เตือนระวังพายุเบบินคา สั่ง‘6เขื่อนใหญ่’พร่องนํ้า


เพิ่มเพื่อน    

  "ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ"   เตือนทั่ว ปท.รับมือฝนตกหนักจากพายุ "เบบินคา" สั่งเฝ้าระวังพิเศษระดับน้ำ "แม่น้ำเพชรบุรี-แม่น้ำนครนายก" พร้อมเร่งพร่องน้ำ 6 เขื่อนใหญ่ "อธิบดีกรมชลฯ" แจ้ง ปชช.พื้นที่ระบายน้ำชะลอการทำนาปีออกไปก่อน "ผู้ว่าฯ น่าน" กำชับทุกฝ่ายติดตามน้ำท่วม-ดินโคลนถล่มใกล้ชิด หลังระบบเตือนภัยแจ้งเตือน

       เมื่อวันที่ 17 ส.ค. นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ สรุปสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญว่า  ตามที่พายุโซนร้อนเบบินคาคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนวันที่ 17 ส.ค. หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาว ในวันที่ 18 ส.ค. ส่งผลให้ประเทศไทยช่วงวันที่ 17-18 ส.ค.นี้ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่มได้ โดยปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาเกิดฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ สูงสุดที่ จ.น่าน ถึง 188 มม.
    นายสำเริงกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ยังคงมี 4 แห่ง ซึ่งเป็นอ่างฯ ขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ ได้แก่ 1.เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 741 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้น จากเมื่อวาน 739 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 104 ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 27.29 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายออกวันละ 19.82 ล้าน ลบ.ม. น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 68 ซม. สูงกว่าเมื่อวาน 3 ซม. ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.73 ม. ทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำบางจุดในบริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมืองฯ และ อ.บ้านแหลม ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 
    2.เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 532 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 102 ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 4.45 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออกวันละ 5.32 ล้าน ลบ.ม. โดยพื้นที่ท้ายน้ำที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร รวมถึงให้หน่วยงานในพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำใน จ.สกลนคร บึงกาฬ นครพนม ซึ่งลำน้ำอูนและลำน้ำสงคราม ไหลผ่าน 3.เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำ 7,817 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 88% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 100.02 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 41.40 ล้าน ลบ.ม. และ 4.เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 193 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 86 ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 6.70 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 3.87 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 30 ซม.
    ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจฯ กล่าวว่า ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่/กลางที่มีปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 2 แห่ง คือ 1. เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ปริมาณน้ำ 4,880 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 87 ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 17.58 ปริมาณน้ำไหลออกวันละ 20.47 ล้าน ลบ.ม. 2.อ่างเก็บน้ำคิรีธาร จ.จันทบุรี ปริมาณน้ำ 75 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 99 ปริมาณน้ำที่ระบาย 0.66 ล้าน ลบ.ม.
