'สุชาติ'รอดสลายพธม. ระเบิดเป็นของผู้ชุมนุม


เพิ่มเพื่อน    

    ปิดฉากคดีสลายพันธมิตรฯ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ยืนตามศาลฎีกา ยกฟ้อง พล.ต.ท.สุชาติ  ระบุเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่มีหลักฐานยืนยัน “แก๊สน้ำตา” ฆ่าคนได้ ส่วนสารประกอบระเบิดน่าเป็นการประดิษฐ์ขึ้นเองของกลุ่มผู้ชุมนุม 
    เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (อม.) องค์คณะผู้พิพากษาวินิจฉัยอุทธรณ์ 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีออกคำสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 จนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 471 ราย
    ทั้งนี้ ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2560 พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสี่ ด้วยเสียงข้างมากขององค์คณะ 8 ต่อ 1 ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีบทบัญญัติเพิ่มสิทธิให้ยื่นอุทธรณ์คดีของคำพิพากษาศาลฎีกา อม.ได้ ป.ป.ช.จึงยื่นอุทธรณ์เฉพาะในส่วนของ พล.ต.ท.สุชาติ โดยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์จำเลยที่ 1-3 ทำให้คดีในส่วนของจำเลยที่ 1-3 จึงเป็นอันยุติ
    ศาลพิเคราะห์ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่ามีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ได้หรือไม่ เพราะ พล.ต.ท.สุชาติไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น องค์คณะมีมติเอกฉันท์เห็นว่าตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) มาตรา 9 บัญญัติไว้เกี่ยวกับลักษณะความผิดที่ให้ศาลรับไว้พิจารณาได้ว่า นอกจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ยังพิจารณาถึงการกระทำของตัวการหรือผู้สนับสนุนได้ ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์คดีนี้ได้ ส่วนที่จำเลยแก้อุทธรณ์สู้ว่าช่วงที่ศาลมีคำตัดสินในคดีนี้ ยังไม่มีการประกาศใช้ วิ อม.ใหม่นั้น แม้หลังจากมีรัฐธรรมนูญแล้วยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการยื่นอุทธรณ์ออกมา แต่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 25 วรรคสอง ก็ได้บัญญัติว่าสิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้น ได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น โจทก์มีสิทธิ์อุทธรณ์ได้ทันทีตามมาตรา 195 วรรคสี่
    ประเด็นสุดท้ายมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อมาว่า จำเลยที่ 4 กระทำผิดเกินกว่าเหตุหรือไม่ ศาลเห็นว่าในชั้นไต่สวนพยาน มีนายตำรวจได้เบิกความถึงเหตุการณ์ช่วงเวลาเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในการเปิดทางจากพื้นที่ที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ปิดล้อมช่วงแยกการเรือน เพื่อไม่ให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หลังจากที่นายสมชาย ได้เรียกจำเลยที่ 3-4 เข้าพบเพื่อรายงานสถานการณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว สนามบินดอนเมือง ในการวางแผนควบคุมฝูงชนตามขั้นตอนปฏิบัติแผนรักษาความสงบ (แผนกรกฎ 48) ให้ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เจรจากับนายวีระ สมความคิด แนวร่วมผู้ชุมนุม ซึ่งนายวีระแจ้งว่าไม่สามารถตัดสินใจได้ เพราะไม่ใช่แกนนำ ขอกลับไปปรึกษากับแกนนำ 1 ชั่วโมง จากนั้นนายวีระได้แจ้งว่าไม่สามารถเปิดทางได้ 
    ขณะเดียวกัน ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ได้เริ่มใช้รถโมบายเคลื่อนที่และโทรโข่งประกาศเตือนให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอยร่นไปที่ ถ.อู่ทองใน และได้ประสานขอรถฉีดน้ำจาก กทม.แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ระหว่างเหตุการณ์ผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่บางส่วนได้รับบาดเจ็บ โดยมีการใช้หนังสติ๊กยิงและใช้ขวดน้ำปา รวมทั้งยังมีด้ามธงแหลม จึงใช้แก๊สน้ำตายิงใส่พื้นและล้อรถที่ห่างจากตัวเจ้าหน้าที่ 50 เมตร จนสามารถเปิดทางให้มีการประชุมในช่วงเช้าของวันที่ 7 ต.ค.2551 ได้
    กระทั่งช่วงบ่ายวันเดียวกัน หลังแถลงนโยบายเสร็จ กลุ่มผู้ชุมนุมกลับเข้ามาในพื้นที่ปิดล้อมทางเข้า-ออกรัฐสภา ใช้โซ่คล้องไม่ให้กลุ่มรัฐมนตรีออกนอกพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำเฮลิคอปเตอร์ไปรับนายสมชายออกจากพื้นที่ ส่วน พล.อ.ชวลิตได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ ขณะที่สถานการณ์เพิ่มความรุนแรงขึ้นในช่วงเย็น โดยผู้ชุมนุมบางส่วนได้เคลื่อนไปกดดันที่ บช.น.ทำร้าย พล.ต.ต.โกสินทร์ บุญสร้าง รอง ผบช.ตชด. ที่ออกมาช่วยเจรจา จนผู้ชุมนุมเข้าประจันหน้ากับตำรวจและพยายามฝ่าแนวกั้น เจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายก่อนค่ำมืด 
