ทุ่มแสนล.ผุดไฮสปีดใต้ นักวิชาการหวั่นหนี้ท่วม


เพิ่มเพื่อน    

    รฟท.ทุ่มลงทุนแสนล้าน ลุยรถไฟทางคู่-ไฮสปีด-ถนน ขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจใต้ รองรับไทยแลนด์ริเวียร่า "ศรีสุวรรณ" ขู่ฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตฯ บี้รัฐบาลแก้ทีโออาร์รถไฟเชื่อม 3 สนามบินเอื้อเอกชน 
    เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้(Southern Economic Corridor : SEC) เพื่อรองรับการลงทุนควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมการท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันตก (ไทยแลนด์ริเวียร่า) ว่า รฟท.มีแผนลงทุนรถไฟทางคู่สายใต้วงเงินลงทุนนับแสนล้านบาท แบ่งเป็นโครงการรถไฟทางคู่เฟส 1 วงเงินลงทุน 3.38 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง ประกอบด้วย รถไฟทางคู่นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.56 หมื่นล้านบาท,  รถไฟทางคู่หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. วงเงิน 5.8 พันล้านบาท, รถไฟทางคู่ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 1.24 หมื่นล้านบาท โดยทั้ง 3  เส้นทางจะสามารถเปิดบริการได้ในปี 2563-2564
    ส่วนโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 ซึ่งจะเริ่มทยอยเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในปี 2561-2562 ก่อนดำเนินการถอดแบบร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) และเปิดประมูลโครงการต่อไป ประกอบด้วย รถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 2.33 หมื่นล้านบาท และรถไฟทางคู่สุราษฎร์ธานี-สงขลา ระยะทาง 339 กิโลเมตร วงเงิน 5.18 หมื่นล้านบาท, รถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7.94 พันล้านบาท นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังอยู่ระหว่างศึกษาและออกแบบโครงการรถไฟเชื่อมทะเลอ่าวไทย-ทะเลอันดามัน (Land-bridge) ช่วงชุมพร-ระนอง ระยะทาง 108 กม. วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท
    ด้านนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ทช.ได้รับงบประมาณปี 2562 เพื่อนำมาพัฒนาเส้นทางสัญจรรองรับไทยแลนด์ริเวียร่าอยู่ที่ราว 600 ล้านบาท รวม 3 โครงการ ได้แก่ 1.สายบ้านคลองโคน อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม-บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ระยะทาง 14.3 กม. 2.สายบ้านท่าม่วง-บ้านบางเบิด อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 16.1 กม. 3.สายทางหลวงหมายเลข 3201-บ้านบางจาก อ.ปะทิว จ.ชุมพร ระยะทาง 8.5 กม. นอกจากนี้ยังมีโครงการถนนทางหลวงชนบทสาย 1012 แยกถนนหมายเลข 3 อ.เมืองฯ จ.ระยอง วงเงิน 210 ล้านบาท และถนนสายแยกทางหลวง 231 ไปสนามบินอุบลราชธานี วงเงิน 231 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรที่จะเข้าสู่สนามบินดังกล่าว
    รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่า ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ได้สั่งการให้ รฟท.ไปศึกษาแนวทางก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเฟสที่ 2 ช่วงหัวหิน-สุราษฎร์ธานี และเฟสที่ 3 ช่วงสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ต่อไป เพื่อวางรากฐานให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภาคใต้ในระยะยาว นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังตั้งเป้าเปิดประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงสายใต้เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน ภายในปีนี้อีกด้วย
    ทั้งนี้ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ตามแนวคิดจะให้ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ซึ่งจะเป็นแอ่งรองรับการลงทุนและการท่องเที่ยวเพื่อรองรับ แบ่งการพัฒนาเป็น 3 จุด 1.ชุมพร ที่จะพัฒนาเป็นแอ่งผลไม้ เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟที่ลงมาจากทางเหนือ 2.ระนอง ที่มีท่าเรือ พัฒนาให้เป็นท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันที่จะเชื่อมไปยังกลุ่มประเทศ BIMSTEC ที่ประกอบด้วยบังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ทำให้สินค้าในพื้นที่ภาคใต้มีประตูทางออกไปยังต่างประเทศได้ และ 3.สุราษฎร์ธานี ที่มีความสมบูรณ์ด้านการเกษตร จะผลักดันเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมชีวภาพ
    ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นต่อการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและเร่งรัดการเปิดประมูลโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ก่อนการเลือกตั้งหลายแสนล้านบาทว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องรอบคอบ โปร่งใส และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ มองผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศเป็นหลัก ส่วนการหวังกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนการเลือกตั้งนั้น ไม่ควรนำมาเป็นเป้าหมายหลัก เนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในระยะยาว เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ให้ระวังเรื่องการก่อหนี้ภาครัฐและการบริหารจัดการหนี้สาธารณะในอนาคต รวมถึงการให้สัมปทานที่อาจเอื้อประโยชน์กับเอกชนรายใหญ่จนก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อรัฐและประชาชน ต้องเอาใจใส่กับปัญหาทุจริตรั่วไหลของโครงการ ตลอดจนต้องไม่ประเมินโครงการต่างๆ ในเชิงบวกมากเกินไปจนเกิดการลงทุนเกินความจำเป็น และเป็นภาระทางงบประมาณจำนวนมากในอนาคต 
    นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์สมาคมฯ เรื่อง "ขอให้นายกฯ สั่งการให้มีการทบทวนและแก้ไขทีโออาร์โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ที่ส่อมีการทุจริตและประพฤติมิชอบ" ว่า ตามที่สมาคมฯ และเครือข่ายกัลยาณมิตร ได้ยื่นคำร้องถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่าการประกาศเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมีการฮุบเอาที่ดินกว่า 140  ไร่บริเวณมักกะสันของการรถไฟฯ เข้าไปรวมอยู่ในโครงการด้วย ส่อไปในทางทุจริตและผิดกฎหมายหลายประการ
    โดยทีโออาร์โครงการดังกล่าวได้ผนวกที่ดิน 140 ไร่ ไปให้เอกชนพัฒนา ซึ่งไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง ถือว่าจงใจกระทำการใดๆ ให้ที่ดินตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนตลอดเวลาสัมปทาน 50 ปี อันขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ประกอบมาตรา 164 (1) (3) อย่างชัดแจ้ง รวมทั้งยังจงใจประเมินราคาที่ดินบริเวณมักกะสันให้ต่ำกว่าความเป็นจริง 3-4 เท่า เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ทำให้รัฐเสียประโยชน์มากกว่า 286,400 ล้านบาท นอกจากนี้ ทีโออาร์โครงการดังกล่าวจงใจเขียนล็อกสเปก เพื่อฮั้วประมูลให้เอกชนบางราย ซึ่งเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 
       "หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการดังกล่าวโดยไม่มีการทบทวนหรือแก้ไขทีโออาร์ตามข้อเรียกร้องนี้ ถือได้ว่านายกฯ และรักษาการผู้ว่าการ รฟท. จงใจที่จะใช้อำนาจไปในทางมิชอบต่อกฎหมาย และมีเจตนาที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางรายเป็นการเฉพาะ ซึ่งสมาคมฯ และกัลยาณมิตร คณะตรวจสอบภาคประชาชน สหภาพรัฐวิสาหกิจ รฟท. จำต้องใช้สิทธิในการนำความขึ้นร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อหาข้อยุติ แม้ในอนาคตท่านทั้งสองจะหมดอำนาจไปแล้วหรือไม่ก็ตาม" นายศรีสุวรรณระบุ    
    ทั้งนี้ สมาคมฯ และกัลยาณมิตร จะเดินทางไปยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อนายกฯ ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล ในวันจันทร์ที่ 6 ส.ค. เวลา 10.30 น. เพื่อเป็นการบอกกล่าวหรือตั้งประเด็นพิพาทไว้ก่อนล่วงหน้าตามที่กฎหมายบัญญัติ ก่อนที่จะนำไปสู่การยื่นฟ้องต่อศาลต่อไป
    ในช่วงค่ำ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2561 แล้ว และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 ส.ค.นี้ ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น เป็นบางรายการจำนวน 12,730,497,700 บาท ไปตั้งไว้เป็นงบประมาณรายจ่ายสำหรับงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"