    “ทางศูนย์ฯ ประสานแจ้งให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดเตรียมแผนรองรับและแจ้งเตือนเฝ้าระวัง 3 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจากปริมาณน้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมืองฯ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม และลำน้ำอูน แม่น้ำนครนายก ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีน้ำมากและอาจเกิดฝนตกในพื้นที่ 2.พื้นที่เฝ้าระวังน้ำหลากที่ อ.ปัว และ อ.สันติสุข จ.น่าน เนื่องจาก 24 ชม. ที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมาก และ 3.พื้นที่เฝ้าระวังจากการเร่งระบายน้ำ โดยเฉพาะอ่างฯ ขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์  เขื่อนรัชชประภา เขื่อนขุนด่านปราการชล และเขื่อนน้ำอูน รวมถึงอ่างขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีปริมาณน้ำร้อยละ 100 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนที่มีน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้น ซึ่งคาดว่าระดับน้ำจะขึ้นต่อเนื่องไปอีก 3-4 วัน ตามปริมาณฝนที่ตกลงมาเพิ่มขึ้น”ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจฯ กล่าว
    ด้านนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้กำชับกรมชลประทานพร่องน้ำออกจากเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำเกินเกณฑ์เก็บกักมากขึ้น รวมถึงเร่งผลักดันน้ำที่ระบายออกลงสู่ทะเลเร็วที่สุด รวมทั้งพร่องเขื่อนขนาดกลางที่มีน้ำเกินร้อยละ 80 โดยให้สำนักชลประทานทุกแห่งร่วมกับป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่อยู่พื้นที่รับน้ำท้ายเขื่อนให้มีผลกระทบน้อยที่สุด 
    นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีกระลอก หลังจากฝนตกหนักในพื้นที่เหนือเขื่อน ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนมากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งทำแนวป้องกันการกัดเซาะ ปลายท่อกาลักน้ำให้เสร็จ ซึ่งจะสามารถเพิ่มการทำงานของกาลักน้ำได้อีก 10 ชุด รวมของเดิมเป็น 22 ชุด จะช่วยเร่งการระบายน้ำมากขึ้น 
    "เมื่อน้ำไหลมาถึงเขื่อนเพชร จะผันน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเพชรเข้าระบบคลองชลประทานทั้ง 4 สาย รวม 90 ลบ.ม./วินาที และควบคุมปริมาณน้ำให้ระบายลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ในอัตราไม่เกิน 125 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งแม่น้ำเพชรบุรีบางแห่ง โดยได้รายงานสถานการณ์น้ำให้ทางจังหวัดเพชรบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์อย่างต่อเนื่องแล้ว นอกจากนี้ยังได้กำหนดพื้นที่ทางน้ำผ่านจากคลองส่งน้ำลงคลองระบายน้ำและทะเล ซึ่งได้ชี้แจงกับเกษตรกรในพื้นที่ให้ชะลอการทำนาปีออกไปก่อนเช่นกัน" อธิบดีกรมชลประทานกล่าว
    ขณะที่นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยขณะนี้คลี่คลายแล้ว 26 จังหวัด ยังเหลืออุทกภัยอีก 6 จังหวัด รวม 31 อำเภอ 175 ตำบล 1,284 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 24,818 ครัวเรือน 60,502 คน ได้แก่ จ.นครพนม อุบลราชธานี บึงกาฬ กาฬสินธุ์  ยโสธร และเพชรบุรี
    ที่ จ.น่าน นายไพศาล วิมลรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน สั่งให้ทุกฝ่ายพร้อมรับมือและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังระบบเตือนภัยน้ำท่วมดินถล่ม กรมทรัพยากรน้ำแจ้งเตือนภัย 11 หมู่บ้าน ในอำเภอสันติสุข เข้าขั้นวิกฤติต้องอพยพ และ 68 หมู่บ้านในอำเภอปัว, ท่าวังผา และ อ.เมืองฯ เตรียมพร้อมระวังน้ำท่วมฉับพลันจากอิทธิพลพายุโซนร้อนเบบินคา ที่ส่งผลให้จังหวัดน่านเกือบทุกพื้นที่มีฝนตกหนักต่อเนื่องตลอดทั้งคืนจนถึงขณะนี้ 
    โดยเฉพาะที่อำเภอปัว, สันติสุข และแม่จริม มีปริมาณน้ำฝนสะสมสูง 158-200 มิลลิเมตร ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสาขาลำน้ำยาว อ.ปัว เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนขั้นวิกฤติ 4.50 เมตร น้ำไหลทะลักเข้าท่วม บ้านเรือนประชาชน โรงเรียนบ้านส้าน อาคารเรียนชั้นล่าง น้ำเข้าท่วมสูงกว่า 50 เซนติเมตร ทางโรงเรียนประกาศปิดการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังมีรายงานที่บ้านส้านใต้ นายสนิท เนตรทิพย์ ถูกไฟดูดเสียชีวิต ขณะเก็บข้าวของภายในบ้านหนีน้ำท่วม.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"