    ขณะที่ในทางไต่สวนยังมีพยานผู้เชี่ยวชาญตรวจแก๊สน้ำตาและแพทย์ผู้ชันสูตรศพผู้เสียชีวิต ระบุว่า จากเศษเขม่าที่ติดอยู่บนเสื้อผ้า น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์ ผู้เสียชีวิต มีสารโพสแทสเซียมคลอเรตที่เป็นส่วนประกอบระเบิด และลักษณะซี่โครงหักน่าจะเกิดแรงปะทะระยะใกล้ ขณะที่การตรวจสอบสารประกอบในแก๊สน้ำตาปกติ และแก๊สน้ำตาที่ผลิตจากจีนก็ไม่มีสารประกอบนี้อยู่ด้วย แม้การสลายการชุมนุมทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก ก็ยังมีข้อโต้เถียงว่าเป็นผลมาจากแก๊สน้ำตาหรือไม่ การไต่สวนยังได้ความว่าในพื้นที่เกิดเหตุพบแรงระเบิดเป็นหลุมลึก 30 เซนติเมตร ที่น่าเกิดจากระเบิดแรงต่ำที่ประกอบขึ้นเอง ซึ่งรัศมีระเบิดอยู่ที่ 1-2 เมตร ในการชุมนุมเจ้าหน้าที่ ก็พบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้ระเบิดปิงปอง พลุไฟ ประทัด และยังมีเหตุการณ์รถของกลุ่มผู้ชุมนุมระเบิดด้วย
    “สถานการณ์ที่กดดันขณะนั้น หากไม่ได้ดำเนินการโดยเหมาะสมอาจเกิดความเสียหายได้ แสดงให้เห็นว่าการใช้แก๊สน้ำตาเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อควบคุมฝูงชนเท่านั้น ไม่ใช่ใช้เพื่อเล็งเห็นผลที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งในหลายประเทศก็นิยมใช้กัน และไม่ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตจากแก๊สน้ำตา การกระทำของ พล.ต.ท.สุชาติ ไม่มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุม” 
    นอกจากนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์แล้วจำเลยสามารถเลื่อนประชุมหรือย้ายสถานที่ประชุมรัฐสภาได้หรือไม่นั้น ทางการไต่สวนได้ความว่านายชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตเลขาธิการนายกฯ ได้หารือกับนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาขณะนั้นแล้วไม่สามารถเลื่อนหรือย้ายที่ประชุมได้ เพราะแจ้งกระชั้นชิด ขณะที่ พล.ต.ท.สุชาติ เป็น ผบช.น. ไม่มีอำนาจเลื่อนหรือย้ายสถานที่ประชุม แต่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคำสั่งผู้บังคับบัญชาเพื่อให้ ครม.และสมาชิกสภาเข้าประชุมตามกำหนด ดังนั้นที่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง พล.ต.ท.สุชาตินั้นชอบแล้ว องค์คณะมีมติเสียงข้างมาก พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4
     ภายหลังฟังคำพิพากษา พล.ต.ท.สุชาติกล่าวว่า คดีนี้เริ่มสอบสวนตั้งแต่ปี 2551 ในชั้น ป.ป.ช. และชั้นศาล ตลอดเวลากว่า  10 ปี ซึ่งช่วงระหว่างถูกดำเนินคดีนี้ก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไร ทุกคนก็ทำตามหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งได้กำลังใจจากครอบครัวที่อบอุ่นและเพื่อนที่ดี รวมทั้งน้องๆ ที่เคยร่วมงานกันมา ส่วนเรื่องที่ผิดหรือถูกในวันนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล เมื่อศาลพิพากษาอย่างไร จะเป็นคุณเป็นโทษเราก็ต้องน้อมรับ
    เมื่อถามว่า มองว่าคำพิพากษาของศาลจะถือเป็นการวางแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมฝูงชนหรือไม่ พล.ต.ท.สุชาติกล่าวว่า ไม่กล้าก้าวล่วง เพราะเหตุการณ์แต่ละอย่างเราใช้ดุลยพินิจล่วงหน้าไปคงไม่ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ถือเป็นบทเรียนให้แก่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปต้องรอบคอบ รักษากฎหมาย วิธีปฏิบัติเคร่งครัด และส่วนตัวตอบไม่ได้ว่าติดใจการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.หรือไม่ เพราะเราทำงานกันเป็นทีม ต้องปรึกษาหารือกันก่อนว่าจะทำอย่างไรต่อไปหรือไม่
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้มีภรรยาและเพื่อนรุ่นน้องมาให้กำลังใจและร่วมฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ด้วย โดยหลังฟังคำพิพากษา พล.ต.ท.สุชาติมีสีหน้ายิ้มแย้มสดใส ขณะที่ช่วงเช้าเขาได้เดินทางมาถึงที่ศาลฎีกาฯ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. และเดินทางเข้าห้องพิจารณาคดีทันทีก่อนถึงเวลานัดหมายของศาล.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"