'ดินถล่ม' พิบัติภัยจากน้ำมือมนุษย์


เพิ่มเพื่อน    

   

     เหตุดินถล่มบ่อเกลือ จ.น่าน นักวิชาการชี้เป็นพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม

     จากปริมาณฝนตกหนักติดต่อกันในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลกับภาวะเสี่ยงภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น ทั้งน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะภัยพิบัติดินโคลนถล่มพื้นที่บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน มีเหยื่อเสียชีวิตในกองโคลน 8 ศพ บ้านเรือนชาวบ้านห้วยขาบได้รับผลกระทบกว่า 261 ครอบครัว ตามด้วยเหตุดินถล่มทางขึ้นภูชี้ฟ้า จ.เชียงราย ทำให้บ้านและร้านค้า รวมถึงถนนเสียหายและทรุดตัวลงไป นำมาสู่การประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ยังไม่พูดถึงดินถล่มภูทับเบิกและฝนถล่มพังงา ส่งผลให้ถนนขึ้นเขาสกบริเวณ อ.กะปง ดินถล่มลงไปเป็นแนวยาว

      ในขณะที่รัฐบาลได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเตรียมแผนรองรับป้องกันภัยพิบัติทุกรูปแบบและติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประชาชนก็เรียกร้องให้ภาครัฐหาแนวทางป้องกัน วิธีการรับมือ และมีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อลดความรุนแรงของพิบัติภัย 

 

 

     เพื่อเป็นการเสนอแนะเชิงนโยบาย ให้ข้อแนะนำกับท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม และเสนอแนว ทางการแก้ไขปัญหาเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ดินโคลนถล่มที่พร้อมจะเกิดขึ้นเมื่อมีฝนตกติดต่อกัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดแถลงข่าว "ดินถล่มและระบบเตือนภัยในประเทศไทย

      รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หน่วยวิจัยดินถล่ม ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานรากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำงานศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกดินถล่มกว่า 20 ปี กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม กรณีบ่อเกลือแม้ยังไม่ใช่เหตุดินถล่มรุนแรงที่สุด แต่เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน หากพูดถึงเคสใหญ่ๆ ในอดีต เช่น ดินโคลนถล่มพิปูน จ.นครศรีธรรมราช และดินถล่มลับแล จ.อุตรดิตถ์ จากการศึกษาตั้งแต่ปี 2545 ไทยมีแนวโน้มเกิดดินถล่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและนโยบายเร่งการส่งออกผลิตผลทางการเกษตร มีการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรม อาจเป็นปัจจัยหนึ่งกระตุ้นให้เกิดดินถล่มมากขึ้น จำเป็นต้องศึกษาวิจัยหาองค์ความรู้นำมาสู่มาตรการป้องกัน นอกจากนี้ พิบัติภัยดินถล่มจากธรรมชาติจะมีคาบอุบัติซ้ำทุก 5 ปี

      รศ.ดร.สุทธิศักดิ์กล่าวว่า สถิติดินถล่มมีกระจายทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เกิดในภาคเหนือและภาคใต้ โดยพบกระจายตัวในชนิดหินที่ต่างกัน หินแกรนิตมีความเปราะบางต่อดินถล่มมาก พบกระจายตัวภาคเหนือและใต้ จากการศึกษายังมีความสัมพันธ์กับแนวรอยเลื่อน เพราะเป็นการเปลี่ยนสภาพภูมิประเทศที่มีความชันสูงและสภาพดินมีความผุมากกว่า สำหรับดินถล่มมี 2 ประเภท คือ จากน้ำมือมนุษย์ เช่น การตัดตีนเขา ตัดถนนโดยไม่มีการป้องกัน การสร้างบ้านเรือนขวางร่องน้ำ ซึ่งกระจายในภาคเหนือและภาคใต้เต็มไปหมด ส่วนดินถล่มตามธรรมชาติจะเป็นแนวข่วนภูเขา อยู่ในแนวมรสุม ฝนตกหนัก ส่งผลให้น้ำใต้ดินไหลไปตามแนวลาดเขา ไหลเฉพาะที่ผิว ทำให้เกิดดินสไลด์บริเวณตื้นๆ

 

