พระมหากรุณาธิคุณ หนองอึ่งฯ พัฒนา-แก้ปัญหาน้ำท่วมชาวยโสธร


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     แม้อดีตพื้นที่หนองอึ่ง ต.ค้อเหนือ อ.เมืองยโสธร จ.ยโสธร จะเป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปีในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและสร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎร 7 หมู่บ้านโดยรอบ ทั้งหมู่บ้านแจ้งน้อย บ้านคำน้ำสร้าง บ้านท่าเยี่ยม ฯลฯ พื้นที่ทำกินปลูกข้าวนาปีของชาวบ้านได้รับความเสียหาย เส้นทางสัญจรถูกตัดขาด และมีน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคช่วงแล้ง เป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องบุกรุกป่าเพื่อความอยู่รอด สร้างที่อยู่อาศัย ทำไร่เลื่อนลอย ตัดไม้มาทำฟืน จนป่าเสื่อมโทรม

 

อดีตเกิดอุทกภัยซ้ำซาก ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ร.10 ปัญหาน้ำท่วมหมดไป

    แต่ในวันนี้หนองอึ่งเปลี่ยนไป กลับกลายเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีผลผลิตทางการเกษตรที่สร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้อย่างมากมาย ภาพน้ำท่วม ไร่นาเสียหายไม่มีให้เห็นอีกแล้ว ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงพระราชดำริให้พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่หนองอึ่งโดยรวม ขุดลอกหนองอึ่งเพื่อเป็นแหล่งน้ำทำการเกษตรและขยายพันธุ์ปลา พัฒนาปรับปรุงพื้นที่ สภาพดินโดยปลูกต้นไม้และหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้าง พังทลายของดิน และฟื้นฟูสภาพป่าโดยรอบหนองอึ่ง เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูลกัน
    เป็นพระราชดำริเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเยี่ยมราษฎรผู้ประสบอุทกภัยซ้ำซาก ณ โรงเรียนบ้านคำน้ำสร้าง ต.ค้อเหนือ เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2543 เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร 
      ความสำเร็จของโครงการพระราชดำริ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระได้พาเยี่ยมชมโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในรัชกาลที่ 10 ชมความสำเร็จจากการน้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้ ส่งผลให้ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้ มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา จนสามารถพึ่งพาตนเองได้แบบยั่งยืน  เป็นแบบอย่างที่ดีจากการที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10  ทรงตั้งปณิธานไว้ว่า จะทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวทางของในหลวง รัชกาลที่ 9     
     นายสมศักดิ์ ทวินันท์ หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง เล่าว่า หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงพระราชดำริให้แก่ชาวยโสธร ยโสธรจึงได้มีการพัฒนาในหลายๆ ด้าน จนก่อให้เกิด 'โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ 10' โดยได้มีการยกพื้นถนนทางเข้าหนองอึ่งขึ้น 1 เมตรเพื่อการสัญจรไปมาสะดวก และหลีกเลี่ยงน้ำท่วม พร้อมทั้งขุดลอกหนองอึ่งให้กลายเป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน สามารถทำนา ทำการเกษตรได้อย่างทั่วถึง และได้มีการจัดโซนให้พี่น้องได้ทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงด้วย  

 

