"ออม" ก่อนดีกว่า


เพิ่มเพื่อน    

      ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย ปี 2561 ว่ามีจำนวนสูงถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด นั่นหมายถึงมีจำนวนมากกว่าประชากรเด็ก ซึ่งเป็นตัวสะท้อนได้ค่อนข้างชัดเจนว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ นั่นเพราะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็น 20% ในปี 2561

        ไม่เพียงเท่านี้ "ประเทศไทย" ยังถูกจัดให้เป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชีย ที่เป็นประเทศที่มีส่ดส่วนการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุในปัจจุบัน รองจากสิงคโปร์ ดังนั้นการมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เห็นว่าไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึง

        ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์ผู้สูงอายุที่มีเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับประชากรวัยแรกเกิดและวัยทำงานนี้เอง กลายเป็นประเด็นที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญมากขึ้น ด้วยเพราะการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยนั้น การจัดสวัสดิการต่างๆ เพื่อมาดูแลประชากรวัยสูงอายุจึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการมากขึ้น  และนั่นตามมาด้วยงบประมาณที่ต้องใช้ในการดำเนินงานในจำนวนที่สูงมากขึ้น ขณะที่ประเทศเองก็ยังจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาในด้านต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย

        นี่เองจึงอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราอาจได้เห็นว่ารัฐบาลพยายามผลักดันเรื่อง "การออม" เพื่อรองรับวัยเกษียณที่กำลังเกิดขึ้นนั่นเอง ซึ่งมีทั้งการออมผ่านระบบต่างๆ ที่รัฐบาลจัดเตรียมไว้ให้ ไปจนถึงการให้ความรู้เรื่องการออมที่มีประโยชน์กับทุกวัน ด้วยเพราะการออมไม่จำเป็นต้องรอเกษียณเท่านั้น ก็สามารถออมเงินได้อยู่ตลอดเวลา เพราะการออมเงิน ปลายทางคือมีประโยชน์รอบด้านสำหรับผู้ออมอยู่แล้ว

        แต่ข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารทหารไทย ได้ออกมาระบุถึงผลวิจัย "เปิดพฤติกรรมไร้เงินเก็บ เห่อกินเที่ยว โซเชียลมาก่อน ออมทีหลัง" ซึ่งระบุว่าพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างมาก ด้วยเพราะเทคโนโลยีเข้าถึงคนมากขึ้น โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ที่ไทยมีผู้ใช้ถึง 49 ล้านคน ถือเป็นอันดับ 8 ของโลก ยังไม่นับรวมอิสตาแกรมและทวิตเตอร์ ซึ่งก็มีผู้ใช้หลักสิบล้านขึ้นไปเช่นกัน โดยแนวโน้มการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง และการเสพข้อมูลจากโซเชียลมีเดียก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จึงเป็นเหตุผลให้คนใช้จ่ายสูงขึ้นเพื่อทำให้ไลฟ์สไตล์ดูดีขึ้นด้วย

        นอกจากนี้ จากผลการวิจัยพบว่ากว่า 65% ของคนไทยยอมรับว่าเคยซื้อของตอนลดราคามาเก็บไว้จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เคยใช้ และบางครั้งก็หมดอายุเสียก่อนอีก ส่วนอีก 56% ยอมจ่ายเงินซื้อของไม่จำเป็นแต่เพื่อให้ตามเทรนด์เท่านั้น ด้วยความที่นิยมซื้อของใช้จ่ายๆ เพื่อปรุงแต่งไลฟ์สไตล์นี่เอง ทำให้พบว่าคนไทยที่มีบัตรเครดิตมากกว่า 50% ไม่สามารถจ่ายบิลรายเดือนได้เต็มจำนวน และอีก 44% เคยผ่อนสินค้าแบบเสียดอกเบี้ยด้วย ตรงนี้อาจเป็นประเด็นหนึ่งที่สะท้อนได้ว่า เมื่อเงินสำหรับใช้จ่ายไม่เพียงพอ จะแบ่งเงินส่วนไหนเพื่อมา "ออม" ไว้ใช้ในอนาคต!

        ศูนย์วิจัยธนาคารทหารไทย ระบุว่า คนไทยกว่า 80% มีเงินออมไม่พอใช้จ่ายใน 6 เดือน ซึ่งอาชีพอันดับ 1 ที่เงินออมไม่พอ คือ พนักงานเอกชน รองลงมาคือจ้างงานอิสระ พนักงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ และเจ้าของกิจการ

        ด้วยพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป การให้ความสนใจแชร์เรื่องร่างต่างๆ ของชีวิตประจำวันลงโซเชียลมีเดีย อาจมีผลในเรื่องของการจัดสรรการใช้เงินและออมเงินอยู่บ้าง แต่ก็ยังเชื่อว่ามีอีกหลายคนที่มีการคิดเรื่องการออมไว้ใช้ยามเกษียณอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว การเตรียมความพร้อมเรื่องการออมเงินเพื่อไว้ใช้ในระยะยาว ถือเป็นเรื่องสำคัญ หากพิจารณาตามปัจจัยต่างๆ ที่เป็นแรงขับเคลื่อน ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ไปจนถึงการแต่งงาน และมีบุตรที่ลดลง จึงไม่น่าแปลกใจหากภาครัฐและเอกชนจะสนับสนุนให้เกิดการออมในวัยทำงานเพิ่มขึ้นเช่นในปัจจุบัน

        อีกหนึ่งแนวทางที่เป็นประโยชน์สำหรับนักออมเงินมือใหม่ นอกจากการฝากเงินก็คือการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกค่อนข้างมาก อยู่ที่ผู้ออมจะศึกษาเพื่อการนำเงินออมไปลงทุนให้เกิดผลประโยชน์งอกเงยนั่นเอง ส่วนกลุ่มที่ยังไม่เริ่มออม หรือยังไม่คิดจะออม ควรฉุกคิดและเริ่มต้นออมเงินในรูปแบบง่ายๆ ได้แล้ว เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งเลยว่า "เงินออม" เป็นเรื่องสำคัญกับชีวิตในระยะยาวอย่างมาก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"