุมจะเปิดตรวจ 100% เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว แต่ปัญหาเมื่อดำเนินการแล้ว กลับพบว่าบริษัทนำเข้าสินค้า ที่โดนจับไปแล้วได้ทิ้งของไว้ที่ท่าเรือหมด โดยขณะนี้ท่าเรือทุกแห่งที่ศุลกากรรับผิดชอบมีตู้คอนเทนเนอร์บรรจุขยะพิษรวมทั้งหมด 1,811 ตู้ ถูกทิ้งเอาไว้ และไม่มีคนมาทำเรื่องขอผ่านออกไป ซึ่งหากไม่มีคนมานำออกไปประเทศไทยจะกลายเป็นที่ทิ้งขยะของโลกของจริงแน่ๆ” นายกุลิศ กล่าว

 


อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวอีกว่า สิ่งที่ทำได้หากไม่นำออกภายใน 30 วัน เป็นอำนาจของอธิบดีที่จะดำเนินการให้ขยะเหล่านี้ตกเป็นของแผ่นดิน และจะดำเนินการโดย 1.ทำลาย 2.เปิดประมูลให้ผู้รับใบอนุญาต ที่กำหนดว่าจะต้องประมูลแล้วส่งออกไปทันที และ 3.ประสานสายเดินเรือให้นำกลับประเทศต้นทาง ซึ่งขณะนี้เป็นห่วงว่าการดำเนินคดีถ้าส่งฟ้องบริษัทที่สำแดงเท็จ ในระหว่างดำเนินคดีขยะเหล่านี้จะตกเป็นของกลาง ซึ่งจะทำอะไรไม่ได้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด แล้วช่วงที่ทำอะไรไม่ได้ ก็จะมีฝนตก แดดร้อนเป็นปกติ ขยะบางชนิดก็จะละลายออกมา ทำให้บางชนิดมีสารพิษไหลลงสู่ดิน ที่นี้ของกลางก็กลายเป็นภาระหนักอีก เพราะฉะนั้นสิ่งที่กรมศุลกากรเห็นว่าต้องทำคือ ผลักดันให้เขานำกลับไปยังประเทศต้นทาง โดยประสานงานกับสายเดินเรือ ตอนนี้เรากำลังนัดหารือกับทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมถึงแผนที่ว่าหากสายเดินเรือไม่รับจะมีกฏหมายช่องทางดำเนินการส่งกลับได้หรือไม่ อย่าให้มันตกค้างให้เรากลายเป็นแดนขยะโลก

 


        นอกจากนี้ ต้องเตรียมรับมือโดยการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่เช่นนั้นอีก 5 ปีข้างหน้าประเทศจีนจะมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมาไทย โดยมีข้อกำหนดการค้าเสรีจีน-อาเซียนที่ไม่ต้องเสียภาษี ปัญหาที่จะตามมาคือถ้าใช้รถไฟฟ้ากันมากขึ้น แบตเตอรี่จากรถไฟฟ้าจะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต ซึ่งต้องเตรียมแผนการรองรับและภาครัฐจะต้องบูรณาการร่วมกันในการดูแล เราจะล้อมคอกอย่างไรให้แน่นหนา อันนี้ก็เริ่มตื่นตัวตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ที่ผ่านมาได้ทำฐานระบบข้อมูลร่วมกับกรมโรงงานฯ และเสนอให้ใช้มาตการเดียวกับการแก้ปัญหาไอยูยู ในเรื่องการทำประมง คือต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับให้ได้หมดว่า ปริมาณขยะทั้งหมดที่เข้ามากระจายไปที่โรงงานใดบ้าง แยกเป็นของดีของเสียต้องเท่ากับปริมาณนำเข้าว่าได้เท่ากันหรือไม่ แล้วก็อาจจะหารือร่วมกับทางกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมด้วยว่าคนที่นำเข้ามาต้องมีแผนการทำลายแบตเตอรี่ถ้าไม่มีแผนการทำลายเราต้องมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม อาจมีการเก็บภาษี20-30% เพื่อที่จะเอาเงินตรงนี้มาตั้งเป็นกองทุนจ้างโรงงานในประเทศไทยทำลายแบตเตอรี่พวกนี้ไม่ให้เป็นขยะอุตสาหกรรม 

