ขออังกฤษส่งปูกลับ รัฐบาลรุกล่านักโทษหนีคดี-ยันไม่ใช่การเมือง


เพิ่มเพื่อน    

     รัฐบาลไทยร้องขออังกฤษส่งตัว "ยิ่งลักษณ์" ที่ถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุก 5 ปีคดีโกงจำนำข้าวแล้ว ตามสนธิสัญญาส่งตัวอาชญากรผู้หลบหนีคดีกลับประเทศ ยันไม่เกี่ยวคดีการเมืองหรือการทหาร  "ดอน" แจงเป็นไปตามขั้นตอน นายกฯ โบ้ยจะได้ตัวหรือไม่เป็นเรื่องของอังกฤษจะพิจารณา หึ่ง! ผู้ร้ายข้ามแดนอ้างกระบวนยุติธรรมไทยไม่ได้มาตรฐาน ร้องขอต่อศาลไม่ให้ส่งตัว "นบข." สั่งตามหาข้าวหายอีกเกือบ 1 ล้านตัน 2.25 แสนล้านบาท
     เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย รายงานจากกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษว่า สถานเอกอัครราชทูตไทยในสหราชอาณาจักรได้ส่งจดหมายลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ไปที่กระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร (Foreign and Commonwealth Office) เพื่อร้องขอต่อทางการของอังกฤษให้ส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาประเทศไทย
    จดหมายที่มีเนื้อหา 6 ย่อหน้า ความยาว 1 หน้าครึ่ง บรรยายว่า "สถานเอกอัครราชทูตไทยขอส่งความปรารถนาดีมายังกระทรวงการต่างประเทศ เรามีความยินดีและเป็นเกียรติที่จะอ้างอิงถึงสนธิสัญญาระหว่างสหราชอาณาจักรและสยามปี 1911 ที่ว่าด้วยการส่งตัวอาชญากรผู้หลบหนีคดีกลับประเทศ ภายใต้คำสั่งการของรัฐบาลไทย และบทบัญญัติในสนธิสัญญาดังกล่าว ทางสถานทูตจึงขอใช้สิทธิร้องให้ส่งตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บุคคลที่มีสัญชาติไทย และเชื่อว่าพำนักอยู่ในสหราชอาณาจักรกลับประเทศไทย 
    "นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นบุคคลที่ทางการไทยต้องการนำตัวมารับโทษจำคุก 5 ปี ภายหลังคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษาว่าเธอมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ด้วยเหตุนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงออกหมายจับตั้งแต่มีคำตัดสินเมื่อ 27 กันยายน 2561 เพื่อนำตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มารับโทษ"
    "หากรัฐบาลอังกฤษเห็นว่าความผิดที่กล่าวถึงข้างต้นไม่อยู่ในบัญชีการกระทำความผิดของบุคคลอันเป็นการให้ส่งตัวให้ประเทศต้นทางดำเนินคดีได้ตามที่ ระบุไว้ในมาตรา 2 วรรค 1 ของสนธิสัญญาดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงร้องขอมาด้วยความเคารพให้รัฐบาลอังกฤษได้พิจารณาความผิดข้ออื่นๆ ที่ระบุไว้ ในวรรคสุดท้ายของมาตรา 2 ที่ระบุว่า "การส่งตัวกลับ อาจกระทำได้ภายใต้ความเห็นชอบของประเทศนั้น หากการกระทำความผิดทางอาญานั้น เป็นความผิดภายใต้กฎหมายของทั้งสองประเทศคู่สัญญา" ในกรณีนี้รัฐบาลไทยขอให้คำมั่นว่าจะร่วมมือและตอบแทนอย่างเต็มที่หากได้รับการร้องขอทำนองเดียวกันจากรัฐบาลอังกฤษ
    คำร้องขอส่งตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับไทยประกอบไปด้วย บทสรุปข้อเท็จจริงของคดี รวมทั้งสำเนาคำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง และหมายจับที่แนบมาด้วย
    "ทางสถานทูตรู้สึกเป็นเกียรติที่จะแจ้งต่อกระทรวงต่างประเทศด้วยว่าคำร้องนี้ไม่เกี่ยวพันกับการสอบสวน ดำเนินคดี หรือการลงโทษบุคคล ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับทางการเมืองหรือการทหาร เธอผู้นี้ยังไม่ได้รับการอภัยโทษ หรือนิรโทษ อีกทั้งหมายจับนี้ไม่มีวันหมดอายุ สถานเอกอัครราชทูตไทยอยากขอความกรุณาจากท่านให้เก็บคำร้องนี้ไว้เป็นข่าวลับและรีบดำเนินการต่อคำร้องนี้อย่างเร่งด่วน" จดหมายระบุ
     ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามขั้นตอน สื่อควรไปสอบถามจากคนที่รู้เรื่อง เพราะตนยังไม่ทราบรายละเอียด เห็นแต่เพียงที่เป็นข่าว 
