รู้ไว้...นายกฯ คนต่อไปชื่ออะไร?


เพิ่มเพื่อน    

      ข่าว "น่าเบื่อ" ช่วงนี้ คือ.........

      ข่าว "ปลดล็อก-คลายล็อก" สู่การเลือกตั้ง

      คสช.มีอำนาจ.........

      ต้องการอย่างไร พอใจแบบไหน ก็ว่าไปเลย ไม่เห็นต้องมาพิโยก-พิเกน ทำให้มากเรื่อง-มากปัญหา น่ารำคาญเปล่าๆ

      ในเมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ๔ ฉบับ ตามภาคบังคับของรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล มาตรา ๒๖๘ ก็เสร็จแล้ว

      แต่ละมาตรา.........

      สาระหลัก ก็ล้วนผ่านจากการพยักหน้า คสช.แทบทั้งนั้น

      และเดือนหน้า (ก.ย.๖๑) กฎหมายลูกที่ว่านี้ ก็จะประกาศใช้ครบทั้ง ๔ ฉบับ

      เมื่อประกาศใช้.......

      ก็ต้องไม่มีคำว่า "ปลดล็อก-คลายล็อก" เป็นอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ที่มีคำว่า "แห่งราชอาณาจักรไทย" อีก

      หรือไม่จริง?

      ดังนั้น รัฐธรรมนูญว่าไง "ทุกคน-ทุกพรรค" ควรที่จะเดินไปตามนั้น

      ถ้าใครแตกแถวไปจากบทบัญญัติ ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายต้องฟันให้ประจักษ์แก่ทุกคน

      รัฐธรรมนูญจะได้ศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนจะได้มั่นใจ ไม่ว่อกแว่ก ไปหวังอำนาจและบุคคลพิเศษ

      ถ้าขืนใช้ ม.๔๔ เปลี่ยนความในรัฐธรรมนูญมาตรานั้น-นี้ไปตามอารมณ์รายวันเรื่อยๆ

      แล้วอะไร-ตรงไหนล่ะ......

      คือ "เสาหิน" ในความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ?

      ออกกฎหมายมา ยังไม่ทันใช้ ก็ใช้อำนาจพิเศษ ล้มตรงนั้น แก้ตรงนี้ เปลี่ยนตรงโน้น

      แบบนี้ เปลืองเงินเปล่า อีกทั้งจะสร้างนิสัยให้คนไม่เชื่อถือศรัทธากฎหมาย

      เชื่อ-ศรัทธา "ตัวบุคคล" ดีกว่า

      เพราะตัวบุคคลที่ "มีอำนาจ" สามารถเปลี่ยนกฎหมายให้สอดคล้องประสงค์ได้ตลอดเวลา!

      เพราะแบบนี้ไง สังคมจึงติดนิสัย "พึ่งอำนาจ" ตัวบุคคลมากกว่าหวังพึ่งมาตรฐานทัดเทียมในระบบกฎหมาย

      ประเทศไทยได้ชื่อว่า.......

      ออกกฎหมายบังคับใช้ มากที่สุดในโลก

      แต่ "ล้มเหลว" ในการใช้บังคับ "มากที่สุดในโลก" ด้วยเช่นกัน

      ช่างน่าละอายนัก!

      ทุกวันนี้ อำนาจปกครองประเทศอยู่ในมือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

      จะเลือกตั้ง ไม่เลือกตั้ง หรือจะเลือกตอนไหน เมื่อไหร่ ก็ตามที่ชอบของ คสช.

      เมื่อเป็นเช่นนี้ อะไรที่ยังไม่แน่ใจ ยังไม่มีบทสรุป ไม่ต้องผายลมให้แย่งกันงับอากาศ ก็ไม่มีใครว่า

      แต่ในเมื่อผายออกไปแล้ว..........

      จะออกคำสั่งกำกับไปว่า ให้เหม็นหรือให้หอมได้ด้วยระดับกลิ่นแค่นั้น-แค่นี้

      คำสั่งน่ะ...ออกได้

      แต่จะควบคุม-บังคับจมูกใคร ให้เป็นความพอใจในมาตรฐานเดียวกันได้ล่ะ?

      ๔ ปี เข้าปีที่ ๕ ภาษานักการเมือง ก็ต้องบอกว่า "ล็อกคอ-ตีเข่า" คู่ต่อสู้คามุมแล้ว

      ถึงขั้นนี้ เมื่อระฆังยกใหม่ดัง ไม่มีปัญญาน็อกได้ ต้องใช้ตัวช่วยอยู่เรื่อย

      แบบนี้ ถึงชนะมา ปัญหาน่ะ ไม่เท่าไหร่

      แต่ "ครหา" นี่ซี มันน่าอาย!

