'น้ำเพชร-น้ำเขื่อนแก่งกระจาน'


เพิ่มเพื่อน    

      ถ้าผมเป็น "น้ำ".........

      ขอบอกชาวเมืองเพชรฯ ให้สบายใจได้ว่า ปีนี้ขอบาย

      ไม่เข้าไปท่วมหรอก!

      เพราะเขินสื่อ แหม...ยังกะถูกโรค "เซเปียน-เซน้ำน้อย" ที่อัตตะปือหลอน

      ล้นสปิลเวย์เขื่อนแก่งกระจานตามภววิสัย แล้วจะแวะเข้าไปหาขนมหม้อแกงในเมืองกินบ้างเท่านั้น

      สื่อนับถอยหลังกัน ยังกะมาจมเมืองจริงๆ!

      เรื่องภัยธรรมชาติ "ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ" ทุกวันนี้ ไม่เพียงที่เพชรบุรี ที่เหนือ ที่อีสาน หรือที่ไหนๆ

      ทุกที่ในโลก.........

      มันกลายเป็นเรื่อง "ถึงตัว-ถึงชีวิต" ของคน "ทุกคน" ไปแล้ว

      ในภาวะ "โลกเปลี่ยนสภาพ"..........

      การไม่ประมาทเป็นเรื่องดี แต่ถ้าตื่นตกใจจนเกินการ ก็ไม่เกิดประโยชน์

      นั่นคือ ทุกข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหว นอกจากสนใจแล้ว ต้องเติมสติเพื่อวิเคราะห์-ใคร่ครวญเข้าไปด้วย

      ไม่งั้น จะเตลิดตามกัน น่าสมเพช

      ตอนนี้ คนเพชรบุรีเอง "รู้ตามสภาพ" คงตื่นเต้นน้อยกว่าคนนอกพื้นที่ ซึ่งรู้ "ตามข่าว"

      แต่คนในพื้นที่ ที่นั่งผวา-นอนผวาจริงๆ ตอนนี้ ต้องที่กาญจนบุรี

      ผวาเรื่อง "เขื่อนแตก"!   

      ท่าน ดร.สมิทธ ธรรมสโรช กับท่านอาจารย์เสรี ศุภราทิตย์ กูรูเรื่องน้ำ

      เวลาท่านออกข่าวเตือน เรื่องน้ำ เรื่องดินฟ้าอากาศ เรื่องแผ่นดินไหว เกี่ยวพันถึงเขื่อนวชิราลงกรณ (เขาแหลม) และเขื่อนศรีนครินทร์ (เจ้าเณร)

      พยายามสรรคำสวยๆ ใช้แทนคำว่า "เขื่อนแตก" ในการเตือนหน่อยได้ไหมครับ ก็จะเป็นพระคุณอย่างสูง

      โดยเฉพาะท่าน ดร.สมิทธ...........

      ฝนตั้งเค้า ฟ้ามืด ทีไร ชอบเตือนกระเดียดไปทางนั้น จนคนเมืองกาญจน์จะเป็นโรคประสาทกันไปหมดแล้ว   

      เพราะคำนึง ก็...ให้ระวัง แผ่นดินไหว.......

      เขื่อนเขาแหลม-เขื่อนเจ้าเณร จะแตก

      เพราะอยู่ใกล้ "รอยเลื่อนสะแกง" น้ำจะทะลักจมเมืองกาญจน์ ยันกรุงเทพฯ!?

      เนี่ย ทุกคนซาบซึ้งในความหวังดีและห่วงใยของท่าน แต่แหม.....

      ย้ำคำว่า "เขื่อนแตก" บ่อยๆ มันเป็นหวังดีที่ซาดิสม์ จนชาวบ้าน-ชาวเมือง กินไม่ได้-นอนไม่หลับกันไปหมดแล้ว!

