เดินหน้าพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ แก้ปัญหาถูกละเมิดสกัดความรุนแรง


เพิ่มเพื่อน    

ในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว  รัฐบาลโดยภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างแข็งขัน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพ  ป้องกันไม่ให้คนสูงวัยถูกทอดทิ้ง ส่งเสริมการงานที่เหมาะสมให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน ร่วมทั้งแก้ไขการถูกละเมิดสิทธิต่างๆให้ลดลง

เมื่อเร็วๆนี้  ที่โรงแรมแมนดาริน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวปัจฉิมกถา เรื่อง สิทธิของผู้สูงอายุไทยต้องก้าวไกลให้ทันการเปลี่ยนแปลง ในเวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง สิทธิของผู้สูงอายุไทยในสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ว่า จากการศึกษาวิจัยสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิต่อผู้สูงอายุไทย พบว่าปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งคือ ปัญหาความรุนแรงด้านจิตใจ โดย 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุให้ข้อมูลว่า เคยถูกกระทำรุนแรงด้านจิตใจ เช่น พูดไม่ดี ทะเลาะ ทำให้เสียใจ น้อยใจ

อันดับที่ 2 คือ การทอดทิ้ง ไม่ดูแล สอดคล้องกับข้อมูลสถิติจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม (1300) พบปัญหาผู้สูงอายุขาดผู้ดูแล เพิ่มเป็น 10 เท่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งปัญหาลูกหลานดูแลผู้สูงอายุไม่ไหว และสถานสงเคราะห์ของผู้สูงอายุมีจำนวนจำกัด

 สำหรับปัญหาความรุนแรงอันดับ 3 คือการเอาประโยชน์ในด้านทรัพย์สิน โดยคนในครอบครัวหรือคนภายนอก หรือถูกหลอกให้ทำธุรกรรมต่างๆ เช่น ถูกหลอกให้ซื้อสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ หลอกให้ทำธุรกรรม จาก 70 ราย ในปี 2548 เพิ่มเป็น 700 ราย ในปี 2559 จะเห็นได้ว่าขนาดของปัญหาเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า

พล.อ.อนันตพร กล่าวต่อว่า อันดับที่ 4 คือปัญหาความรุนแรงในการทำร้ายร่างกาย ซึ่งมักพบปัญหานี้จากการนำเสนอของสื่อ คนที่ทำร้ายร่างกายมักเป็นคนใกล้ตัว ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่พบว่าผู้ทำร้ายมีปัญหาสุขภาพจิต หรือติดสุรา สารเสพติด เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และอันดับ 5 คือความรุนแรงทางเพศ ถูกล่วงละเมิดทางเพศซึ่งถูกกระทำโดยคนใกล้ชิดในครอบครัว หรือในชุมชน และมักเกิดกับผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวลำพัง

นอกจากนี้การศึกษาปัญหาและความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุพบว่าจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของผู้สูงอายุ คือ เมื่อสูญเสียคู่ครองหรือสมาชิกในครอบครัว เมื่อเจ็บป่วยจนต้องอยู่ในสภาวะพึ่งพิง และเมื่อเกิดอาการโรคสมองเสื่อม

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์การเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในการเตรียมความพร้อมรับมือ ทั้งการสร้างความรู้ ทำให้สังคมเกิดความตระหนักรู้และเกิดการเตรียมความพร้อม เพื่อให้เกิดข้อเสนอ แนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และคุ้มครองพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ ตลอดจนเกิดการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ ทั้งในการด้านสภาวะทางกายและใจ และการจัดการทรัพย์สินตลอดจนด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถนำไปสู่การรองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ และสังคมสูงอายุระดับสุดยอดของประเทศไทยในอนาคต   

“การจัดเวทีครั้งนี้ได้นำเสนอข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์และความจำเป็นในการสร้างระบบ มาตรการ กลไกเพื่อการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนแนวทาง/ ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิจากการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9)  สสส. กล่าว

ดร.ภัทรพร คงบุญ ผู้จัดการชุดโครงการการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มสผส.) กล่าวว่า ข้อเสนอเพื่อป้องกันปัญหาผู้สูงอายุถูกละเมิด และการจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุ จากผลวิจัย “การศึกษาปัญหาและความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิ และประเมินสถานการณ์เพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ” ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ  พบว่า เหตุผลที่ไทยจำเป็นต้องมีผู้ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ มาจากการที่ผู้สูงอายุจำนวนมากถูกละเมิดสิทธิ์  ผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิฯสามารถจะช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ไม่ให้เกิดในอนาคต

สำหรับนิยามของผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิฯ คือผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ให้สามารถดำเนินกิจกรรมประจำวันได้ปรกติตามอัตภาพ คุ้มครองไม่ให้ถูกละเมิด หรือได้รับประโยชน์ตามสิทธิที่ควรได้ ทั้งสิทธิส่วนบุคคล  การรักษาพยาบาล  เบื้องต้นมุ่งเน้นไปที่การให้สมาชิกครอบครัวทำหน้าที่นี้เป็นลำดับแรก เพราะเชื่อว่าผู้สูงอายุต่างต้องการอยู่ร่วมกับครอบครัว เพื่อใช้ชีวิตในช่วงท้ายอย่างมีความสุข

โดยผลวิจัยเสนอให้เกิดระบบการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ ควรดำเนินการไปพร้อมกับการป้องกันอันตราย และการรักษาผลประโยชน์ ขณะเดียวกันควรมีการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิ กฎหมาย และการถูกละเมิดสิทธิผ่านสื่อสาธารณะ ซึ่งจะทำให้เพื่อนบ้านเข้าใจการถูกละเมิดสิทธิและสามารถทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ผู้สูงอายุ รวมถึงควรจัดบุคลากรรัฐไปให้คำปรึกษาด้านสิทธิและกฎหมาย ป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบด้านทรัพย์สิน

มั่นใจได้ว่าด้วยแนวทางดังกล่าวนี้  โดยเฉพาะการการทำหน้าที่ของผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ ที่อยู่ในครอบครัว จะช่วยให้ปัญหาการถูกละเมิดสิทธิของวัยเก๋าลดลง

 

เปิดศูนย์เรียนรู้สุขภาวะนครสวรรค์

ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย นางสาวจันทร์ทิพย์ สินธุวงษานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค” จ.นครสวรรค์

          ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ถือเป็นแหล่งเรียนรู้สุขภาวะแห่งหนึ่งในประเทศ ทำหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาวะองค์รวม ทั้ง 4 มิติ กาย ใจ สังคม และปัญญาแก่ประชาชน ตลอดระยะ 6 ปีที่ผ่านมามีผู้เข้าใช้บริการ กว่า 30 ล้านคน และได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ จัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค” ขึ้น ในครั้งนี้ สสส. ได้มีการขยายพื้นที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์ เป็น “ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค” แหล่งที่ 6 และจะขยายเพิ่มอีก 2 จังหวัด คือ ภูเก็ตและน่าน ภายในเดือนมีนาคม ปี 2561

          “เป้าหมายของ “ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค” คือ สนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้านสุขภาวะ การเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสุขภาวะภายใต้การดำเนินงานตามภารกิจของ สสส. เพื่อพัฒนาแนวคิด ต่อยอดกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์ ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบด้านสุขภาวะที่มีชีวิต ให้แก่เด็ก เยาวชน ครอบครัว และชุมชนในพื้นที่ เน้นการบูรณาการเครือข่ายต่อยอดการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการปรับทัศนคติ และพฤติกรรมไปสู่การมีสุขภาวะอย่างยั่งยืนได้ด้วยตนเอง ขยายสู่คนรอบข้างและสังคมวงกว้างอย่างแท้จริง พร้อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบุคคล องค์กร และสังคมส่วนรวมต่อไปอีกด้วย” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวเพิ่ม

          นางสาวจันทร์ทิพย์ สินธุวงษานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์ กล่าวว่าศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์ มีความพร้อมที่จะร่วมมือกับ สสส. จัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค” ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการสร้างการเรียนรู้ที่ดีให้แก่เด็ก เยาวชน ครอบครัว และชุมชน พร้อมเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัย บุคลากรมีความคิดสร้างสรรค์ และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย โดยเน้นการกระจาย องค์ความรู้ให้เครือข่ายต่างๆ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตร ตาก และเพชรบูรณ์ และมีการออกแบบกิจกรรมที่เหมาะกับการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละช่วงวัย ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์ ยินดีที่จะพัฒนา สนับสนุนและให้ความร่วมมือกับ สสส. ขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายผู้เข้าใช้บริการ 100,000 คนต่อปี

          “ขอเรียนเชิญประชาชนชาวจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง ร่วมใช้บริการ “ศูนย์เรียนรู้ สุขภาวะภูมิภาค” และเผยแพร่ข่าวสารผ่านกลุ่มประชาชนในพื้นที่และตำบลใกล้เคียง หากประชาชนท่านใดสนใจเข้าร่วมเรียนรู้หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 056 256 522 หรือ Facebook ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์” นางสาวจันทร์ทิพย์ กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"