'วันแม่' ในสังคมเลี้ยงเดี่ยว


เพิ่มเพื่อน    

   

ต้องขอบคุณร้าน "เอเธนส์" ย่านสี่แยกเจริญผล ถนนบรรทัดทอง

                ถึง "วันพ่อ"

                ก็ตัดเสื้อ "สีเหลือง" ส่งมาให้ใส่

                ถึง "วันแม่"

                ก็ตัดเสื้อ "สีฟ้า" ส่งมาให้

                เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องมาจะสิบปีแล้วละมัง ผมก็ใส่สบายไป ไม่เคยได้ทำอะไรเป็นการตอบแทนน้ำใจซักครั้ง

                แค่จะ "ขอบใจ" ซักคำ ก็ยังไม่เคย!

                เมื่อวาน มาถึงโต๊ะทำงาน เสื้อสีฟ้า "วันแม่" จากร้านตัดเสื้อผ้าเอเธนส์ วางรออยู่แล้ว ๒ ตัว

                ก็พอดี.........

                เสาร์ตัวนึง อาทิตย์ตัวนึง วันแม่ "๑๒ สิงหา" ปีนี้ ได้ฉุยฉายด้วยสีฟ้า หล่อไม่ซ้ำวัน!

                ซาบซึ้งและขอบใจหลาย

                เมื่อวาน มีภาพหนึ่งว่อนโซเชียล คือภาพ "คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว" สวมกระโปรงมานั่งทำหน้าที่ "คุณแม่" ให้ลูกชายไหว้

                ก็ขำๆ ให้ความรู้สึกที่ดี

                วิพากษ์วิจารณ์เชิงชื่นชมกันเยอะ

                นัยว่า เป็นพ่อหม้ายลูก ๒ เมื่อโรงเรียนจัดงาน เชิญคุณแม่ทั้งหลายมานั่งให้คุณลูกซึ่งเป็นนักเรียนระลึกในพระคุณ

                คุณแม่ไม่มี........

                คุณพ่อเลยสวมกระโปรงเป็นคุณแม่ ทำหน้าที่แทน

                นอกจากภาพนี้แล้ว มีผู้แสดงความคิดเห็นเรื่อง "วันแม่" ในโซเชียลมีเดียหลายราย

                ความจริง ไม่ใช่เพิ่งมี ปีก่อนๆ ก็มี แต่พอพ้นวันแม่ ก็เลิกพูดกันไป

                คือมี "แม่เลี้ยงเดี่ยว" บางคน แสดงความเห็นว่า โรงเรียนควรจะเลิกจัดงานวันแม่

                ที่เชิญคุณแม่ไปนั่งที่โรงเรียนให้คุณลูกไหว้นั่นน่ะ!

                เขาให้เหตุผลว่า เป็นการ "สร้างปม-สร้างปัญหา" ให้เด็กส่วนหนึ่ง ที่ไม่มีแม่

                หรือมี........

                แต่แม่มาไม่ได้ หรือไม่ได้มา

                ในขณะที่ เพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ มีแม่มานั่งรับมะลิ-มาลัยกันเป็นแถว

                คุกเข่ามอบมะลิ-มาลัยให้แม่.........

                กราบเท้าแม่ แม่จะลูบศีรษะด้วยอุ้งมือปานไหม พยุงให้ลุกขึ้น แล้วดึงลูกมาสวมกอด

                แต่กลับมีเด็กอีกส่วนหนึ่ง

                ต้องนั่งคุกเข่าหน้าเก้าอี้ว่างเปล่า เพื่อนๆ วางมาลัยในฝ่ามือแม่

                แต่ตัวเอง กลับต้องวางมาลัยไว้บนเก้าอี้ ไร้ตัวตนคนที่เรียกว่าแม่

                เพื่อนกราบเท้าแม่นุ่มนิ่ม...