      เรื่องเตือนล่วงหน้า เป็นเรื่องดี

      อย่างกรณีน้ำล้นสปิลเวย์เขื่อนแก่งกระจาน ต้องเข้าใจว่า สปิลเวย์ ก็คือ "ทางระบายน้ำ"

      น้ำจากสปิลเวย์ ไม่ใช่น้ำล้นตัวเขื่อน

      หากแต่เป็นน้ำที่ระบายออกไป ตามเทคนิคควบคุมน้ำในเขื่อน ให้อยู่ในระดับปลอดภัย ป้องกันไม่ให้เขื่อนเสียหาย

      ซึ่งเป็นเรื่องปกติ..........

      อย่างตอนนี้ "สื่อ-ชาวบ้าน" ตื่นตัว นับเป็นเรื่องดี

      กระตุ้นให้ "กรมชลประทาน" และเจ้าเมือง ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ตั้งแต่แรก

      เจ้าเมืองและกรมชลฯ รู้ธรรมชาติเมือง รู้เส้นทางน้ำ รู้ความหนักเบา ของน้ำแต่ละปี จากแก่งกระจาน ที่มาลงแม่น้ำเพชรบุรีอยู่แล้ว

      เรื่องท่วม มันอาจต้องท่วมบ้าง ธรรมชาติเมืองเป็นอย่างนั้น

      แต่การไม่ให้ท่วมถึงขั้นวิกฤติเกินการ........

      กรมชลฯ-จังหวัด ต้องแสดงประสิทธิภาพในตำแหน่ง-หน้าที่ บริหาร-จัดการ ให้ได้

      ดู "ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์" อดีตเจ้าเมืองเชียงราย เป็นตัวอย่าง!

      ขาดเหลืออะไร "ภาครัฐ" สนับสนุนทุกอย่างฉับพลันอยู่แล้ว

      ฉะนั้น เจ้าเมืองเพชรบุรี กรมชลประทาน ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบงานพื้นที่โดยตรง

      ต้องแสดงฝีมือให้คนเพชรบุรีเชื่อถือ-ศรัทธา ต้องไม่ชะเง้อ รอให้รัฐบาลลงไปชี้นิ้วบัญชาการ รับหน้าเสื่อเอง

      อย่างน้ำท่วมใหญ่ปลายปี ๕๔......

      เพราะรัฐบาล "นักการเมือง" เสือกเป็นกองหน้า ทำตัวรู้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ

      ไปสั่งโน่น-สั่งนี่เขา เอาอยู่..เอาอยู่ เลยพังทั้งเมือง!

      "แม่น้ำเพชรบุรี" ที่กำลังพูดกันตอนนี้.......

      รู้กันหรือเปล่า ว่ามีความสำคัญ "คู่บ้าน-คู่เมือง" ขนาดไหน? 

      ผมเองก็ยังไม่รู้ จนได้อ่าน "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือน กันยายน ๒๕๔๘ จากบทความคุณ "ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย"

      เรื่อง "น้ำเสวยที่โปรดปราน"

      พูดถึงนิตยสารรายเดือน "ศิลปวัฒนธรรม" ถือโอกาส ขอบคุณ และเกรงใจ เป็นที่ยิ่ง

      เป็นยี่สิบปีมาแล้ว ส่งให้ผมอ่านทุกเดือน

      พ็อกเกตแมกกาซีน ต่วย'ตูน เช่นกัน หลายปีดีดัก ส่งให้ไม่เคยขาด

      ก็เกรงใจ ด้วยเข้าใจหัวอกคนผลิตหนังสือ แกะถุงอ่านทีไร ก็แอบตั้งใจ จะส่งค่าสมัครเป็นสมาชิกรายปีทีนั้น

      ก็ได้แต่ตั้งใจ ยังไม่ได้ทำตามใจที่ตั้งซักที พูดแล้วก็อาย

      วันนี้ ขออนุญาต "ศิลปวัฒนธรรม" และคุณ "ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย" นำบางส่วนที่ลงเว็บไว้มาเป็นวิทยาทานนะครับ