ฟื้นฟูป่าชุมชนดงมัน 3,006 ไร่ เป็นคลังอาหาร สร้างรายได้ชุมชน
 

    ภายหลังการขุดลอกหนองอึ่งเป็นแหล่งน้ำแล้ว ยังปรับสภาพป่าบริเวณป่าดงมันพื้นที่ 3,006 ไร่ อดีตมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้ ของป่านานาชนิด แต่โดนบุกรุก แผ้วถางยึดถือครอบครองพื้นที่จนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมกว่า 1,500 ไร่ 
    หัวหน้าโครงการเล่าว่า ได้ประชาคมชาวบ้าน 7 หมู่บ้านรอบโครงการ ขอคืนพื้นที่ป่าเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟู ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชุมชนอย่างดี ต่อมาปี 2546 ป่าชุมชนดงมันก็เริ่มกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ก็ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชตระกูลวงศ์ยางเพื่อให้มีเห็ดเกิดขึ้น เพราะว่าเชื้อเห็ดชอบอยู่ในรากของพืชชนิดนี้ จำพวกเห็ดเพาะ เห็ดตะไค เป็นเห็ดที่มีความสำคัญกับระบบรากของไม้วงศ์ยาง  ต้องพึ่งพิงกับต้นไม้ เห็ดช่วยดึงธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ซับน้ำ อาหารให้ต้นไม้ ส่วนต้นไม้ก็จะคายสารบางอย่างมาสู่เห็ด ทำแล้วป่าดงมันกลับมาสมบูรณ์ และได้มีการปลูกไม้ท้องถิ่น ยางนา พะยอมด้วย ฟื้นฟูตั้งแต่ พ.ศ.2544 สภาพคืนมาเกือบ 90% แล้ว ไม่มีบุกรุกอีก เป็นการสร้างป่าชุมชนด้วยความสามัคคีของชาวบ้าน สนองพระมหากรุณาธิคุณ ทำให้ชาวบ้านโดยรอบ 7 หมู่บ้านมีรายได้จากการเก็บหาของป่าขายไม่ต่ำกว่าปีละ 3 ล้านบาท ปัจจุบันพื้นที่โครงการได้ขยายผลการใช้ประโยชน์ร่วมกันไปทั้ง ต.ค้อเหนือ แล้วทั้งหมด 15 หมู่บ้าน 2,036 ครัวเรือน
     นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า ของป่าหลักๆ ที่ชาวบ้านเก็บได้ มีเห็ดโคน เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไค เห็ดก่อ เห็ดปลวกไก่น้อย แมงอีนูน ไข่มดแดง มันป่า แต่ที่โดดเด่นคือ เห็ดโคน ดอกมีขนาดใหญ่และยาว ชาวบ้านเรียกว่า “เห็ดโคนหยวก” ในแต่ละปีเก็บจากป่าดงมันได้ 5-6 ตัน นอกจากนี้ โครงการยังได้วิจัยร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม พัฒนาเทคนิคเพาะกล้าไม้โดยปลูกเชื้อเห็ดป่าลงไปด้วย เรียกว่า ‘นวัตกรรมการปลูกเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาในกล้าไม้วงศ์ยาง จะทำให้กล้าไม้มีคุณสมบัติทนแล้ง เติบโตได้ดีในพื้นที่วิกฤติ เพื่อเป็นแหล่งอาหารสำหรับชุมชนในอนาคต ที่สำคัญทำให้คนรักที่จะปลูกไม้วงศ์ยางมากยิ่งขึ้น เป็นการสนองแนวพระราชดำริในเรื่อง ‘ปลูกป่าในใจคน’ และการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ยางนาเมื่อนำไปปลูกจะได้เห็ดเพิ่มขึ้นด้วย ขณะนี้ขยายผลการทดลองสู่แปลงสาธิตในหลายพื้นที่ จ.ยโสธร อนาคตจะขยายทั้งจังหวัด ทำให้ยโสธรเป็นแปลงเพาะกล้ายางนาที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ปัจจุบันสามารถผลิตได้ปีละ 3 แสนกล้า หากจังหวัดไหนสนใจยินดีสนับสนุน
         “เมื่อมีการฟื้นฟูป่าชุมชนดงมัน 3,006 ไร่ จนสมบูรณ์แล้ว พบว่าบริเวณดินทรายของป่าดงมันมีเชื้อเห็ดปริมาณหลากหลายชนิด ปี 60 มีเห็ดโคนออกมามาก ชาวบ้านเก็บได้ 6 ตันในช่วงเดือน พ.ค. ถึง ก.ย. มีรายได้ทั้งชุมชนถึงราว 3-4 ล้านบาท โครงการนี้ทำให้คนกับป่าพึ่งพาอาศัยกันอย่างเกื้อกูล เทียบกับในอดีตจะอยู่บ้านใครบ้านมัน หาตัวผู้นำไม่ค่อยเจอ ตอนนี้โครงการพระราชดำริที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.10 ทรงพระราชดำริ กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ที่คนในชุมชนสามารถพูดคุยแก้ปัญหาร่วมกันและสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน” หัวหน้าโครงการกล่าว

