‘พลเอกอนันตพร’ รมว.พม.เยี่ยมพี่น้องชาวใต้  ชูพลัง ‘ประชารัฐ’ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ


เพิ่มเพื่อน    

พัทลุง-นครศรีธรรมราช/ พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์  รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมพี่น้องชาวใต้  ชู ‘พลังประชารัฐ’ ดึงชุมชนท้องถิ่น  หน่วยงานรัฐและเอกชนลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม  หนุนจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส-สร้างบ้านให้ผู้ยากไร้  ขณะที่ พอช.สนับสนุนงานพัฒนาทุกมิติในพื้นที่ 14  จังหวัดภาคใต้แล้ว  1,154 ตำบล/เทศบาล  ครอบคลุมพื้นที่เกือบ  100 %

ระหว่างวันที่ 16-17 สิงหาคม  พลเอกอนันตพร  กาญจนรัตน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และคณะ  ได้เดินทางมาที่จังหวัดพัทลุงและนครศรีธรรมราช  เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายของรัฐบาล  เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชนใน จ.พัทลุง ที่มีการจัดตั้งทั่วทั้งจังหวัดรวม  73  กองทุน  ช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย  และขยายไปสู่การช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัย  โดยมีหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น  ชุมชน  และภาคเอกชนร่วมให้การสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ  วัสดุก่อสร้าง  และช่วยกันลงแรงสร้างบ้าน

            พลเอกอนันตพร  กาญจนรัตน์  รมว.พม. กล่าวว่า  รัฐบาลมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม  โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัยซึ่งถือเป็นปัจจัยสี่ที่สำคัญของประชาชน  เนื่องจากที่ผ่านมายังมีประชาชนกว่า 5 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศที่มีรายได้น้อยและยังขาดแคลนที่อยู่อาศัย  รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวง พม.จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี  มีเป้าหมายให้ประชาชนทุกครัวเรือนมีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง  โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนและการเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลัก  แต่เนื่องจากมีประชาชนที่เดือดร้อนเป็นจำนวนมาก  และรัฐบาลมีงบประมาณไม่เพียงพอ 

“ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน  ทั้งหน่วยงานในท้องถิ่น  เช่น  อบจ.  อบต.  จังหวัด  พอช.  รวมทั้งภาคเอกชน  ช่วยกันสนับสนุนด้านงบประมาณและความร่วมมือต่างๆ เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา  เช่น  โครงการบ้านพอเพียงชนบทที่ พอช.ดำเนินการ  มีงบประมาณสนับสนุนชาวบ้านที่ยากจน  เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนที่ทรุดโทรม  งบประมาณไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท  แต่ก็ยังไม่พอเพียง และปีหนึ่งทำได้เพียง  20,000 หลัง  จึงต้องให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนช่วยกันสนับสนุนเ ป็นการรวมพลังประชารัฐ เช่น  ช่วยกันบริจาควัสดุก่อสร้าง  ช่วยกันลงแรงสร้างบ้าน  เพื่อให้การช่วยเหลือกระจายออกไปทั่วถึงประชาชนที่เดือดร้อนทั่วประเทศ”  รมว.พม. กล่าว

พลเอกอนันตพรกล่าวด้วยว่า  การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ  ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือประชาชนที่ด้อยโอกาส  เพราะกองทุนสวัสดิการที่ประชาชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาสามารถช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ  ตั้งแต่เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  ช่วยทุนการศึกษาของลูกหลาน  ฯลฯ  นอกจากนี้ยังขยายไปช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย  ดังตัวอย่างของกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านนา  อ.ศรีนครินทร์  จ.พัทลุง  ที่กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ และหน่วยงานๆ ต่างในพื้นที่  รวมทั้งชาวชุมชน  ช่วยกันบริจาคเงินและวัสดุก่อสร้างบ้าน  และลงแรง  ช่วยกันสร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาสในตำบลได้หลายราย

