ความลับที่ประชาชนรู้ไม่ได้?


เพิ่มเพื่อน    

 

  "บิ๊กตู่" กับ "บิ๊กป้อม" มีเรื่องอะไรกัน?

                หลายคนสงสัยว่าทำไม ไม่มีชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในคำสั่ง คสช.ฉบับล่าสุด

                คือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๓/๒๕๖๑ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ แทนชุดเดิม

                ให้คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วย

                ๑) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานกรรมการ

                ๒) พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองประธานกรรมการ

                ๓) หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรรมการ

                ๔) พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท กรรมการ

                ๕) พลเรือเอกนริส ประทุมสุวรรณ กรรมการ

                ๖) พลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง กรรมการ

                ๗) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการ

                ๘) นายประมนต์ สุธีวงศ์ กรรมการ

                ๙) นายถวิล เปลี่ยนศรี กรรมการ

                ๑๐) รองศาสตราจารย์จุรี วิจิตรวาทการ กรรมการ

                ๑๑) รองศาสตราจารย์ต่อตระกูล ยมนาค กรรมการ

                ๑๒) นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ กรรมการ

                ๑๓) นายวิชัย อัศรัสกร กรรมการ

                ๑๔) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการ

                ๑๕) นายประยงค์ ปรียำจิตต์ กรรมการ

                ๑๖) เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กรรมการ/เลขานุการ

                ๑๗) เสนาธิการทหารบก/ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรรมการ/ผู้ช่วยเลขานุการ

                ไม่มีชื่อ "บิ๊กป้อม"?

                เป็นเพราะแหวนแม่นาฬิกาเพื่อนหรือเปล่า?

                "บิ๊กป้อม" ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องความไม่โปร่งใสมากเกินไปใช่หรือไม่?

                ก็คาดเดากันไป.....

                วานนี้ (๑๖ สิงหาคม) วันหวยออก นายกฯ ประยุทธ์ เฉลยคำตอบว่า

                "ไม่มีอะไร แค่แบ่งงานท่านออกมาบ้าง คำสั่งดังกล่าวที่ออกมา พล.อ.ฉัตรชัย ที่มีชื่อเป็นรองประธานยังไม่ได้รับผิดชอบ จึงแบ่งงานของ พล.อ.ประวิตร ออกมาเท่านั้นเอง ไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น อย่าไปคิดให้เป็นอย่างอื่นสิ ไม่มีปัญหาอะไรทั้งนั้นแหละ"

                "ไม่เกี่ยวเรื่องนาฬิกา ผมไม่สนใจ เรื่องไหนใครตรวจสอบก็รับไปสิ เขาตรวจสอบว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้น ผมไปเกี่ยวอะไรเล่า ไม่เกี่ยว แล้วทำไมเธอไม่ถามล่ะ คุณต่อตระกูล ทำไมยังอยู่ ผมเอาออกหรือเปล่า ก็ว่าโน่นว่านี่อยู่บ่อยๆ ก็ยังอยู่เหมือนเดิมในคณะ ผมไม่ได้ตั้งแบบนี้"

                ใครอยู่ใครไปมันมีเรื่องราว 

                ถ้าจะบอกว่า "บิ๊กป้อม" ถูกถอดชื่อออกเพราะนาฬิกาเพื่อน ใช่ก็เหมือนไม่ใช่

                เพราะผลมันคือ "ใช่" ก็ได้

                "ไม่ใช่" ก็ไม่เชิง

                แล้วแต่จะมอง

                ที่จริงกรรมการชุดเก่าถูกเปลี่ยนออกไปหลายคน เช่น นายวิษณุ เครืองาม พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รองศาสตราจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นต้น

                การเปลี่ยนแปลงมีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป

                ที่น่าสนใจคือ การที่ "บิ๊กตู่" ปฏิเสธเรื่องนาฬิกาเพื่อน ด้วยการยกตัวอย่างว่า "ต่อตระกูล ยมนาค" ยังอยู่ เพื่อให้เห็นว่า ไม่เกี่ยวกัน

                แต่ผลที่ออกมา ใครคิดว่าเกี่ยวมันก็ต้องเกี่ยว

                เพราะอะไร?

                ก่อนหน้านี้ นายต่อตระกูล ยมนาค เป็นหนึ่งในบุคคลที่ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงความล่าช้าในการตรวจสอบกรณีนาฬิกาเพื่อน ของ "บิ๊กป้อม"

                คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดูจะเกรงอกเกรงใจ "บิ๊กป้อม" เป็นพิเศษ

                จนเสียรังวัด!