สนธิ คชวัฒน ์


 ขณะที่นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ชี้ว่า ไทยยังมีจุดอ่อนในการนำเข้าสินค้าที่เป็นขยะอันตราย ส่วนตัวมองว่าที่เป็นปัญหาตอนนี้คือโรงงานประเภท 105 ที่ใช้คัดแยก ฝังกลบ และโรงงานประเภท 106 ที่ใช้สำหรับรีไซเคิลเนื่องจากมีประกาศคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2559 ที่มีการยกเว้นบังคับใช้กฎหมายผังเมือง ทำให้โรงงานเหล่านี้ไปตั้งที่ไหนก็ได้และไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และพ.ร.บ. อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 จึงเอื้อให้มีโรงงานเกิดขึ้นเต็มไปหมดแล้วก็มีโรงงานในประเทศรับขยะอันตรายจากประเทศเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะขยะชุมชน มีชุมชนหลายแห่งที่รับจ้างแกะเศษพวกตะกั่ว ทองแดงจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ซึ่งไม่คำนึงถึงภัยจากโลหะเหล่านี้ที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ บางรายต้องเผาแผงวงจรเพื่อหลอมตะกั่วทองแดง ทำให้เกิดภัยตะกั่วแพร่กระจาย สะสมในดิน อากาศ เป็นสารไดออกซิน หรือการใช้กรดโลหะที่มีค่าจากแผงวงจร การรื้อแกะตู้เย็น เครื่องปรับอากาศโดยไม่มีอุปกรณ์ดูดสารความเย็น ทำให้เกิดโลกร้อน ทำลายชั้นโอโซน อย่าลืมว่าคนที่ไปทำก็ไม่ได้มีอุปกรณ์ป้องกันตนเองเลย ก็ได้รับมลพิษเข้าไปด้วย อย่างที่จ.กาฬสินธุ์มี 12 หมู่บ้าน 896 ครัวเรือนยึดอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก สร้างรายได้ครอบครัวปีละสองหมื่น ในขยะก็มีมากกว่า 200 ตันในแต่ละปี พอไปตรวจสุขภาพหลายคนเป็นโรคระบบทางเดินหายใจแล้วก็เป็นโรคแพ้พิษโหละหนัก ตรวจล่าสุด 129 รายในเด็กเล็ก มีสารตะกั่วในร่างกายกว่า 21 ราย ปัญหานี้ทุกคน ทุกหน่วยงานรู้  แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะไม่มีกฎหมายควบคุมด้านนี้เลย ทุกวันนี้มีเพียงการรณรงค์ให้ระวังสารพิษจากอิเล็กทรอนิกส์ แต่ให้ยกเลิกไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายควบคุมขยะอิเล็กทรอนิกส์ในชุมชน 

 


อย่างไรก็ตาม นายสนธิ ได้เสนอว่า ประเทศไทยจะนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบถูกกฎหมาย ก็สามารถทำได้แต่ต้องกำหนดประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าให้ชัดเจนและควบคุมกระบวนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกหลักวิชาการและใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการคัดแยกขยะรีไซเคิล ตลอดจนจะต้องมีมาตรการรองรับในการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ในชุมชนที่ทิ้งขว้างทั่วไปในประเทศให้ได้ก่อน หรือถ้าหากรัฐบาลต้องการป้องกันและควบคุมการนำเข้าขยะอันตรายจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนโดยเริ่มจากการยกเลิกประกาศคสช. ฉบับดังกล่าว รวมถึงพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ และบังคับให้ทุกโรงงานทำEIA และ EHIA เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมและรับรู้การดำเนินการของโรงงาน รวมถึงเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ง่ายขึ้น เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และออกกฎหมายร่างพ.ร.บ.ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาควบคุมอีกทีเพื่อให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบในการกำจัด โดยส่วนตัวมองว่าขยะอันตรายที่เป็นผลผลิตภายในประเทศมีมากแล้วไม่จำเป็นต้องนำมาเพิ่มอีก  แต่หากทำไม่ได้ก็ควรยกเลิกการนำเข้าซากอุปกรณ์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำมาคัดแยกและแปรสภาพทั้งหมดดีที่สุด นอกจากนี้ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะมีโรงงานเกิดขึ้นอีก 600 แห่งที่มาจับจองพื้นที่แล้ว จะเกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาอีกมาก ภาครัฐจะต้องเตรียมรับมือเรื่องนี้ด้วย


