แฟชั่นผ้าบาติกแดนใต้บนรันเวย์ แอล แฟชั่น วีค


เพิ่มเพื่อน    

ผลงานออกแบบแฟชั่นผ้าบาติกจะโชว์บนรันเวย์แอล แฟชั่น วีค 2018 

 

      ผลงานแฟชั่นผ้าบาติกที่มีความร่วมสมัย ตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายทั้งชายหญิง พร้อมลวดลายผ้าที่แปลกใหม่ ให้สีตามเทรนด์แฟชั่น สะกดทุกสายตาของผู้ร่วมงาน แถลงข่าวโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบลายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ ซึ่งมีการแสดงมินิแฟชั่นโชว์ตัวอย่างจากผ้าในโครงการ จำนวน 6 ชุด ณ ห้องโถง ชั้น 1 กระทรวงวัฒนธรรม จัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม

      โครงการนี้เป็นผลงานของนักออกแบบชื่อดังในวงการแฟชั่น 6 คน ประกอบด้วย ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ, ธีระ ฉันทสวัสดิ์, วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข, ศรันย์ เย็นปัญญา, ธันย์ชนก ยาวิลาส, ปัญจพล กุลปภังกร และหิรัญกฤษฏิ์ ภัทรบริบูลกุล ร่วมทำงานสร่างสรรค์ผ้าบาติก หัตถกรรมเอกลักษณ์ชายแดนใต้ รวมถึงลงพื้นที่ร่วมงานกับกลุ่มผู้ผลิตผ้า 24 กลุ่ม จาก 4 จังหวัดชายแดนใต้ 

 

ออกแบบลายผ้าบาติกให้ร่วมสมัย 

      ดร.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) บูรณาการร่วมกับภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่งนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ และเจ้าหน้าที่ ร่วมพัฒนาลายผ้าไทยร่วมสมัยใน 4 อำเภอ ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อยอย่างต่อเนื่องในรอบ 2  ปีที่ผ่านมา โดยโครงการนี้ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาในการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตลอดจนแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใช้เป็นแกนหลักพัฒนาสร้างสรรค์เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม วิถีชีวิต ผ้าบาติกซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของคนในท้องถิ่นจนเกิดผลสำเร็จ ได้ลายผ้าที่ทันสมัยและน่าสนใจจากชุมชน 24 แห่ง รวม 24 ลาย เป็นการสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มให้กับภูมิปัญญาท้องถิ่น          

      "จากการพัฒนาลายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้นี้ พบว่าสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 25 ทำให้มีเงินหมุนเวียนเพิ่มมากกว่า 10 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังขยายตลาดผ้าไทยออกสู่กลุ่มลูกค้าต่างชาติ ทั้งกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน  มากขึ้น ตลอดจนมีการนำลายผ้าไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งในรูปแบบผ้าพันคอ เสื้อผ้า กระเป๋า หมวก และรองเท้า แล้วยังมีดีไซเนอร์ญี่ปุ่นนำผ้าบาติกไปตัดชุดกิโมโนด้วย นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ผ้าบาติกฝีมือคนไทยสามารถยกระดับไปสู่สากล ผลงานแฟชั่นจากโครงการนี้จะนำเสนอสู่สายตาชาวโลกในงานแอลแฟชั่นวีค 2018 ที่ลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ วันอาทิตย์ที่ 2 ก.ย.2561 ขณะที่ผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์จัดแสดงในนิทรรศการ Comtemporary Southern Batik by OCAC ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.-2 ก.ย. สถานที่เดียวกัน" ดร.ฉวีรัตน์กล่าว 

 

1 ใน 24 ลายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้

     

     ด้าน ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผอ.สศร. กล่าวว่า สศร. กำหนดเป้าหมายปี 2562 จะเชิญนักออกแบบต่างประเทศมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบลวดลายผ้าและเครื่องแต่งกาย รวมถึงจะร่วมงานกับกลุ่มอาเซียนมากยิ่งขึ้น โครงการนี้ถือเป็นโมเดลในการทำงานของดีไซเนอร์กับกลุ่มท้องถิ่น โดยใช้แก่นวัฒนธรรมพัฒนาลายผ้าไทยให้ร่วมสมัย แต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จะประสบผลสำเร็จได้ยังต้องการแนวร่วมจากหน่วยงานอื่นๆ เพื่อพัฒนาเนื้อผ้าให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการส่งเสริมในตลาดระดับนานาชาติ ซึ่ง สศร.จะทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเพื่อนำผลงานนำเสนอในต่างประเทศ สร้างการรับรู้ผ้าไทยร่วมสมัยให้มากยิ่งขึ้น

      หนึ่งในนักออกแบบ ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ กล่าวว่า ผ้าบาติกเป็นงานท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์และความงาม สามารถพัฒนาต่อยอดได้มากมาย นักออกแบบเพียงดึงเอาจุดเด่นมาปรับให้สื่อสารและสร้างความสนใจกับคนภายนอกได้มากขึ้น โครงการนี้เป็นเดินตามพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงส่งเสริมพัฒนาผ้าไทยทุกภาคตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อนาคตผ้าไทยเป็นที่เป็นที่ยอมรับตลาดสากลมากขึ้น

 

ชาวบ้านร่วมสร้างสรรค์ผลงานลายผ้าไทยร่วมสมัย 

     

     ส่วน ศรันย์ เย็นปัญญา นักออกแบบผลิตภัณฑ์ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกได้ร่วมมือกับช่างฝีมือบาติกจากภาคใต้ เราพบกันครึ่งทางระหว่างไอเดียกับทักษะ ทำให้เกิดรูปแบบใหม่ๆ บางลายเอาลายกราฟฟิตี้ไปใช้ช่างเลียนแบบการพ่น การปาดแปรง สะบัดสีบ้าง ต่างจากลายเดิมเน้นลงรายละเอียด สินค้าที่ได้เป็นการเปิดตลาดอีกระดับหนึ่ง และใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

      ผลงานออกแบบที่น่าทึ่งนี้ ซึ่งเป็นฝีมือของผู้ประกอบการท้องถิ่น 24 กลุ่ม จาก 4 จังหวัดชายแดนใต้ นางรอวียะ หะยียามา ผู้ก่อตั้งร้านบาติก เดอนารา เปิดใจว่า ชาวบ้านมีความเชี่ยวชาญและพรสวรรค์ในการทำผ้าบาติก แต่การร่วมโครงการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เปิดมุมมองใหม่จากสิ่งที่เขาคุ้นชิน ดีไซเนอร์ไม่ได้เปลี่ยน แต่นำสิ่งที่มีอยู่มาเพิ่มความน่าสนใจ เปลี่ยนสีหรือใช้คู่สีที่กลมกลืนและอยู่ในกระแสแฟชั่น จากดอกดาหลาสีแดง เลือกใช้สีอ่อนลง ทำให้คนกล้าใส่ผ้าไทยมากขึ้น เราได้วิธีคิดในการทำงาน กลุ่มเป้าหมาย รสนิยมของคน และการสร้างแรงบันดาลใจในผลงานแต่ละชิ้น ตนภูมิใจที่ได้เป็นสะพานเชื่อมโยงนักออกแบบกับชาวบ้าน แล้วก็ตลาดสินค้าแฟชั่น สิ่งเหล่านี้สร้างรายได้เลี้ยงปากท้องของชุมชนชายแดนใต้ ฝากให้ทุกคนสนับสนุนผ้าบาติกภูมิปัญญาหัตถกรรมบนผืนผ้าชายแดนใต้

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"