            ทั้งนี้ที่จังหวัดพัทลุง  รมว.พม.และคณะได้เดินทางมาที่ทำการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านนา อ.ศรีนครินทร์   ซึ่งถือเป็นต้นแบบกองทุนสวัสดิการชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุง  โดยกองทุนสวัสดิการตำบลบ้านนาก่อตั้งเมื่อปี 2549  สมาชิกเริ่มต้น  615 คน  มีเงินกองทุน  73,800  บาท  ปัจจุบันมีสมาชิก  2,424 คน  มีเงินกองทุน  6.8 ล้านบาท  มีสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกด้านต่างๆ  13 ด้าน  เช่น  คลอดบุตร  เจ็บป่วย  เสียชีวิต  ช่วยคนด้อยโอกาส  เพื่อการศึกษา  เงินกู้  ภัยธรรมชาติ  ฯลฯ  นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงการช่วยเหลือตามโครงการ ‘บ้านนาโมเดล’ สร้างบ้านให้ผู้สูงอายุจำนวน  3 หลัง  โดยพลเอกอนันตพรได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านที่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยด้วย

            นายวิเชียร  มณีรัตนโชติ  นายกสมาคมเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดพัทลุง  กล่าวถึงภาพรวมการจัดสวัสดิการชุมชนในจังหวัดพัทลุงว่า  ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล 73 ตำบล/เทศบาล  ครอบคลุมทุกพื้นที่ในจังหวัดพัทลุง  มีสมาชิกทั้งหมด  94,422 คน  มีเงินกองทุนรวม 213  ล้านบาทเศษ  โดยสมาชิกจะร่วมกันสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท  หรือปีละ 365  บาท  รัฐบาลสมทบเงินเข้ากองทุนผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจำนวน 42  ล้านบาทเศษ  องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบต./เทศบาล/อบจ.) ร่วมสมทบจำนวน 10 ล้านบาทเศษ   และนำเงินไปช่วยเหลือสมาชิกในด้านต่างๆ รวม 12 ประเภท   สมาชิกได้รับการช่วยเหลือรวม 52,034  คน  เป็นเงิน 46 ล้านบาทเศษ

           ขณะเดียวกันในวันที่ 17 สิงหาคม  มีการจัดงาน “สมัชชาคนเมืองลุงไม่ทอดทิ้งกันครั้งที่ 6  รวมพลังสร้างบ้านให้พี่น้องเรา” ที่ห้องประชุม อบจ.พัทลุง  โดยมีพลเอกอนันตพรเป็นประธานเปิดงาน  มีนายกู้เกียรติ  วงศ์กระพันธุ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง  และสมาชิกเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้เข้าร่วมงานประมาณ  1,500 คน 

           ภายในงานมีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “การพัฒนาชุมชนเพื่อขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองอย่างยั่งยืนจังหวัดพัทลุง” ระหว่าง 4 หน่วยงาน  คือ สมาคมเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจังหวัดพัทลุง  พมจ.พัทลุง  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคใต้  และสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดพัทลุง  มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนในจังหวัดพัทลุงให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย  โดยภายในปี 2565 จะเพิ่มสมาชิกทั้งจังหวัดให้ได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน  รวมทั้งสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนตามโครงการบ้านมั่นคงและบ้านพอเพียงชนบท

            หลังจากนั้นพลเอกอนันตพรและคณะได้เดินทางไปเยี่ยมประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยมีการจัดงานต่างๆ  เช่น  การมอบบ้านมั่นคงและบ้านพอเพียงชนบทที่เทศบาลเมืองปากพูน  อ.เมือง  โดยใน จ.นครศรีธรรมราช  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช.สนับสนุนการสร้างบ้านมั่นคงไปแล้ว  58 ชุมชน  รวม 2,785 ครัวเรือน  โครงการบ้านพอเพียงชนบท (ซ่อมแซมบ้านเรือนที่ยากไร้  มีสภาพทรุดโทรม) รวม 444 ครัวเรือน

