เชียงใหม่-น่านอ่วม ‘กลาง-ใต้’เสี่ยงจม


เพิ่มเพื่อน    

  ทั่ว ปท.เผชิญฝนตกหนัก "ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ" สั่ง 18 จังหวัดเฝ้าระวัง เตือน "เพชรบุรี-นครนายก" เสี่ยงน้ำท่วม "เชียงใหม่-น่าน" หลายอำเภอเจอน้ำหลาก "ปภ." แจ้ง 4 จว.เหนือ ปชช. 5,228 ครัวเรือนประสบอุทกภัย "ผู้ว่าฯ กาญจน์" ปรับเพิ่มระบายน้ำท้ายเขื่อนวชิราลงกรณ "กระบี่" ปักธงแดงทะเลคลื่นลมแรงให้เรือเข้าฝั่งก่อน 16.30 น.

    เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ รายงานสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงว่า หย่อมความกดอากาศต่ำที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชันเบบินคา ได้เคลื่อนออกจากบริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเข้าปกคลุมประเทศเมียนมาแล้ว ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะ 18 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ภาคเหนือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก ภาคตะวันตก ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต ส่วนคาดการณ์วันที่ 20-24 ส.ค.61 ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนลดลง แต่มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
    ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติยังระบุถึงการติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยอ่างเก็บน้ำที่ความจุเกิน 100% ขนาดใหญ่มี 2 แห่ง คือ เขื่อนนำอูน (102%), เขื่อนแก่งกระจาน (107% ) และสถานการณ์อ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังมี 4 แห่ง เขื่อนศรีนครินทร์ 88%, เขื่อนวชิราลงกรณ 90%, เขื่อนรัชชประภา 87% และเขื่อนขุนด่านปราการชล 86%
    ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วม ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมืองฯ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม และลำน้ำอูน แม่น้ำนครนายก ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีน้ำมากและอาจเกิดฝนตกในพื้นที่ ขณะที่พื้นที่เฝ้าระวังน้ำหลาก ได้แก่ อ.ฝาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และอ.แม่จัน จ.เชียงราย อ.ปัว อ.สันติสุข จ.น่าน
    นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ผลกระทบจากพายุเบบินคา ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย 4 จังหวัด รวม 25 อำเภอ 110 ตำบล 454 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,228 ครัวเรือน 13,381 คน ได้แก่ จังหวัดน่าน พะเยา เชียงราย และลำปาง
    ที่ จ.น่าน นายไพศาล วิมลรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมนายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดรั่วของพนังกั้นน้ำที่ชุมชนบ้านดอนแก้ว ต.ในเวียง เทศบาลเมืองน่าน ซึ่งมีการทรุดตัวของดินใต้พนังกั้นน้ำ ทำให้เกิดเป็นช่องโหว่ และน้ำล้นทะลักเข้ามาในจุดนี้ได้ 100% ยังไม่สามารถทำอะไรได้ แม้ว่าจะนำกระสอบทรายกว่า 500 ถุงอุดปิดกั้นไว้ โดยน้ำไหลทะลักอย่างเชี่ยวกราก ทำให้ 6 ชุมชนริมแม่น้ำน่าน ได้แก่ บ้านสวนตาล บ้านดอนแก้ว บ้านดอนศรีเสริม บ้านท่าช้าง บ้านเมืองเล็น และบ้านหัวเวียงใต้ล่าง มีน้ำท่วมขังระดับ 20-50 เซนติเมตร ซึ่งทางเทศบาลเมืองน่านได้ตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 4 เครื่อง สูบระบายน้ำสู้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันพื้นที่เขตเศรษฐกิจ 
4 จังหวัดเหนือจมน้ำ
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่ อ.ภูเพียง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น้ำไหลท่วมแผ่กระจายเป็นวงกว้าง เนื่องจากการที่อีกฟากฝั่งของแม่น้ำน่านมีพนังกั้นน้ำ ทำให้บ้านร้องตอง  บ้านศรีบุญเรือง บ้านท่าล้อ บ้านแสงดาว ต.ม่วงตึ๊ด มีระดับน้ำท่วมสูงระดับ 2-3 เมตร และมีความยากลำบากในการเข้าช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากถนนทางเข้าชุมชนแคบ รถและเรือใหญ่เข้าไม่ถึง ต้องใช้เรือขนาดเล็กเข้าไปส่งน้ำดื่มและอาหาร รวมทั้งบรรทุกคนออกมาภายนอกเท่านั้น รวมทั้งพื้นที่ อ.ท่าวังผา ที่บ้านดอนตัน หมู่ 4 หมู่ 10 หมู่ 14 และบ้านม่วง หมู่ 1 ต.ศรีภูมิ ซึ่งมีน้ำท่วมระดับ 1-2 เมตร ปิดถนนทางเข้า-ออกหมู่บ้าน ทำให้กว่า 600 หลังคาเรือนต้องถูกตัดขาดและไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ขณะที่พื้นที่ อ.เมืองน่าน จุดที่น้ำท่วมหนัก ที่บ้านดอนมูลพัฒนา หมู่ 13 ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน ระดับน้ำท่วมสูง 1-2 เมตร มีบ้านเรือนประชาชนกว่า 100 หลังคาเรือน ที่ต้องย้ายสิ่งของและอพยพย้ายไปอยู่บนชั้นสองของบ้าน
