ระวังเครื่องจักรแย่งงาน


เพิ่มเพื่อน    

          ในยุคเทคโนโลยีก้าวหน้า เครื่องจักรถูกนำมาใช้แทนแรงงานคนมากมาย ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นโรบอท หรือเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) ถูกนำมาประยุกต์ใช้แทนแรงงานคนมากขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายมนุษย์ก็จะถูกเตะออกจากระบบงาน เพราะไม่ขยันเท่าคอมพิวเตอร์ และค่าจ้างแพงกว่า

                ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง คนที่ตกงานก็จะกลายเป็นปัญหาสังคมอย่างแน่นอน

                เรื่องนี้ ทางพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ก็ยอมรับบนเวทีครบรอบปีที่ 8 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า ว่า เรื่องของแรงงานคนกำลังจะเป็นปัญหาในอนาคต หากงานถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร ซึ่งทางกระทรวงดีอีก็พยายามหาทางช่วยเหลือในจุดนี้ เพราะเชื่อแน่ว่าปัญหานี้จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว

                ก่อนหน้านี้มีผลการศึกษาของสถาบันระหว่างประเทศแมคเคนซี ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาระบุว่า ภายในปี 2030 จะมีคนตกงาน 800 ล้านตำแหน่ง เนื่องจากถูกหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ หรือคิดเป็นผลกระทบต่อคนประมาณ 1 ใน 5 ของตลาดแรงงานโลก โดยข้อสรุปนี้มีที่มาจากการเก็บข้อมูลของกลุ่มตัวอย่าง 800 อาชีพ ใน 46 ประเทศ

                รายงานระบุด้วยว่า 1 ใน 3 ของแรงงานในประเทศร่ำรวย เช่น เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา อาจต้องเข้ารับการฝึกทักษะใหม่เพื่อให้ประกอบอาชีพอื่นได้ โดยผู้ที่ทำงานควบคุมเครื่องจักร และแรงงานในอุตสาหกรรมอาหาร จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ส่วนประเทศที่ยากจนกว่า ซึ่งมีเงินลงทุนกับเทคโนโลยีอัตโนมัติน้อย จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เช่น อินเดียจะมีตำแหน่งงานประมาณร้อยละ 9 ที่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่

                เห็นชัดเจนว่า ปัญหาเรื่องมนุษย์ถูกเขี่ยออกจากงานไม่ใช่เรื่องล้อเล่น และมีบางประเทศในยุโรปก็มีการคิดระบบสวัสดิการ ประกันรายได้ให้ประชาชน ไม่ว่าจะทำงานหรือไม่ทำงานก็ตาม เพราะมองเห็นแล้วว่า หากปล่อยให้คนในประเทศเตะฝุ่น จะกระทบกระเทือนกับระบบเศรษฐกิจทันที เพราะหุ่นยนต์ไม่บริโภคสินค้า ดังนั้นหากคนไม่มีรายได้ ก็ไม่มีการซื้อของ และสุดท้ายก็จะไม่มีการผลิต ก็จะล้มกันไปเป็นลูกโซ่

                กลับมาที่ประเทศไทยกันบ้าง ล่าสุดทางสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย โดยนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาฯ ระบุว่า ตอนนี้ในแวดวงอุตสาหกรรมก็มีการตื่นตัวเรื่องโรบอทกันมากขึ้น ซึ่งก็อาจจะส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยในปัจจุบันและอนาคต

                ทางสภาฯ จึงเร่งรวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อประเมินผลกระทบ เพื่อจะได้ให้เห็นถึงแนวโน้มและมาตรการรับมือต่อไป

                ทั้งนี้ จากการเปิดระดับรับฟังความคิดเห็นในเบื้องต้นพบว่า มีแนวโน้มภาคธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนด้วยการนำเทคโนโลยี ระบบหุ่นยนต์ แขนกล ระบบอัตโนมัติมาใช้ในภาคการผลิตและบริการมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้น แม้แต่รายกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) จำนวนมากก็เริ่มหันมาติดตั้ง ซึ่งในส่วนนี้จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจะสะสมมากขึ้น

                "เบื้องต้นธุรกิจต่างชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบันที่ต้องดึงเทคโนโลยีเข้ามาปรับเปลี่ยน เช่น ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งกำลังลดกำลังคน เพราะหันไปใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแทน เช่น อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ฯลฯ ทำให้สาขาธนาคารจะถูกยุบ ซึ่งขณะนี้มีผลกระทบแล้ว และอนาคตการขยายสาขาก็จะน้อยมากหรือแทบไม่มีห้างสรรพสินค้า ส่วนใหญ่เริ่มหันมาใช้ระบบค้าออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซมากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจใหญ่ๆ ที่เน้นใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาทดแทนแรงงาน เป็นต้น" นายธนิตกล่าว

                จากปัจจัยดังกล่าวจะทำให้แรงงานจบใหม่หางานยากขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบว่าผู้ที่จบการศึกษาที่เข้าสู่ตลาดแรงงานตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรีในปี 2560 มีทั้งหมด 6.4 แสนคน โดยพบว่าเป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสูงสุดจำนวนกว่า 3.4 แสนคน และส่วนใหญ่ผู้ที่จบระดับปริญญาตรี 62% เป็นผู้ที่จบปริญญาตรีสายสามัญที่ตลาดแรงงานส่วนใหญ่มีความต้องการน้อย ดังนั้นหากพิจารณาเบื้องต้นก็จะเห็นว่า หากไทยไม่ปรับตัว โดยเฉพาะภาคการศึกษาอาจจะประสบปัญหามากขึ้นในระยะยาว

                เห็นเทรนด์แบบนี้รู้สึกน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ ว่า คนเราจะปรับตัวได้หรือไม่ และประเทศไทยพร้อมหรือยังที่จะฝึกคนให้มีทักษะใหม่ๆ ที่คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องจักรทำไม่ได้ เพราะนับวันคอมพิวเตอร์ยิ่งฉลาดขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศเขาเตรียมพร้อมกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฝึกอบรมการใช้คอมพิวเตอร์ หรือการพัฒนาอาชีพอื่นๆ ที่คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ซีเรียส และควรมีการตั้งรับกันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง.

 

  ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"