    เมื่อถามว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้รายงานเรื่องดังกล่าวมายัง รมว.ต่างประเทศ นายดอนตอบว่า เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ไม่ต้องรายงาน เพราะเขาทำตามขั้นตอน ไม่ใช่เรื่องนโยบาย และเรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวกับการเดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักร ของนายกฯ 
อยู่ที่อังกฤษจะพิจารณา
    “จำไม่ได้เลยว่าเรื่องนี้เคยผ่านเข้ามา ผมยังสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าเรื่องนี้เคยผ่านมาทางเราหรือไม่ เพราะเหมือนไม่เคยเห็น เพราะมันมาตามขั้นตอนของมัน และทราบว่าเรื่องนี้เป็นการทำตามขั้นตอน คงมีการเดินเรื่อง เพราะต้องมาจากทางตำรวจ อัยการ” นายดอนกล่าว
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการทำตามขั้นตอน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.), อัยการสูงสุด (อสส.), กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเรื่องขอตัว แต่เมื่อส่งไปแล้วสิ่งที่ตนเคยบอกเห็นก็คือเห็น แต่การที่เราจะไปจับกุมใครในต่างประเทศ เราจับเองไม่ได้ เป็นเรื่องของประเทศนั้นๆ ฉะนั้น ถ้าเขายังไม่ตอบเอกสารมาอย่างเป็นทางการ มันก็จับไม่ได้ นั่นคือข้อเท็จจริง เหมือนกับบ้านเมืองของเรามีกฎหมายของเรา ใครขอเรามาเราจะส่งหรือไม่ส่งก็ต้องพิจารณาเป็นเรื่องของเรา ฉะนั้นประเทศอื่นเขาก็ทำแบบนี้
    "ตราบใดที่รัฐบาลทำครบหลักเกณฑ์กฎหมายแล้ว ถึงจะได้ตัวหรือไม่ได้ตัวก็เป็นเรื่องของต่างประเทศที่จะพิจารณาตัดสินใจว่าจะส่งหรือไม่ส่ง ก็เหมือนเราจะส่งไม่ส่งก็แล้วแต่เราจะพิจารณา ซึ่งมีอยู่หลายคดีด้วยกันที่เราดำเนินคดีในประเทศไทย เป็นเรื่องของทางนู้น และผมไม่จำเป็นต้องไปหารือกับนางเทเรซา เมย์ นายกฯ อังกฤษ เพราะเป็นเรื่องกลไกของรัฐที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว กระทรวงเขาดำเนินการอยู่ มีหลายช่องทาง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ด้านนายอำนาจ โชติชัย อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เรื่องนี้สำนักงานอัยการสูงสุดโดยสำนักงานอัยการต่างประเทศเป็นผู้ประสานงานทำเรื่องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน น.ส.ยิ่งลักษณ์ส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศของไทยตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ส่งคำร้องไปยังกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ขั้นตอนต่อไปกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษจะต้องส่งเรื่องไปยังผู้ประสานงานกลางของอังกฤษที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในส่วนนี้กระทรวงมหาดไทยของอังกฤษจะเป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาคำร้องขอของเราตามกฎหมายและสนธิสัญญาปี 1911 เมื่อได้รับเรื่องของเราแล้วก็จะพิจารณาคำร้องของเราว่าจะอยู่ในเงื่อนไขที่สามารถปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน 
    "ซึ่งหลักพื้นฐานการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามหลักสากลจะต้องไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง การทหาร ทางเราได้ชี้แจงในคำร้องว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เป็นเรื่องทุจริตฯ ไม่ใช่เรื่องการเมือง เรายืนยันว่าคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง ส่วนเขาจะพิจารณาว่าเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่นั้น เป็นการพิจารณาในมิติของเขาเอง ส่วนกระทรวงมหาดไทยอังกฤษได้รับคำร้องไว้แล้วหรือไม่ ผมไม่ทราบ เป็นเรื่องภายใน"
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้วีซ่านักธุรกิจเข้าพำนักในอังกฤษจะเป็นอุปสรรคในการขอผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ นายอำนาจกล่าวว่า เป็นคนละส่วนกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์จะได้อะไรจากประเทศอังกฤษเราก็ยื่นคำขอไปก่อน ส่วนจะอ้างเหตุอะไรนั้น อังกฤษก็จะแจ้งเหตุเรามา การมีวีซ่าไม่เป็นเหตุที่เราจะไม่ขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนไป ถ้าเขาขอให้เราส่งอะไรเพิ่มเติม เราก็พร้อมส่งไป ส่วนการขอประสานงานตำรวจสากลเป็นเรื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นคนละขั้นตอนกัน ทั้งนี้ เราทำให้ดีที่สุด เราบอกเหตุผลทุกอย่างตามเงื่อนไขในสนธิสัญญา และเรายื่นขอกับประเทศอื่นด้วย แต่ขออนุญาตยังไม่พูด เพราะอาจจะกระทบความสัมพันธ์