    พ.อ.รุศมนตรี จิณะเสน รอง ผบ.มณฑลทหารบกที่ 38 นำกำลังหน่วยทหารนำอาหารและน้ำดื่ม ยารักษาโรค ลงเรือพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ    เข้าแจกจ่ายสิ่งของจำเป็นเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางผู้ว่าราชการจังหวัดน่านยังคงสั่งให้เฝ้าระวังมวลน้ำและระดับน้ำในแม่น้ำน่าน รวมทั้งจุดรั่วของพนังกั้นน้ำที่บ้านดอนแก้วอย่างใกล้ชิด
    จ.พะเยา นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วย พล.ต.สายัณห์ เมืองศรี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 34, นายวรวิทย์ บุรณศิริ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา และนายสิทธิ์ วงศ์ม่าน นายอำเภอปง จังหวัดพะเยา ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำที่ไหลบ่าเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอปง กว่า 7 ตำบล 40 หมู่บ้าน ที่บริเวณต้นน้ำยม ซึ่งสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ทางการเกษตรมากกว่า 2,500 ไร่ นอกจากนั้นยังได้นำสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องอุปโภคบริโภค เข้าทำการช่วยเหลือชาวบ้านกว่า 30 ครัวเรือน ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลนาปรัง อำเภอปง ที่ติดเกาะ เนื่องจากถนนเส้นทางสัญจรในหมู่บ้านถูกน้ำตัดขาดจนไม่สามารถเดินทางออกจากพื้นที่ได้
    นายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอปงเริ่มคลี่คลายลงหลังจากที่มีฝนตกลงมาตั้งแต่วันที่ 17 และในช่วงเช้าวันที่ 18 ส.ค. น้ำได้ไหลบ่าเข้าท่วมในเขตพื้นที่ชุมชน จนถึงขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลง ส่วนที่เข้าติดตามพื้นที่ตรงนี้ เนื่องจากน้ำได้ตัดขาดเส้นทาง จนทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้การได้ ซึ่งทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เข้าทำการช่วยเหลือฟื้นฟูต่อไป 
    "ต้องฝากเตือนพื้นที่ด้านล่าง คืออำเภอเชียงม่วน ที่จะต้องรับมวลน้ำจากตรงนี้ ให้เฝ้าระวังติดตามและเตรียมการป้องกันภาวะน้ำท่วมในช่วงนี้ สำหรับสถานการณ์น้ำที่นี่ คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงวันนี้หากฝนไม่ตกลงมาเติมอีก" ผู้ว่าฯ พะเยากล่าว
    จ.เชียงราย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากอิทธิพลพายุเบบินคา ส่งผลกระทบใน 6 อำเภอ 23 ตำบล 76 หมู่บ้าน เกิดน้ำท่วม เป็นลักษณะน้ำระบายไม่ทันแล้วมาล้นท่วมในพื้นที่ รวมทั้งน้ำจันยังคงมีระดับสูงเนื่องจากยังคงมีฝนตก ทำให้มีมวลน้ำไหลลงมาสมทบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดนวลจันทร์และร้านค้ารวมทั้งบ้านเรือนประชาชนกว่า 100 หลังคาเรือน และถนนสองฝั่งแม่น้ำจันที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลแม่จันและเทศบาลตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน ยังคงมีน้ำท่วมอยู่
    นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า น้ำแม่คำล้นพนังทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน ม.4, ม.9, ม.11, ม.14 ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน ซึ่งนางวันดี ราชชมภู นายอำเภอแม่จัน พร้อมด้วยทหาร มทบ.37 เจ้าหน้าที่เทศบาลสายน้ำคำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปพร. อส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน ขนของขึ้นที่สูง และ ศ.ปภ.เขต 15 เชียงราย สนับสนุนเรือท้องแบน จำนวน 2 ลำ ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว หากไม่มีฝนตกหนักซ้ำเติม สถานการณ์จะคลี่คลาย ความเสียหายอยู่ระหว่างสำรวจ
'กระบี่'ปักธงแดงเตือน
    ส่วนที่บ้านป่าซางพัฒนา หมู่ 13 ตำบลแม่พริก อำเภอแม่สรวย ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ได้สั่งการให้นายอำเภอแม่สรวย ปภ.สาขาเวียงป่าเป้า สมาชิก อส.อบต.แม่พริก ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายของพนังกั้นน้ำลำห้วยแม่พริก โดยมีกำลังพลจาก มทบ.37 สนับสนุน
    จ.ลำปาง น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังเหนือ, อำเภองาว, อำเภอเมืองปาน และอำเภอแจ้ห่ม รวม 13 ตำบล 34 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 103 ครัวเรือน 278 คน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากพายุเบบินคาแล้ว ในพื้นที่อื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนัก โดยเฉพาะที่ จ.เลย สถานการณ์แม่น้ำโขงที่ อ.ปากชม และ อ.เชียงคาน จ.เลย ได้เพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา จนถึงเช้าวันที่ 19 ส.ค.