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

     รศ.ดร.สุทธิศักดิ์เผยถึงกรณีบ่อเกลือว่า พื้นที่มีฝนตกต่อเนื่องตลอด 20 วัน น้ำซึมลึกขึ้น ส่งผลให้น้ำใต้ดินด้านล่างยกตัวสูงขึ้น เกิดการสไลด์ที่ใหญ่และสร้างความเสียหายรุนแรง พื้นที่ จ.น่าน เคยเกิดแผ่นดินไหวสูงสุดในประเทศ ภูมิประเทศบ่อเกลือเป็นภูเขา เฉพาะบ้านห้วยขาบเป็นหุบที่น้ำไหลลงมา มีความลาดชัน 25 องศา ทั้งฝนและดินจึงไหลลงไป และมีแนวรอยเลื่อนวิ่งตัดผ่านจุดเกิดเหตุ จากหินที่พบในที่เกิดเหตุแสดงว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มเดิม ถามว่าชาวบ้านควรกลับไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ ขณะนี้มี 3 ทางเลือก ย้ายออกจากพื้นที่ดินถล่มบ้านห้วยขาบ แต่พื้นที่ใหม่ก็ต้องทำแนวป้องกันอาคารและแนวป้องกันพังทลายให้ดีขึ้น ส่วนทางเลือกที่ 2 พบมีรอยเว้าจากดินถล่มเดิมก็ยังไม่ปลอดภัย พื้นที่ที่ 3 น่าจะเหมาะสมที่สุด ปัจจุบันเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว แต่ยังติดขัดทางกฎหมายเป็นพื้นที่อนุรักษ์

      “เราต้องถอดบทเรียนทบทวน ดินถล่มไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดซ้ำ ถ้าเหตุการณ์คล้ายกันเกิดในพื้นที่ไม่มีชุมชนก็ไม่เสียหาย การตัดไม้ทำลายป่ามีผลเพิ่มความเสี่ยงดินถล่ม แต่ถึงจะมีต้นไม้สมบูรณ์ก็สามารถเกิดดินถล่มได้ ป่า ถ้าฝนตกหนัก ต้นไม้ขนาดสูงใหญ่มีน้ำหนัก เมื่อลมพัดมีแรงงัด ฉะนั้น ป่าสมบูรณ์ก็เกิดดินถล่มได้ มันเป็นภัยธรรมชาติ แต่จะมีเรื่องที่มนุษย์เข้าไปกระตุ้น หรือเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ต้องมีการเตือนภัยออกจากพื้นที่เสี่ยง และทำโซนนิ่ง รวมถึงภาครัฐต้องตระหนักถึงการประเมินความเสี่ยงการปลูกสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงต่อดินถล่ม” รศ.ดร.สุทธิศักดิ์เผย

      สำหรับการจัดการภัยดินถล่ม ผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่มย้ำว่า การเตือนภัยล่วงหน้า 3 ชม. ไม่มีประโยชน์ ต้องรู้ล่วงหน้า 1-3 วัน ปัจจุบันมี AP โมเดลแบบละเอียด ใส่ข้อมูลฝนล่วงหน้า 50% มก.ทำร่วมกับกระทรวงทรัพย์ และกรมทรัพยากรธรณี จากนั้นเป็นเรื่องที่ชุมชนต้องสร้างความเข้มแข็ง กระตุ้นการเฝ้าระวังในชุมชน เพราะไม่มีหน่วยงานใดอยู่กับชุมชน 24 ชั่วโมง ต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมกับชุมชน โดยเป็นเครื่องมือตรวจวัดปริมาณน้ำฝนดีที่สุด ให้ชุมชนสามารถอ่านค่าน้ำฝนง่ายๆ เพื่อเฝ้าระวัง เพราะน้ำฝนเป็นตัวก่อเหตุดินถล่ม อย่างกรณีบ่อเกลือได้เตือนล่วงหน้า 3 วัน แต่เมื่อฝนลดลง ทำให้ชาวบ้านให้น้ำหนักกับการเตือนน้อยลง อีกโมเดล มก.ร่วมกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ทำการคาดการณ์พื้นที่เสียงภัยจังหวัดอุตรดิตถ์ นอกจากนี้ ยังมีกล่องเตือนภัยดินถล่ม จะส่งสัญญาณจากภูเขามายังหมู่บ้าน ระยะทางส่งสัญญาณ 3-4 กิโลเมตร เป็นการพัฒนาเครื่องมือ นอกจากนี้มีแอปพลิเคชันเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ดินถล่ม ที่กังวลมากจังหวัดแม่ฮ่องสอนและน่าน นอกจากภัยธรรมชาติแล้ว จากโมเดลศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใน 50 ปี อนาคตสถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้น