                ป.ป.ช.ถูกตั้งคำถามเรื่องการปราบคอร์รัปชันมากที่สุดยุคหนึ่งเลยทีเดียว

                การไม่มีชื่อ "บิ๊กป้อม" ในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ จึงเป็นผลดีกับรัฐบาล คสช.

                แล้วจะเป็นผลดีกับประเทศหรือไม่?

                มองในแง่ความตั้งใจที่จะปราบคอร์รัปชัน การที่ "บิ๊กตู่" ถอด "บิ๊กป้อม" ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ความตึงเครียดทั้งในและนอก คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติดูจะลดลงไป

                แต่ถึงวินาทีนี้การที่ไม่มี "บิ๊กป้อม" ในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ใช่ว่าคำถามเกี่ยวกับการปราบคอร์รัปชันของรัฐบาลจะลดลง

                ถ้าจะพูดเรื่องการทุจริต ต้องพูดให้หมด ไม่ว่าฝ่ายไหนเข้าไปเกี่ยวข้อง

                ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้ รัฐบาลก่อน หากพัวพันถึง จะละเว้นไม่ได้เด็ดขาด 

                นาฬิกาเพื่อนไม่ใช่เรื่องเดียวที่พบว่ามีปัญหา

                แม้ดูเหมือนว่ารัฐบาล คสช.จะต่อสู้กับการคอร์รัปชันหนักกว่ารัฐบาลก่อนๆ 

                มีมาตรการควบคุมคนโกงออกมากว่าหลายรัฐบาลที่ผ่านมา

                แต่...นำไปสู่การปฏิบัติจริงหรือไม่?

                นี่เป็นคำถาม

                และคำถามที่ดูจะมีน้ำหนัก เพราะตั้งข้อสังเกตโดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

                ดร.มานะ นิมิตรมงคล โพสต์เอาไว้ในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคมที่ผ่านมา

                เรื่องความลับที่ประชาชนรู้ไม่ได้

                "จากความลับทางทหาร สู่ ความลับทางการค้า"

                ....ก่อนหน้านี้ เมื่อราชการจะจัดซื้ออะไรแพงๆ เขามักใช้คำว่า ‘ความลับทางทหาร’ หรือ ‘ความมั่นคงของชาติ’ เพื่อปกปิดข้อมูล แต่เมื่อถูกคัดค้านและตรวจสอบจากประชาชนมากขึ้น จึงเริ่มมีข้อจำกัดขึ้นมาบ้างว่า หน่วยงานไหน และภายใต้เงื่อนไขอะไร จึงจะอ้างเช่นนี้ได้

                มาวันนี้ การซื้อดาวเทียม ๗ พันล้านบาทได้อ้างว่า มีหลายเรื่องหลายอย่างเปิดเผยให้ประชาชนรู้ไม่ได้ เพราะเป็น ‘ความลับทางการค้า’ ที่ไปตกลงไว้กับต่างชาติ ทำให้สงสัยว่า ผลประโยชน์ทางการค้าของเอกชนสำคัญกว่าผลประโยชน์ของชาติหรืออย่างไร

                ประเด็นนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เคยกล่าวไว้ว่า

                ‘ถ้าเอาเงินภาษีของประชาชนไปใช้ การจะอ้างว่าเรื่องใดเป็นความลับทางการค้า ผู้อ้างต้องหาหลักฐานมารองรับให้ได้ว่า เรื่องนั้นเป็นไปตามกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับใด จะมาอ้างเอาลอยๆ หรือไปตกลงกันเองไม่ได้’

                คนป่ามีปืน:

                หน่วยงานที่จะซื้อดาวเทียมยังให้ข้อมูลอีกว่า ขั้นตอนการจัดซื้อครั้งนี้ใช้ ‘ระเบียบพัสดุของหน่วยงานเอง’ ไม่ได้ใช้ระเบียบสำนักนายกฯ ปี ๒๕๓๕ หรือกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่ออกมาเมื่อโครงการจัดซื้อเริ่มเดินไปบ้างแล้ว

                ประเด็นมีอยู่ว่า

                ที่ผ่านมา การที่หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างคนต่างออกระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของตนเองนั้น เปรียบดั่ง ‘คนป่ามีปืน’