            นายฉลองรัตน์  ทองคำ  ผู้แทนสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงปากพูนพัฒนา จำกัด  กล่าวว่า  เดิมมีผู้เดือดร้อนอาศัยอยู่ในเมืองท่าแพ ซึ่งเป็นชุมชนเมืองขนาดเล็ก  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดินเอกชน  นายทุน และวัด เมื่อชุมชนมีการขยายตัวมากขึ้น  ทำให้ที่อยู่อาศัยเริ่มแออัดแออัด  มีปัญหาการเอาเปรียบค่าเช่าที่ดินและชาวบ้านถูกไล่รื้อ จากการสำรวจข้อมูลมีผู้เดือดร้อน  6 ชุมชน  จำนวน 332  ครัวเรือน  จึงรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  โดยในปี 2558 พอช.ได้อนุมัติโครงการบ้านมั่นคงเพื่อแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยในรูปแบบการซื้อที่ดินเพื่อสร้างชุมชนใหม่  เริ่มสร้างเฟสแรก  51 ครัวเรือน  และในปี 2559 พอช.อนุมัติเพิ่มอีก 23 ครัวเรือน   รวม 74 ครัวเรือน  โดยสหกรณ์ฯ เสนอขอสินเชื่อ  เพื่อจัดซื้อที่ดินและสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างบ้าน  งบประมาณรวม 11.8  ล้านบาทเศษ

“ปัจจุบันโครงการบ้านมั่นคงเมืองปากพูน  สร้างบ้านเสร็จแล้ว 51 หลัง  อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 23  หลัง  ส่วนที่เหลือจะดำเนินการต่อไป  เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  นอกจากนี้ชาวชุมชนยังร่วมกันพัฒนาและดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้สะอาด  สวยงาม  รวมทั้งส่งเสริมอาชีพสมาชิกในชุมชนด้วย” ผู้แทนสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเมืองปากพูนฯ กล่าว

ทั้งนี้ในจังหวัดนครศรีธรรมราช  พอช.ได้สนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี พ.ศ.2547-2561 รวม 32 โครงการ 58 ชุมชน  มีผู้รับประโยชน์ 2,785 ครัวเรือน  รวมงบประมาณ 164  ล้านบาทเศษ  ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยแล้วเสร็จ จำนวน  1,764 ครัวเรือน   นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยในมิติอื่นๆ ที่มากกว่าคำว่าบ้าน  เช่น  การจัดการสิ่งแวดล้อม  การส่งเสริมอาชีพ โดยมีกลไกเชื่อมโยงการพัฒนาจากเครือข่ายผู้เดือดร้อนที่ประสบปัญหาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ  ท้องที่  ท้องถิ่น   สถาบันการศึกษา  สภาองค์กรชุมชน  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ที่ร่วมกันทำงานจนเกิดรูปธรรมความสำเร็จ

นายวิชัย  นะสุวรรณโณ  ผู้อำนวยการสำนักงานภาคใต้  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวถึงการดำเนินงานของ พอช.ในพื้นที่ภาคใต้ว่า  พอช.ได้สนับสนุนการพัฒนาขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด  โดยมีพื้นที่ปฏิบัติงานทั้งหมด 1,154 ตำบล/เทศบาล  (ร้อยละ 98.12 ของพื้นที่ทั้งหมด  1,176 ตำบล/เทศบาล) โดยแบ่งเป็น  สภาองค์กรชุมชน   1,066 ตำบล,   กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล 1,111 กองทุน, บ้านมั่นคง 78  เมือง  358 ชุมชน รวม 24,486 ครัวเรือน  งบประมาณรวม 1,252 ล้านบาทเศษ ,  บ้านพอเพียงชนบท  (ปี 2561) 134 ตำบล  รวม  3,174 ครัวเรือน  งบประมาณรวม 57 ล้านบาท  และเศรษฐกิจและทุนชุมชน 240 ตำบล

“ทั้งนี้การดำเนินโครงการต่างๆ  พอช.จะใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลที่มีการจัดตั้งในชุมชนต่างๆ เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา  โดยดึงภาคส่วนต่างๆ มาร่วมกันทำงาน  เช่น  อบต.  อบจ.  พมจ.  รวมทั้งภาคเอกชนด้วย  เช่น  การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  สภาองค์กรฯ จะมีการจัดตั้งคณะทำงานที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันออกแบบและทำงานร่วมกัน  มีการวางแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งระบบ  เช่น  มีกองทุนที่อยู่อาศัย  ส่งเสริมอาชีพชาวชุมชน  ร่วมกันพัฒนาสิ่งแวดล้อม  พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน  เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนที่เดือดร้อนได้อย่างยั่งยืน”  นายวิชัยกล่าวทิ้งท้าย

                                                           


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"