      “จากการศึกษาดินถล่มจากน้ำมือมนุษย์ 95% ทั้งตัดถนน ปลูกบ้าน ซึ่งตามหลักต้องเว้นระยะระหว่างสิ่งปลูกสร้างกับแนวลาดเชิงเขา พบบ่อยบ้านสร้างติดเขาเมื่อดินสไลด์ชนกำแพงบ้านพังแล้วล้มทับคนเสียชีวิตก็มาก ส่วนห้องนอนผนังห้องไม่ควรเป็นพื้นที่ติดกับเชิงเขา อีกพื้นที่วิกฤติหมู่บ้านดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย มี 6,000 คน ตรวจวัดด้วยเครื่องมือที่มีความละเอียดสูง พบว่าอัตราขยับตัวปีละ 50 เซนติเมตร ไหลไปตามทางลาดชัน พบถนนแยก กำแพงแยก ตำแหน่งบ้านที่มีการเคลื่อนตัวประมาณ 7 เมตรใน 10 ปี หมู่บ้านนี้อยู่ในกองดินถล่มเดิม ดอยปุยก็ใช่ แต่ดอยช้างเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ เราต้องการนวัตกรรมทางกฎหมายมาป้องกัน เวลานี้ราชการใช้องค์กรเอ็นจีโอนำ แล้วรัฐเคลื่อนตาม คิดนวัตกรรมใหม่ แก้ทั้งภัยแล้งและดินสไลด์ในเวลาเดียวกัน" รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ให้ข้อมูลน่าวิตก

     ส่วนประเด็นภูชี้ฟ้า นักวิชาการ มก.บอกไม่ใช่เรื่องใหม่ ชาวเขาอยู่ตามแนวสันเขา ปลูกบ้านตามแนวลาดชันเกาะไป เมื่อฝนตกน้ำไหลตามร่อง นานวันร่องน้ำใหญ่ขึ้น บ้านตามแนวสันเขาได้รับผลกระทบ หากทำระบบระบายน้ำไม่ดีพอ ไม่มีการกระจายน้ำออกเกิดดินถล่ม หนักสุดยังมีพื้นที่ดอยแม่สลอง มีการปลูกบ้านริมสันเขา แม้เจอดินสไลด์เสียหาย ยังกลับไปสร้างใหม่บนพื้นที่เดิม เพราะไม่อยู่ในพื้นที่ควบคุมอาคาร อย่างไรก็ตาม มีหมู่บ้านชาวเขาที่น่าสนใจ คือ บ้านอาข่าป่ากล้วย จ.เชียงราย มีการจัดการน้ำที่ดีพอสมควร ทำกำแพงกันดินสไลด์ และใช้อิฐในการอนุรักษ์หน้าดิน เพื่อแก้ปัญหาดินถล่ม

     นายนิวัติ บุญนพ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 กล่าวว่า กรณีดินถล่มบ่อเกลือ ภูทับเบิก และเชียงราย พบมีกองดินถล่มโบราณ บ้านแทบทุกหลังสร้างบนกองดินถล่มโบราณ มีหินทราย ตะกอนหินทราย ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเกิดดินถล่ม ประกอบการปริมาณน้ำ สภาพป่าที่เปลี่ยนแปลง การตัดถนน การปลูกพืชเกษตร และการมีชุมชนเข้าไปอาศัยอยู่ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อชีวิต ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีกองดินถล่มโบราณ ซึ่งเราเป็นห่วงมาก กรณีภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ ก็น่าห่วงดินอ่อนแอ เสียสมดุล ถนนเกิดรอยแยกตามแนวยาว และเลื่อนตัวตามแนวดิ่งลักษณะเป็นขั้นบันได อีกทั้งถนนพบการทรุดตัวตลอดเวลาช่วง 30-50 เมตร ปัจจุบันก็ยังทรุดอยู่ (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ส.ค.)  

 

นายนิวัติ บุญนพ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1

 

     ในระยะเร่งด่วนกรณีภูทับเบิก ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 เผยว่า ทธ.ประสานกับ ปภ.จ.เพชรบูรณ์ อพยพราษฎรที่ปลูกบ้านตามแนวถนนช่วงที่ทรุดตัวไปอยู่ที่ปลอดภัย ล่าสุดซ้อมอพยพชาวบ้าน 25 หลังที่ห่างออกไป 3 กม. ไปที่ปลอดภัยแล้ว ห้ามรถวิ่งผ่านเส้นทาง ที่เน้นย้ำให้วัดปริมาณน้ำฝนอย่างเข้มงวด ที่บ้านน้ำเพียงดิน บนเขาและที่บ้านภูโปด ด้านล่าง ถ้าระดับน้ำฝน 100 มม. ให้เก็บของ ถึง 150 มม.อพยพ ถ้าถึง 180 มม.เกิดดินถล่มแน่นอน รวมถึง มก.จะติดตั้งกล่องเตือนภัยดินถล่มประจำหมู่บ้านด้วย

      สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยในประเทศไทย นายนิวัติกล่าวว่า มี 54 จังหวัด 5,000 หมู่บ้าน โดยกำหนดการเตือนภัยในพื้นที่สีแดง ปริมาณน้ำฝนสะสม 100 มิลลิเมตรต่อวันก็เกิดดินถล่มแล้ว พื้นที่สีเหลือง 200 มม. พื้นที่สีเขียว 300 มม. อันตราย นอกจากนี้ จากกิจกรรมมนุษย์ที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น จะต้องมีการกำหนดกฎหมายป้องกัน แม้จะเริ่มดำเนินการ แต่การปูพรมก็ไม่ทันประชาชนที่เข้าไปใช้ประโยชน์พื้นที่เสี่ยงดินถล่ม

      “กรณีบ่อเกลือเป็นหมู่บ้านในหุบเขาเล็กๆ ชาวบ้านเข้าหลักสูตรอบรมพื้นที่เสี่ยงดินถล่มเบื้องต้นกับกรม รวมถึงโคลนถล่มมาตามลำน้ำ แต่ยังไม่ได้ผ่านการอบรมอพยพหนีภัย จากข้อสังเกตดินถล่มเกิดถี่มากขึ้น ด้วยปัจจัยหลายอย่างทั้งดินฟ้าอากาศ การตัดถนน การรุกไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง อย่างไรก็ตาม ในปี  2560 กรมทรัพยากรธรณีมีทิศทางแก้ปัญหาโดยการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ธรณีพิบัติภัยรายภาคตามลุ่มน้ำสำคัญ เป็นตัวแทนกระจายองค์ความรู้ให้พื้นที่รอบนอก ขณะนี้สำเร็จแล้ว 7 ศูนย์เรียนรู้จากเป้าหมายทั้งหมด 30 ศูนย์ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำกก ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำน่าน จ.อุตรดิตถ์ ลุ่มน้ำตะวันออก จ.ระยอง ลุ่มน้ำมูน จ.นครราชสีมา ลุ่มน้ำตาปี จ.นครศรีธรรมราช ระยะแรกกรมถ่ายทอดองค์ความรู้ จนกว่าจะยืนได้ด้วยตัวเองจึงถอยออกมา" นายนิวัติกล่าว

      ดร.สุธาสินี อาทิตย์เที่ยง วิศวกรโยธาปฏิบัติการ กลุ่มงานศูนย์วิจัยและพัฒนาอาคาร สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ดินถล่มแนวโน้มถี่และรุนแรงมากขึ้น สำหรับแนวทางป้องกันและลดผลกระทบ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และกฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน จากเหตุการณ์ดินถล่มในหลายๆ พื้นที่ จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายและพัฒนามาตรฐานเป็นแนวทางให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยปฏิบัติตาม ขณะนี้กรมโยธาฯ ได้ข้อมูลทางวิชาการเบื้องต้นจาก มก. นำผลมากำหนดมาตรการแต่ละพื้นที่

      “ขณะนี้กำลังร่างกฎกระทรวง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง และระยะระหว่างอาคารกับเขตที่ดินของผู้อื่น บริเวณลาดเชิงเขา และพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม อีกร่างเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันการพังทลายของดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ในการขุดดินหรือถมดิน บริเวณลาดเชิงเขา และพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม จะเป็นข้อบังคับในอนาคต ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาคณะกรรมการควบคุมอาคารและคณะกรรมการขุดดินถมดิน ก่อนเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา อย่างไรก็ตาม จะมีคู่มือที่จำเป็น เป็นมาตรฐานการก่อสร้างอาคารบริเวณเชิงเขา มาตรฐานวิเคราะห์ความมั่นคงในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม มาตรฐานการถมดินและบดอัดดิน มาตรฐานระบบเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยง เป็มมาตรฐานที่แนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามเพื่อความปลอดภัยในชีวิต" ดร.สุธาสินีเผยแนวทางป้องกัน พร้อมระบุวันที่ 29 สิงหาคมนี้ กรมโยธาฯ จะจัดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงดังกล่าวที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ เวลา   08.00-13.00 น. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนสามารถไปแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้การจัดร่างสองฉบับนี้สมบูรณ์ได้ด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"