                คือมีข้อดีอยู่บ้าง แต่ก็สร้างปัญหาตามมาอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องคอร์รัปชัน จนเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องตรา พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ๒๕๖๐ ออกมาเพื่อให้การใช้เงินของแผ่นดิน เงินของประชาชน เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยยึดหลัก ‘ความคุ้มค่า โปร่งใส ตรวจสอบได้’

                การนำ ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ มาใช้ก็เพื่อวัตถุประสงค์นี้ แต่จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับคนของรัฐและพ่อค้าที่เข้าร่วมโครงการต้องให้ความร่วมมือจริงจัง

                คือต้องเปิดเผยและยินยอมให้ผู้แทนภาคประชาชนตรวจสอบได้อย่างปรุโปร่ง สังคมจึงจะมั่นใจได้ว่าการจัดซื้อนั้นเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ต่อไปใครจะค้าขายกับราชการ ไม่ว่าคนไทยหรือต่างชาติที่ก็สบายใจว่าไม่ต้องวิ่งเต้นและบวกราคามากๆ ไว้จ่ายใต้โต๊ะให้กับใคร

                อันที่จริง ‘ข้อตกลงคุณธรรม หรือ Integrity Pact’ ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นกติกาสากลที่ใช้กันมานาน โดยรัฐบาลนี้รับมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ เพื่อหวังให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในการทำงานของข้าราชการ คือทำอย่างโปร่งใส ทำงานร่วมกับตัวแทนประชาชนที่มีความรู้ มากประสบการณ์และเสียสละอาสาเข้ามาช่วยคิด ช่วยตรวจสอบ เพื่อเป็นหลักประกันว่า การลงทุนในโครงการของรัฐจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ ลดความสูญเสียจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการและช่วยลดการรั่วไหลของเงินภาษี

                หลายโครงการที่สำเร็จไปแล้วยังพบว่า ทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ต่างทำงานมั่นใจสะดวกสบายขึ้น อย่างน้อยก็ไม่ต้องคอยเกรงใจผู้ใหญ่หรือใครที่จะมาแทรกแซง เพราะมีคนกลางคอยช่วยจับตาอยู่..."

                หรือที่ นายต่อตระกูล ยมนาค เขียนบทความไว้ก่อนหน้านี้ ที่มีข่าวที่มีผู้สังเกตการณ์อิสระ ๖ คน ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดาวเทียม THEOS-2 มูลค่ากว่า ๗ พันล้านบาท ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISDA) แจ้งขอลาออกทั้งหมด

                เพราะไปพบว่ามีขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงคุณธรรม แต่เมื่อแจ้งเตือนไปกลับไม่ได้รับความสนใจแต่อย่างใด

                นายต่อตระกูลชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่อ่านข่าวแบบนี้อาจมีความรู้สึก ๒ อย่างพร้อมๆ กัน

                อย่างแรกคือ รู้สึกดีที่มีคนมาช่วยดูแลไม่ให้หน่วยงานรัฐโกงเงินภาษีของเรา

                และอย่างที่สองคือ กลุ้มใจว่าถึงมีคนมาช่วยดูก็เหมือนจะไม่สามารถป้องกันการทุจริตได้

                แม้นายต่อตระกูลจะสรุปว่าอย่ากลุ้มใจไป เพราะข้อตกลงคุณธรรมนี้สามารถช่วยทำให้การประมูลจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐโปร่งใสไร้ข้อครหาเรื่องการทุจริตได้จริง

                แต่...เห็นอะไรหรือเปล่า

                ความพยายามที่คอร์รัปชันโดยระบบราชการ องค์กรมหาชน ภายใต้รัฐบาล คสช.นั่น ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

                และเหมือนทั้ง ดร.มานะ นิมิตรมงคล และนายต่อตระกูล ยมนาค ดูจะยั้งๆ เมื่อพูดถึงโครงการจัดซื้อดาวเทียมมูลค่า ๗ พันล้านบาท

                ประเทศไทยมาไกลถึงขนาดที่ว่ายอมเชียร์รัฐบาลรัฐประหารให้ช่วยปราบนักการเมืองขี้โกง

                ยอมให้หยุดพักประชาธิปไตยเพื่อปราบคนโกง

                ถ้าไม่สำเร็จมองไม่ออกจริงๆ ว่าอนาคตที่ประชาชนไม่เอาทั้งทหารและนักการเมืองจะเป็นอย่างไร.

                                                                                                                                        ผักกาดหอม

               


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"