      บอกตรงๆ เพราะหาความเชื่อถือยากในเรื่องกำหนดเลือกตั้งนี่แหละ ผมจึงไม่ค่อยสนเรื่องเลือกตั้ง

      ถ้า คสช.พร้อมจะลงสนาม.......

      เปิดคอก ก็พุ่งออกมาชนกันเลย เขาชนเขา จมูกชนจมูก จะขยักขย่อน สร้างเงื่อน-สร้างกติกา ปลดแค่นั้น คลายแค่นี้เพื่ออะไร?

      รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๘ บอกว่า.........

      "ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๖๗ (๑) (๒) (๓) และ (๔) มีผลใช้บังคับแล้ว"

      ฉะนั้น แฟร์ๆ รัฐบาลไม่ควรสร้างเงื่อนไขให้นอกเหนือกฎหมายอีก

      ในเมื่อยังไม่ประกาศใช้........

      เฉยๆ ก็ได้ ไม่เสียเงิน-เสียทอง ใครว่าอะไร ก็ถือว่าเป็นบ้าใบ้ ไม่รู้ความ

      แต่นี่..........

      รัฐบาลพูดจาเชิงส่งสัญญาณให้มั่นหมายกันไปล่วงหน้าแล้วว่า ปลายเดือนกุมภา ๖๒ จะเลือกตั้ง

      ก็ในกรอบ ๑๕๐ วัน ภายใต้เงื่อนไขกฎหมายลูกฉบับที่เหลือประกาศใช้ในเดือนหน้า คือเดือนกันยา

      เมื่อส่งสัญญาณเจตนาแน่ แสดงว่า รัฐบาล "พร้อมทุกด้าน" แล้ว

      เมื่อพร้อม กฎหมายสู่การเลือกตั้งว่าไง ก็ให้เป็นไปตามนั้น ไม่ต้องโงเงอะไรอีก

      ใส่กันไปเต็มร้อยตามรัฐธรรมนูญเลย

      อย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านประชามติก่อนประกาศใช้แล้ว

      การสร้างเงื่อนไขเบี่ยงเบน เท่ากับเบี่ยงเบนเจตนารมณ์ประชาชนโดยตรง!

      รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกทั้ง ๔ ฉบับ เหมือนเรือที่สร้างเสร็จแล้ว แต่อยู่บนคาน 

      ก็อยากพิสูจน์ฝีมือ ทั้ง "คสช.-กรธ.-สนช." ในความเป็นช่างก่อสร้างเรือลำนี้

      ว่าเมื่อ เข็นลงน้ำแล้ว จะคว่ำ..หรือหงาย

      วิ่งฉิว หรือ รั่วจมคาตา!?

      ต้องกล้าๆ กันหน่อย เพื่อประกันฝีมือเป็นความมั่นใจ ว่าโดยสารเรือลำนี้แล้ว

      อนาคตข้างหน้า ไม่พากันไปคว่ำตายกลางทะเลแน่!

      ทำไมผมจึงเจาะจงเป็น "เรือลำนี้"?

      ก็ดูจาก "พิมพ์เขียว" คือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ใช้ในการเลือกตั้งที่จะถึง

      การเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม ส.ส. ๕๐๐ คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต ๓๕๐ คน และปาร์ตี้ลิสต์  ๑๕๐ คน

      ๓๕๐ ส.ส.แบ่งเป็น ๓๕๐ เขต คือเขตละ ๑ คน

      บัตรเลือกตั้งใบเดียว

      เข้าคูหาแล้ว กากบาทได้ครั้งเดียว ๑ คน ๑ คะแนน

      นั่นคือ กากบาทผู้สมัคร ส.ส.คนไหน เท่ากับกากบาทให้พรรคนั้นด้วย

      คะแนนคนหรือคะแนนพรรค จะเป็น "คะแนนสะสม" ของพรรคนั้นๆ รวมทั้งประเทศ

      ปิดหีบและนับคะแนนเสร็จแล้ว........

