ลุ้นคลายล็อก6ข้อ คสช.นัดถกอังคารนี้'วิษณุ'ปัดเอื้อ2รมต.ไปพลังประชารัฐ


เพิ่มเพื่อน    

    จับตาประชุม คสช. 28 ส.ค.คลายล็อก 6 ข้อหรือไม่ วิษณุยันแก้ข้อบังคับพรรคการเมืองเลือกหัวหน้า ไม่ใช่เอื้อ 2 รัฐมนตรีไปพลังประชารัฐ “สมคิด” ลั่นข่าวเต้า “อุตตม-สนธิรัตน์” ยังทำหน้าที่อยู่ เสื้อแดงหนุนเต็มสูบนโยบายรื้อกองทัพ-ขายเรือดำน้ำ ส่วนบิ๊กป้อมไม่ให้ราคา บอกให้ชนะก่อนค่อยฟุ้ง “กำนัน” เผยไฟเขียวเมื่อใดลงพื้นที่ชูนโยบายด้านเศรษฐกิจทันที ญาติวีรชนพฤษภา 35 เตือนบรรยากาศเริ่มคล้ายยุคพฤษภาทมิฬ
    เมื่อวันจันทร์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมข้อเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาการคลายล็อกให้พรรคการเมืองว่าขณะนี้ 6 ข้อเสนออยู่ที่  พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ คสช.แล้ว ซึ่งในวันที่ 28  ส.ค.ที่จะประชุม คสช.ก็ไม่ทราบว่าจะมีการหยิบขึ้นมาเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาหรือไม่ 
    สำหรับการคลายล็อก 6 ข้อประกอบด้วย 1.พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่เพื่อรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติมได้ 2.ให้ความเห็นเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ 3.สามารถดำเนินการเกี่ยวกับไพรมารีโหวตได้ 4.ตั้งกรรมการเพื่อสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ 5.ติดต่อประสานงานกับสมาชิกได้ และ 6.การแก้ไขข้อบังคับพรรคการเมืองให้สามารถเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค เพื่อให้สามารถจัดประชุมใหญ่ได้ 
    “พรรคที่ตั้งใหม่ยังไม่สามารถประชุมจัดประชุมใหญ่ได้ จึงต้องแก้ไขในส่วนนี้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร และไม่เกี่ยวข้องกับกระแสข่าวที่ว่านายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ จะลาออกเพื่อไปเป็นหัวหน้าและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ โดยตามกฎหมายการประชุมใหญ่พรรคการเมืองต้องมีตัวแทนสาขาพรรคเข้าร่วม แต่พรรคการเมืองใหม่ไม่มีตัวแทนสาขา จึงต้องปลดเรื่องตัวแทนสาขาออกไป รวมถึงในเรื่องของจำนวนสมาชิก ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับใครทั้งนั้น” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามถึงกรณีรัฐมนตรีจะไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรค จำเป็นต้องลาออกก่อนหรือไม่ นายวิษณุตอบว่าตามกฎหมายไม่ต้องลาออก เรื่องความเหมาะสมจำเป็น หรือความสะดวกอย่างไรก็แล้วแต่เขา เหมือนสมัยก่อนเมื่อมีการยุบสภาแล้วลงเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคก็ยังนั่งเป็นรักษาการนายกฯ อยู่ เลขาธิการพรรคก็ยังอยู่ เป็นอย่างเดียวกันทั้งหมด
    ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ปฏิเสธข่าวเรื่องการลาออกของ 2 รัฐมนตรีว่าไม่มีมูลความจริง ยืนยันว่าทุกคนยังช่วยงานตรงนี้เพราะเป็นเรื่องสำคัญ
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมกล่าวเรื่องนี้ว่ายังไม่ทราบเรื่อง รวมถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ไม่ทราบเรื่องอะไรทั้งสิ้น ส่วนการประชุม ครม.และ คสช.ในเรื่องการเลือกตั้งในวันที่ 28 ส.ค.นั้นต้องรอนายวิษณุ และยังไม่ยืนยันว่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 28 ส.ค. แต่การคลายล็อกทางการเมืองจะแน่ชัดในสิ้นเดือน ก.ย. ซึ่งคงอยู่ในกรอบ 6 ข้อตามที่ระบุไปก่อนหน้านี้แล้ว  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานธุรการพรรคการเมือง แต่ไม่อนุญาตให้หาเสียง