                ตัวเอง กราบพื้นดิน พื้นกระดาน กระด้าง

                เพื่อนมีมือแม่วางบนหัว

                แต่ตัวเอง ได้แต่ใจสะท้อน...แม่อยู่ไหน เส้นผมบนศีรษะหนู เมื่อไหร่จะได้อยู่ใต้อุ้งมืออุ่นของแม่เหมือนเพื่อนบ้าง?

                เพื่อนๆ มีแม่กอด.......

                หยอกเย้าประสา ลูกๆ แม่ๆ หัวเราะกันเป็นสุข

                แต่นักเรียนบางคน ไม่รู้แม่อยู่ไหน บางคน ไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าหญิงคนไหนคือแม่?

                บางคนรู้..........

                หยิบรูปแม่จากกระเป๋าเสื้อ วางบนเก้าอี้บ้าง ถือในมือบ้าง

                แล้วนั่งเวิ้งว้าง น้ำตาริน!

                นี่แหละ คือเหตุผลที่ "แม่เลี้ยงเดี่ยว" บางคนบอกว่า ไม่อยากให้ตามโรงเรียนจัดงานวันแม่

                เธอบอกว่า มันโหดร้าย

                "วันแม่" กลายเป็นวัน "ประจานตัวตน" ทั้งคนเป็นลูกและเป็นแม่ สำหรับนักเรียนบางคน-บางครอบครัว

                เท่าที่ผมอ่านๆ บางเสียงเห็นด้วย และบางเสียงก็ไม่เห็นด้วย

                แต่ในภาพรวม ผมเข้าใจทั้ง ๒ ฝ่าย และไม่เห็นว่าความคิดฝ่ายไหนจะผิด-จะถูก!

                มันใช่ด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้น อะไรที่ใช่ คำว่า "ผิด-ถูก" ไม่มี

                มีแต่ นำสิ่งที่ "ใช่" มาปรับปรุง ให้สิ่งที่ดีงามอยู่แล้ว เป็นดีงามที่ลงตัวกับทุกฝ่าย

                ตอนผมเป็นเด็ก ยังไม่มี "วันแม่" เริ่มกำหนดให้วันที่ ๑๒ สิงหาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา "สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ" ในรัชกาลที่ ๙ 

                เป็นวันแม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙

                ทีนี้ ก็มาคุยกันต่อ รูปแบบที่ตามโรงเรียนจัดงานวันแม่ โดยเชิญแม่ของนักเรียนมาร่วมนั้น

                เข้าใจว่า ก็มาตอนหลังๆ แรกๆ ยังไม่มีกิจกรรมร่วมเช่นนี้

                ในกิจกรรมวันแม่ โดยมีแม่มาร่วมที่โรงเรียนนั้น แม่ส่วนใหญ่ ก็มาร่วม มาให้ลูกได้รับการปลูกฝังสิ่งดีงาม

                มีบ้างเท่านั้น ที่นักเรียนไม่มีแม่มาร่วม!

                ถามว่า เด็กที่ไม่มีแม่มาเหมือนเพื่อนๆ มีความรู้สึกอย่างไร?

                ใจแต่ละคนตอบตัวเองได้มิใช่หรือ?

                สังคมทุกวันนี้ บางส่วน "ประสงค์มีลูก" แต่ไม่ประสงค์ดำรงสถานะ "พ่อ-แม่-ลูก" เป็นครอบครัว

                กระนั้น.........

                ที่เป็นครอบครัวอยู่พร้อม "พ่อ-แม่-ลูก" ก็เหอะ ทุกวันนี้ ด้วยวิถีเศรษฐกิจและสังคม

                มันก็ยากที่จะให้พ่อแม่มีเวลาร่วมกิจกรรมที่โรงเรียน ทั้งที่ยินดี แต่เวลาและโอกาส ถึงมี แต่เหมือนไม่มี

                ดังนั้น งานกราบเท้าแม่ของนักเรียนตามโรงเรียนในวันแม่ แน่นอน แม่มาไม่ได้ทุกคน

                แม่เข้าใจลูก

                แต่ลูกไม่เข้าใจแม่หรอก!

