"ประเพณีบุญคูณลาน สู่ขวัญข้าว ยโสธร" แสดงพลังยิ่งใหญ่ข้าวไทยในสายตาชาวโลก             


เพิ่มเพื่อน    

   

เกวียนโบราณประดับตกแต่งรวงข้าวสวยงามตามวิถีอีสาน


       ครั้งแรกที่งานบุญคูณลาน ตำนานข้าวอินทรีย์ วิถีวัฒนธรรมยโสธร  ประเพณีที่สืบสานยาวนานและมีสำคัญต่อวิถีชีวิตชาวนาที่เปรียบเหมือนกระดูกสันหลังของชาติ   จะได้รับการพัฒนาและยกระดับ ให้เป็นงานวิถีอีสานที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศ  โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมมือร่วมใจกับจังหวัดยโสธร จังหวัดที่มีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมประเพณี  เพราะมีทั้งงานบุญบั้งไฟยโสธรที่จัดยิ่งใหญ่ทุกปี และจัดเป็นเฟสติวัลที่ติดอันดับต้นๆของโลกไปแล้ว


     ปีนี้ชาวยโสธร เชิญชวนไปดูประเพณีบุญคูณลานที่อ.กุดชุม จ.ยโสธร  เป็นประเพณีที่อนุรักษ์ สืบสาน สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน  ที่มีการพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันของแต่ละท้องถิ่น ผสมผสานความเชื่อระหว่างพระพุทธศาสนาและลัทธิพราหมณ์อย่างกลมกล่อม ในเดือนมกราคม (เดือนยี่)นี้  นับเป็นงานบุญใหญ่ ที่เป็นสิริมงคลแก่นาข้าวและลานข้าวหลังการเก็บเกี่ยว  เตรียมเปิดให้ผู้คนทั่วไปเที่ยวชมและร่วมประเพณีบุญคูณลานร่วมกัน


    ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวในการแถลงข่าว “โครงการพัฒนาและยกระดับงานสืบสานประเพณีบุญคูณลาน ตำนานข้าวอินทรีย์ วิถีวัฒนธรรมยโสธร ประจำปี 2563 ว่า จากการที่รัฐบาลส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์เกิดเป็นค้าและบริการ  ได้แก่ อาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น มวยไทย และเทศกาล ประเพณี สร้างรายได้เข้าประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ประเพณีไทยเป็นที่รู้จักทั้งในระดับชาติ และนานาประเทศ  วธ. จึงร่วมกับ จ.ยโสธร ส่งเสริมให้ประเพณีบุญคูณลานของชาวอ.กุดชุม ที่สืบทอดประเพณีฮีต 12ชาวอีสานให้คงอยู่  โดยงานมีขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 20  ม.ค. ณ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอกุดชุม


        " ประเพณีบุญคูณลาน เรียกว่า “บุญกุ้มข้าวใหญ่”  หรือ “บุญคูณข้าว” มีการสืบสานในพิธีทำบุญเพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่นาข้าวและลานข้าวหลังการเก็บเกี่ยว ถือเป็นพิธีที่มีความสำคัญต่อชาวนาและคนในชุมชน  เป็นต้นแบบในการสืบสานวัฒนธรรมประเพณี มีการจัดกิจกรรมในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งพิธีบูชาพระแม่โพสพ ขบวนแห่ผีตาแอก ขบวนแห่กุ้มข้าวใหญ่ และกิจกรรมพาแลง ในส่วน วธ.จะสนับสนุนในงานดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักเป็นงานระดับประเทศเทียบเท่ากับงานบุญบั้งไฟพญานาค เพื่อให้เป็นที่รู้จักของคนไทยและต่างชาติมากยิ่งขึ้น  " ปรเมศว์ร กล่าว

ยกขบวนแห่สืบสาน”บุญคูณลาน ตำนานข้าวอินทรีย์ วิถีวัฒนธรรมยโสธร” มาไว้ที่ วธ.


      ดินแดนอีกสานถือว่ารุ่มรวยด้วยวัฒนธรรม ซึ่งในงานประเพณีบุญคูณลาน สู่ขวัญข้าว ประกอบด้วยพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าว การประกวดกลองยาวระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือและระดับจังหวัด การสาธิตขบวนแห่เกวียนโบราณพร้อมรีวิวประกอบ ขบวนตำนานข้าวอินทรีย์ สามารถถ่ายภาพได้อย่างงดงาม ที่น่าสนใจไม่แพ้กันกิจกรรมวิถีอีสานที่มีเอกลักษณ์   ได้แก่ การแข่งขันตีข้าว หุงข้าว  บีบข้าวปุ้น  ส้มตำ ตำข้าว ดีดพิณ  เป่าแคน  เป่าโหวต  จนถึงการเล่น"สะนูว่าว" หรือธนูว่าว  เป็นเครื่องเล่นประกอบว่าว ชาวอีสานนิยมเล่นช่วงหน้าหนาว หลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จหนุ่มนาบ้านทุ่งจะเตรียมทำสะนูว่าว เพื่อปล่อยขึ้นให้ลอยบนท้องฟ้า เมื่อมีลมพัดผ่านใบสะนูจะเกิดเสียงฟังเหมือนดนตรีฝากไปยังสาวนาที่หมายปอง


    ความยิ่งใหญ่อลังการยังไม่หมด มีการแสดงแสง สี เสียง ขบวนนางรำเซิ้งหน้าขบวนแห่เกวียนโบราณ และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคอีสาน  โดยจะมีพิธีเปิดงานวันที่ 18 ม.ค.นี้  รับรองคึกคัก คาดว่า จะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานร่วมสืบสานประเพณีและอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่