    เมื่อถามว่าหากคลายล็อกใน ก.ย.นี้จะดูแลรักษาความเรียบร้อยอย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ถ้าไม่มีอะไรผิดก็ดำเนินการไปซึ่งการเลือกตั้งทันเวลาอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรและพรรคการเมืองอื่นๆ นั้นก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่แล้ว หากผิดก็คงไม่เอาไว้ ส่วนข้อเสนอช่วงทำไพรมารีโหวตและแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นก็แล้วแต่ในที่ประชุมของ กกต.เช่นกัน
กกต.รอลุยแบ่งเขต
    ส่วน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.กล่าวถึงการคลายล็อกว่า กกต.จะเดินหน้าแบ่งเขตเลือกตั้งภายใน 50-60 วัน หลังกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะต้องนำรูปแบบเขตเลือกตั้งออกไปประกาศและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและพรรคการเมืองด้วย ในส่วนพรรคการเมืองก็ต้องเตรียมความพร้อมทำไพรมารีโหวต ซึ่งขณะที่ปัญหาของการจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่นั้น พบว่าพรรคใหม่บางพรรคมีความซ้ำซ้อนของชื่อผู้ก่อตั้ง จึงต้องตรวจสอบให้รอบคอบ ซึ่งการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่จะทันต่อการเตรียมตัวส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ กกต.นำมาพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งแล้ว
    ส่วนความเห็นของนักการเมืองนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กล่าวว่า หาก คสช.คลายล็อกเมื่อไหร่ เราจะเริ่มออกประชาสัมพันธ์ทันที ซึ่งมีพื้นที่แรกที่จะลงไปไว้ในใจอยู่แล้ว และตั้งใจว่าจะไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ ส่วนเรื่องไพรมารีโหวตนั้นยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไร แต่สำหรับ รปช.จะทำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยให้สมาชิกในเขตเป็นผู้เลือกให้ใครลงสมัครเลือกตั้ง และยืนยันว่าทำทันแน่นอน และอยากเรียกร้องให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เพราะการทำไพรมารีโหวตเรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูปพรรคการเมืองรูปแบบหนึ่ง  การจะเอาใครลงสมัครรับเลือกตั้งระดับเขตก็ต้องเป็นผู้คนในระดับเขตนั้นๆ ตัดสินใจ
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร กล่าวว่า ถือเป็นทิศทางที่ดีเพราะเป็นการคลายล็อกให้พรรคการเมืองในระดับหนึ่ง พรรคการเมืองก็น่าจะสบายใจในระดับหนึ่ง และการเลือกตั้งจะได้เดินไปตามโรดแมปที่วางไว้
    สำหรับกรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) จัดทัพรับเลือกตั้ง โดยจะชูนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร  ปฏิรูปกองทัพ และขายเรือดำน้ำไปสร้างโรงพยาบาลนั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "เขาหาเสียง ส่วนจะกระทบโครงสร้างกองทัพหรือไม่นั้น ขอให้เขาได้เป็นก่อน" 
    ด้าน นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สมาชิก พท.และแกนนำคนเสื้อแดงมองเรื่องนี้ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความเห็นส่วนตัวของสมาชิกพรรคบางคน เพราะตอนนี้ยังไม่มีการคลายล็อก ยังไม่มีการประชุมเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ตามหลักการการปฏิรูปกองทัพ การยกเลิกเกณฑ์ทหารมีการพูดกันมานาน หากเปิดให้รับสมัครตามความสมัครใจน่าจะเป็นผลดีกว่า เป็นการประหยัดงบประมาณ มีเงินเหลือ แล้วนำเงินดังกล่าวไปเพิ่มในสวัสดิการให้ทหารชั้นผู้น้อย หรือด้านอื่นๆ จะดีกว่าหรือไม่
    นพ.เชิดชัยยังกล่าวถึงการขายเรือดำน้ำเพื่อนำเงินมาสร้าง รพ.ว่า ปัจจุบันไม่มีใครรู้ว่าราคาที่จะซื้อมีมูลค่าเท่าใด มีแต่ข่าวที่ออกมาทำนองว่าอาจจัดซื้อเกินกว่ามูลค่าความจริง ในเมื่อยังไม่มีการลงนาม ซื้ออย่างเป็นทางการ ควรยกเลิกแล้วเสียค่าปรับไป ถ้ายกเลิกก็จะทำให้เราได้รู้ราคาที่ต้องซื้อจริงๆ หรือแม้แต่ถ้าซื้อมาแล้วขายให้ประเทศอื่นต่อ จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก
    “ตามความเห็นส่วนตัว ถ้าผลักดันเรื่องนี้เป็นนโยบายหาเสียงจริงๆ เชื่อว่าชาวบ้านเห็นด้วย 100%  แน่นอน แต่อาจไปกระทบกระเทือนจิตใจคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ถ้าเราไปบอกชาวบ้านว่าวันนี้ประเทศมีปัญหาค่าใช้จ่าย ประสบภาวะหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ถ้าเรานำเงินส่วนนี้มาหมุนในประเทศเพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น พอวันหนึ่งหากเศรษฐกิจในประเทศดีแล้วค่อยไปซื้อก็ยังได้” นพ.เชิดชัยกล่าว
รปช.พร้อมลุยหาเสียง
    ด้านนายสุเทพกล่าวถึงความคืบหน้านโยบายหาเสียงของ รปช.ว่า เรามีโจทย์คือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจของประชาชนดีขึ้น ไม่เพียงคิดแต่เศรษฐกิจภาพใหญ่ของประเทศเท่านั้น ต้องคิดด้วยว่าจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างไร นอกจากนี้ยังตั้งใจนำประสบการณ์สมัยที่เคยเป็นรองนายกฯ ที่รับผิดชอบดูแลเรื่องราคาผลผลิตทางการเกษตรภาคใต้มาเป็นแนวทางให้ รปช.ผลักดันแก้ปัญหา ซึ่งพรรคมีนโยบายชัดเจนเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่เฉพาะดูแลเกษตรกรภาคใต้แต่ดูแลเกษตรกรทั้งประเทศ เหลือเพียงรอวันขึ้นเวทีหาเสียงเท่านั้น 
    เมื่อถามถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรในขณะนี้ นายสุเทพกล่าวว่า การเคลื่อนไหวเช่นนี้มีการดำเนินการเกือบทุกพรรคทั้งเก่าและใหม่ แต่ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มไหนทำแล้วจะเป็นข่าวหรือไม่เป็นข่าว  ก็ทำในลักษณะเดียวกันนี้แต่ต่างรูปแบบกันไป ทำตามที่แต่ละคนถนัด แม้แต่ รปช.เองก็เดินหน้าออกไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเช่นกัน เพราะเราถือว่านโยบายของพรรคต้องเป็นเสียงของประชาชนเป็นผู้กำหนด นอกจากนี้เมื่อ คสช.ไม่ให้ไปเดินทางประชาสัมพันธ์โดยการลงพื้นที่ เราก็ยังมีอีกช่องทางก็คือโซเชียลมีเดีย ที่สามารถเปิดรับฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งเชื่อว่าประชาชนต้องมีใจให้กันเพื่อจะปฏิรูปทางการเมือง    ส่วนนายธนกรกล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค.กลุ่มผู้นำท้องถิ่น กลุ่มผู้นำชุมชน และอดีตนักการเมืองของจังหวัดสกลนครและหนองบัวลำภูได้เดินทางมาพบนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร ที่ร้านกินเส้น ย่านสนามบินน้ำ โดยได้นำปัญหาในพื้นที่ของทั้ง 2 จังหวัดมาแลกเปลี่ยนพูดคุย และขอให้นายสมศักดิ์เป็นคนกลางช่วยนำปัญหาเสนอไปยังรัฐบาลผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวกับปากท้องของชาวบ้าน เนื่องจากเศรษฐกิจในขณะนี้ยังไม่ดีนัก 
    “กลุ่มผู้นำท้องถิ่นระบุเห็นด้วยกับนโยบายของกลุ่มสามมิตร ทั้งนโยบายการเลี้ยงโคและเรื่องของความปรองดอง เพราะมองว่าแต่ละพื้นที่ในขณะนี้ประชาชนเริ่มพูดคุยกันได้ในจุดที่ค่อนข้างจะลงตัวแล้ว  จึงน่าจะนำพาประเทศผ่านความขัดแย้งไปได้ ซึ่งการเดินทางมาพบกับกลุ่มสามมิตรในวันนี้ไม่ได้เป็นการไปลงพื้นที่เหมือนที่ผ่านมา และวันนี้ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การลงพื้นที่พบประชาชนของทุกพรรคการเมืองนั้นได้มีการดำเนินการมาโดยตลอด ขณะที่ คสช.เองก็ไม่ได้สองมาตรฐาน เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกกลุ่มทุกพรรคการเมืองเอาเวลาไปช่วยเหลือแก้ปัญหาให้ประชาชนจะดีกว่า อย่ามามัวแต่ทะเลาะกันเลย” นายธนกรกล่าว
    ทั้งนี้มีรายงานว่ากลุ่มผู้นำท้องถิ่น กลุ่มผู้นำชุมชน และอดีตนักการเมืองที่เข้าพบนายสมศักดิ์ครั้งนี้ มีแนวโน้มสูงที่จะมาร่วมงานการเมืองกับกลุ่มสามมิตร อาทิ นายสมหมาย วงมะแสน ส.จ.สกลนคร, นายจุมพฏ บุญใหญ่ อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคพลังประชาชน, นายชูศักดิ์ วันเสน อดีตผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร  พรรคภูมิใจไทย, นางศรัณยา สุวรรณพรหม ประธานสภา อบจ.หนองบัวลำภู และนายประพาส นวนสำลี  อดีต ส.ว.หนองบัวลำภู
