ยาแรง!แก้ประมูลโกง ส่งแผนป้องคอร์รัปชัน


เพิ่มเพื่อน    

    ยาแรงคอร์รัปชันประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว โครงการประมูลงานมูลค่าตั้งแต่ 500 ล้าน ผู้ประกอบการต้องแนบเอกสารนโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตด้วย เข้มระบบตรวจสอบภายในให้กำหนดบทลงโทษคนโกง ส่วนโครงการตั้งแต่ 1 พันล้านบาทให้จัดทำข้อตกลงคุณธรรม พร้อมให้มีผู้สังเกตการณ์ตรวจสอบอีกชั้น 
    เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศต่อต้านการคอร์รัปชัน จากคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต รวม 2 ฉบับ ฉบับแรก เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของนโยบายและแนวทางป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างที่ผู้ประกอบการต้องจัดให้มี  ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
    สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ กำหนดให้ผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมการเสนอราคาในโครงการที่มีวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ต้องจัดให้มีนโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างที่เหมาะสม และระบุเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน
    ประกาศฉบับนี้กำหนดให้ผู้ประกอบการจะต้องมีการกำหนดนโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง อาทิ มีการกำหนดนโยบาย วิธีการหรือมาตรการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง มีการกำหนดหลักจรรยาบรรณธุรกิจ (Code of Conduct) เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง นโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องครอบคลุม 
    นอกจากนี้ ยังระบุให้กรรมการผู้บริหาร พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ โดยจะต้องห้ามมิให้ กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ตลอดจนบุคคลที่สาม ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการมีการติดสินบน ประกอบด้วย ไม่ให้ เสนอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือจูงใจให้ร่วมดำเนินการใดๆ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม อันเป็นการให้ประโยชน์ในการเสนอราคา หรือการสมยอมกันในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ อันนำมาซึ่งความได้เปรียบและได้รับผลประโยชน์ตอบแทนบางประการในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการปฏิบัติงานตามสัญญา ทั้งก่อนระหว่างการเสนอราคา และหลังการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง หรือเพื่อรักษาผลประโยชน์อื่นใดอันไม่เหมาะสมตามหลักจรรยาบรรณธุรกิจ
    กำหนดผู้ประกอบการจะต้องจัดให้มีการสื่อสารหรือประชาสัมพันธ์นโยบายและแนวทางการป้องกัน
การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น จัดให้มีการสื่อสารประกาศหรือเผยแพร่นโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ให้กับคณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับบริษัทให้รับทราบ
ต้องกำหนดบทลงโทษคนโกง
     จัดให้มีการอบรมหรือส่งเสริมให้ผู้บริหารและพนักงานได้รับการอบรมเกี่ยวกับนโยบาย วิธีการหรือมาตรการป้องกันการทุจริตที่บริษัทหรือหน่วยงานอื่นจัดขึ้น จัดให้มีการเผยแพร่นโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างให้กับบุคคลภายนอกทราบผ่านทางสื่อต่างๆ เช่น ระบบเครือข่ายสารสนเทศของหน่วยงาน เอกสารแผ่นพับ
    นอกจากนี้ ต้องกำหนดบทลงโทษหรือข้อบังคับสำหรับผู้กระทำการทุจริต จัดให้มีช่องทางหรือระบบการแจ้งเบาะแส ของข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริต หรือพบการกระทำที่ส่อทุจริต กำหนดหน่วยงานภายในที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการป้องกันการทุจริตที่ชัดเจน
    ผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมการเสนอราคาในโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ต้องแนบเอกสารที่เป็นนโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อเป็นเอกสารประกอบการเสนอราคา
    และกำหนดให้หน่วยงานของรัฐกำหนดเงื่อนไขในขอบเขตของงาน และประกาศจัดซื้อจัดจ้างว่าคุณสมบัติผู้เข้าร่วมการเสนอราคาจะต้องมีนโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมทั้งต้องแนบเอกสารหลักฐาน และแบบตรวจสอบข้อมูลของผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมการเสนอราคาในโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ประกอบเป็นเอกสารการเสนอราคา โดยผู้ประกอบการจะต้องมีการดำเนินการตามแบบตรวจสอบข้อมูลครบถ้วนทุกข้อจึงจะผ่านการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคา
    สำหรับประกาศฉบับที่ 2 เรื่อง แนวทางและวิธีการในการดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กำหนดให้คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) ออกประกาศกำหนดแนวทางและวิธีการในการดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แบบของข้อตกลงคุณธรรม การคัดเลือกผู้สังเกตการณ์และการจัดทำรายงาน
ข้อตกลงคุณธรรม
    ทั้งนี้ “ข้อตกลงคุณธรรม” (Integrity Pact: IP) หมายความว่า ข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ เจ้าของโครงการและผู้ประกอบการที่จะเข้ายื่นข้อเสนอ โดยฝ่ายหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการและฝ่ายผู้ประกอบการที่จะเข้ายื่นข้อเสนอได้ตกลงกันว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง 
    และให้มีผู้สังเกตการณ์ ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ที่จำเป็นต่อโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดของพัสดุที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้างและร่างเอกสารเชิญชวนจนถึงขั้นตอนสิ้นสุดโครงการ โดยผู้สังเกตการณ์ต้องมีความเป็นกลาง และไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้น และให้รายงานความเห็นพร้อมข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ ค.ป.ท.
    การจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ต้องเป็นโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น โครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป  โครงการจัดซื้อจัดจ้างที่สาธารณชนสนใจ เช่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โครงการที่มีความเสี่ยงในการทุจริต เป็นต้น
    เมื่อหน่วยงานของรัฐได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจในการพิจารณางบประมาณแล้ว ให้แจ้งข้อมูลโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้คณะกรรมการ ค.ป.ท. ภายใน 15 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณเพื่อพิจารณาคัดเลือกให้จัดทำข้อตกลงคุณธรรม ทั้งนี้ การแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้จัดทำตามแบบและวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนด
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ และนายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการ พศ. กับพวกทุจริตเงินทอนวัดใน จ.ลำปาง แพร่ และลำพูน ว่า ป.ป.ช.ต้องดำเนินการตามหน้าที่ เพราะข้อกล่าวหาและคดีต่างๆ อยู่ในการตรวจสอบของแต่ละหน่วยงานอยู่แล้ว 
เชื่อว่าทุกอย่างน่าจะดีขึ้น
    อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ตนกำกับดูแล พศ. จะมีมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุลักษณะนี้อีก โดยได้มีมาตรการกำหนดรายชื่อวัดมาล่วงหน้าในการของบประมาณ และให้ พศ. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) คณะสงฆ์ทั่วประเทศ ให้ทำงานกันใกล้ชิดมากขึ้น ยึดหลักสุจริต โปร่งใส ซึ่งตนกำชับมาตลอด เชื่อว่าทุกอย่างน่าจะดีขึ้น และถ้าดูผู้กระทำความผิดก็เป็นคนกลุ่มเดิมๆ แต่คนส่วนใหญ่ของ พศ.ทำงานตามแนวทางที่มีธรรมาภิบาล ถ้าพบอีกก็ต้องดำเนินการตามระเบียบราชการ
    ด้านนายณพล ใบเงิน ทนายความข้าราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ต้องหาในคดีทุจริตเงินทอนวัด เปิดเผยภายหลังใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงในการเข้าเยี่ยมนายพนม รวมทั้งข้าราชการระดับสูงที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีเงินทอนวัด เช่น นายชยพล พงษ์สีดา, นายแก้ว ชิดตะขบ, นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตจรี, นายสวัสดิ์ กิตติธีระสิทธิ์ และนางพรเพ็ญ กิติธรางกูร ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ว่าหลังได้เข้าเยี่ยมเป็นครั้งที่ 2 พบว่าทุกคนมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น เนื่องจากสามารถปรับตัวได้บ้างแล้ว โดยทั้งหมดยังคงยืนยันความบริสุทธิ์ ไม่ได้ทำผิดใดๆ ทุกการกระทำปฏิบัติไปตามหน้าที่ในการอนุมัติงบประมาณให้กับวัดต่างๆ และยืนยันจะต่อสู้คดีต่อไป
    ทั้งนี้ จากการพูดคุยในเรื่องการต่อสู้คดีวันนี้คงไม่ไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลที่คัดค้านการประกันตัวที่ศาลาอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยจะเดินทางไปยื่นอุทธรณ์ในวันศุกร์ที่ 10 ส.ค.นี้ ที่เป็นวันเดียวกับที่ทั้งหมดจะต้องถูกนำตัวไปยื่นฝากขังในผลัดที่ 2 แต่ก็พบว่ามีบางคน เช่น นายพัฒนาที่อาจไม่พร้อมขอยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากไม่พร้อมเรื่องหลักทรัพย์ที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กำหนดไว้ในคดีนี้ที่ 300,000-800,000 บาท 
    ส่วนคนที่พร้อม เช่น นายพนมและนายแก้ว ก็มีความกังวลหากศาลเห็นชอบให้ประกันตัว ก็อาจจะถูกอายัดตัวไปดำเนินคดีในคดีอื่นต่อไป ซึ่งในเรื่องนี้นายพนมก็เข้าใจดี เพราะโดนตำรวจแจ้งเอาผิดหลายคดี แม้ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่มีพฤติการณ์หลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แต่เมื่อมีประเด็นนี้เกิดขึ้น ก็ขอพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง
ทุจริต พม.
    กรณีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยข้าราชการร้ายแรง กับนายพนม ตนยังไม่ได้แจ้งข้อมูลให้นายพนมรับทราบ และไม่ได้มีการพูดคุยถึงประเด็นนี้ เพราะตนก็ยังไม่เห็นเอกสารใดๆ จาก ป.ป.ช. ส่วนตัวก็คงจะขอทำหน้าที่ในส่วนคดีที่รับผิดชอบไปก่อน
    พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  (พม.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีผลสอบวินัยร้ายแรงผู้เกี่ยวข้องกับทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและคนไร้ที่พึ่งว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัด พม. ได้ลงนามรับรองมติผลการประชุมคณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวง พม. (อ.ก.พ.กระทรวง พม.) ที่เห็นชอบผลการสอบวินัยร้ายแรงผู้บริหารระดับสูง 26 คน ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินสงเคราะห์ของคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง ซึ่งมีมติไล่ออกขาดจากบำเหน็จบำนาญทั้งหมด 6 คน โดยในจำนวนนี้ มีนายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัด พม. ที่เสียชีวิตรวมอยู่ด้วย  
    นอกจากนี้ ยังมีมติปลดออกจากราชการ แต่ยังได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ จำนวน 5 คน และกันไว้เป็นพยาน 15 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทำหนังสือกล่าวโทษแจ้งเป็นรายบุคคล 
    ขณะเดียวกันจะทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้รับทราบเช่นเดียวกัน โดยผู้ถูกกล่าวโทษทั้งหมด หลังจากได้รับหนังสือแจ้งแล้ว สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในระยะเวลา 30 วัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"