ยุติธรรมไทยไร้มาตรฐาน
    ส่วนที่มีการปรากฏภาพนายทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ศาลออกหมายจับเช่นกัน คู่กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เราได้ขอผู้ร้ายข้ามแดนนายทักษิณด้วยหรือไม่ นายอำนาจกล่าวว่า ภาพจากสื่อมวลชนเราไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานข้ออ้างในคำขอผู้ร้ายข้ามแดนได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องแจ้งเบาะแสมาว่านายทักษิณอยู่ที่ไหน ต้องมีการยืนยันมา ก่อนหน้านี้เราเคยขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนนายทักษิณไปเยอะมาก หลายประเทศ ประเทศปลายทางก็มีการตอบรับมา ซึ่งยังไม่มีประเทศใดตอบรับว่าจะส่งตัวนายทักษิณมาให้ อาจจะเป็นเพราะว่าสถานที่ที่นายทักษิณอยู่ พอมีการประสานก็มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนประเทศตลอด 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของกฎหมายของประเทศเจ้าของดินแดน เช่น หากเป็นคดีการเมือง ศาสนา ทางประเทศที่ผู้ต้องหาไปพำนักก็จะไม่ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนให้ หรือในกรณีที่ความผิดที่มีการร้องขอไม่ถือเป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศเจ้าของดินแดน ทางผู้ต้องหาก็สามารถที่จะต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อขอให้ศาลของประเทศนั้นๆ ไม่ส่งตัวได้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ต้องหาก็มีการร้องขอต่อศาลมิให้ส่งตัวตามคำร้องได้โดยใช้เหตุด้านความยุติธรรม เช่น อ้างว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศที่ร้องขอไม่ได้มาตรฐาน และตนเองจะไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือ ได้รับอันตราย การร้องขอให้มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน มิใช่ว่าจะได้รับความร่วมมือทุกครั้งไป แล้วแต่ประเทศปลายทางจะเป็นผู้พิจารณา
       ขณะเดียวกัน  มีรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์ในฐานะคณะทำงานระบายข้าวสารสต๊อกรัฐบาล ได้รายงานให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) รับทราบถึงปริมาณข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่ยังคงติดค้างอยู่กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ที่ไม่สามารถนำออกมาระบายได้ เนื่องจากข้าวส่วนนี้ได้หายไปจากบัญชีการตรวจนับปริมาณรวม 9.4 แสนตัน ซึ่ง นบข.ได้สั่งการให้เร่งติดตามข้าวที่ขาดหายจากบัญชีกลับคืนมา เพื่อไม่ให้รัฐเกิดความเสียหายแล้ว
    ทั้งนี้ ข้าวที่ขาดหายไปนั้น มาจากรัฐบาล คสช. ได้รับตัวเลขมา 18.70 ล้านตัน แต่ผลการตรวจนับมีข้าวอยู่ในสต๊อกปริมาณ 17.76 ล้านตัน หรือขาดหายไป 9.4 แสนตัน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ และติดตามข้าวที่หายไปกลับคืนมาแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
    อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานให้ นบข.รับทราบแล้ว ล่าสุดได้ส่งเรื่องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ เพื่อตามหาปริมาณข้าวดังกล่าวแล้ว และยังได้กำชับให้ อคส.และ อ.ต.ก.ดำเนินคดีกับเจ้าของโกดัง บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) และโรงสีข้าว ที่ทำข้าวขาดหายไปจากบัญชีด้วย สำหรับปริมาณข้าวที่หายไป 9.4 แสนตันนั้น หากคิดมูลค่าจากราคาที่รับจำนำเข้ามาตันละประมาณ 2.4 หมื่นบาท จะมีมูลค่าสูงถึง 2.256 แสนล้านบาท.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"