ยื่นศาลฟันเรืองไกร บิดเบือนจำนำข้าว


เพิ่มเพื่อน    

    "หมอวรงค์" บุกศาลฎีกาฯ ยื่นคำร้อง "เรืองกลาย" บิดเบือนจำนำข้าวไม่ขาดทุน ส่อเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล ท้า "ยิ่งลักษณ์" ถ้ามีข้อมูลใหม่ให้กลับมารื้อฟื้นสู้กันใหม่ ด้านผู้ว่าฯ สตง.เคลียร์เหตุรายงานเงินแผ่นดินไม่บันทึกขาดทุนจำนำข้าว โดยแสดงรายการเป็นส่วนหนึ่งของรายจ่ายจากงบประมาณในปีที่ ธ.ก.ส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการจัดสรรงบประมาณและเบิกจ่ายเงินจากคลัง
    เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 27 ส.ค. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกและคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมายื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ ขอให้พิจารณากรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กับเพจเฟซบุ๊ก "ชินวัตร แฟนคลับ" กรณีเปิดประเด็นโครงการรับจำนำข้าวไม่ขาดทุน ว่าเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลหรือไม่
    นพ.วรงค์กล่าวว่า เรื่องนี้ศาลฎีกาฯ ได้มีคำพิพากษาไว้ชัดเจนถึงตัวเลขขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวว่ามีจำนวนกว่า 536,000 ล้านบาท การที่นายเรืองไกรนำมาเปิดประเด็นนี้ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและเกิดข้อกังขาตามมา กับทราบว่าในเพจเฟซบุ๊ก "ชินวัตร แฟนคลับ" ได้นำคำพูดของนายเรืองไกรไปขยายผล ถ้าเรายังปล่อยเรื่องนี้ออกไปโดยไม่ดำเนินการใดๆ จะเกิดความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะคำพิพากษาของศาลถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว เราจึงนำเรื่องของนายเรืองไกรและเพจ ชินวัตร แฟนคลับ มาร้องเพื่อให้ศาลได้ทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป 
    "อยากให้นายเรืองไกรทราบด้วยว่า ในช่วงที่พวกเรามาเป็นพยานศาล ศาลฎีกาฯ ได้ออกข้อกำหนดคดีจำนำข้าวไม่ให้คู่ความหรือคู่กรณีออกมาให้สัมภาษณ์บิดเบือนข้อเท็จจริง จึงเชื่อว่าเมื่อเรามายื่น ศาลคงพิจารณาดำเนินการต่อไป"
    เมื่อถามถึงกรณีที่นายเรืองไกรได้ยื่นร้องสำนักนายกฯ เรื่องข้าวที่หายไป 1 ล้านตัน และไม่มีเจตนาก้าวล่วงคำพิพากษา นพ.วรงค์กล่าวว่า เรื่องข้าวหายไม่หายในช่วงหลังนั้นไม่เกี่ยวกับคดีโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ประเด็นที่นายเรืองไกรเปิดมาทำให้สังคมมีข้อกังขา เพราะกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อศาลตัดสินแล้วก็เปิดโอกาสให้ยื่นอุทธรณ์ แต่ตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ถ้าคิดว่าไม่ผิดทำไมจึงหลบหนี
    "ผมขอท้าไปที่นายเรืองไกรและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าเรามี พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญาฯ ถ้าหากนายเรืองไกรเข้าใจว่ามีข้อมูลใหม่ ไม่มีการขาดทุน ก็ให้มารื้อฟื้นคดีสู้กันใหม่"
    ถามว่าการกระทำของนายเรืองไกรเป็นความผิดกฎหมายฐานใด นพ.วรงค์ตอบว่า เรามองว่าอะไรที่ศาลตัดสินแล้ว หากไม่จบจะเป็นผลเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม ตนมาทำตรงนี้เพื่อปกป้องกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักของระบอบประชาธิปไตย ส่วนศาลจะพิจารณาอย่างไรต่อไปนั้นเป็นดุลพินิจของศาล
    จากนั้น นพ.วรงค์กล่าวภายหลังยื่นคำร้องว่า ได้ยื่นคำร้องต่อเลขาฯ ศาลฎีกาฯ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็จะมีการส่งคำร้องให้องค์คณะพิจารณาว่าจะดำเนินการออกหมายเรียกมาไต่สวนหรือไม่
    ขณะที่นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แถลงว่า เนื่องจากกรณีนี้ค่อนข้างจะเป็นเรื่องทางเทคนิค การที่ปรากฏข่าวในลักษณะดังกล่าวอาจทำให้บุคคลทั่วไปมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้น สตง.ในฐานะที่เป็นองค์กรตรวจสอบจึงขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง 
    เขากล่าวว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในรายงานการเงินแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้กระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เพื่อดำเนินการปิดบัญชีโครงการดังกล่าว หลังจากครบกำหนดไถ่ถอนและ/หรือสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ และให้มีการปิดบัญชีเป็นปีๆ ไป โดยให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชี
     ต่อมาในวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกได้ใช้เงินทุนหมุนเวียนจาก ๒ แหล่ง ได้แก่ เงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเงินกู้จากสถาบันการเงินที่กระทรวงการคลังจัดหาและค้ำประกัน โดยให้มีการนำเงินที่ได้จากการระบายผลผลิตทางการเกษตรชำระคืนเงินทุน ธ.ก.ส.ให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วจึงชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน กรณีมีความจำเป็นให้ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อนระหว่างรอเงินจากการระบายผลผลิตหรือเงินจากแหล่งอื่นๆ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ตกลงกับ ธ.ก.ส.เป็นคราวๆ ไป โดย  ธ.ก.ส.จะได้รับอัตราชดเชยต้นทุนเงินและค่าบริหารโครงการ ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังรับภาระชำระคืนต้นเงิน ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ทั้งในส่วนที่กระทรวงการคลังจัดหาให้และส่วนที่ใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส. และให้ ธ.ก.ส.แยกการดำเนินงานโครงการออกจากการดำเนินงานปกติเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ และบันทึกเป็นภาระผูกพันนอกงบประมาณ เพื่อทราบผลกระทบจากการดำเนินโครงการและขอชดเชยความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น
     "โครงการรับจำนำข้าวเปลือก เป็นโครงการที่ใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส.และเงินกู้จากสถาบันการเงินที่กระทรวงการคลังจัดหาและค้ำประกัน โดยกระทรวงการคลังรับภาระในการนำเงินงบประมาณชดใช้คืนต้นเงิน ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นรายปี โดย ธ.ก.ส.จัดทำเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ และบันทึกเป็นภาระผูกพันนอกงบประมาณ สำหรับข้อมูลโครงการรับจำนำข้าวเปลือกถือเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ในการดำเนินการปิดบัญชีโครงการดังกล่าว หลังจากครบกำหนดไถ่ถอนและ/หรือสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ และให้มีการปิดบัญชีเป็นปีๆ ไป"
     ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินกล่าวสรุปในตอนท้ายว่า สำหรับในกรณีของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนั้น รายงานการเงินแผ่นดินได้บันทึกรับรู้รายการเฉพาะการจ่ายเงินงบประมาณชดใช้คืนเงินทุนและเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. และชดใช้ค่าบริหารจัดการอื่นๆ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแสดงรายการเป็นส่วนหนึ่งของรายจ่ายจากงบประมาณในปีที่ ธ.ก.ส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการจัดสรรงบประมาณและเบิกจ่ายเงินจากคลังแล้ว สำหรับเงินกู้จากสถาบันการเงินที่กระทรวงการคลังจัดหาและค้ำประกัน กระทรวงการคลังได้เปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบรายงานการเงินแผ่นดิน หัวข้อหนี้สาธารณะ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 
    ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่ง ก.พ.) ทำเนียบรัฐบาล นายเรืองไกรเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ตรวจสอบข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่หายไป 1 ล้านตัน โดยนายเรืองไกรกล่าวว่า เมื่อ คสช.เข้ามาได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำบัญชีข้าวคงเหลือของรัฐตามคำสั่ง คสช.ที่ 176/2557 และตามรายงานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่ 2/2557 ระบุมีข้าวคงเหลือ 18.7 ล้านตัน แต่หลังจากนั้นกรมการค้าต่างประเทศได้แถลงผลการระบายข้าวว่ามีข้าวหายไป 1 ล้านตัน จึงอยากทราบว่าใครเป็นผู้ทำบัญชีข้าว เพราะอธิบดีกรมบัญชีกลางเคยชี้แจงว่าไม่มีการทำบัญชีรายโครงการ 
    นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่จะมีการระบายข้าวของรัฐบาลวันที่ 29-30 ส.ค.นี้ มีข้าวที่มาจากปี 51-52 อยู่ด้วย เหตุใดข้าวเหล่านี้จึงเก็บได้นาน แต่ข้าวในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรีถึงเน่าเสีย ส่วนที่ นพ.วรงค์ระบุว่า ตนตั้งคำถามในคดีข้าวทั้งที่มีคำพิพากษาออกมาแล้วนั้น ตนเพียงนำข้อมูลที่อยู่ในคำพิพากษามาตรวจสอบกับบัญชีของรัฐบาล แต่กลับไม่มี จึงต้องตั้งคำถามมายังรัฐบาลเท่านั้น ไม่มีเจตนาก้าวล่วงคำพิพากษา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"