ด้านนางดาวัลย์ จันทรหัสดี มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวเสริมว่า จากการสำรวจโรงงานที่รับขยะอิเล็กทรอนิกส์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมากในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา ในภาคกลาง แถวปทุมธานี และนครปฐมมีโรงงานลำดับที่ 53 ซึ่งเป็นโรงงานพลาสติก เกิดขึ้นกว่า 694 โรงงาน ประเภท 105 เกิดขึ้น 121 โรงงาน และประเภท 106 เกิดขึ้นอีก 104 โรง ส่วนภาคตะวันออก ในฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร มีโรงงานประเภท 53 เกิดขึ้น 195 โรงงาน ประเภท 105 เกิด 133 โรงงาน และประเภท 106 เกิด 105 โรงงาน จะเห็นว่าสูงขึ้นอย่างไม่คาดคิด ยังไม่นับรวมประเภทอื่นๆ ที่มีการนำขยะเข้ามา ส่วนขยะที่นำเข้ามาอย่างหนึ่งคือขยะเทศบาล ตะกอนจากน้ำเสีย ของเสียจากสถานพยาบาล พวกหลอดฉีดยา เข็มฉีดยา ฯลฯ ถูกนำมาในไทยในปริมาณที่สูงพอสมควร บางอย่างอาจไม่สำแดง ซึ่งตนคิดว่าเป็นสิ่งที่อยากสะท้อนให้เห็นว่าที่นำเข้ามาไม่ใช่แค่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือพลาสติกแล้ว แต่มันมีสิ่งที่เข้ามาอีกมากมายตามข้อตกลงที่เราได้ทำการค้าเสรีและหุ้นส่วนเศรษฐกิจไว้กับต่างประเทศ หลายประเทศไม่เสียภาษี ซึ่งน่าเห็นใจกรมศุลฯ แต่ที่ทำให้เกิดโรงงานประเภทนี้ได้ทั้งหมดคือกรมโรงงานอุตสาหกรรม และที่อนุญาติให้นำขยะเข้ามาได้คือกรมโรงงาน ซึ่งการกำกับดูแลยังบกพร่อง รับผิดชอบภายในโรงงานทั้งหมดก็จริงแต่ยังไม่เข้าถึงผลกระทบจากภายนอกหลายพื้นที่ เท่าที่ตนทำงานกับชุมชนมาพบโรงงาน105,106 เกิดใกล้ชุมชน ซึ่งอยากทราบว่าในการที่จะกำกับดูแลจะดำเนินอย่างไรบ้าง อย่างแรกเลยขอให้ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 4/2559 เพราะฉบับนี้ปลดล็อคให้โรงงานสร้างได้ในทุกพื้นที่ และอยากให้รัฐบาลประกาศห้ามนำเข้าสินค้าที่จีนนำเข้า ไม่จำเป็นต้องให้สินค้าประเภทเหล่านี้เข้ามาในประเทศเราก็ได้ แล้วก็ให้มีการสอบสวนใบอนุญาตนำเข้า และใบอนุญาตประกอบกิจการด้วย  เราพบว่าโรงงาน 106 ทำอะไรก็ได้ที่ครอบจักวาล เราเลยอยากให้ประเภท 106 ต้องดูการจัดตั้งใหม่ แยกให้ชัดเจนว่าสิ่งที่เอาเข้ามาในโรงงานประเภทนี้ ถ้าเป็นกากอุตสาหกรรมอันตราย ให้แยกออกไปเลย ส่วนของเสียวัสดุไม่ใช้แล้วและไม่เป็นอันตรายจะเอาไปรีไซเคิลก็ควรแยกออกไป และการจะจัดตั้งโรงงานอะไรก็ตามในอนาคตต้องมีการทำ EIA และก็ EHIA ตามมาตรฐานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่รายงาน EIA ฉบับกรมโรงงานซึ่งไม่เห็นด้วย เพราะเป็นฉบับที่ไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติได้จริง ส่วนหนึ่งคืออยากให้แยกความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีหน้าที่สนับสนุนโรงงานให้เกิด ส่วนที่จะมากำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ภายในและนอกโรงงานก็ขอให้แยกออกจากกัน 

 

นายจร เนาวโอภาส ชาวบ้านพนมสารคาม ฉะเชิงเทรา


 ด้านนายจร เนาวโอภาส ชาวบ้านอ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ผู้เสียหายจากการอยู่ใกล้พื้นที่โรงงานรับขยะ กล่าวว่า 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหาขยะพิษคือ นโยบายของรัฐ ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้เกิดผลกระทบเรื่องนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐไม่เพียงพอและไม่กวดขันโรงงานอย่างเคร่งครัดทำให้เกิดช่องว่างในการทำผิดขึ้น ทั้งนี้ตนก็มีข้อเสนอ 3 แนวทาง คือ 1.ขอให้กิจการลำดับที่ 105,106 ไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมได้หรือไม่ เพราะมีการควบคุมที่เข้มงวดดีกว่าไปอยู่ในเขตชุมชนหรือชนบทที่เป็นพื้นที่ชาวบ้าน 2.เรื่องของบ่อฝังกลบขยะ ควรไปอยู่ในพื้นที่รัฐได้หรือไม่ เช่น เขตทหาร สปก. ที่ดินเสื่อมโทรม เพราะมีพื้นที่จำนวนมาก และมีกำบังรัดกุมการจัดการจะดีขึ้น ผลกระทบต่อชุมชนก็จะไม่เกิดขึ้น และ 3.อยากให้มีการกระจาย อำนาจของกรมโรงงาน อย่าแบกรับภาระไว้เพียงหน่วยงานเดียว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"