      จะนำคะแนนทั้ง ๓๕๐ เขต ของทุกคน-ทุกพรรค ทั้งแพ้-ทั้งชนะ มานับรวมกัน

      ได้เท่าไหร่ หารด้วย ๕๐๐

      สมมุติ คะแนนรวมทั้ง ๓๕๐ เขตของทุกพรรคได้ ๔๐ ล้านเสียง

      ก็เอา ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ หารด้วย ๕๐๐ = ๘๐,๐๐๐

      พรรคไหน ได้คะแนนรวมทั้งประเทศเท่าไหร่ ก็เอา ๘๐,๐๐๐ ไปหาร ได้ผลลัพธ์เท่าไหร่

      นั่นคือ จำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้น จะพึงมีได้ว่ากี่คน

      สมมุติ ประชาธิปัตย์ได้ ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ ล้านคะแนน ก็เอา ๘ หมื่นหาร ๑๒ ล้าน ประชาธิปัตย์จะพึงมี ส.ส.ได้ ๑๕๐

      แต่ผลเลือกตั้งออกมา ประชาธิปัตย์ได้ ๑๒๐ คน

      อยากรู้ว่า ประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สักกี่คน?

      ก็เอา ๑๕๐-๑๒๐ = ๓๐ 

      หมายความว่า ประชาธิปัตย์ จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้สิลต์ ๓๐ คน รวมเป็น ๑๕๐ คน

      แต่สมมุติ ผลเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. ๑๖๐ คน ถือว่ามากกว่าเกณฑ์จะพึงมีได้ ๑๕๐ คนแล้ว

      ฉะนั้น ประชาธิปัตย์จะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่ม คงมี ๑๖๐ คนตามจำนวน ส.ส.เขตที่ได้เท่านั้น

      อย่างเลือกตั้งปี ๒๕๕๔ เพื่อไทยได้ ๑๕ ล้านเสียง ได้ ส.ส.เขต ๒๐๔ คน แลกค่าเป็นปาร์ตี้ลิสต์ได้อีก ๖๑ คน รวมเป็น ๒๖๕ คน

      เกินกึ่ง พรรคเดียวตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เลย!

      แต่เมื่อนำมาเข้าสูตรจัดสรรปันส่วนผสม ผลออกมา เพื่อไทยจะพึงมี ส.ส.ได้ ๑๖๓ คน

      แต่จากการเลือกตั้ง เพื่อไทยได้ ส.ส.เขตถึง ๒๐๔ คน เรียกว่าคะแนนนิยมล้นเหลือไปตั้ง ๔๑ คน

      ดังนั้น เพื่อไทยจะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เหมือนอย่างที่ได้ในปี ๒๕๕๔ อีก ๖๑ คน

      สรุป เพื่อไทยมี ส.ส.เพียง ๒๐๔ คน ในระบบเขตเท่านั้น!

      นี่เป็นตัวเลขสมมุติกลมๆ ให้ดูกัน.........

      ที่อยากบอกคือ การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

      ระบบ ๑ เขต ๑ ส.ส.จะไม่มีพรรคไหนได้ ส.ส.ถึงครึ่งในจำนวนเต็ม ๕๐๐ เพื่อเป็นพรรคเดียวได้ตั้งรัฐบาลเลย

      เพราะยิ่งได้ ส.ส.เขตมาก ยิ่งไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย

      เลือกตั้ง กุมภา ๖๒ พรรคไหน "ทั้งประเทศ" ได้ซัก ๘ หมื่นคะแนน ถึงไม่ได้ ส.ส.เขตเลย

      ก็จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แล้ว ๑ คน!

      เมื่อไปดูมาตรา ๒๖๙ จะมี วุฒิสมาชิกจาก สนช.เลือกสรร ๒๕๐ คน

      และมาตรา ๒๗๒ บอกว่า.........

      "ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕๙ เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙ วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๙ วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา"

      ถอดความได้ว่า ส.ส.๕๐๐ + ส.ว.๒๕๐ = ๗๕๐ เสียง

      กึ่งหนึ่งของสองสภาเท่ากับ ๓๗๕ เสียง

      นั่นคือ ใครจะได้เป็นนายกฯ ต้องมีเสียงสนับสนุน ๓๗๖ เสียงขึ้นไป

      เขียนชื่อ "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผู้มี ๒๕๐ เสียงตุนอยู่ในกระเป๋า

      หาอีกแค่ ๑๒๕ เสียงในตลาดเลือกตั้ง ใส่กรอบทองแขวนข้างฝาไว้เลย

      ว่านี่คือ "นายกฯ เลือกตั้ง" คนต่อไป!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"