                ตามนัยนี้ รูปแบบให้แม่มานั่งรับการกราบของลูกที่โรงเรียน ซึ่งแสนจะดีงาม

                กลับกลายเป็นดีงามที่ประหารใจ "แม่และลูก" บางคน

                ประเด็นนี้ ไม่ใช่ปัญหา...........

                ปรับปรุงพัฒนารูปแบบให้เป็นที่สร้างสรรค์จำเริญแก่ทุกฝ่ายได้ เพียงแค่ใส่ "ความคิดประยุกต์" เข้าไป

                ไม่ใช่เอะอะก็ "เลิก" ตะพึด!

                มันเรื่อง "วิถีสังคม" แต่ละยุคกำหนดกรอบ "วิถีชีวิตคน"

                การ "ขาดพ่อ-ขาดแม่" ไม่ได้หมายความว่าอนาคตชีวิตจะขาด

                เป็นเรื่อง "ความรู้สึก" ที่สามารถทำช่องว่างตรงนั้นของเด็กให้เต็มได้

                เรื่องจิตวิทยาพื้นฐานง่ายๆ แค่นี้ ผู้บริหารโรงเรียนแต่ละแห่ง แค่ใส่ใจ คิดคำนึง บนฐานข้อมูลนักเรียนตัวเอง

                ก็ไม่ยากที่จะจัดงานวันแม่..........

                ประยุกต์โดยไม่สร้างบาดเจ็บทางใจให้นักเรียน ที่ต้องกราบเก้าอี้ว่างเปล่า!

                มีคนอยากทำหน้าที่ "คุณแม่อุปถัมภ์" ในกิจกรรม "วันแม่" เยอะแยะไป

                แต่ประเด็นที่อยากเสนอ........

                เรามี "กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์" มิใช่หรือ?

                หน้าที่กระทรวงนี้ เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม

                การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัวและชุมชน

                งบประมาณปีละเป็นหมื่นล้าน!

                แต่ ตั้งแต่ตั้งมา พูดกันตรงๆ คนไม่รู้จักกระทรวงนี้มากนัก

                ยิ่งถามว่า กระทรวงนี้ มีงานอะไรเป็นเนื้อเป็นหนัง?

                ไม่รู้เลย.........

                ความจริงเยอะ!

                แต่ผมว่า น่าถือโอกาสเข้าไปบริหาร-จัดการงานนี้นะ ช่องว่างระหว่าง "พ่อ-แม่-ลูก" เป็นความมั่นคงชีวิตและสถาบันครอบครัว หัวใจงานกระทรวงเลยเชียวแหละ

                สังคมทุกวันนี้ คนรวย ใช้เงินเลี้ยงลูก ก็เละ

                คนจน ตระเวนหาเงินมาเลี้ยงลูก ก็เละ

                มนุษย์เงินเดือน เลี้ยงงานแทนเลี้ยงลูก ก็เละ

                สรุปแล้ว ช่องว่างระหว่าง พ่อ-แม่-ลูก ในความเป็น "สถาบันครอบครัว" สังคมยุคนี้ มีปัญหาในปัญหา

                และปัญหาสถาบันครอบครัว กำลังเป็นปัญหา "สังคมชาติ"

                กิจกรรมวันแม่ ที่แต่ละโรงเรียนจัดให้ "ลูกกราบแม่" เป็นเรื่องดี

                "กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ" เข้าไปแปลงวิกฤติเล็กๆ น้อยๆ ตรงนี้ ให้เกิดประโยชน์ได้ไม่ยาก

                ถ้ามีวิสัยทัศน์ และไม่มองข้ามว่า นี่...เรื่องเล็กๆ

                หวังอนาคตชาติ ต้องมองที่เด็ก

                แต่ถ้าหวังไปวันๆ..........

                มองหัวแม่เท้าตัวเองก็พอ.

               

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"