แม้วรอดคดีฮุบทีพีไอ ยกฟ้องหลักฐานอ่อน


เพิ่มเพื่อน    

     “ทักษิณ” รอดบ่วงกรรมไปหนึ่งคดี ศาลฎีกามีมติเสียงข้างมากยกฟ้อง ระบุไม่ได้หวังครอบงำ “ทีพีไอ” ชี้การให้คลังเข้าฟื้นฟูเป็นไปตามมติเจ้าหนี้-ลูกหนี้-ศาลล้มละลาย พร้อมพ่วงดูแลเศรษฐกิจภาพรวม เผยกรณี “My boss want it” เป็นแค่พยานบอกเล่า ติงประเด็นฟ้อง ป.ป.ช.ไกลเกินกว่าเหตุ 
     เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะผู้พิพากษานัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อม.40/2561 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีระหว่างปี 2546 นายทักษิณขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้นำเสนอให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ซึ่งเป็นการกระทำที่มิชอบ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ
     คดีนี้ศาลได้ส่งหมายแจ้งให้นายทักษิณทราบนัดโดยชอบแล้วจำเลยไม่มาศาล โดยศาลได้ออกหมายจับไว้ แต่ไม่สามารถจับกุมได้ภายในกำหนด ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลย ซึ่งนัดพิจารณาคดีครั้งแรกจำเลยไม่มาศาล ถือว่าให้การปฏิเสธ ศาลจึงอ่านคำพิพากษาให้โจทก์ฟังและถือว่าจำเลยรับทราบคำพิพากษา
     โดยมีปัญหาวินิจฉัยว่า นายทักษิณได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงจากการไต่สวนพบว่า เมื่อปี 2540 รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธได้ประกาศปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นแบบลอยตัว ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อการเงินและเศรษฐกิจในประเทศไทย เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจ และทำให้กลุ่มธุรกิจที่มีเงินกู้จากต่างประเทศมีมูลค่าหนี้สูงขึ้น โดยทีพีไอก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากกรณีดังกล่าวด้วย เพราะมีมูลหนี้กู้เงินในสกุลเงินต่างประเทศ จากเดิมมีมูลหนี้อยู่ 65,211 ล้านบาท แต่เมื่อค่าเงินบาทลอยตัวทำให้หนี้เพิ่มเป็น 130,000 ล้านบาทภายในข้ามคืน โดยเมื่อปี 2543 ทีพีไอได้เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ เพราะไม่สามารถบริหารหนี้ได้ ธนาคารกรุงเทพซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลล้มละลายกลาง และตั้งบริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด เป็นผู้บริหารแผน แต่ภายหลังพบว่าการบริหารไม่โปร่งใส ศาลจึงยกเลิกแผนฟื้นฟูดังกล่าวไป จนปี 2546 ได้มีการเสนอแผนฟื้นฟูใหม่ แต่เมื่อหารือในกลุ่มของเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วไม่เห็นด้วย จนมีการเสนอให้กระทรวงการคลังเข้ามาช่วยดูแล
     ช่วงเดือน มี.ค.2546 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ซึ่งการจะให้กระทรวงการคลังเข้ามาต้องมีหนังสือยินยอมจากกระทรวงการคลังก่อน ต่อมาปี 2546 ช่วงที่นายทักษิณเป็นนายกฯ ได้เรียกให้ธนาคารกรุงเทพเจ้าหนี้และลูกหนี้มาพูดคุยที่บ้านพิษณุโลกเกี่ยวกับแผนฟื้นฟู โดยให้ฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ส่งตัวแทนแต่ละฝ่ายรวม 14 คน และผู้แทนกระทรวงการคลัง 1 คน จากนั้น พ.ค.2546 ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รมว.การคลัง ได้หารือกับที่ปรึกษากระทรวงการคลังแล้ว จึงได้มีหนังสือยินยอมร่วมกันแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟู เพราะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยรวม และความมั่นคงของประเทศ และสอดคล้องกับคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง โดยขณะที่เสนอชื่อให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนก็มีนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตประธานบริหารบริษัททีพีไอ รวมทั้งธนาคารเจ้าหนี้ก็ไม่ได้คัดค้าน
     นอกจากนี้ สหภาพแรงงานโดยพนักงานยังได้เคยยื่นหนังสือต่อรัฐบาลให้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ดังนั้น การที่กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผน จึงสืบเนื่องมาจากเจ้าหนี้มีมติพิเศษเลือกให้กระทรวงการคลังซึ่งเป็นคนกลาง โดยที่ทีพีไอลูกหนี้ก็เป็นผู้เสนอเรื่องนี้เช่นเดียวกัน จึงถือว่าเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้ความยินยอมในการตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผน กระทั่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแต่งตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ ดังนั้นการที่กระทรวงการคลังเข้ามาบริหารแผน จึงเกิดจากความตกลงยินยอมของเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ประกอบดุลยพินิจของศาลล้มละลายกลางเฉพาะคดี เพื่อปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่การเข้าไปล่วงสิทธิของเอกชน และไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซงครอบงำกิจการของเอกชน
     ส่วนที่นายประชัยเคยไปพบกับ ร.อ.สุชาติเพื่อเข้ามาบริหารบริษัทอีกครั้ง โดยอ้างว่า ร.อ.สุชาติตอบว่าไม่ได้ เพราะ My boss want it. นั้น เป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่มีเอกสารประกอบ แม้จะฟังได้ว่า My boss คือนายทักษิณ แต่ก็ไม่ปรากฏว่านายทักษิณได้เข้าไปบริหารกิจการของทีพีไอที่เข้าสู่แผนการฟื้นฟู หรือแสดงให้เห็นว่านายทักษิณให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารแผนเพื่อรับเอาประโยชน์มาเป็นของตนเองและผู้อื่น คำเบิกความของพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อย
     ขณะที่การตั้ง พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธานคณะผู้บริหารแผน และนายทนง พิทยะ, นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา และคณะอีก 2 คนเป็นผู้บริหารแผนนั้น แม้นายทักษิณจะเห็นพ้องให้ตั้งคณะผู้บริหารจากกระทรวงการคลังตามที่ ร.อ.สุชาติได้มาหารือ ก็ไม่พบว่าบุคคลทั้ง 5 มีความเกี่ยวพันกับนายทักษิณที่จะได้รับผลประโยชน์จากค่าตอบแทนการบริหารแผนฟื้นฟู หรือทำให้แผนฟื้นฟูเป็นไปโดยไม่สุจริต ซึ่งการแต่งตั้งอยู่ในดุลยพินิจของ รมว.การคลังที่กำหนดบุคคลได้เอง และเจ้าหนี้-ลูกหนี้ไม่มีใครโต้แย้ง แม้ต่อมา ร.อ.สุชาติจะแจ้งรายชื่อผู้บริหารแผนต่อที่ประชุม ครม.ให้ทราบ แต่เรื่องดังกล่าวไม่ต้องผ่านการอนุมัติของนายทักษิณ ขณะที่เรื่องค่าตอบแทนเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูในส่วนบริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด ศาลฎีกาเคยมีคำสั่งให้คืนเงินค่าตอบแทน 224 ล้านบาทแล้วเมื่อปี 2557 ข้อกล่าวหาในประเด็นฟ้องของ ป.ป.ช.จึงไกลเกินกว่าเหตุ
     สำหรับการขายหุ้นเพิ่มทุนของทีพีไอในราคา 3.30 บาท โดยไม่ขายให้นายประชัยและบุคคลทั่วไปนั้น ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาว่าเป็นการขายหุ้นโดยชอบตามแผนฟื้นฟู และศาลล้มละลายกลางได้เห็นชอบแล้ว ส่วนที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง เช่น ธนาคารออมสิน ปตท. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนวายุภักษ์นั้น ก็ไม่ปรากฏว่านายทักษิณมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็น หรือได้รับประโยชน์จากองค์กรที่รับซื้อหุ้น หรือกระทำการใดที่เข้าไปครอบงำกิจการ และหากการบริหารเกิดความเสียหาย ซึ่งเป็นความผิดภายหลัง ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันเป็นคดีแพ่งหรือคดีปกครอง ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย
     “พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่านายทักษิณมีเจตนาพิเศษตามที่ ป.ป.ช.กล่าวหา องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติเสียงข้างมากพิพากษาให้ยกฟ้อง”
     ด้านนายพัฒนพงศ์ จันทร์เพ็ชรพูล ผู้อำนวยการสำนักคดี สำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า จะรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบทั้งข้อเท็จจริงในสำนวนคดีและข้อกฎหมาย เพื่อให้พิจารณาว่าจะอุทธรณ์ได้หรือไม่ ซึ่งเราต้องดูทั้งพิพากษากลางและคำพิพากษาส่วนบุคคลของแต่ละท่าน ก่อนเสนอ ป.ป.ช.อีกครั้งว่าจะเห็นควรดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยตามขั้นตอนถ้าหาก ป.ป.ช.เห็นสมควรอุทธรณ์ ก็ต้องดำเนินการในกำหนด 30 วัน
     สำหรับคดีของนายทักษิณ ยังเหลืออยู่ในการพิจารณาไต่สวนลับหลังอีก 4 สำนวน ที่อัยการสูงสุดและ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องไว้ ประกอบด้วย 1.คดีกล่าวหาแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต 2.คดีกล่าวหาร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กลุ่มกฤษดามหานคร 3.คดีกล่าวหาให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ปล่อยกู้ให้รัฐบาลพม่า และ 4.คดีออกสลากพิเศษ (หวยบนดิน) โดยมิชอบ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"