    นางจันทนา เลขะวัฒนะ หัวหน้าสถานีสำรวจอุทกวิทยาที่ 8 (เชียงคาน) กล่าวว่า จากการตรวจวัดระดับแม่น้ำโขง ที่ ต.เชียงคาน เมื่อเวลา 07.00 น. วัดได้ 15.00 เมตร เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 1.26 เมตร ยังต่ำกว่าตลิ่ง 1.00 เมตร และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เมื่อแม่น้ำโขงสูงขึ้นจะไหลเข้าแม่น้ำสาขา ส่งผลกระทบพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนราษฎรจะถูกน้ำท่วมได้หลายหมู่บ้าน
    จ.กาญจนบุรี นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้ออกหนังสือ “ด่วนที่สุด" เลขที่ กจ.0021/ ว.25246 ถึงนายอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกอำเภอ รวมทั้งประชาสัมพันธ์จังหวัดกาญจนบุรี
    นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรียังได้ออกหนังสือ “ด่วนที่สุด” อีกหนึ่งฉบับ ถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เรื่องแจ้งการปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนวชิราลงกรณ โดยวันที่ 18-22 ส.ค. ระบายน้ำเฉลี่ย 43ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน วันที่ 23-27 ส.ค. ระบายน้ำเฉลี่ย 53 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะระบายผ่านทางช่องทางปกติวันละ 43 ล้านลูกบาศก์เมตร และผ่านทางระบายน้ำล้น (Spillway) วันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร
    จ.จันทบุรี นายอวิรุทธ์ วรกิตติ์ไพศาล หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี ลงพื้นที่ คลองตาหลิ่ว หมู่ที่ 6 ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี หลังมีฝนตกหนักตลอดทั้งคืน และต่อด้วยเช้าและบ่ายวันที่ 19 ส.ค. ส่งผลทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากบนยอดเขาคิชฌกูฏ ไหลหลากลงคลองตาหลิ่ว ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไหลเชี่ยว และมีสีขุ่นแดง ทำให้ในเบื้องต้น นายสมศักดิ์ ควรสถาน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต้องมีการแจ้งเตือนให้ชาวบ้านที่อยู่ติดคลองตาหลิ่วเตรียมยกสิ่งของไว้ในที่สูง เนื่องจากพื้นที่อำเภอเขาคิชฌกูฏเป็นต้นน้ำ อีกทั้งในพื้นที่ยังคงมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าหากฝนยังไม่หยุดตกปริมาณน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีก และอาจจะไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและสวนผลไม้ของชาวบ้าน 
    จ.กระบี่ พ.ต.ท.ม.ล.กิตติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการร่วมทางทะเล อุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่ติดทะเลทั้งหมด เจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำกระบี่ ตำรวจท่องเที่ยว และเจ้าท่า จ.กระบี่ นำเรือออกตรวจตราบริเวณแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางทะเล อาทิ หมู่เกาะพีพี เกาะปอดะ ทะเลแหวก หมู่เกาะห้อง หมู่เกาะลันตา ภายหลังจากมีประกาศเตือนเรื่องคลื่นลมแรงในทะเลอันดามัน โดยตลอดช่วงบ่ายพบมีคลื่นในทะเลเริ่มมีกำลังแรง ท้องฟ้ามืดครึ้ม จึงออกประกาศขอความร่วมมือผู้ประกอบการเรือนำเที่ยว เร่งนำนักท่องเที่ยวกลับเข้าฝั่ง โดยปักธงแดงให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องกลับเข้าฝั่งก่อนเวลา 16.30 น.
    วันเดียวกัน ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินผลกระทบน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศว่า แม้ประเทศไทยจะมีการจัดตั้งหน่วยงาน อย่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งสามารถสั่งการนโยบายและการบริหารจัดการน้ำอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร ด้วยกลไกดังกล่าวน่าจะทำให้การบริหารจัดการน้ำดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของไทยยังคงไม่มีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบในเชิงรุก และยังคงทำงานแบบตั้งรับและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสียหายที่น่าจะป้องกันได้ นอกจากนี้ยังไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารจัดการน้ำหลังจากแผนการลงทุนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลก่อนหน้านี้ถูกยกเลิกไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"