ชาวค้อเหนือ จ.ยโสธร โชว์ผลผลิตจากการเกษตรผสมผสานและป่าดงมัน 


      ปัจจุบันชาวบ้านไม่ได้มีรายได้แค่เก็บของป่าเพียงอย่างเดียว มีการแปรรูปอาหารจากป่าชุมชนดงมันภายใต้ “สหกรณ์การเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในนาม “วนาทิพย์ โอท็อปชุมชนคนรักษ์ป่า” และยังได้รับการคัดสรรเป็นโอท็อประดับ 5 ดาวของยโสธรในปี 52 จวบจนปัจจุบัน เราได้เยี่ยมชม
     นางอ่อนจันทร์ ลำมะนา สมาชิกสหกรณ์การเกษตรในโครงการ กล่าวว่า สมาชิกมีกว่า 60 คน เกิดจากการรวมตัวกันของคนในชุมชนที่ว่างจากการทำนา มาร่วมกันเก็บผลผลิตการเกษตรในพื้นที่ป่าดงมันเพื่อนำส่งไปขายยังตลาด และส่งให้กับผู้รับซื้อรายต่างๆ ที่ต้องการ เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์พระราชินีใน ร.9 ช่วยเหลือดูแลเรื่องปากท้องของราษฎรให้อยู่ดีกินดีขึ้น และสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยการฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูลกัน ผลผลิตส่วนใหญ่จะเป็นเห็ด  หน่อไม้ ไข่มดแดง และของป่าอื่นๆ หมุนเวียนกันออกมาทำให้ชาวบ้านหาของป่าได้ทั้งปี โดยเฉพาะเห็ดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ท็อปของแบรนด์วนาทิพย์ เช่น เห็ดเผาะในน้ำเกลือ เห็ดโคนในน้ำเกลือ ไข่มดแดงในน้ำเกลือ ฯลฯ ส่วนรายได้ของสมาชิกขึ้นอยู่กับปริมาณที่ขายได้ บางครั้งก็ 3,000-4,000 บาทต่อคน หรือ 20,000-30,000 บาทต่อคนต่อปี  
       นอกจากการเกษตรแล้ว เรื่องประมงก็โดดเด่น นายสุบิน แสนสุข ชาวบ้านท่าเยี่ยมอยู่ใกล้หนองอึ่ง กล่าวว่า ชาวบ้านที่นี่มีอยู่มีกินจากการเพาะเลี้ยงปลา ทั้งในกระชัง เลี้ยงกุ้ง ไก่ไข่ ทั้งยังมีศูนย์ประมงน้ำจืดเพื่อปากท้องของครอบครัวและส่งไปให้กับผู้รับซื้อ อาชีพประมงไม่รวย แต่ก็ไม่จน แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว 
     เช่นเดียวกับนางบุญชู คำหอม ผู้ปลูกเกษตรผสมผสานได้ใช้ประโยชน์จากหนองอึ่ง กล่าวว่า ตนปลูกพืชผักสวนครัวอยู่หลายชนิด ทั้งมะละกอ กล้วย มะเขือ พริก ตะไคร้ ร่วมกับเพื่อนๆ เกษตรกรที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสาน หากได้ผลผลิตก็รวบรวมไปขายที่ตลาดอินทรีย์ยโสธรทุกวันอังคารถึงศุกร์ ผักแต่ละชนิดปลอดสารพิษ  ตอนนี้พออยู่พอกินต่างจากเมื่อก่อนเป็นหนี้สิน ทุกข์ยาก ตนเคยไปทำงานแถบภาคตะวันออก ย้ายงานประจำ เพราะไม่สบายใจ พอกลับบ้านได้ทำการเกษตร มีรายได้ทุกวัน แม้จะไม่ใช่จำนวนมาก แต่ก็มีกินและไม่ต้องซื้อ 
      “ชีวิตที่ไม่ต้องรวยมากคือ ชีวิตที่มีความสุข อยากจะให้คนทั่วประเทศได้ทำตาม นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ไม่เช่นนั้นต้องหาเช้ากินค่ำ อยู่แบบอดอยาก" นางบุญชูกล่าวด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"