เตือนซ้ำยุค พ.ค.35
    วันเดียวกัน นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวเตือนรัฐบาลและ คสช.ว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้มองไม่เห็นอนาคต มองเห็นแต่ทางตัน การเลือกตั้งก็อาจไม่นำมาซึ่งความสงบสุขในบ้านเมือง เพราะคู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ยังรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม  เช่นกลุ่มการเมืองที่สนับสนุน คสช.สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี แต่กลุ่มอื่นๆ ยังถูกล็อกด้วยกฎหมาย หรือการตรวจสอบทุจริตก็ยังเลือกปฏิบัติ ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้าม คสช.ก็จะถูกจัดการอย่างเด็ดขาดจากมาตรา 44 แต่ถ้าอยู่ในเครือข่ายอำนาจ คสช.กลับไม่เห็นการลงโทษที่ชัดเจน 
    “หากประชาชนยังมองว่า คสช.ไม่มีความเป็นกลาง ก็ยากที่จะเห็นความสงบสุข แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ถ้าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีความยุติธรรมอย่างแท้จริง หรือเป็นแค่พิธีกรรมสืบทอดอำนาจของ คสช. บ้านเมืองก็มีโอกาสกลับสู่ความขัดแย้งขั้นวิกฤติ หรือนองเลือดเหมือนพฤษภาคมปี 2535 ก็เป็นไปได้” นายอดุลย์ระบุ
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.มีวิวาทะกับสื่อมวลประจำทำเนียบรัฐบาลว่า สื่อมวลชนกับนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจในทุกยุคสมัยเป็นของคู่กัน เป็นธรรมชาติที่มีทั้งพึ่งพากันและต้องมีอะไรที่ขัดกัน ซึ่งสมัยเป็นนายกฯ เคยรู้สึกหงุดหงิดสื่อมวลชน แต่พยายามตั้งสติ ไม่แสดงอาการ หรือนิ่งเงียบก่อนตอบคำถาม เพราะเชื่อว่าเราต้องเคารพการทำหน้าที่ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นต้องวางบทบาทของแต่ละฝ่ายให้เหมาะสม 
     “ผมหวังว่ากรณีนี้จะไม่บานปลายจนถึงขั้นทำให้สื่อมวลชนทำงานไม่ได้ ถ้าในอนาคต พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจเข้าสู่การเมือง ก็ต้องยอมรับและอดทนต่อการตั้งกระทู้ถามหรือการอภิปรายของ ส.ส.และการเจอสื่อมวลชนอื่นๆ ที่ให้ความเกรงใจท่านน้อยกว่าตอนนี้” นายอภิสิทธิ์กล่าว
    ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงานและแกนนำ พท.กล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศปฏิเสธไม่ได้อยากให้เกิดการรัฐประหารว่า อยากให้นายอภิสิทธิ์กลับไปย้อนหลังดูพฤติกรรมและการให้สัมภาษณ์ จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีเจตนาเช่นไร และเมื่อนายนคร มาฉิม อดีต ส.ส.พิษณุโลกออกมายอมรับและเปิดเผยข้อมูลเบื้องลึกเอง ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นชัดเจน ซึ่งข้อมูลในอดีตนี้ทำให้สื่อต่างประเทศที่ติดตามการเมืองไทยเข้าใจดีจนยากจะปฏิเสธ และคนไทยส่วนใหญ่เองก็เห็นเช่นกัน ซึ่งต้องถามว่าคนไทยส่วนใหญ่เชื่อใครมากกว่ากัน ระหว่างนายนครกับนายอภิสิทธิ์ 
    พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวถึงความคืบหน้าการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบหลักฐานของทางจังหวัดที่ได้รับเรื่องร้องเรียน โดยขณะนี้มีผู้ถูกร้องเรียน 23 เรื่องใน 10 จังหวัด ส่วนใหญ่ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติ ส่วนบุคคลที่ไม่มีเรื่องร้องเรียนนั้นต้องให้ กกต.พิจารณาประกาศแต่งตั้ง โดยคาดว่าการแต่งตั้งจะเกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งอาจต้องรอให้การไต่สวนคำร้อง 23 เรื่องที่ถูกร้องเรียนแล้วเสร็จก่อนถึงจะแต่งตั้งในคราวเดียวกัน ประมาณต้นเดือน ก.ย.61.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"