      “—เรื่องน้ำเพ็ชรนี้ เคยทราบมาแต่ว่า ถือกันว่าเปนน้ำดี เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่  ๕ รับสั่งว่า นิยมกันว่า มีรสแปลกกว่าลำน้ำเจ้าพระยา

        และท่านรับสั่งว่า พระองค์เองเคยเสวยน้ำเพ็ชรเสียจนเคยแล้ว เสวยน้ำอื่นไม่อร่อย จึงต้องส่งน้ำเสวยมาจากเพ็ชรบุรี—”

        เป็นข้อความในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงเรื่องน้ำในลำน้ำเพชรบุรี ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเสวยกว่าน้ำในแม่น้ำอื่น

        สมัยต้นรัตนโกสินทร์ น้ำเสวยก็คือน้ำฝนและน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนที่ใสสะอาดและนำมาผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เป็นน้ำบริสุทธิ์สำหรับเสวย

        แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบว่า น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี เป็นน้ำที่มีรสชาติอร่อยกว่าน้ำในลำน้ำอื่นๆ

        จึงโปรดให้ตักน้ำจากแม่น้ำนี้ส่งเข้ามาเป็นน้ำเสวยจนตลอดรัชสมัย

        น้ำเพชรที่โปรดให้เป็นน้ำเสวยนี้ ตักจากตำบลท่าชัย ซึ่งเป็นตำบลที่อยู่เหนือตำบลบ้านปืนขึ้นไปไกลจนหมดหมู่บ้านราษฎร เป็นทางน้ำที่ไหลผ่านกรวดทรายจึงเป็นน้ำใสสะอาด         วิธีทำน้ำเพชรให้เป็นน้ำเสวยนั้น มีหลายขั้นตอน เจ้าเมืองเพชรบุรี มีหน้าที่ควบคุมดูแลแต่ละขั้นตอน นับตั้งแต่ตักน้ำ และนำมาต้มในกระทะใบใหญ่ แล้วถ่ายเก็บใส่ตุ่ม

        เมื่อเย็นลง จึงกรองในหม้อกรองใหญ่ ทำด้วยปูนลักษณะคล้ายลูกปัศตัน ปากกว้างประมาณ ๕๐  เซนติเมตร ลึกประมาณ ๖๐-๗๐ เซนติเมตร

        โดยให้น้ำหยดจากเครื่องกรองลงตุ่มที่รองรับอยู่ข้างล่าง น้ำที่หยดลงมานี้ จึงเป็นน้ำที่ใสสะอาดบริสุทธิ์

        เมื่อจะนำส่งเข้ามาในกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่กรมกอง น้ำเสวย น้ำสรง จะเป็นผู้รับผิดชอบ มารับน้ำนำเก็บไว้ในโรงใหญ่ ซึ่งรักษาความสะอาดอย่างเข้มงวดกวดขัน

        ถึงเวลานำน้ำขึ้นถวายจะบรรจุหม้อกรัณฑ์ ซึ่งเป็นหม้อดินเผาปั้นด้วยฝีมือประณีต มีฝาปิดเป็นจุกยอดแหลมและผูกผ้าขาวตีตราครั่ง นำส่งคุณพนักงานฝ่ายใน สำหรับเป็นน้ำเสวยต่อไป

        รัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี ในรัชกาลของพระองค์ น้ำเพชรเป็นน้ำเสวยที่โปรดปรานดังปรากฏในพระราชดำรัสและหนังสือถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดน้ำเสวยอยู่เนืองๆ

        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเสวยน้ำเพชรตลอดมา มีบางคราว ที่มีเหตุขัดข้องต้องงดตักน้ำเมืองเพชร ต้องเสวยน้ำแม่น้ำอื่น ก็ทรงทราบความผิดปกติทันที

        ครั้งหนึ่ง โปรดให้มีการหาน้ำอร่อยแทนน้ำเพชรโดยให้หลวงศักดิ์ นายเวรจัดน้ำกรอกใส่ขวดเหมือนกัน ๔ ขวด คือน้ำฝน น้ำเพชร น้ำบ่ออาติเชียน น้ำกลั่น