รำออนซอนอีสาน การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านน่าชม


       ด้าน มงคล ชื่นตา รองนายกเทศมนตรี อ.กุดชุมพัฒนา จ.ยโสธร  กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ ได้รวบรวมชุมชนท้องถิ่นจาก 128 หมู่บ้านของ อ.กุดชุม ซึ่งได้ชื่อว่ามีเอกลักษณ์ผ้าทอสีธรรมชาติพื้นเมือง ผลไม้ขึ้นชื่ออย่างมะขามหวาน แก้วมังกร ลองกอง โดยเฉพาะการเป็นแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์ธรรมชาติที่มีกว่า 300 สายพันธุ์  ผู้มาร่วมงานจะได้เห็นความรักความสามัคคีของคนในชุมชน มาสร้างสรรค์ขบวนเกวียนประดับตกแต่งด้วยข้าวอินทรีย์จำนวน 10 เล่ม มี ปราสาทรวงข้าวที่ยิ่งใหญ่กลางงานสุดตระการตาโดยใช้รวงข้าวประดับมากถึง 2 ล้านกำตามประเพณีฮีต 12  โดยคนในชุมชนใช้เวลาตกแต่งนานกว่า 2 เดือน ที่จะได้เห็นกันในวันเปิดงาน   พร้อมกับขบวนเซิ้งมีนางรำจากหมู่บ้าน ต่างๆ แต่งกายด้วยผ้าทอพื้นเมืองกว่า 400 คนที่จะมาร่ายรำเซิ้งบั้งไฟ ได้แก่ ขบวนแสดงตำนานข้าวอินทรีย์  ,ขบวนผีตาแฮก ,ขบวนบูชาข้าว ,ขบวนกุ้มข้าวใหญ่ ,ขบวนสู่ขวัญข้าว ,ขบวนพระแม่โพสพ ,ขบวนข้าวอินทรีย์ ,ขบวนผ้าฝ้าย ผ้ายกดอก ,ขบวนทอเสื่อกก และขบวนผลไม้ และธัญพืชอินทรีย์ ของดีชุมชน  

เที่ยวชมประติมากรรมหุ่นฟาง งานศิลปะสร้างสรรค์จากวิถีชาวนา

                " การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการปีที่ 3  ปีนี้จะมีการเชิญทูตการค้าระหว่างประเทศมาร่วมดูงานให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของการรวมพลังของคนในท้องถิ่นในการส่งเสริมการส่งออกข้าวไปยังทวีปต่างๆ ที่ผ่านมาถือว่า อ.กุดชุม พัฒนาเป็นแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์ของไทยส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่าปีละ 50 ล้านบาท หากประเพณีดังกล่าวเป็นที่รับรู้ของคนทั่วโลกจะช่วยสร้างภาพลักษณ์การเป็นผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ที่มีศักยภาพของโลก รวมถึงยังเชื่อมโยงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของคนในชุมชน เช่น หมู่บ้านโอทอปนวัตวิถี  กลุ่มเกษตรกรโคขุน ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ เป็นการกระตุ้นท้องถิ่นและระดับประเทศ " มงคล กล่าว

เรียนรู้การตีข้าว ในงานจัดแข่งขันตีข้าว

            การสืบสานภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ ถวาย สุขบัติ กำนันตำบลหนองหมี อ.กุดชุม จ.ยโสธร ชาวบ้านหนองหมี จ.ยโสธร  กล่าวว่า  ประเพณีบุญคูณลาน เป็นประเพณีเก่าแก่สืบทอดมาแต่รุ่นปู่ย่าตายาย เป็นงานบุญเดือนสาม เกิดจากความสามัคคีของชุมชน นัดหมายกันเอาข้าวเปลือกมาทำบุญร่วมกัน มากองเป็นเป็นกุ้มข้าวใหญ่ หรือเจดีย์ข้าว  เพื่อเป็นการรำลึกพระคุณพระแม่โพสพและสร้างขวัญกำลังใจชาวนา    เดิมจะเอาข้าวเปลือกครัวเรือนละ 1- 2 กระสอบ  ถวายวัดในหมู่บ้าน ต่อมาเพิ่มจัดงานบุญคูณลานใหญ่ 128 หมู่บ้าน  เอาข้าวสารมาทำบุญกันที่อำเภอ นิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพระพุทธมนต์ เป็นวิถีวัฒนธรรมยโสธรที่สวยงามมีเอกลักษณ์ วันงานมีขบวนเกวียนประดับรวงข้าวจากแต่ละหมู่บ้าน ชุมชนเตรียมงานกันเป็นเดือนเป็นประเพณีสำคัญ     

การประดับตกแต่งตุงทำจากรวงข้าว ที่จะปรากฎโฉมในงานจริง

 

          " อำเภอกุดชุมไม่เพียงสืบสานวัฒนธรรม แต่ยังเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็นเป็นสุขต้นแบบ นำวิถีธรรมชาติและวิถีชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหลวง ร.9 มาใช้ ทั้งในระดับบุคคล ครัวเรือน และชุมชน  ชาวบ้านได้ทำกิจกรรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต ปลูกจิตสำนึกตามรอยพ่อ  นอกจากทำนา ก็มีการปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกแตงโม การเลี้ยงกบ ไก่พื้นเมืองเป็นอาหาร  ลดรายจ่าย รวมถึงลดต้นทุนด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์  น้ำหมักชีวภาพที่ทำใช้เอง ไม่ใช้สารเคมีในการเกษตร มีการตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกข้าว ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวหอมมะลิแดง ขายทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้แก่ชุมชน " กำนันถวาย กล่าวด้วยรอยยิ้ม พร้อมเชิญชวนชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมงาน"บุญคูณลาน ตำนานข้าวอินทรีย์ วิถีวัฒนธรรมยโสธร" วันที่ 16-20 ม.ค.นี้ ที่ จ.ยโสธร

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"