        เมื่อเสวยน้ำ โดยทรงอมให้รู้รสชาติเสียก่อนจึงกลืน มีน้ำขวดหนึ่งอร่อยกว่าทั้งหมด ปรากฏว่าน้ำขวดนั้น คือน้ำเพชร

        จึงมีพระราชดำริว่า น้ำอีก ๓ ขวด จะบริสุทธิ์เกินไปกว่าพระศอที่เคยเสวย ทำให้เสวยไม่อิ่ม และไม่ระงับกระหาย จึงโปรดให้จัดน้ำเพชรเข้ามาให้เสวยต่อไป

        จนถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังคงโปรดเสวยน้ำเพชรอยู่ ดังที่มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับรสชาติของน้ำเพชรว่า

        “—ในส่วนตัวเราเองมิได้เคยถือนักดอกในเรื่องน้ำกิน แต่ต้องสารภาพอย่างหนึ่งว่า จะเปนเพราะเหตุใดก็ไม่ทราบบอกไม่ถูก เราได้เคยกินน้ำประปาหลายครั้ง และรู้สึกว่ากินได้ แต่ยังไม่วายรู้สึกในใจว่า สู้น้ำเสวยที่เขาจัดมาให้พิเศษไม่ได้ ทั้งนี้จะเปนด้วยอุปาทานมากกว่าอย่างอื่น—”

        แม้น้ำเพชร จะมีรสชาติอร่อย เป็นที่ถูกพระโอษฐ์ ถูกพระทัยพระมหากษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์

        แต่เมื่อเวลาผ่านไป สภาพบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงพัฒนาเจริญขึ้น ผู้คนเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบกับแม่น้ำเพชร เมื่อเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เดินทางไปตรวจราชการ ที่จังหวัดเพชรบุรี  ในวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๕

        พบว่า ณ ตำบลที่ตักน้ำเสวยนั้น มีบ้านเรือนตั้งอยู่ตลอดทั้ง ๒ ฝั่ง ทำให้มีสิ่งปฏิกูลปนเปื้อนในแม่น้ำ

        นอกจากความไม่สะอาดดังกล่าวแล้ว เจ้าพระยายมราช ยังกราบทูลถึงเหตุที่น้ำเพชรไม่สมควรเป็นน้ำเสวยอีกต่อไปว่า

         “—เมื่อนึกถึงความเข้าใจของมหาชนทั่วไป แลชาวต่างประเทศด้วยแล้ว การที่ยังจัดอยู่ในราชการปรากฏว่า น้ำในลำน้ำเพ็ชรบุรีเปนน้ำเสวยดังนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าดูเปนการเสื่อมเสียพระเกียรติยศ และเกียรติคุณของน้ำเสวย—”

        เหตุผลสำคัญทั้ง ๒ ประการ ทำให้น้ำเพชรซึ่งเคยเป็นน้ำเสวยของพระมหากษัตริย์ไทยมาเป็นเวลานาน ต้องสิ้นสภาพหมดสถานะการเป็นน้ำเสวย

        ครั้งนั้น น้ำประปาจึงได้เข้ามามีบทบาทเป็นน้ำเสวยต่อจากน้ำเพชร

        ผู้คนในปัจจุบัน คงหมดโอกาสที่จะได้รู้ หรือพูดว่า “น้ำเพชรมีรสอร่อยแปลกกว่าน้ำเจ้าพระยาอย่างไร”

        คงจะพูดถึงน้ำที่บริโภคกันทุกวันนี้ อย่างไม่แน่ใจว่า “น้ำยี่ห้อนี้แพงกว่า คงจะสกปรกน้อยกว่ายี่ห้อนั้นนะ”

        นี่.........

      "แม่น้ำเพชรบุรี" ที่ห่วงกันว่าจะท้นท่วมเมือง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"